ฆาตกรหั่นศพแห่งคลีฟแลนด์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฆาตกรหั่นศพแห่งคลีฟแลนด์
เจ้าพนักงานตำรวจงมหาชิ้นส่วนร่างกายมนุษย์ในลำน้ำคิงส์บิวรีเมื่อเดือนกันยายน 1936 ขณะทำคดีนี้
ภูมิหลัง
ชื่ออื่นฆาตกรหั่นศพแห่งคลีฟแลนด์,
ไอ้บ้าฆ่าหั่นศพที่ลำน้ำคิงส์บิวรี
การฆ่า
จำนวนผู้เสียหาย12–20 ราย[1]
ห้วงเวลาฆ่า23 กันยายน ค.ศ. 1935–16 สิงหาคม ค.ศ. 1938
ประเทศ สหรัฐ
รัฐคลีฟแลนด์  รัฐโอไฮโอ
วันถูกจับยังไม่ถูกจับกุม

ฆาตกรหั่นศพแห่งคลีฟแลนด์ (อังกฤษ: Cleveland Torso Murderer) หรือ ไอ้บ้าฆ่าหั่นศพที่ลำน้ำคิงส์บิวรี (อังกฤษ: Mad Butcher of Kingsbury Run) เป็นฆาตกรต่อเนื่องที่ปัจจุบันก็ยังระบุตัวมิได้ ผู้ฆ่าชาวเมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ไปอย่างน้อยสิบสองคน และชำแหละศพ ในคริสต์ทศวรรษ 1930

การฆ่า[แก้]

จำนวนอย่างเป็นทางการสำหรับการฆ่าที่เชื่อว่าเป็นผลงานของฆาตกรหั่นศพแห่งคลีฟแลนด์นั้น คือ สิบสองครั้ง ผู้ตายทั้งสิบสองถูกฆ่าในระหว่างปี 1935 ถึง 1938 ทว่า งานวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้ปรากฏว่าน่าจะเกิดขึ้นมากกว่านั้น พีเทอร์ แมริโล (Peter Merylo) หัวหน้าพนักงานสอบสวนแห่งเมืองคลีฟแลนด์ ว่า เมื่อประมวลคดีลักษณะเดียวกัน ที่เกิดในห้วงเวลาเดียวกัน คือ คริสต์ทศวรรษ 1920 ถึง 1950 และเกิดในละแวกเดียวกัน คือ เมืองคลีฟแลนด์ และยังส์ทาวน์ (Youngstown) รัฐโอไฮโอ และเมืองพิตส์เบิร์ก (Pittsburgh) รัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) แล้ว น่าเชื่อว่า ฆาตกรหั่นศพแห่งคลีฟแลนด์ฆ่าคนมาแล้วมากกว่าสี่สิบคน ในบรรดาผู้ตายทั้งหมด มีสองคนที่โดดเด่นที่สุด คือ ผู้ตายนิรนามที่เรียกว่า "นางทะเลสาบ" (Lady of the Lake) เพราะพบศพแถวทะเลสาบเมื่อวันที่ 5 กันยายน 1934 และรอเบิร์ต รอเบิร์ตสัน (Robert Robertson) ที่พบศพเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 1950

ส่วนใหญ่ ศพของผู้ตายมักลอยน้ำมา และไม่อาจระบุอัตลักษณ์ได้จนปัจจุบัน แต่ผู้ตายบางราย เช่น รายที่ 2 ที่ 3 และที่ 8 พิสูจน์อัตลักษณ์แล้วพบว่า คือ เอ็ดเวิร์ด แอนแดรสซี (Edward Andrassy), ฟลอเรนซ์ พอลิลโล (Florence Polillo) และน่าจะเป็น โรส วอลเลส (Rose Wallace) ตามลำดับ และผู้ตายเป็นทั้งชายและหญิง แต่ส่วนใหญ่ปรากฏว่าเป็นชาวเมืองคลีฟแลนด์ชั้นล่างซึ่งเป็นผู้รับผลกระทบในยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) เขาเหล่านั้นเชื่อว่าเป็น "คนยากผู้ใช้แรงงาน" (working poor) ซึ่งไร้บ้าน และอาศัยอยู่ที่เมืองแออัด (shanty town) เรียกว่า "แฟลตคลีฟแลนด์" (Cleveland Flats)

