จอร์จ แพลนแทเจเนต ดยุกที่ 1 แห่งแคลเรนซ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จอร์จ แพลนแทเจเนต ดยุคแห่งแคลเรนซ์ที่ 1
จอร์จ แพลนแทเจเนต ดยุคแห่งแคลเรนซ์
เกิด21 ตุลาคม ค.ศ. 1449
อสัญกรรม18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1478~(28 ปี)
บรรดาศักดิ์สมาชิกในราชตระกูลยอร์คแลงคาสเตอร์
คู่สมรสอิซาเบล เนวิลล์ ดัชเชสแห่งแคลเรนซ์
บุตรมาร์กาเร็ต โพล เคานเทสแห่งซอลสบรีที่ 8
เอ็ดเวิร์ด แพลนทาเจเน็ท เอิร์ลแห่งวอริคที่ 17
ขุนนางอังกฤษ - กษัตริย์อังกฤษ - ชาวอังกฤษ

จอร์จ แพลนแทเจเนต ดยุกที่ 1 แห่งแคลเรนซ์ (อังกฤษ: George Plantagenet, 1st Duke of Clarence; 21 ตุลาคม ค.ศ. 144918 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1478) เป็นบุตรชายคนที่สามของริชาร์ด แพลนแทเจเนต ดยุกที่ 3 แห่งยอร์ก และซิซิลิ เนวิลล์ และเป็นพระอนุชาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 และพระเชษฐาของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ดยุคแห่งแคลเรนซ์มีบทบาทสำคัญในความขัดแย้งในการอ้างสิทธิในการครองราชบัลลังก์ที่ทำให้เกิดสงครามดอกกุหลาบ และถูกประหารชีวิตในข้อหากบฏต่อแผ่นดินในการวางแผนโค่นราชบัลลังก์ของพระเชษฐาพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4

วัยเยาว์[แก้]

จอร์จ แพลนแทเจเนตเป็นบุตรชายที่รอดชีวิตคนที่สามของริชาร์ด แพลนแทเจเนต ดยุคแห่งยอร์กและเซซิลี เนวิลล์ เกิดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 1449 ที่ปราสาทดับลิน ในช่วงที่บิดากำลังทำหน้าที่เป็นข้าหลวงใหญ่แห่งไอร์แลนด์ จอร์จมีพี่น้องร่วมบิดามารดาสองคน คือ เอ็ดเวิร์ด (ต่อมาคือพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 แห่งอังกฤษ) และริชาร์ด (ต่อมาคือพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ)

ดยุกแห่งยอร์ก บิดาของจอร์จเป็นบุคคลสำคัญในสงครามดอกกุหลาบ โดยเป็นผู้ท้าทายฝ่ายแลงคัสเตอร์ด้วยการอ้างสิทธิ์ในบัลลังก์อังกฤษจนถูกสังหารในสมรภูมิเวคฟิลด์ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1460 ศีรษะของเขาถูกสวมมงกุฎกระดาษเป็นการเยาะเย้ยและถูกเสียบประจานที่มิกเคิลเกตในเมืองยอร์ก เอ็ดมันด์ เอิร์ลแห่งรัตแลนด์ บุตรชายคนที่สองของดยุคก็ถูกสังหารในสมรภูมิเดียวกัน เพื่อความปลอดภัยมารดาของจอร์จได้ส่งตัวจอร์จกับน้องชาย คือ ริชาร์ด ไปบูร์กอญ

เอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งมาร์ช พี่ชายของจอร์จสานต่อการอ้างสิทธิ์ในบัลลังก์ของฝ่ายยอร์กและเอาชนะฝ่ายแลงคัสเตอร์ได้ที่มอร์ติเมอร์ส์ครอสในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1461 จากนั้นได้ประกาศตนเป็นกษัตริย์ที่ทาวตันในยอร์กเชอร์ในวันที่ 29 มีนาคม ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ใบลานของปี ค.ศ. 1461 เอ็ดเวิร์ดปราบกองกำลังแลงคัสเตอร์ภายใต้การนำของดยุคแห่งซอเมอร์เซ็ตและเดินทางเข้าสู่ลอนดอนในเดือนมิถุนายน จากนั้นได้เข้ารับการสวมมงกุฎเป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ที่วิหารเวสต์มินสเตอร์

