คาร์ล ลาร์สสัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คาร์ล ลาร์สสัน

คาร์ล ลาร์สสัน (อังกฤษ: Carl Larsson) (28 พฤษภาคม ค.ศ. 1853 - 22 มกราคม ค.ศ. 1919) เป็นจิตรกรและนักตกแต่งภายในชาวสวีเดนของคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ผู้มีบทบาทสำคัญในขบวนการศิลปะหัตถกรรม

ประวัติ[แก้]

คาร์ล ลาร์สสันเกิดในบริเวณเมืองเก่าของสต็อกโฮล์ม บิดามารดาของลาร์สสันมีฐานะยากจนแสนเข็ญ ชีวิตในวัยเด็กเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ เรนาเต พูโวเกิลในหนังสือ “Larsson” กล่าวถึงชีวิตยามเยาว์วัยว่า “แม่ถูกไล่ออกจากบ้านพร้อมด้วยคาร์ลและน้องชายโยฮัน หลังจากย้ายจากบ้านที่อยู่ชั่วคราวหลายหลังครอบครัวก็ย้ายไปอยู่ที่ในปัจจุบันคือเอิร์สเตอร์มาล์ม ที่พำนักนี้แต่และห้องก็อยู่ด้วยกันสามครอบครัว สภาพที่้ทั้งเสื่อมโทรมทั้งโสโครกที่บั่นทอนทั้งร่างกายและจิตใจ สภาวะดังกล่าวเป็นแหล่งเผยแพร่โดยธรรมชาติของอหิวาตกโรค

บิดาของคาร์ลเป็นคนไม่เอาถ่านผู้ทำงานเป็นกรรมกร ทำงานในเรือเป็นคนเติมถ่านหินบนเรือที่วิ่งไปยังสแกนดิเนเวีย และหลุดข้าเช่าที่โรงสีที่อยู่ไม่ไกลนัก ในที่สุดก็กลายเป็นเพียงคนแบกข้าว ลาร์สสันกล่าวถึงบิดาว่าเป็นผู้ปราศจากความรัก, ผู้ขาดการควบคุมตนเอง เป็นคนติดเหล้า, โวยวายเสียงดัง และ มีความโกรธเกลียดลาร์สสันจนตลอดชีวิต เมื่อกล่าวว่า “ฉันสาปแช่งวันที่เจ้าเกิด” ส่วนแม่ต้องเป็นผู้เลี้ยงครอบครัวมาโดยตลอดจากการทำงานเป็นคนซักผ้า[1]

Karin Bergööภรรยาของลาร์สสัน

พรสวรรค์ทางศิลปะของลาร์สสันอาจจะมาจากตาผู้เป็นจิตรกร เมื่ออายุได้ 13 ยาค็อปสันผู้เป็นครูที่โรงเรียนสำหรับเด็กยากจนก็ยุให้ลาร์สสันสมัครทุน "principskola" ของราชสถาบันศิลปะสวีเดน ซึ่งงลาร์สสันก็เข้าได้ ระหว่างปีสองปีแรก ลาร์สสันมีความรู้สึกมีฐานะด้อยทางสังคม, สับสน และ ขี้อาย ในปี ค.ศ. 1869 เมื่ออายุได้ 16 ปีลาร์สสันก็ได้เลื่อนไปเข้า "antique school" ในสถาบันเดียวกัน ตั้งแต่นั้นลาร์สสันก็เริ่มมีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น และถึงกับเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในชีวิตของนักศึกษา ลาร์สสันได้เหรียญรางวัลแรกจากงานลายเส้นภาพเปลือย ในช่วงเดียวกันก็ทำงานเป็นนักเขียนภาพล้อเลียนบุคคลสำหรับหนังสือพิมพ์ชวนขัน "คาสเปอร์" และศิลปินคลาสสิกสำหรับหนังสือพิมพ์ "Ny Illustrerad Tidning" เงินเดือนประจำปีที่ได้มาก็พอเพียงสำหรับช่วยเหลือจุนเจือบิดามารดาด้วย

ค่ำก่อนวันคริสต์มัส (ค.ศ. 1904–ค.ศ. 1905)
Frukost under stora björken ("อาหารเช้าใต้ต้นเบิร์ชใหญ่"), ค.ศ. 1896

