คาร์บอนเครดิต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คาร์บอนเครดิต คือ ปริมาณแก๊สเรือนกระจกที่สามารถลดได้จากการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ CDM (Clean Development Mechanism) ได้รับการนำมาใช้เพื่อเป็นกลไกเพื่อประเทศที่พัฒนาแล้วจะประสบปัญหาในการลดปริมาณก๊าซ สามารถซื้อโควตาคาร์บอนจากผู้ประกอบการในประเทศกำลังพัฒนาที่มีโครงการพัฒนาที่สะอาดที่เรียกว่า การค้าขายแลกเปลี่ยนแก๊สเรือนกระจก

โครงการพัฒนาที่สะอาดตามพิธีสารเกียวโต ซึ่งมีสิทธิขายคาร์บอนเครดิต ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงาน การผลิตพลังงานหมุนเวียน การเปลี่ยนเชื้อเพลิง การกักเก็บและการเผาทำลายแก๊สมีเทน การปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์ การจัดการน้ำเสียและขยะ และการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม เป็นต้น [1]

ในปีพ.ศ. 2550 ได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้จัดตั้ง“องค์การบริหารจัดการแก๊สเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Thailand Greenhouse Gas Management Organization (Public Organization :TGO)” เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีวัตถุประสงค์หลักในการวิเคราะห์ กลั่นกรองและทำความเห็นเกี่ยวกับการให้คำรับรองโครงการที่ลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด รวมทั้งติดตามประเมินผลโครงการที่ได้รับคำรับรอง ส่งเสริมการพัฒนาโครงการและการตลาดซื้อขายปริมาณแก๊สเรือนกระจก(คาร์บอนเครดิต)ที่ได้รับการรับรอง เป็นศูนย์กลางข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์ดำเนินงานด้านแก๊สเรือนกระจกจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับโครงการที่ได้รับคำรับรองและการขายปริมาณแก๊สเรือนกระจกที่ได้รับการรับรอง ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการแก๊สเรือนกระจก  โดยจะเป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์การระหว่างประเทศ[2]


อ้างอิง[แก้]