ฆาตกรหั่นศพผู้นี้ตัดศีรษะผู้ตายทุกคน และมักชำแหละศพพวกเขา บางทีผ่าครึ่งลำตัว แม้ผู้ตายส่วนใหญ่จะตายเพราะถูกตัดศีรษะแล้วก็ตาม ผู้ตายที่เป็นชายยังถูกตอนอวัยวะเพศด้วย ศพบางศพก็ปรากฏหลักฐานว่ามีการใช้สารเคมีใส่เข้าไป ศพทั้งหลายจะพบเมื่อเวลาผ่านไปยาวนานมากหลังการตายแล้ว บางทีเป็นปี บางทีนานกว่านั้น ส่งผลให้การพิสูจน์อัตลักษณ์แทบจะเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อส่วนศีรษะหายไปด้วย

ในระยะเวลาที่มีการรายงานถึงการฆ่าหั่นศพอย่างเป็นทางการนั้น อีเลียต เนส (Eliot Ness) ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยความปลอดภัยสาธารณะแห่งคลีฟแลนด์ (Public Safety Director of Cleveland) อันเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่เหนือฝ่ายตำรวจ และฝ่ายช่วยเหลือประชาชน รวมถึงฝ่ายดับเพลิง[2] งานสืบสวนของอีเลียตนั้นไม่ประสบความสำเร็จ แม้ว่าเขาจะได้ชื่อเสียงมากในการดำเนินคดี อัล คาโปน ก็ตาม อีเลียตดำรงตำแหน่งนั้นต่อไปกว่าสี่ปีหลังจากการฆ่าสงบลงแล้ว

ผู้ตาย[แก้]

นักวิจัยส่วนใหญ่เห็นว่า ผู้ตายที่แน่ชัดที่สุดมีสิบสองคน แม้ว่าปัจจุบันมีพยานหลักฐานใหม่ที่ยันว่า ที่แน่ชัดควรเป็นสิบสามคน รวมเอาหญิงนิรนามที่เรียกกันว่า "นางทะเลสาบ" เข้าไว้ด้วย ในบรรดาผู้ตายสิบสองคนดังกล่าวนี้ มีเพียงสองคนที่สามารถพิสูจน์อัตลักษณ์ได้ ที่เหลืออีกอีกสิบคน แบ่งเป็น ชายหกคน ซึ่งเรียก นาย ก ถึงนาย ฉ และเป็นหญิงอีกสี่คน ซึ่งเรียก นาง ช ถึงนาง ญ

