คันทวย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ผังคันทวยไม้ที่ Yingzao Fashi จากตำราการก่อสร้าง

คันทวย หรือ ทวย (อังกฤษ: corbel) คือส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมทำหน้าที่ค้ำยันชายคา ระเบียง หรือ หลังคาของสิ่งก่อสร้าง

คันทวยในสถาปัตยกรรมตะวันออก[แก้]

สถาปัตยกรรมไทย[แก้]

คันทวย พระระเบียง วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่

คันทวย หรือ ทวย คือส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมไทยทำหน้าที่ค้ำยันชายคา มักแกะสลักหรือหล่อเป็นลวดลายสวยงาม คันทวย มีทั้งที่เป็นไม้ และปูนปั้น ตามแต่ประเภทของอาคาร

คันทวย ทางภาคเหนือ จะเรียกทวยหูช้าง มีลักษณะเป็นแผ่นไม้รูปสามเหลี่ยมติดกับเสาหรือผนัง บนแผ่นไม้มีการสลักลายหรือลายฉลุโปร่ง เป็นรูปนาค ลายดอกไม้ หรือลายต่าง ๆ ตามแต่การออกแบบ

สัดส่วนที่สวยงามของคันทวย คือ 4 คูณ 6 หรือ 4 คูณ 7 หรือ 4 คูณ 8 (4 คือส่วนกว้าง 6 7 และ 8 คือส่วนสูง)

สถาปัตยกรรมจีน[แก้]

สถาปัตยกรรมของประเทศจีน ตามธรรมเนียมการก่อสร้างของจีนจะเรียกคันทวยว่า “dougong” ซึ่งใช้กันมาตั้งแต่ก่อนคริสตกาล

คันทวยในสถาปัตยกรรมตะวันตก[แก้]

คันทวยแบบฟื้นฟูกรีกโรมันภายใต้ระเบียงที่เมืองอินเดียแนโพลิส รัฐอินดีแอนา
คันทวยโรมาเนสก์ ที่คิลเพ็ค (Kilpeck) อังกฤษ เป็นรูปหมาและกระต่าย

คำว่า คันทวย ในสถาปัตยกรรมตะวันตก คือก้อนหินหรือที่ยื่นออกมาจากผนังหรือกำแพงเพื่อรับน้ำหนักของสิ่งก่อสร้างที่ยื่นออกมา ถ้าเป็นทวยไม้ก็จะเรียกว่า “tassel” หรือ “bragger” การใช้คันทวยเริ่มใช้กันตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แต่มานิยมกันในยุคกลางและสถาปัตยกรรมขุนนางสกอตแลนด์

คำว่า “corbel” มาจากภาษาฝรั่งเศสเก่าซึ่งมาจากภาษาละติน “corbellus” แปลว่ากา (นก) แปลงมาจากคำว่า “corvus” ซึ่งหมายถึงลักษณะจะงอยปากนก ฉะนั้นฝรั่งเศสจึงเรียกคันทวยว่า “corbeau” ซึ่งแปลว่านกกา และ “cul-de-lampe” สำหรับคันทวยที่อยู่ภายนอกอาคารที่ใช้รองรับหลังคา หรือ “modillon” สำหรับคันทวยที่รองรับน้ำหนักภายในสิ่งก่อสร้าง

การใช้คันทวยในการตกแต่ง[แก้]

คันทวยของสิ่งก่อสร้างแบบโรมาเนสก์มักจะเรียบแต่จะมีการแกะสลักเป็นรูปหน้าคน หัวสัตว์ หรือสัตว์ในจินตนาการ อย่างที่วัดคิลเพ็ค (Kilpeck) อังกฤษที่ยังมีคันทวยจากสมัยนั้นเหลืออยู่เกือบทั้งหมด--85 คันทวยจากเดิม 91

ในสมัยสถาปัตยกรรมอังกฤษตอนต้นประมาณปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 การแกะสลักคันทวยก็เริ่มหรูหราขึ้นเช่นคันทวยที่มหาวิหารลิงคอล์น บางครั้งคันทวยก็จะดูเหมือนงอกออกมาจากกำแพงรองรับด้วยเทวดาหรือรูปสลักอื่นๆ สมัยต่อมาก็มีการแกะคันทวยเป็นใบไม้หรือรูปตกแต่งอื่น ๆ ซึ่งคล้ายกับการแกะหัวเสา

คันทวยที่รับน้ำหนักระเบียงในประเทศอิตาลี หรือ ประเทศฝรั่งเศส จะค่อนข้างใหญ่กว่าและตกแต่งอย่างวิจิตรกว่าอย่างเช่นคันทวย “Cinquecento” จากคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในอังกฤษจะใช้คันทวยในการก่อสร้างบ้านไม้แบบที่เรียกว่า “half-timber” เพื่อรับน้ำหนักชั้นบนที่มักจะยื่นออกมาจากชั้นล่าง

ฐานคันทวย[แก้]

ฐานคันทวย (corbel table) คือบัวแนวคันทวยที่ยื่นออกมาซึ่งมักจะใช้รองรับรางน้ำ แต่บริเวณลอมบาร์ดึทางตอนเหนือของประเทศอิตาลีจะใช้ฐานคันทวยเป็นเครื่องตกแต่งสิ่งก่อสร้างเช่นใช้แบ่งสิ่งก่อสร้างเป็นชั้นๆ หรือตกแต่งกำแพงที่ว่างเปล่า

การใช้ฐานคันทวยในประเทศอิตาลีหรือฝรั่งเศสมักจะทำกันอย่างซับซ้อนบางครั้งก็จะเป็นคันทวยซ้อนกันหลายชั้นเช่นในการทำฐานรับเชิงเทินบนป้อม (machicolation) ของปราสาททั้งในอังกฤษและฝรั่งเศส

ในการก่อสร้างปล่องไฟสมัยใหม่จะใช้ฐานคันทวยในการก่อสร้างปล่องเป็นฐานคอนกรีตรอบภายในปล่องรับด้วยคันทวย คันทวยอาจจะหล่อพร้อมคอนกรีต หรือเป็นคันทวยสำเร็จรูป



อ้างอิง[แก้]

  • สมคิด จิระทัศนกุล วัด: พุทธศาสนสถาปัตยกรรมไทย โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2544. ISBN 974-600-681-9

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]