หลังจากทำงานอยู่หลายปีเป็นนักเขียนภาพประกอบหนังสือ, นิตยสาร และ หนังสือพิมพ์แล้วลาร์สสันก็ย้ายไปยังกรุงปารีสในปี ค.ศ. 1877 ไปใช้เวลาอันลำบากเป็นศิลปินที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก ลาร์สสันไม่มีความกระตือรือร้นที่จะทำความรู้จักกับศิลปินหัวก้าวหน้ากลุ่มอิมเพรสชันนิสม์ ได้แต่คบหากันอยู่ในหมู่ศิลปินสวีเดนด้วยกัน และปิดทางตนเองจากขบวนการทางศิลปะที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในกรุงปารีสในขณะนั้น

หลังจากใช้เวลาสองฤดูร้อนอยู่ที่บาร์บิซงซึ่งเป็นที่พำนักของศิลปินนอกสถานที่ ลาร์สสันก็กลับไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในหมู่เพื่อนจิตรกรสวีเดนด้วยกันในปี ค.ศ. 1882 ที่เกรซ-เซอร์-ลอยนจ์ ซึ่งเป็นที่อยู่ของหมู่ศิลปินสแกนดิเนเวียนอกกรุงปารีส ที่ที่เกรซ-เซอร์-ลอยนจ์ลาร์สสันได้มีโอกาสทำความรู้จักกับเพื่อนศิลปินคาริน แบร์กูอูผู้ต่อมามาเป็นภรรยา จุดนี้เป็นจุดที่ชีวิตเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ที่เกรซลาร์สสันเขียนงานบางชิ้นที่เป็นงานสำคัญ ซึ่งเป็นงานสีน้ำที่ต่างเป็นอย่างมากจากวิธีการเขียนด้วยสีน้ำมันที่เคยเขียนมาก่อน

คาร์ลและคารินมีบุตรธิดาด้วยกันแปดคน และครอบครัวกลายเป็นแบบวาดอันสำคัญของลาร์สสัน ในปี ค.ศ. 1888 ครอบครัวลาร์สสันก็ได้รับบ้านหลังเล็กๆ จากบิดาของคารินชื่อ “Little Hyttnäs” ที่ซุนด์บอร์น คาร์ลและคารินตกแต่งบ้านตามรสนิยมศิลปินของตนเอง และตามความจำเป็นของครอบครัวที่เติบโตขึ้น

งานเขียนภาพและหนังสือเกี่ยวกับบ้านหลังนี้เป็นงานเขียนสำคัญที่สุดของการเขียนบ้านศิลปินหลังหนึ่งในโลก ที่เป็นการถ่ายทอดรสนิยมศิลปะของผู้สร้างผู้ออกแบบ และ กลายมามีอิทธิพลต่อการออกแบบตกแต่งภายในของสวีเดนต่อมา บ้านหลังนี้ในปัจจุบันเป็นของผู้สืบเชื้อสายมาจากคาร์ลและคาริน และเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม

ความเป็นที่นิยมของลาร์สสันเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก หลังจากการการพัฒนาเทคโนโลยีของการพิมพ์สี (color reproduction) ในคริสต์ทศวรรษ 1890 เมื่อนักพิมพ์สวีเดนบอนนิเยร์ตีพิมพ์หนังสือที่เขียนและวาดภาพประกอบโดยลาร์สสันที่ประกอบด้วยภาพพิมพ์สีอันสมบูรณ์ของงานสีน้ำ เช่นภาพ “บ้าน” แต่ราคาการตีพิมพ์ด้วยเทคนิคดังกล่าวก็ยังสูงอยู่จนกระทั่งมาถึงปี ค.ศ. 1909 เมื่อมาพิมโดยสำนักพิมพ์เยอรมันของคาร์ล โรเบิร์ต ลางวีชเชอร์ (ค.ศ. 1874–ค.ศ. 1931) ราคาจึงได้ต่ำลง งานพิมพ์ที่เลือกสรรมาจากบทประพันธ์, ภาพวาดลายเส้น และ จิตรกรรมสีน้ำ “Das Haus in der Sonne” (ไทย: บ้านท่ามกลางแสงแดด) กลายเป็นงานขายดีอันดับหนึ่งในเยอรมนีในปีนั้น ที่ขายได้เป็นจำนวนถึง 40,000 เล่มภายในสามเดือน และตีพิมพ์ใหม่อีก 40 ครั้งมาจนถึงปี ค.ศ. 2001 ซึ่งสร้างความพึงพอใจให้แก่สองสามีภรรยาเป็นอันมาก

นอกจากนั้นก็ยังวาดภาพชุดเรื่อง (sequential picture stories) ซึ่งทำให้ลาร์สสันกลายเป็นหนึ่งในนักวาดภาพคอมมิคคนแรกคนหนึ่งของสวีเดน[ต้องการอ้างอิง]

