คุนดุน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คุนดุน
กำกับมาร์ติน สกอร์เซซี
เขียนบทเมลิซซา แมททีสัน
อำนวยการสร้างบาร์บารา เดอ ฟีนา
กำกับภาพโรเจอร์ ดีคินส์
ดนตรีประกอบฟิลิปส์ กลาส
ผู้จัดจำหน่ายทัชสโตนพิกเจอส์
วันฉาย25 ธันวาคม ค.ศ. 1997
ความยาว134 นาที
ภาษาภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทำเงิน5,684,789 ดอลลาร์สหรัฐ

คุนดุน (อังกฤษ: Kundun) เป็นภาพยนตร์ชีวประวัติของทะไลลามะ องค์ที่สิบสี่ กำกับโดยมาร์ติน สกอร์เซซี จากบทภาพยนตร์ของเมลิซซา แมททีสัน ดัดแปลงมาจากเรื่องราวและงานเขียนขององค์ทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณสูงสุดของทิเบตที่ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ หลังจากถูกรุกรานโดยกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ เทนซิง ทูลอบ ซารง ซึ่งเป็นหลานชายขององค์ทะไลลามะ มารับบทเป็นองค์ทะไลลามะในวัยผู้ใหญ่

ชื่อภาพยนตร์ "คุนดุน" (ทิเบต: སྐུ་མདུན་ ) แปลว่า "คนปัจจุบัน" มาจากคำสรรพนามที่ชาวทิเบตใช้เรียกทะไลลามะองค์ที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น สืบมาตั้งแต่สมัยทะไลลามะ องค์ที่หนึ่ง

โครงการสร้างภาพยนตร์เริ่มต้นจากการที่เมลิซซา แมททีสัน ซึ่งมีชื่อเสียงจากการเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง อี.ที. เพื่อนรัก ให้พบกับองค์ทะไลลามะ และทูลขออนุญาตนำชีวประวัติของพระองค์มาสร้างภาพยนตร์ แมททีสันยังเป็นผู้เสนอบริษัทผู้สร้างให้สกอร์เซซีรับเป็นผู้กำกับ[1]

ในภาพยนตร์กล่าวถึงเหตุการณ์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1937 จนถึงปี ค.ศ. 1959 เริ่มจากการตามหาองค์ทะไลลามะองค์ใหม่ ที่เชื่อว่าเป็นทะไลลามะ องค์ที่สิบสามที่เพิ่งสิ้นพระชนม์ กลับชาติมาเกิดใหม่ จากนิมิตของเรทิงรินโปเช ที่รับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการ และพบว่าเด็กชายอายุสองขวบ ชื่อ ลาโม ดอนดรุบ เป็นบุตรของชาวนาจากเมืองทักเซอร์ ใกล้ชายแดนจีน เป็นทะไลลามะองค์ที่สิบสามกลับชาติมาเกิด ลาโมถูกนำตัวเข้าพระราชวังโปตาลาตั้งแต่อายุสี่ขวบ ได้รับการสถาปนาพระนามว่า เท็นซิง เกียตโซ และได้รับการฝึกฝนเพื่อเตรียมพระองค์ สำหรับพิธีสถาปนาเป็นทะไลลามะ องค์ที่สิบสี่ เมื่อถึงเวลาอันควร

ช่วงชีวิตในวัยเด็กขององค์ทะไลลามะได้พบเห็นความขัดแย้งจากการเมืองในราชสำนัก และการที่ทิเบตถูกรุกรานโดยกองทัพปลดปล่อยประชาชน ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน จนทรงมีความเป็นผู้ใหญ่เกินวัย พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องการให้ทรงเป็นผู้นำหุ่นเชิดของรัฐบาลทิเบต และทำการกวาดล้างชาวทิเบตผู้รักชาติ ที่ต่อต้านทหารจีน พระองค์ไม่ต้องการเห็นการฆ่าฟันกัน และพยายามใช้กุศโลบายเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง ทั้งการเสด็จฯ ไปเยือนเหมา เจ๋อตุงถึงกรุงปักกิ่ง ในที่สุดจึงทรงตัดสินพระทัยหนีเล็ดลอดออกจากทิเบตพร้อมด้วยผู้ติดตาม ข้ามชายแดนอินเดียเพื่อขอลี้ภัยและตั้งรัฐบาลทิเบตพลัดถิ่น ในปี ค.ศ. 1959 ขณะพระชนม์ 24 ปี

ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในเวลาใกล้เคียงกับภาพยนตร์เรื่อง Seven Years in Tibet และถูกต่อต้านจากรัฐบาลจีนเช่นเดียวกัน ส่งผลให้สกอร์เซซี, แมททีสัน และทีมงานสร้าง ถูกทางการจีนสั่งห้ามเข้าประเทศ และดิสนีย์ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของทัชสโตนพิกเจอส์ ถูกทางการจีนเพ่งเล็ง ภาพยนตร์ถ่ายทำในโมร็อกโก โดยบางส่วนถ่ายทำที่วัดทิเบตในนิวยอร์ก[2][3]

อ้างอิง[แก้]

  1. Overview of Kundun from the Turner Classic Movies website
  2. "Karma Triyana Dharmachakra - The Monastery". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-12-05. สืบค้นเมื่อ 2011-05-16.
  3. "Young Spiritual Leader Arrives in New York Ready to Teach and Be Taught" from the New York Times 16 May 2008

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]