ดยุคแห่งแคลเรนซ์[แก้]

จอร์จ แพลนแทเจเนต ดยุคแห่งแคลเรนซ์

กษัตริย์คนใหม่มีความกรุณาต่อน้องชายทั้งสอง พระองค์ได้แต่งตั้งจอร์จซึ่งขณะนั้นมีอายุ 11 ปีเป็นดยุคแห่งแคลเรนซ์ในปี ค.ศ. 1461 และตั้งเป็นข้าหลวงใหญ่แห่งไอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1462 ส่วนริชาร์ดได้รับแต่งตั้งเป็นดยุคแห่งกลอสเตอร์ ความไม่ลงรอยกันระหว่างพี่น้องเริ่มก่อตัวขึ้นในปี ค.ศ. 1464 เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดแต่งตั้งเอลิซาเบธ วูดวิลล์ ภรรยาของอัศวินฝ่ายแลงคัสเตอร์เป็นพระราชินี คนในครอบครัวที่ต่ำต้อยและโลภมากของพระราชินีได้รับพระราชทานตำแหน่งใหญ่ๆ เพื่อให้สมกับฐานะใหม่ของพระนาง สร้างความผิดหวังให้แก่ขุนนางเก่าแก่ โดยเฉพาะริชาร์ด เนวิลล์ เอิร์ลแห่งวอริค ลูกพี่ลูกน้องและไพร่ฟ้าผู้ทรงอำนาจของกษัตริย์ที่ต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อ "เอิร์ลแห่งวอริคผู้สร้างกษัตริย์ (วอริค เดอะ คิงเมกเกอร์)"

ในช่วงราวปี ค.ศ. 1468 ดยุคแห่งแคลเรนซ์ตกอยู่ใต้อิทธิพลของริชาร์ด เนวิลล์ เอิร์ลแห่งวอริค และมีแผนที่จะสมรสกับอิซาเบล เนวิลล์ซึ่งเป็นธิดาคนโตและทายาทของริชาร์ด เนวิลล์ ทว่ากษัตริย์ผู้เป็นพี่ชายขัดขวางการสมรสครั้งนี้ สองหนุ่มสาวขัดขืนคำสั่งของกษัตริย์และเดินทางไปกาแลเพื่อเข้ารับการทำพิธีสมรสในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1469 ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1470 ดยุคแห่งแคลเรนซ์และพ่อตาได้แอบสนับสนุนการก่อจราจลติดอาวุธในตอนเหนือของอังกฤษ เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทราบข่าวการทรยศของน้องชาย พระองค์ได้ริบตำแหน่งข้าหลวงใหญ่แห่งไอร์แลนด์ที่เคยพระราชทานให้ ดยุคแห่งแคลเรนซ์ได้หนีไปฝรั่งเศสพร้อมกับเอิร์ลแห่งวอริค ด้วยแรงสนับสนุนจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 12 แห่งฝรั่งเศส เอิร์ลแห่งวอริคได้ถวายตัวจงรักภักดีต่อมาร์เกอรีตแห่งอ็องฌู พระราชินีผู้ถูกปลดจากบัลลังก์ และผนึกความสัมพันธ์ด้วยการให้แอนน์ เนวิลล์ ธิดาคนรองของตนสมรสกับเอ็ดเวิร์ด แพลนแทเจเนต เจ้าชายแห่งเวลส์ของฝ่ายแลงคัสเตอร์ซึ่งเป็นทายาทของพระเจ้าเฮนรีที่ 6

