งูกรีนแมมบาตะวันตก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
งูกรีนแมมบาตะวันตก
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ไฟลัมย่อย: Vertebrata
ชั้น: Reptilia
อันดับ: Squamata
อันดับย่อย: Serpentes
วงศ์: Elapidae
วงศ์ย่อย: Elapinae
สกุล: Dendroaspis
สปีชีส์: D.  viridis
ชื่อทวินาม
Dendroaspis viridis
(Hallowell, 1844)[1]
การกระจายพันธุ์ของงูกรีนแมมบาตะวันตก
ชื่อพ้อง

งูกรีนแมมบาตะวันตก (อังกฤษ: Western green mamba, West African green mamba, Hallowell's green mamba; ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendroaspis viridis) เป็นงูพิษร้ายแรงในวงศ์งูพิษเขี้ยวหน้า (Elapidae)[3]

เป็นงูที่มีสีเขียวตลอดทั้งตัว มีลักษณะคล้ายกับงูกรีนแมมบาตะวันออก (D. angusticeps) ซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกัน (Dendroaspis spp.) แต่ว่าถูกจัดให้เป็นชนิดต่างกัน เนื่องจากมีลักษณะทางกายภาพที่ต่างกัน คือ มีความยาวที่มากกว่างูกรีนแมมบาตะวันออก กล่าวคือ มีความยาวโดยเฉลี่ย 1.8 เมตร และมีโทนสีของลำตัวหลากหลายแตกต่างกันมากกว่า กล่าวคือ มีทั้งสีเขียวมรกต, สีเขียวมะกอก หรือแม้แต่สีเขียวอมฟ้า อีกทั้งมีอุปนิสัยที่ดุร้ายก้าวร้าวกว่างูกรีนแมมบาตะวันออก อาศัยและหากินเป็นหลักบนต้นไม้

งูกรีนแมมบาตะวันตก มีถิ่นกระจายพันธุ์อยู่ในทวีปแอฟริกาตอนกลางในฝั่งทิศตะวันตก ซึ่งเป็นคนละส่วนกับถิ่นแพร่กระจายพันธุ์ของงูกรีนแมมบาตะวันออก

ซึ่งทั้งคู่เป็นงูที่มีพิษร้ายแรงต่อระบบประสาทเช่นเดียวกัน โดยมีพิษร้ายแรงใกล้เคียงกับงูเห่า (Naja spp.) ทั้งคู่มีการนิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงในหมู่ของผู้ที่นิยมเลี้ยงสัตว์เลื้อยคลานหรือสัตว์แปลก ๆ โดยที่งูกรีนแมมบาตะวันตกจะมีราคาซื้อขายแพงกว่างูกรีนแมมบาตะวันออก[4]

การเป็นข่าว[แก้]

งูกรีนแมมบาทั้ง 2 ชนิดนี้ เคยตกเป็นข่าวครึกโคมอยู่ช่วงหนึ่งในประเทศไทย ในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปลายปี พ.ศ. 2554 เมื่อมีข่าวลือทางอินเทอร์เน็ตว่าได้มีผู้นำเข้างูชนิดนี้มาเลี้ยงในประเทศไทย (เชื่อว่าคงเป็นงูกรีนแมมบาตะวันออก)[4] และหลุดรอดออกไปเมื่อเกิดน้ำท่วม โดยข่าวว่าหลุดออกจากย่านบางบัวทอง[5]

ซึ่งในบทความในนิตยสารสัตว์เลี้ยงฉบับหนึ่ง ได้มีผู้เชี่ยวชาญและนิยมการเลี้ยงงูเป็นสัตว์เลี้ยงได้เขียนถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับงูทั้ง 2 ชนิดนี้ในประเทศไทยว่า ครั้งหนึ่งเคยมีการนำเข้ามาจริง แต่ทว่างูชุดนั้นได้ตายหมดเพราะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยได้ อีกทั้งอุปสงค์ของงูกรีนแมมบ้าทั้ง 2 ชนิด ในประเทศไทยก็ไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากยังมีงูชนิดอื่นที่มีสีสันและลักษณะคล้ายกัน แต่ว่ามีอันตรายน้อยกว่า ซึ่งได้มีการเลี้ยงกันมาอย่างยาวนานแล้ว ประกอบกับเมื่อเหตุการณ์ผ่านมาแล้วระยะหนึ่ง ก็ยังไม่มีผู้ใดจับงูกรีนแมมบาได้จริง ดังนั้น ผู้เขียนผู้นี้จึงเชื่อว่าข่าวเรื่องงูกรีนแมมบาที่หลุดออกมานั้น เป็นเพียงการปล่อยข่าวเท่านั้น[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. The Reptile Database. www.reptile-database.org.
  2. Boulenger, G.A. 1896. Catalogue of the Snakes in the British Museum (Natural History), Volume III. London. p. 435.
  3. Hallowell, Edward (1844). Description of new species of African reptiles. Vol. 2. Philadelphia, USA: Proceedings of the National Academy of Sciences (Stanford University's Highwire Press). pp. 169–172.
  4. 4.0 4.1 [1]เก็บถาวร 2012-01-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน มารู้จัก "งูกรีนแมมบ้า" Green Mamba จากองค์กรสวนสัตว์
  5. [2]เก็บถาวร 2011-12-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน งูกรีนแมมบ้า (Green mamba) จากเอ็มไทย
  6. Chelonian, วิเคราะห์ประเด็น "กรีนแมมบ้า" หรือ "เกรียนแมมบ้า" อ่านเนื้อหาให้จบ แล้วฟันธง หน้า 144-155 จากนิตยสาร AquariumBiz ฉบับที่ 18 ปีที่ 2: ธันวาคม 2011

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]