งูกรีนแมมบาตะวันออก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
งูกรีนแมมบาตะวันออก
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ไฟลัมย่อย: Vertebrata
ชั้น: Reptilia
อันดับ: Squamata
อันดับย่อย: Serpentes
วงศ์: Elapidae
วงศ์ย่อย: Elapinae
สกุล: Dendroaspis
สปีชีส์: D.  angusticeps
ชื่อทวินาม
Dendroaspis angusticeps
(A. Smith, 1849)[1]
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์

งูกรีนแมมบาตะวันออก (อังกฤษ: Eastern green mamba, ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendroaspis angusticeps) เป็นงูขนาดกลางถึงใหญ่ในวงศ์งูพิษเขี้ยวหน้า (Elapidae) มีพิษร้ายแรง มีถิ่นกำเนิดในชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกาใต้ไปจนถึงแทบทุกพื้นที่ของแอฟริกาตะวันออก

ลักษณะและพฤติกรรม[แก้]

งูกรีนแมมบาตะวันออกมีสีเขียวเป็นมันวาวในทุกส่วนของร่างกาย ท้องมีสีเขียวอ่อนแกมเหลือง งูชนิดนี้จัดเป็นงูในสกุลงูแมมบา (Dendroaspis spp.) ที่มีขนาดเล็กที่สุด มีความยาวโดยเฉลี่ย 1.4 เมตร[2][3] สามารถยาวได้สูงสุด 2.4 เมตร[4][5] ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย[6] งูกรีนแมมบาตะวันออกมีเขี้ยวพิษคู่หน้าขนาดใหญ่ ฟันแข็ง เกล็ดมีขนาดเล็ก เรียบลื่น แต่เกล็ดมีหัวมีขนาดใหญ่เห็นได้ชัดเจน หัวยาวเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก หางผอมยาว ตามีขนาดกลาง รูม่านตากลม [2]

งูกรีนแมมบาตะวันออก เป็นงูที่อาศัยและหากินบนต้นไม้เป็นหลัก บางครั้งจะลงมาสู่พื้นเพื่ออาบแดดหรือหาอาหารบ้าง เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ งูตัวเมียจะปล่อยฟีโรโมนออกมาเพื่อดึงดูดงูตัวผู้ งูตัวผู้จะต่อสู้แย่งชิงตัวเมียกันบนพื้นดิน ซึ่งบางครั้งอาจใช้เวลาหลายชั่วโมง ตัวที่ชนะจะได้ผสมพันธุ์กับตัวเมียบนต้นไม้ ตัวเมียจะวางไข่ ประมาณ 10-15 ฟอง วางไข่ในโพรงไม้หรือซากพืชที่เน่าเปื่อย หลังจากนั้น 3 เดือน ไข่จะฟัก โดยลูกงูจะมีขนาด 35-45 เซนติเมตร งูกรีนแมมบาตะวันออกเมื่อฟักออกจากไข่มีสีเหลืองแกมเขียว มีอายุยืนยาวถึง 15-25 ปี [7]

งูกรีนแมมบาตะวันออก เมื่อเทียบกับงูแบล็คแมมบา (D. polylepis) ซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกันแล้ว นับว่ามีอันตรายน้อยกว่ามาก ด้วยว่าเป็นงูที่ไม่ดุร้ายก้าวร้าวเท่า และอาศัยอยู่บนต้นไม้เป็นหลัก จึงมักไม่ค่อยได้มีโอกาสปะทะกับมนุษย์มากเท่า อีกทั้งยังเป็นงูที่มีนิสัยขี้ตื่น ขี้ตกใจ และเมื่อตกใจจะเลื้อยหนีขึ้นต้นไม้ที่อยู่ใกล้ที่สุดก่อน ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ผิดกับงูแบล็คแมมบาโดยสิ้นเชิง[8]

การทดลองพิษของงูชนิดนี้ในหนู[9][แก้]

ได้มีการศึกษาผลของพิษจากงูชนิดนี้ในหนูที่ถูกทำให้สลบ โดยมีการวัดค่าความดันโลหิต อัตราการหายใจและ ECG (คลื่นไฟฟ้าหัวใจ) ก่อนทำการทดลอง หลังจากนั้นฉีดพิษในปริมาณ 1 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักหนู 1 กิโลกรัม พบว่าภายในไม่กี่นาทีอัตราการหายใจลดลงอย่างเห็นได้ชัด และหยุดหายใจภายใน 15 นาที นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราการเต้นและแรงบีบตัวของหัวใจลดลง และยังพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงสับไปมาของความดันโลหิตอีกด้วย ทั้งนี้การใช้เครื่องช่วยหายใจสามารถช่วยลดการเปลี่ยนแปลงของระบบหมุนเวียนโลหิตได้