ลำดับที่พบศพ ผู้ตาย วันที่พบ สถานที่พบ รายงานการชันสูตรพลิกศพ เวลาที่น่าจะตาย วันที่ถูกฆ่า ลำดับที่น่าจะถูกฆ่า
1 นาย ก 23 กันยายน 1935 บริเวณเขาแจ็กแอส (Jackass Hill) ที่ลำน้ำคิงส์บิวรี ใกล้ถนนตะวันออกที่ 49 (East 49th Avenue) กับถนนปราฮา (Praha Avenue) ไม่อาจพิสูจน์อัตลักษณ์ได้จนบัดนี้ ส่วนศีรษะนั้นพบแล้ว เบื้องต้น ประเมินว่าน่าจะตายมาแล้วเจ็ดถึงสิบวันก่อนพบศพ ต่อมาเปลี่ยนเป็นสามถึงสี่สัปดาห์ก่อนพบศพ เดือนสิงหาคมหรือกันยายน 1935 1
2 เอ็ดเวิร์ด ดับเบิลยู. แอนแดรสซี
(Edward W. Andrassy)
23 กันยายน 1935 บริเวณเขาแจ็กแอส ที่ลำน้ำคิงส์บิวรี พบศพของเอ็ดเวิร์ดห่างจากศพของนาย ก ไปสามสิบฟุต ส่วนศีรษะนั้นพบแล้ว สองถึงสามวันก่อนพบศพ กันยายน 1935 2
3 ฟลอเรนซ์ เจเนวีฟ พอลิลโล
(Florence Genevieve Polillo)
หรือ มาร์ติน (Martin)
26 มกราคม 1936 ระหว่างซอย 2315 และซอย 2325 ของถนนตะวันออกที่ 20 ในใจกลางเมืองคลีฟแลนด์ ร่างถูกซอยเป็นชิ้น ๆ ส่วนศีรษะนั้นยังไม่พบ สองถึงสี่วันก่อนพบศพ มกราคม 1936 3
4 นาย ข 5 มิถุนายน 1936 ลำน้ำคิงส์บิวรี ถูกตัดศีรษะทั้งเป็น และศีรษะก็พบแล้ว สองวันก่อนพบศพ มิถุนายน 1936 5
5 นาย ค 22 กรกฎาคม 1936 บริเวณบิกครีก (Big Creek), นครบรูกลิน (City of Brooklyn) ตะวันตกของเมืองคลีฟแลนด์ ถูกหั่นร่างกายทั้งเป็น ส่วนศีรษะนั้นพบแล้ว ผู้ตายคนนี้เป็นเพียงคนเดียวที่ตรวจพบในทางตะวันตกของเมือง สองเดือนก่อนพบศพ พฤษภาคม 1936 4
6 นาย ง 10 กันยายน 1936 ลำน้ำคิงส์บิวรี พบศพเพียงท่อนบน ส่วนท่อนล่างตั้งแต่สะโพกลงมานั้น ไม่เหลือซากให้พบ ส่วนศีรษะก็ไม่พบ และไม่สามารถพิสูจน์อัตลักษณ์ด้วย สองวันก่อนพบศพ กันยายน 1936 7
7 นาง ช 23 กุมภาพันธ์ 1937 อุทยานหาดยูคลิด (Euclid Beach Park) บนชายฝั่งของทะเลสาบเอรี (Lake Erie) มีศพหญิงอีกศพพบในจุดเดียวกันเมื่อ 1934 แต่ไม่นับกันว่าเป็นผู้ตายโดยฆาตกรหั่นศพแห่งคลีฟแลนด์นี้ หญิงนี้เรียกกันว่า "นางทะเลสาบ" และศีรษะของนางทะเลสาบก็ไม่พบจนบัดนี้ สามถึงสี่วันก่อนพบศพ กุมภาพันธ์ 1937 8
8 นาง ซ 6 มิถุนายน 1937 ใต้สะพาน สะพานอนุสรณ์โฮป (Hope Memorial Bridge) ซึ่งสมัยนั้นเรียก สะพานลอเรน-คาร์เนกี (Lorain-Carnegie bridge) เป็นผู้ตายคนเดียวที่เป็นชาวอเมริกันพื้นเมือง (คนดำ) ศีรษะถูกตัด และซี่โครงถูกรื้อหายไป บัดนี้ พบศีรษะแล้ว หนึ่งปีก่อนพบศพ มิถุนายน 1936 6
9 นาย จ 6 กรกฎาคม 1937 โผล่ออกมาจากแม่น้ำคูยาโฮกา (Cuyahoga River) แถวแฟลตรูหนูคลีฟแลนด์ พบแต่ร่าง แต่ศีรษะไม่พบ สองถึงสามวันก่อนพบศพ กรกฎาคม 1937 9
10 นาง ฌ 8 เมษายน 1938 แม่น้ำคูยาโฮกา แถวแฟลตรูหนูคลีฟแลนด์ พบแต่แข้ง ศีรษะและส่วนอื่น ๆ ของร่างกายนั้นหาไม่พบ และเป็นผู้ตายคนเดียวที่ปรากฏสารเคมีในร่างกายเมื่อถูกฆ่า สามถึงห้าวันก่อนพบ เมษายน 1938 12
11 นาง ญ 16 สิงหาคม 1938 ถนนตะวันออกที่ 9 แถวเลกชอร์ดัมป์ (Lakeshore Dump) พบศพ และพบศีรษะ สี่ถึงหกเดือนก่อนพบศพ กุมภาพันธ์ถึงเมษายน 1938 11
12 นาย ฉ 16 สิงหาคม 1938 ถนนตะวันออกที่ 9 แถวเลกชอร์ดัมป์ พบพร้อมกันกับศพของนาย จ ศพของนาย ฉ ถูกตัดศีรษะ และศีรษะนั้นพบถูกยัดอยู่ในกระป๋อง เจ็ดถึงเก้าเดือนก่อนพบศพ พฤศจิกายน 1937 ถึงมกราคม 1938 10

ผู้ตายคนนี้ มีรอยสักประหลาดหลายรอยอยู่บนร่างกาย รอยหนึ่งเป็นชื่อคน นามว่า "เฮเลนกับพอล" (Helen and Paul) อีกรอยเป็นชื่อย่อ ว่า "ดับเบิลยู.ซี.จี." (W.C.G.) กางเกงในที่สวมอยู่กับศพมีตราร้านซักรีด ระบุชื่อย่อของเจ้าของกางเกงในว่า "เจ.ดี." (J.D.) มีชาวเมืองคลีฟแลนด์นับพันเข้าชมศพบรรจุโลงและหน้ากากศพซึ่งจัดแสดงที่ นิทรรศการเกรตเลกส์ (Great Lakes Exposition) แต่ก็ไม่ช่วยพิสูจน์อัตลักษณ์ของผู้ตาย