ลาร์สสันถือว่างานขนาดใหญ่เช่นงานจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนในสถานศึกษา, พิพิธภัณฑ์ และ สิ่งก่อสร้างสาธารณะอื่นๆ เป็นงานสำคัญที่สุดที่ทำ งานขนาดใหญ่ชิ้นสุดท้ายที่เขียนคือ “Midvinterblot” (ไทย: กลางฤดูหนาว) ซึ่งเป็นงานจิตรกรรมสีน้ำมันที่มีขนาด 6x14 เมตร ที่เขียนเสร็จในปี ค.ศ. 1915 ภาพนี้เป็นภาพที่ได้รับการจ้างให้เขียนสำหรับผนังพิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์แห่งชาติแห่งสวีเดน ที่มีจิตรกรรมฝาผนังอื่นๆ ของลาร์สสันอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว แต่เมื่อเขียนเสร็จกลับไม่ได้รับการยอมรับโดยคณะกรรมการของพิพิธภัณฑ์ ภาพเขียนภาพนี้เป็นภาพพิธีเบลิท (Blót) ของพระเจ้าโดมาลเดอที่เทวสถานอุปซอลา

ผลงาน[แก้]

“Våren” (ไทย: ฤดูใบไม้ผลิ) (ค.ศ. 1907)

ในงานบันทึกความทรงจำ “Jag” (ไทย: ข้าพเจ้า) ที่พิมพ์หลังจากการเสียชีวิต ลาร์สสันกล่าวถึงความผิดหวังและขมขื่นที่ได้รับจากการปฏิเสธภาพเขียนโดยคณะกรรมการของพิพิธภัณฑ์ เพราะลาร์สสันถือว่าเป็นงานชิ้นที่ดีที่สุดที่ได้เคยทำมา “ชะตากรรมของ “Midvinterblot” ทำให้ข้าพเจ้าต้องผิดหวังเป็นอันมาก! ข้าพเจ้ายอมรับว่ามีความโกรธอย่างมหันต์ แต่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นก็ได้ เพราะความรู้สึกของข้าพเจ้าบอกกับตนเองว่าภาพนี้แม้ว่าจะมีจุดอ่อนหลายประการ แต่สักวันหนึ่งเมื่อข้าพเจ้าตายไปแล้วภาพนี้ก็จะได้รับยอมรับกันมากว่าในปัจจุบัน”

ลาร์สสันยอมรับในหนังสือเล่มเดียวกันว่าภาพเขียนของครอบครัวและบ้าน “กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ยั่งยืนที่สุดของงานเขียนในชีวิต เพราะเป็นภาพที่เป็นการแสดงออกอย่างแท้จริงถึงบุคลิกของข้าพเจ้า, ของความรู้สึกอันลึกล้ำที่สุด และของความรักอันไม่มีขอบเขตที่มีภรรยาและบุตรของข้าพเจ้า”

ความขัดแย้งระหว่างปรัชญาตระกูลต่างๆ ของศิลปินสวีเดนทำให้ “Midvinterblot” กลายเป็นเรื่องที่ดำเนินการถกเถียงกันต่อมาเป็นเวลาหลายปี ในปี ค.ศ. 1987 ถึงกับประกาศอุทิศภาพเขียนนี้ให้แก่พิพิธภัณฑ์ให้นำไปติดตั้งบนผนังที่ตั้งใจจะติดตั้งโดยไม่คิดมูลค่า แต่ทางพิพิธภัณฑ์ก็ยังไม่ยอมรับ ภาพเขียนนี้จึงได้รับการขายให้แก่นักสะสมชาวญี่ปุ่นฮิโระชิ อิชิซุคะ ในปี ค.ศ. 1992 อิชิซุคะตกลงให้พิพิธภัณฑ์ขอยืมไปตั้งแสดงเนื่องในโอกาสการแสดงนิทรรศการคาร์ล ลาร์สสันครั้งสำคัญ บนผนังที่ตั้งใจจะติดตั้งแต่เดิม ปฏิกิริยาของประชาชนที่มีต่อ “Midvinterblot” หันเหทัศนคติของ “ผู้เชี่ยวชาญ” ซึ่งทำการรวบรวมเงินกันซื้อภาพเขียนคืนจากอิชิซุคะในปี ค.ศ. 1997 และนำไปติดตั้งบนผนังที่ตั้งใจจะติดตั้งตั้งแต่แรก

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Puvogel Renate, Larsson, Taschen Editions, Köln, 2006

บรรณานุกรม[แก้]

หนังสือเกี่ยวกับคาร์ล ลาร์สสัน[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ คาร์ล ลาร์สสัน