คันธมาทน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คันธมาทน์ (อ่านว่า คันทะมาด) เป็นชื่อภูเขาในป่าหิมพานต์ แปลว่า ภูเขาเป็นที่ยังสัตว์ให้เมาด้วยกลิ่นหอม คือภูเขาหอม

  “คันธมาทน์” เป็นชื่อภูเขาสำคัญลูกหนึ่งตามตำนานการสร้างโลกและจักรวาลในคติทางพระพุทธศาสนา เป็น ๑ ใน ๕ ขุนเขาที่ล้อมรอบสระอโนดาตในป่าหิมพานต์ อันได้แก่ สุทัสนกูฏ จิตรกูฏ กาฬกูฏ คันธมาทนกูฏ และไกรลาส แต่ละลูกมีความสูงถึง ๒๐๐ โยชน์

          คำ คันธมาทน์ นี้มาจาก คันธ (กลิ่นหอม) + มาทน (ยินดี) คือ ภูเขาที่ให้ชาวโลกยินดีด้วยกลิ่นหอม ความหมายดังกล่าวนี้เป็นคุณลักษณะประการสำคัญของเขาคันธมาทน์ คือเป็นขุนเขาที่พร้อมพรั่งไปด้วยพรรณไม้ที่ส่งกลิ่นหอม ดังในคัมภีร์โลกทีปกสารและไตรภูมิกถาพรรณนาลักษณะเขาคันธมาทน์ไว้ว่า

   คันธมาทน์ นัยว่ามีกลิ่นหอมอบอวลอยู่ตลอดเวลา ด้วยเป็นภูเขาที่สะพรั่งด้วยต้นไม้หอมนานาชนิด ดารดาษไปด้วยต้นไม้สมุนไพรนับจำนวนมิได้ ยอดเขาคันธมาทนะนั้น มั่วมูลด้วยกลิ่น ๑๐ ประการเหล่านี้คือ กลิ่นที่รากมีต้นกฤษณาเป็นต้น กลิ่นที่แก่นมีต้นจันทน์เป็นต้น กลิ่นที่กระพี้มีต้นสนเป็นต้น กลิ่นที่เปลือกมีต้นสวังคะเป็นต้น กลิ่นที่สะเก็ดมีมะขวิดเป็นต้น กลิ่นที่ยางมีต้นสัชฌะเป็นต้น กลิ่นที่ใบมีต้นพิมเสน เป็นต้น กลิ่นที่ดอกมีต้นบุนนาคและโกสุมเป็นต้น กลิ่นที่ผลมีต้นชาติผลเป็นต้น กลิ่นที่กลิ่นเพราะเป็นกลิ่นรวมของทุก ๆ กลิ่นเป็นแหล่งรวมแห่งโอสถ เป็นที่อาศัยแห่งหมู่สัตว์ใหญ่น้อย มีถ้ำใหญ่อยู่ ๓ ถ้ำ คือ ถ้ำทอง ถ้ำแก้ว และถ้ำเงิน เป็นที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายโดยรวมกันอยู่ที่เงื้อมชื่อนันทมูลกะ (นัยอรรถกถา)

เขาอันชื่อคันธมาทนกูฏนั้นเทียรย่อมแก้วอันชื่อมสาลรัตนะ กลวงในเขานั้นดั่งถั่วสะแตกแลราชมาส พรรณไม้ที่เกิดในเขานั้น ลางต้นรากหอม ลางต้นแก่นหอม ลางต้นยอดหอม ลางต้นเปลือกหอม ลางต้นลำหอม ลางต้นดอกหอม ลางต้นลูกหอม ลางต้นใบหอม ลางต้นยางหอม (ลางต้นหอมทุกอย่าง) แลว่าไม้ในเขานั้นหอม ๑๐ สิ่งดั่งกล่าวนี้แล ไม้ทั้งหลายนั้นเทียรย่อมเป็นยา แลว่าเชือกเขาเถาวัลย์อันมีในเขานั้นเทียรย่อมมีทุกสิ่ง แลเทียรย่อมหอมอยู่ทุกเมื่อบ่มิรู้วายรสเลย จึงเรียกว่าคันธมาทนเพื่อดั่งนั้น