ในเดือนกันยายนของปีเดียวกันดยุคแห่งแคลเรนซ์และเอิร์ลแห่งวอริคได้ทำการรุกรานอังกฤษจนช่วยให้พระเจ้าเฮนรีที่ 6 พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์แลงคัสเตอร์ที่ถูกปลดจากตำแหน่งได้กลับคืนสู่บัลลังก์ ทว่าไม่นานดยุคแห่งแคลเรนซ์ก็เหนื่อยหน่ายกับการบริหารการปกครองของวอริคและไม่ชอบใจตนเองที่ต่อสู้เพื่อราชวงศ์แลงคัสเตอร์ จึงแอบคืนดีกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ผู้เป็นพี่ชาย ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1471 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ถูกขับไล่ออกจากประเทศเดินทางกลับมาอังกฤษ ดยุคแห่งแคลเรนซ์ได้ทอดทิ้งอดีตพันธมิตรอย่างเอิร์ลแห่งวอริคและต่อสู้อยู่ฝ่ายเดียวกับพี่ชายในสมรภูมิบาร์เน็ตในวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1471 เอิร์ลแห่งวอริคถูกพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดสังหารในสมรภูมิดังกล่าว เช่นเดียวกับเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ คู่เขยของดยุคแห่งแคลเรนซ์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดได้บัลลังก์กลับคืนมาและได้ตั้งดยุคแห่งแคลเรนซ์เป็นเอิร์ลแห่งวอริคและซอลส์บรีในปี ค.ศ. 1472

หน้าต่างกระจกสีภาพจอร์จแพลนแทเจเนตและอิซาเบล เนวิลล์ ที่ปราสาทคาร์ดิฟฟ์

ริชาร์ด ดยุคแห่งกลอสเตอร์ น้องชายคนเล็กของราชวงศ์ยอร์กมีแผนจะสมรสกับแอนน์ เนวิลล์ ชายาม่ายของเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ แต่ดยุคแห่งแคลเรนซ์ไม่ต้องการแบ่งทรัพย์สินที่ดินอันกว้างใหญ่ไพศาลของเอิร์ลแห่งวอริคกับน้องชายจึงได้นำตัวน้องสาวภรรยาไปซ่อน ความพยายามของเขาถูกทำลายเมื่อริชาร์ดสืบจนรู้ว่าแอนน์อยู่ที่ไหนและให้การคุ้มกันแอนน์จนเดินทางไปถึงสถานที่คุ้มภัยแห่งนักบุญมาร์ตินในฟิลด์ สุดท้ายสองพี่น้องคืนดีกัน ริชาร์ดได้สมรสกับแอนน์ เนวิลล์ ขณะที่ในการแบ่งทรัพย์สินที่ดินของเอิร์ลแห่งวอริค ดยุคแห่งแคลเรนซ์ได้ส่วนแบ่งที่เยอะกว่า

การสมรสของดยุคแห่งแคลเรนซ์กับอิซาเบล เนวิลล์ได้ให้กำเนิดทายาทที่รอดชีวิตสองคน เป็นธิดาหนึ่งคน คือ มาร์กาเร็ต เคาน์เตสแห่งซอลส์บรี และบุตรชายหนึ่งคน คือ เอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งวอริค อิซาเบล เนวิลล์ถึงแก่กรรมในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1476 เพียงสองเดือนหลังให้กำเนิดริชาร์ด บุตรชายที่อายุสั้น ภายหลังดยุคแห่งแคลเรนซ์คิดการใหญ่หวังจะสมรสกับมารี ทายาทแห่งบูร์กอญ แต่ถูกพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ขัดขวางการสมรส ย้ำแผลเก่าให้ดยุคแห่งแคลเรนซ์กลับมาคิดคดต่อพี่ชายอีกครั้ง

การเสียชีวิต[แก้]

มีบันทึกว่าดยุคแห่งแคลเรนซ์มีภาวะหวาดระแวง เขาบอกตัวเองว่าภรรยาของตนถูกแองแกเรตต์ ทวีนโฮผู้เป็นข้ารับใช้วางยาพิษ เธอถูกนำตัวขึ้นศาลที่วอริค เธอถูกตัดสินให้มีความผิดโดยคณะลูกขุนที่ถูกดยุคแห่งแคลเรนซ์ควบคุมและถูกจับแขวนคอ มีบันทึกว่าดยุคแห่งแคลเรนซ์ได้ปล่อยข่าวลือว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเป็นบุตรนอกสมรสที่เกิดจากการสมรสอันผิดกฎหมายของดัชเชสเซซิลีแห่งยอร์กกับพลธนูเบลย์บอร์น และมีบันทึกว่าเขาคาใจเรื่องความสมบูรณ์ทางกฎหมายในการสมรสของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดกับพระราชินีเอลิซาเบธ วูดวิลล์