ผู้ตายคนนี้ เป็นไปได้ว่า คือ "โรส วอลเลส" (Rose Wallace) เจ้าพนักงานตำรวจตรวจพิสูจน์ฟันของผู้ตายแล้ว พบว่า มีโครงสร้างพันธุกรรมอย่างเดียวกับชายที่แสดงตัวและระบุว่าผู้ตายน่าจะเป็นมารดาของตน โชคร้ายที่พนักงานแพทย์ผู้ตรวจพิสูจน์ได้ตายลงก่อน ประกอบกับที่ผู้ตายนั้นตายมาเป็นปี โดยที่ศพหายไปกว่าสิบเดือนถึงพบ การพิสูจน์อัตลักษณ์จึงกลายเป็นพ้นวิสัยไป

ผู้ที่น่าจะตายเนื่องในฆาตกรรมต่อเนื่องนี้[แก้]

มีการถกกันว่า มีอีกหลายคนที่น่าจะถูกฆ่าเนื่องในฆาตกรรมต่อเนื่องนี้ ในจำนวนนั้น รายแรก เป็นสตรีนิรนาม ได้ชื่อว่า "นางทะเลสาบ" เพราะพบศพของเธอใกล้หาดยูคลิด บนชายฝั่งทะเลสาบเลกเอรี เมื่อวันที่ 5 กันยายน 1934 อันเป็นจุดเดียวกับที่พบศพของนาง ช เนื่องจากถูกพบก่อนใครเพื่อน จึงมีผู้เรียกศพของหญิงนี้ว่า "นางหมายเลข 0" (Victim Zero) ด้วย

ศพชายนิรนามศีรษะขาดอีกศพ พบอยู่ในรถไฟบรรทุก (boxcar) ที่เมืองนิวแคสเซิล (New Castle) รัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1936 ส่วนศพศีรษะขาดอีกสามราย พบอยู่ในรถไฟบรรทุกใกล้เมืองแมกคีส์ร็อกส์ (McKees Rocks) รัฐเดียวกัน เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 1940 ศพทั้งหมดมีร่องรอยบาดแผลอย่างเดียวกับในศพทั้งสิบสองข้างต้น มีศพถูกชำแหละอีกจำนวนหนึ่งพบอยู่ในหนองใกล้เมืองนิวแคสเซิล รัฐเพนซิลเวเนีย ในช่วงปี 1921 ถึง 1934 และปี 1939 ถึง 1942

อีกศพ ซึ่งพิสูจน์อัตลักษณ์แล้วว่าคือ รอเบิร์ต รอเบิร์ตสัน พบที่อาคารธุรกิจแถวแถนนดาเวนพอร์ต (Davenport Avenue) ซอย 2138 ในเมืองคลีฟแลนด์ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 1950 ชายผู้นี้ถูกฆ่ามาแล้วหกถึงแปดสัปดาห์ก่อนพบ และศีรษะก็ถูกตัดไปโดยเจตนา

ผู้ต้องสงสัย[แก้]

วันที่ 24 สิงหาคม 1939 แฟร็ง โดเลซัล (Frank Dolezal) ชาวเมืองคลีฟแลนด์ ถูกมาร์ทิน แอล. โอ'ดอนเนล (Martin L. O'Donnell) นายอำเภอจับ โดยสงสัยว่าฆ่าฟรอเรนซ์ พอลิลโล แต่หกเดือนต่อมา เขาตายในห้องขังที่เทศมณฑลคูยาโฮกา (Cuyahoga County) การชันสูตรพลิกศพของแฟร็งพบว่า ซี่โครงหักหกซี่ อันเป็นความบาดเจ็บที่เพื่อนร่วมห้องขังยืนยันว่า ไม่เคยมีเมื่อตอนถูกจับ นักวิจัยส่วนใหญ่เชื่อว่า ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าแฟร็งเกี่ยวข้องกับฆาตกรรม แม้ว่าเขาจะรับสารภาพว่าฆ่าฟรอเรนซ์ พอลิลโลก็ตาม แต่ก็เชื่อว่าเพื่อป้องกันตนเท่านั้น นอกจากนี้ ก่อนเขาตาย เขายังถอนคำรับสารภาพที่เคยให้ไว้ทั้งหมดด้วย โดยกล่าวว่า ตนเองถูกซ้อมให้รับสารภาพ