                                                                                                                                                                (ไตรภูมิกถา)

          ความมหัศจรรย์อีกประการหนึ่งของเขาคันธมาทน์ คือในวันเดือนดับและวันเดือนเพ็ญ ขุนเขาแห่งไม้หอมนี้จะมีแสงสว่างรุ่งโรจน์โชติช่วง ดังในไตรภูมิกถาพรรณนาไว้ว่า “แลเขานั้นเมื่อเดือนดับแลรุ่งเรืองชัชวาลอยู่ดั่งถ่านเพลิง ถ้าเมื่อเดือนเพ็งเรืองอยู่ดั่งไฟไหม้ป่าแลไหม้เมืองแล”

          นอกจากนี้เขาคันธมาทน์ยังเป็นที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วย  ดังในคัมภีร์จักรวาฬทีปนีกล่าวไว้อย่างละเอียดว่า

          ภูเขาชื่อคันธมาทน์ล่วงเลยภูเขาทั้งเจ็ด คือ จูฬกาฬบรรพต มหากาฬบรรพต ขุทกบรรพต จันทบรรพต สุริยบรรพต มณีบรรพต และสุวรรณบรรพต ในหิมวันตประเทศ ณ ภูเขาคันธมาทน์นั้นแลมีเงื้อมชื่อนันทมูลกะเป็นที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย มีถ้ำ๓ ถ้ำ คือ ถ้ำทอง ถ้ำแก้วมณี และถ้ำเงิน ที่ปากถ้ำแก้วมณี มีต้นคำสูงโยชน์หนึ่ง กว้างโยชน์หนึ่ง ต้นคำนั้นย่อมผลิดอกบานสะพรั่งไปทั้งต้นโดยทั่วถึงทั้งในน้ำหรือบนบก โดยวิเศษในวันที่พระปัจเจกพุทธเจ้ามา ข้างหน้าต้นคำนั้นเป็นโรงกลมสำเร็จด้วยสรรพรัตนะ ณ โรงกลมนั้น  สัมมัชนกวาต (ลมกวาด)  กวาดหยากเยื่อทิ้ง สมกรณวาต (ลมเกลี่ย)  เกลี่ยทรายซึ่งล้วนแล้วด้วยสรรพรัตนะ ให้เสมอ สิญจนวาต (ลมรด)  นำน้ำจากสระอโนดาตมารด สุคันธกรณวาต (ลมกลิ่น) นำกลิ่นของต้นไม้หอมทุกอย่างมาจากป่าหิมพานต์  โอจินกวาต (ลมโปรย)  โปรยดอกไม้  สันถรกวาต (ลมลาด) ปูลาดในที่ทุกแห่ง ในโรงกลมนี้มีอาสนะปูไว้ทุกเมื่อ ซึ่งเป็นที่นั่งประชุมของพระปัจเจกพุทธเจ้าทุกองค์ในวันอุบัติแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้า และในวันอุโบสถพระปัจเจกพุทธเจ้า ครั้นนั่งแล้วย่อมเข้าสมาบัติบางอย่าง แล้วออก (จากสมาบัตินั้น) จากนั้นพระสังฆเถระก็ถามพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์มาใหม่ถึงกรรมฐานว่าท่านได้บรรลุอย่างไร  เพื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งปวงจะได้อนุโมทนาในกาลนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์มาใหม่ก็จะกล่าวคาถาพยากรณ์อันเป็นคำอุทานของตนนั้นแล

                                                                                                                                                       (จักรวาฬทีปนี)

ในเรื่องมหาเวสสันดรชาดก กล่าวว่า พระเวสสันดรพร้อมทั้งพระมเหสีและพระโอรสพระธิดา ได้เสด็จผนวชในป่าเชิงเขานี้

อ้างอิง[แก้]

 นางสมาภรณ์  ฤทธิ์สกุล  นักวรรณศิลป์ ๕ กองศิลปกรรม