ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Chiroptera
วงศ์: Pteropodidae
สกุล: Pteropus
สปีชีส์: P.  vampyrus
ชื่อทวินาม
Pteropus vampyrus
(Linnaeus, 1758)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์
ชื่อพ้อง[1]
  • Pteropus caninus Blumenbach, 1797
  • Pteropus celaeno Hermann, 1804
  • Pteropus edulis É. Geoffroy, 1810
  • Pteropus funereus Temminck, 1837
  • Pteropus javanicus Desmarest, 1820
  • Pteropus kalou É. Geoffroy, 1810
  • Pteropus kelaarti Gray, 1870 [skull, not skin]
  • Pteropus kopangi Kuroda, 1933
  • Pteropus lanensis Mearns, 1905
  • Pteropus malaccensis K. Andersen, 1908
  • Pteropus natunae K. Andersen, 1908
  • Pteropus nudus Hermann, 1804
  • Pteropus phaiops Gray, 1870 [not Temminck, 1825]
  • Pteropus pluton Temminck, 1853
  • Pteropus pteronotus Dobson, 1878
  • Pteropus sumatrensis Ludeking, 1862

ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน (อังกฤษ: Large flying fox, Greater flying fox, Malayan flying fox, Malaysian flying fox, Large fruit bat) เป็นค้างคาวชนิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก [2]มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pteropus vampyrus อยู่ในวงศ์ Pteropodidae หรือค้างคาวผลไม้

เป็นค้างคาวขนาดใหญ่ มีหัวคล้ายหมาจิ้งจอก มีดวงตาโต จมูกและใบหูเล็ก ขนสีน้ำตาลแกมแดง และมีเล็บที่แหลมคมสามารถเกาะกิ่งไม้ได้ โดยจะใช้เล็บของนิ้วที่ 2 ที่เหมือนตะขอเป็นหลักในการป่ายปีนและเคลื่อนไหว มีฟันทั้งหมด 36 ซี่ ที่เขียนเป็นสูตรได้ว่า [2] มีปีกสีดำสนิท บินได้เร็วและไกลเหมือนนก เมื่อกางปีกแล้วจะกว้างประมาณ 3 ฟุต หรืออาจยาวได้ถึง 2 เมตร น้ำหนักเต็มที่ 1 กิโลกรัม

เป็นค้างคาวกินผลไม้เป็นหลัก จึงจัดเป็นศัตรูของชาวสวนผลไม้อย่างหนึ่ง บางครั้งจะกินผลไม้แล้วจะปัสสาวะรดใส่ด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ จะกินอาหารคิดเป็นน้ำหนักเกือบ 2 เท่าของน้ำหนักตัว นอกจากแล้วยังกินน้ำหวานหรือน้ำต้อยรวมถึงเกสรของดอกไม้ด้วย จึงมีประโยชน์ในการช่วยผสมเกสรของพืช จะออกหากินตั้งแต่เวลาพลบค่ำจนถึงรุ่งสาง ค้นหาอาหารด้วยการใช้จมูกสูดกลิ่นและดวงตาที่กลมโตสอดส่อง อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง นอนหลับพักผ่อนในเวลากลางวัน โดยห้อยหัวทิ้งลำตัวลงมา โดยใช้ขาหลังเกาะเกี่ยวกับกิ่งไม้ และใช้ปีกห่อหุ้มตัวเอง ทั้งนี้ความสูงและเส้นผ่าศูนย์กลางของต้นไม้ก็เป็นตัวกำหนดความปลอดภัยของค้าวคาวด้วย โดยปกติแล้วแต่ละตัวจะมีอาณาเขตเป็นของตัวเอง โดยจะมีระยะเว้นห่างกันประมาณ 1 ฟุต และหลบแสงแดด ค้างคาวตัวเมียออกลูกครั้งละ 1 ตัว ฤดูกาลผสมพันธุ์เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน อาจผสมพันธุ์ได้ทั้งปีและครั้งหรือปีละ 2 ครั้ง ตัวผู้จะเริ่มเข้ามาใกล้ตัวเมียและขับไล่ตัวผู้ตัวอื่น ๆ ออกไป อาจมีการต่อสู้กันบ้างเล็กน้อย การผสมพันธุ์จะทำกันวันละหลายครั้งและอาจติดต่อกันหลายวัน โดยตัวผู้ใช้ลิ้นเลียอวัยวะสืบพันธุ์และตามลำตัวของตัวเมียเพื่อกระตุ้น ซึ่งตัวเมียอาจมีการขัดขืน ต่อสู้ หรือบินหนีบ้าง เมื่อออกหากินจะบินเรียงตัวกันเป็นแถว ความยาวอาจยาวได้นับกิโลเมตร ขณะบินจะไม่มีเสียง[3] มีอาณาเขตในการบินหากินตั้งแต่ 15–50 กิโลเมตร เป็นค้างคาวที่บินได้ช้าแต่มีความมั่นคง มีเสียงร้องที่มีความถี่ประมาณ 4–6 กิโลเฮิรตซ์ ใช้ในการสื่อสาร การหาอาหาร การประกาศอาณาเขต รวมถึงการปฏิสัมพันธ์กับค้างคาวตัวอื่นรวมถึงลูกตัวเองด้วย ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝนมีระยะเวลาตั้งท้องราว 4–5 เดือน ลูกค้างคาวจะเกิดราว ๆ ช่วงต้นปี ลูกเล็กจะเกาะตัวแม่ค้างคาวตลอดแม้ขณะบินออกหากิน เมื่อยังเล็กหัวจะยังตั้งตรง แต่เมื่อเติบใหญ่ขึ้นด้วยสรีระทำให้ต้องห้อยหัวลงมากินนมแม่จากหน้าอก หย่านมเมื่ออายุได้ราว 2 เดือน ซึ่งตัวจะมีขนาดใหญ่จนแม่ค้างคาวไม่สามารถรับน้ำหนักไหว แม่ค้างคาวจะให้ลูกของตัวเองเกาะกับกิ่งไม้เองรวมกับลูกค้างคาวตัวอื่น ๆ และป้อนนมให้ก่อนจะบินออกไปหากิน[4]

พบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงตองงาและวานูอาตู มักพบในป่าดิบชื้นโดยเฉพาะพื้นที่ ๆ ใกล้ชายฝั่งทะเล หรือพื้น ๆ ที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ซึ่งบางครั้งยังพบในพื้นที่ ๆ ใกล้กับชุมชนของมนุษย์ด้วย[5]

ถือเป็นค้างคาวแม่ไก่ 1 ใน 3 ชนิดที่พบได้ในประเทศไทย[6] และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2546[7] โดยในประเทศไทย สถานที่ ๆ เป็นแหล่งท่องเที่ยวและสามารถพบเห็นค้างคาวแม่ไก่ป่าฝนได้มาก คือ วัดโพธิ์บางคล้า โบราณสถานทางศาสนาในเขตอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยค้างคาวที่นี่มีอาณาเขตหากินไกลไปจนถึงชายแดนประเทศกัมพูชา [8] โดยค้างคาวฝูงนี้เชื่อว่าอาศัยอยู่ที่วัดแห่งนี้ตั้งแต่ก่อสร้างเมื่อกว่า 200 ปีก่อนแล้ว โดยชาวบ้านที่นี่ในสมัยอดีตนิยมที่จะตีและจับค้างคาวแม่ไก่ป่าฝนมารับประทานกัน แต่ทว่าได้รับการบิณฑบาตจากอดีตเจ้าอาวาส ปัจจุบันจึงเป็นสัตว์ที่ชาวบ้านให้ความเมตตา และรับเลี้ยงดูในตัวที่อ่อนแอหรือแก่ชราที่ตกลงมาจากต้นไม้[4]

ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน มีรายงานเป็นพาหะนำโรคร้ายสู่มนุษย์ คือ ไข้สมองอักเสบ จากเชื้อไวรัสนิปาห์ด้วยการกินผลไม้หรือปัสสาวะรด จากนั้นอาจติดไปสู่มนุษย์โดยตรงหรือผ่านสัตว์อย่างอื่น เช่น หมู ซึ่งในประเทศบังกลาเทศและมาเลเซียมีรายงานผู้เสียชีวิตมาแล้ว แม้ในส่วนของประเทศไทยจะยังไม่มีรายงานของผู้เสียชีวิต แต่ก็อยู่ในส่วนของการเฝ้าระวัง [4]

รูปภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 จาก IUCN
  2. 2.0 2.1 Lekagul B., J. A. McNeely. 1977. Mammals of Thailand. Association for the Conservation of Wildlife, Bangkok, Thailand.
  3. "ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน". มายเฟิร์สเบรน.[ลิงก์เสีย]
  4. 4.0 4.1 4.2 ค้างคาวแม่ไก่ ฝูงบินแห่งรัตติกาลของคนบางคล้า, "สัตว์ คน เมือง". สารคดีทางช่องนาว: วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2560
  5. ค้างคาวแม่ไก่ฝ่าฝน
  6. "ประชากรและลักษณะทางประชากรของค้างคาวแม่ไก่ในประเทศไทย" (PDF). กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.
  7. "สัตว์ป่าคุ้มครอง". มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร.
  8. "อัศจรรย์ฝูงค้างคาวแม่ไก่วัดโพธิ์บางคล้า". คมชัดลึก. 7 January 2016. สืบค้นเมื่อ 5 January 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Pteropus vampyrus ที่วิกิสปีชีส์