การใช้ยา Atropine ปริมาณสูงสามารถป้องกันระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้ และสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญ [10]

ในประเทศไทย[แก้]

งูกรีนแมมบาตะวันออก (รวมทั้งงูกรีนแมมบาตะวันตก (D. viridis)) เคยตกเป็นข่าวครึกโคมอยู่ช่วงหนึ่งในประเทศไทย ในเหตุการณ์มหาอุทกภัยปลายปี พ.ศ. 2554 เมื่อมีข่าวลือทางอินเทอร์เน็ตว่าได้มีผู้นำเข้างูทั้ง 2 ชนิดนี้มาเลี้ยงในประเทศไทย และหลุดรอดออกไปเมื่อเกิดน้ำท่วม โดยข่าวว่าหลุดออกจากย่านบางบัวทอง[11]

ซึ่งในบทความในนิตยสารสัตว์เลี้ยงฉบับหนึ่ง ได้มีผู้เชี่ยวชาญและนิยมการเลี้ยงงูเป็นสัตว์เลี้ยงได้เขียนถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับงูทั้ง 2 ชนิดนี้ในประเทศไทยว่า ครั้งหนึ่งเคยมีการนำเข้ามาจริง แต่ทว่างูชุดนั้นได้ตายหมดเพราะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยได้ อีกทั้งอุปสงค์ของงูกรีนแมมบ้าทั้ง 2 ชนิด ในประเทศไทยก็ไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากยังมีงูชนิดอื่นที่มีสีสันและลักษณะคล้ายกัน แต่ว่ามีอันตรายน้อยกว่า ซึ่งได้มีการเลี้ยงกันมาอย่างยาวนานแล้ว ประกอบกับเมื่อเหตุการณ์ผ่านมาแล้วระยะหนึ่ง ก็ยังไม่มีผู้ใดจับงูกรีนแมมบาได้จริง ดังนั้น จึงเชื่อว่าข่าวเรื่องงูกรีนแมมบาที่หลุดออกมานั้น เป็นเพียงการปล่อยข่าวเท่านั้น[8]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Reptile Database. www.reptile-database.org.
  2. 2.0 2.1 Zug, George R. (1996). Snakes in Question: The Smithsonian Answer Book. Washington D.C., USA: Smithsonian Institution Scholarly Press. ISBN 1560986484.
  3. WhoZoo.org - Eastern green mamba
  4. http://www.toxinology.com/fusebox.cfm fuseaction=main.snakes.display&id=SN0168 WCH Clinical Toxinology Resources (Dendroaspis angusticeps)
  5. WHO - Guidelines for the Prevention and Clinical Management of Snakebite in Africa
  6. Eastern green mamba (Dendroaspis angusticeps) Info
  7. งูกรีนแมมบ้า หรือ งูเขียวแมมบ้า หลุด เตือนอันตรายถึงชีวิต อย่าเข้าใกล้ต้นไม้ ย่านปากเกร็ด
  8. 8.0 8.1 Chelonian, วิเคราะห์ประเด็น "กรีนแมมบ้า" หรือ "เกรียนแมมบ้า" อ่านเนื้อหาให้จบ แล้วฟันธง หน้า 144-155 จากนิตยสาร AquariumBiz ฉบับที่ 18 ปีที่ 2: ธันวาคม 2011
  9. Lee, CY.; Chen, YM; Joubert, FJ (1986). "A study on the cause of death produced by angusticeps-type toxin F7 isolated from eastern green mamba venom". Toxicon. 24 (1): 665–7. PMID 3952763.
  10. Lee, CY.; Chen, YM; Joubert, FJ (1982). "Protection by atropine against synergistic lethal effects of the Angusticeps-type toxin F7 from eastern green mamba venom and toxin I from black mamba venom". Toxicon. 20 (3): 33–40. PMID 6985564.
  11. [https://web.archive.org/web/20111221101929/http://news.mthai.com/general-news/138831.html เก็บถาวร 2011-12-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน งูกรีนแมมบ้า (Green mamba) จากเอ็มไทย]
  • Smith, A. 1849. Illustrations of the zoology of South Africa. Reptilia. Smith, Elder & Co. London.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]