ดอกเตอร์ฟรานซิส อี. สวีนีย์ (Francis E. Sweeney) เป็นผู้ต้องสงสัยรายใหญ่อีกราย ตามการสืบสวนในปี 1938 ซึ่งพบข้อมูลสำคัญว่า ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ดอกเตอร์ฟรานซิสเคยทำงานในหน่วยแพทย์ผ่าตัดสนาม อีเลียต เนสได้สอบปากคำดอกเตอร์ฟรานซิสเป็นการส่วนตัวด้วย โดยอีเลียตเรียกเขาด้วยรหัส "เกย์ลอร์ด ซุนด์ไฮม์" (Gaylord Sundheim) อีเลียตกล่าวว่า ดอกเตอร์ฟรานซิส "ไม่ผ่าน" เครื่องจับเท็จถึงสองครั้ง การจับเท็จทั้งสองดำเนินการโดย ลีโอนาร์ด คีเลอร์ (Leonard Keeler) ผู้ชำนัญพิเศษด้านจับเท็จ ซึ่งลีโอนาร์ดกล่าวแก่อีเลียตว่า "คุณจับถูกคนแล้ว" ("You has your man") อย่างไรก็ดี อีเลียตรู้สึกว่า โอกาสที่จะดำเนินคดีกับดอกเตอร์ฟรานซิสโดยสะดวกนั้นมีน้อยมาก เนื่องจากดอกเตอร์ฟรานซิสเป็นญาติสนิทของ มาร์ทิน แอล. สวีนีย์ (Martin L. Sweeney) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคู่แข่งทางการเมืองของอีเลียต มาร์ทินนั้นจ้องเล่นงานอีเลียตเรื่องที่เขาจับคนร้ายผิดคนอยู่ทุกฝีก้าว

แม้ไม่มีความคืบหน้าหรือความเกี่ยวพันใด ๆ อันจะยังให้เจ้าพนักงานตำรวจจัดว่าเขาเป็นผู้ต้องสงสัยก็ตาม ดอกเตอร์ฟรานซิสก็มอบตัว และถูกกักขังไว้ในโรงพยาบาลทหารผ่านศึก (Veterans' Hospital) ที่เมืองเดย์ทัน (Dayton) รัฐโอไฮโอ เพื่อรับการบำบัดโดยสมัครใจ หลังจากนั้น ปรากฏว่า ฆาตกรรมต่อเนื่องก็ไม่เกิดขึ้นอีกเลย และดอกเตอร์ฟรานซิสตายที่โรงพยาบาลนั้นในปี 1964

ในปี 1997 มีทฤษฎีแพร่กระจายไปว่า ฆาตกรรมต่อเนื่องนี้อาจไม่ได้กระทำโดยบุคคลเพียงคนเดียว "ไอ้บ้าฆ่าหั่นศพแห่งลำน้ำคิงส์บิวรี" อาจมีหลายคนก็ได้ ทฤษฎีนี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า ผลการชันสูตรพลิกศพนั้นยังไม่เป็นที่ยุติ อาร์เธอร์ เจ. เพียร์ซ (Arthur J. Pearce) พนักงานแยกธาตุ (analyst) ประจำเทศมนฑลคูยาโฮกา กล่าวว่า การพิเคราะห์ของเขายังไม่เป็นที่แน่ใจว่า รอยตัดแต่ละศพนั้นเป็นการกระทำของผู้เชี่ยวชาญหรือมือสมัครเล่น สิ่งเดียวที่ทราบแน่ชัดมีเพียงว่า ศพผู้ตายทุกคนถูกชำแหละเท่านั้น[3][4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Eliot Ness and the Untouchables: A CooperToons Most Merry and Illustrated History and Biography". www.coopertoons.com.
  2. Heimel, Paul (2000) [1997]. Eliot Ness: The Real Story (2nd ed.). Coudersport, Pennsylvania: Knox Books. ISBN 9781581821390.
  3. Bellamy II, John (31 October 1997). The Maniac in the Bushes: More True Tales of Cleveland Crime and Disaster (1st ed.). Cleveland, Ohio, United States of America: Gray & Company, Publishers. ISBN 978-1886228191.
  4. Guerrieri, Vince (26 April 2021). Ley, Tom; Wang, Jasper; Petchesky, Barry; Kalaf, Samer (บ.ก.). "Torso Murders, An Olympic Sex Scandal, And The Cleveland World's Fair That Wasn't". Defector. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 April 2021. สืบค้นเมื่อ 7 September 2021.

บรรณานุกรม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]