คำกริยาวิเศษณ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คำกริยาวิเศษณ์ เป็นคำชนิดหนึ่งมีใช้ในหลายภาษา ตัวอย่างที่เห็นชัดคือภาษาอังกฤษ คำกริยาวิเศษณ์หมายถึงคำที่ทำหน้าที่ขยายความคำกริยาหรือคำอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากคำนาม เช่นคำคุณศัพท์ (รวมทั้งจำนวน) อนุประโยค ประโยค และคำกริยาวิเศษณ์อื่น คำกริยาวิเศษณ์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำวิเศษณ์ในภาษาไทย

ภาษาอังกฤษ[แก้]

คำกริยาวิเศษณ์ในภาษาอังกฤษ ส่วนใหญ่จะนำคำคุณศัพท์มาเติม -ly และมีความหมายว่า "อย่าง" ตัวอย่างเช่น great → greatly (อย่างยิ่งใหญ่), beautiful → beautifully (อย่างสวยงาม) เป็นต้น แต่ไม่ใช่ทุกคำที่ต้องลงท้ายด้วย -ly เช่น hard, fast, well เป็นอาทิ อย่างไรก็ตามบางคำที่ลงท้ายด้วย -ly เช่น friendly, lovely ก็ไม่ใช่คำกริยาวิเศษณ์ แต่เป็นคำคุณศัพท์ในกรณีที่ขยายคำนาม คำปัจจัย -ly สามารถเทียบได้กับคำปัจจัย -lich ของภาษาเยอรมัน, -lijk ของภาษาดัตช์, -lig ของภาษาเดโน-นอร์เวย์ และ -leg ของภาษานอร์เวย์

หลักการการเติมคำปัจจัย -ly มีดังนี้[1]

  • คำคุณศัพท์ลงท้ายด้วย ic ให้เติม -al ตามด้วย -ly เช่น dramatic → dramatically
  • คำคุณศัพท์ลงท้ายด้วย le และหน้า le เป็นพยัญชนะ ให้เปลี่ยน e เป็น y เช่น simple → simply
  • คำคุณศัพท์ลงท้ายด้วย le และหน้า le เป็นสระ เติม -ly ได้ทันที เช่น sole → solely ยกเว้น whole → wholly
  • คำคุณศัพท์ลงท้ายด้วย ll ให้เติม -y เช่น full → fully
  • คำคุณศัพท์ลงท้ายด้วย ue ให้ตัด e แล้วเติม -ly เช่น true → truly
  • คำคุณศัพท์ลงท้ายด้วย y และหน้า y เป็นพยัญชนะ ให้เปลี่ยน y เป็น i แล้วเติม -ly เช่น easy → easily ยกเว้น shy → shyly, sly → slyly, gay → gaily
  • บางคำก็ไม่จำเป็นต้องเติม -ly โดยใช้ศัพท์คำเดิม เช่น fast, hard, little, high, low, early, daily ฯลฯ หรือใช้ศัพท์คำอื่นให้จดจำไว้เช่น good → well
  • กรณีอื่นเติม -ly ได้ทันที

คำกริยาวิเศษณ์ที่มาจากคำคุณศัพท์โดยการเติม -ly อาจมีความหมายต่างออกไปจากเดิม เช่น hard (ยากลำบาก) → hardly (ไม่ค่อยมี), high (สูง) → highly (อย่างมาก), late (สาย) → lately (เมื่อเร็ว ๆ นี้), near (ใกล้) → nearly (เกือบจะ), wide (กว้าง) → widely (โดยทั่วไป) ฯลฯ

ในบางกรณีคำปัจจัย -wise อาจใช้แปลงคำนามให้เป็นคำกริยาวิเศษณ์ และ -ways ก็ได้เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของ -wise ด้วย เช่น clockwise, sideways คำกริยาวิเศษณ์บางคำสร้างขึ้นจากคำนามหรือคำคุณศัพท์โดยการเติมคำอุปสรรค a- อาทิ abreast, astray ยังมีคำปัจจัยอื่น ๆ อีกในภาษาอังกฤษที่แปลงคำกริยาวิเศษณ์มาจากคำประเภทอื่น และมีคำกริยาวิเศษณ์จำนวนมากที่ไม่ได้ดัดแปลงจากการเติมคำเลย

คำว่า more, most, least, less ที่นำหน้าคำคุณศัพท์หรือคำกริยาวิเศษณ์ ก็เป็นคำกริยาวิเศษณ์เช่นกัน

อ้างอิง[แก้]

  1. "การทำให้เป็นคำกริยาวิเศษณ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-01. สืบค้นเมื่อ 2012-03-20.
  • Ernst, Thomas. 2002. The syntax of adjuncts. Cambridge: Cambridge University Press.
  • Jackendoff, Ray. 1972. Semantic Interpretation in Generative Grammar. MIT Press.