คอแลน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คอแลน
คอแลน
ขนาดผลคอแลน
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Sapindales
วงศ์: Sapindaceae
สกุล: Nephelium
สปีชีส์: N.  hypoleucum
ชื่อทวินาม
Nephelium hypoleucum
Kurz

คอแลน ชื่ออื่นๆคือ บักแงว (ภาษาอีสาน) , คอลัง (ภาษาใต้) ชื่อวิทยาศาสตร์: Nephelium hypoleucum อยู่ในวงศ์ Sapindaceae (วงศ์เดียวกับลิ้นจี่ ลำไย เงาะ รวมทั้งมามอนซีโย) มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบตามธรรมชาติบริเวณป่าฝนในภูมิภาค และพบมีการเพาะปลูกบ้างในบางประเทศเช่น มาเลเซีย และไทย[1] เป็นไม้ยืนต้นสูง เปลือกสีน้ำตาลคล้ำ เรียบ ใบเดี่ยวเรียงสลับ ออกเป็นช่อ ดอกออกปลายกิ่งหรือตามซอกใบ ไม่มีกลีบดอก ผลมีปุ่มปมหนาแน่น สีแดง เปลือกภายนอกมีลักษณะคล้ายกับลิ้นจี่แต่เนื้อข้างในคล้ายเงาะมีรสเปรี้ยว รับประทานได้ เมล็ดไม่สามารถรับประทานได้เนื่องจากแข็งและมีพิษ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]

คอแลน (N. hypoleucum) ชื่ออื่น: กะเบน คอรั้ง สังเครียดขอน (ภาคใต้) ขาวลาง มะแงว หมากแงว หมักแงว หมักงาน (ภาคอีสาน) คอแลน (ภาคกลาง ภาคเหนือ) คอแลนตัวผู้ ลิ้นจี่ป่า (ตะวันออกเฉียงใต้) มะแงะ หมักแงว (ภาคกลาง ภาคตะวันออก) [2] เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ สูง 10 - 20 เมตร ลำต้นเปลา (สูงชะลูด ไม่มีกิ่งที่ลำต้น) โคนต้นอาจมีพูพอน เปลือกสีน้ำตาลคล้ำ เรียบ เรือนยอดเป็นพุ่มค่อนข้างทึบ [2]

ใบเดี่ยวเรียงสลับ ออกเป็นช่อ ติดเรียงสลับยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ใบย่อยรูปขอบขนาน แกมรูปไข่ ติดตรงข้าม 1-3 คู่ โคนใบมนและเบี้ยว ขอบใบเรียบ เนื้อใบหนา หลังใบเกลี้ยงเป็นมัน ส่วนท้องใบสีจาง [3]

ดอก ขนาดเล็ก สีขาวอมเขียว ออกรวมกันเป็นช่อขนาดใหญ่ ที่ปลายกิ่ง ทุกส่วนของช่อมีขนสีเทาทั่วไป โคนกลีบรองดอกจะติดกันเป็นรูปถ้วยปากกว้าง ปลายแยกเป็น 5 แฉก ส่วนกลีบดอกไม่มี มีเกสรตัวผู้ 5 เส้น มีรังไข่กลมและมีขนปกคลุม [3]

ผลมีรูปรีหรือค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร ผิวขรุขระเป็นปมเล็กๆ กระจายทั่วไป เปลือกภายนอกมีลักษณะคล้ายกับลิ้นจี่ ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีแดงเข้ม แต่ละผลมีเมล็ดเดียว มีเนื้อเยื่อในใสและชุ่มน้ำ หุ้มเมล็ด เนื้อคล้ายเงาะมีรสเปรี้ยว ผลสุกประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม [3]

อนุกรมวิธาน[แก้]

คอแลน (ชื่อวิทยาศาสตร์ Nephelium hypoleucum Kurz) เป็นผลไม้อยู่ในวงศ์ SAPINDACEAE ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับลิ้นจี่ ลำไย เงาะ และมามอนซีโย คอแลนยังไม่เป็นที่ยอมรับในฐานข้อมูลในระดับสากลใน The Plant List [4] แต่เป็นที่ยอมรับในฐานข้อมูลขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ของไทย [5] ปัจจุบันยังหาข้อยุติในด้านการจำแนกพืชไม่ได้แน่ชัด [2][4]

การแพร่กระจายและถิ่นกำเนิด[แก้]

คอแลน เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป เป็นพรรณไม้ป่าดงดิบ และพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณที่ชื้นๆ ได้บ้าง เช่น ตามที่ใกล้แหล่งน้ำ เป็นพืชที่ขึ้นได้ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-800 เมตร [2][3] จากรายงานพบพืชชนิดนี้ในพม่า มาเลเซีย กัมพูชา ลาว และประเทศไทย [6] และภูมิภาคใกล้เคียงในทางตอนใต้ของเทือกเขาหิมาลัย เช่น ในประเทศภูฏาน ทางตอนใต้ของประเทศจีน [6][7] ในประเทศไทยพบด้ทุกภาคของประเทศไทย พบมากในภาคอีสานและภาคเหนือ ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด [8]

การใช้ประโยชน์[แก้]

เนื้อไม้ต้นคอแลนมีสีแดงหรือสีน้ำตาลแดง เนื้อละเอียด มีความเหนียวและแข็ง ในประเทศไทยมักนำมาทำเครื่องใช้ทางการเกษตร เช่น คันไถ และด้ามจับเครื่องใช้ต่างๆ เนื้อไม้รสฝาด ยังใช้ปรุงเป็นยาห้ามเลือด ผลใช้เป็นยาช่วยการกระจายเลือด เปลือกใช้เป็นยาบำรุงเลือด [2][3]

ผลแก่ ใช้รับประทาน มีรสเปรี้ยวอมหวาน ช่วยทำให้ชุ่มคอ ช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันไข้หวัด [2]

ดอกจากไม้คอแลน ยังใช้เลี้ยงผึ้งได้ให้น้ำผึ้งแบบธรรมชาติ [2]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Fruitipedia. "Korlan" (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 December 2011. สืบค้นเมื่อ 14 December 2011.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 https://www.matichonweekly.com/column/article_24224
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=212
  4. 4.0 4.1 http://www.theplantlist.org/tpl/record/kew-2382809
  5. http://www.gbif.org/
  6. 6.0 6.1 http://powo.science.kew.org/taxon/urn:lsid:ipni.org:names:783829-1
  7. A.C.J Grierson & D.G Long. Flora of Bhutan. Published by RBGE. 1991
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-30. สืบค้นเมื่อ 2020-10-27.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]