กษัตริย์ผู้เป็นพี่ชายได้ทำการเตือนน้องชายด้วยการกล่าวหาจอห์น สแตซีย์ คนในครัวเรือนของดยุคแห่งแคลเรนซ์ว่าใช้อาคมมนตร์ดำจนถูกตัดสินให้ประหารชีวิต ดยุคแห่งแคลเรนซ์ได้ปรากฏตัวที่ห้องประชุมสภาในเวสต์มินสเตอร์และยืนกรานให้นักบวชอ่านคำตัดสินว่าสแตซีย์ไม่มีความผิด เชื่อกันว่าเขาเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังการลุกฮือในเคมบริดจ์เชอร์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่หมดความอดทนและถูกโน้มน้าวจนเชื่อว่าดยุคแห่งแคลเรนซ์หมายตาบัลลังก์ของพระองค์ได้กล่าวหาน้องชายของตนว่าทำตัวอยู่เหนือกฎหมายจากกรณีแขวนคอแองแกเรตต์ ทวีนโฮ จึงมีพระบัญชาให้จับกุมตัวดยุคและส่งตัวไปจองจำที่หอคอยแห่งลอนดอนด้วยข้อหาทรยศต่อประเทศ

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1478 กษัตริย์พิจารณาคดีการจับกุมน้องชายต่อหน้าสภานิติบัญญัติ ทั้งสองสภาของสภานิติบัญญัติผ่านร่างกฎหมายริบทรัพย์ของผู้ก่อกบฏและมีคำตัดสินให้ประหารชีวิตดยุคแห่งแคลเรนซ์ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1478 ทว่าการประหารชีวิตเกิดขึ้นอย่างลับๆ ในหอคอยแห่งลอนดอนในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ขณะดยุคแห่งแคลเรนซ์มีอายุได้ 28 ปี ร่างของเขาถูกส่งไปวิหารทูว์กส์บรีเพื่อฝังเคียงข้างอิซาเบล เนวิลล์ผู้เป็นภรรยา ต่อมาร่างของเขาได้ถูกขุดขึ้นมาและพบว่าไม่มีร่องรอยของการตัดหัวซึ่งเป็นวิธีการทั่วไปที่ใช้ในการประหารชีวิตขุนนางในยุคนั้น จึงเกิดเรื่องเล่าว่าการประหารชีวิตของเขาถูกจัดขึ้นในหอคอยโบวเยอร์ด้วยการจับกดในถังมาล์มซีย์ไวน์

เอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งวอริค บุตรชายของดยุคแห่งแคลเรนซ์ ด้วยมีสายเลือดใกล้ชิดกับบัลลังก์จึงถูกพระเจ้าเฮนรีที่ 7 จับขังไว้ในหอคอยแห่งลอนดอนและถูกประหารชีวิตในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1499 ด้วยข้อหาทรยศ มาร์กาเร็ต เคาน์เตสแห่งซอลส์บรี ธิดาของดยุคแห่งแคลเรนซ์ซึ่งเป็นแพลนแทเจเนตคนสุดท้ายถูกพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ประหารชีวิตในวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1541 เช่นเดียวกับเฮนรี โพล บารอนมอนตากู บุตรชายคนโตของเธอ

บรรดาศักดิ์[แก้]

  • ค.ศ. 1461 ดยุคแห่งแคลเรนซ์ และอัศวินแห่งการ์เตอร์
  • ค.ศ. 1462 ข้าหลวงใหญ่แห่งไอร์แลนด์
  • ค.ศ. 1472 เอิร์ลแห่งซอลสบรี

อ้างอิง[แก้]

  • George Plantagenet, Duke of Clarence 1449-1478
  • George Plantagenet, duke of Clarence
  • The Peerage.com
  • Weir, Alison (2002). Britain's Royal Family: A Complete Genealogy. Bodley Head. ISBN 0-7126-4286-2. pages 136 & 137
  • Pollard, A.J. (1991). Richard III and the Princes in the Tower. Bramley Books. ISBN 1-85833-772. {{cite book}}: ตรวจสอบค่า |isbn=: length (help) page 65

ดูเพิ่ม[แก้]