คดีระหว่างล็อกเคบินรีพับลิกันส์ กับสหรัฐ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คดีระหว่างล็อกเคบินริพับลิกันส์ บรรษัทไม่แสวงหากำไร โจทก์ กับสหรัฐอเมริกา และรอเบิร์ต เอ็ม. เกตส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในหน้าที่ราชการแห่งตน จำเลย
ตราศาลสูงสุดสหรัฐ
สาระแห่งคดี
คำฟ้อง ขอให้วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแห่งสหรัฐอเมริกา ลักษณะ 10 มาตรา 654 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
คู่ความ
โจทก์ ล็อกเคบินริพับลิกันส์
จำเลย สหรัฐอเมริกา
ศาล
ศาล ศาลแขวงแห่งสหรัฐอเมริกาประจำแขวงกลางแคลิฟอร์เนีย
ตุลาการ เวอร์จิเนีย เอ. ฟิลลิปส์
วินิจฉัย
" รัฐบัญญัติห้ามถามห้ามบอกนั้น ละเมิดสิทธิของสมาชิกแห่งล็อกเคบินในการเข้าถึงวิถีทางที่ถูกต้องแห่งกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญ ด้วยว่ารัฐบัญญัติดังกล่าวหาได้ส่งเสริมอย่างมีนัยสำคัญซึ่งประโยชน์ของรัฐบาลในความสะดวกและการประสานงานของหน่วยแห่งกองทัพไม่ รัฐบัญญัตินี้ยังละเมิดเสรีภาพของสมาชิกแห่งล็อกเคบินในอันที่จะแสดงออก เพราะการที่รัฐบัญญัติได้จำกัดการแสดงออกเช่นว่านั้น ไม่เพียงเป็นไปเกินความจำเป็นตามสมควรในอันที่จะพิทักษ์ประโยชน์อันเป็นสาระสำคัญของรัฐบาลแล้ว ยังกีดขวางความสะดวกและการประสานงานของหน่วยแห่งกองทัพด้วย[1] "
คำวินิจฉัย
คำวินิจฉัย 716 F. Supp. 2d 884 (C.D. Cal. 2010)
ลงวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 2010
กฎหมาย รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา

คดีระหว่างล็อกเคบินริพับลิกันส์ บรรษัทไม่แสวงหากำไร โจทก์ กับสหรัฐอเมริกา และรอเบิร์ต เอ็ม. เกตส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในหน้าที่ราชการแห่งตน จำเลย (อังกฤษ: LOG CABIN REPUBLICANS, a non-profit corporation, Plaintiff, v. UNITED STATES OF AMERICA and ROBERT M. GATES, SECRETARY OF DEFENSE, in his official capacity, Defendants.) หรือเรียกโดยย่อว่า คดีระหว่างล็อกเคบินริพับลิกันส์ กับสหรัฐอเมริกา (อังกฤษ: Log Cabin Republicans v. United States) เป็นคดีระดับสหรัฐ (federal lawsuit) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่ง ล็อกเคบินริพับลิกันส์ (Log Cabin Republicans) อันเป็นองค์การประกอบด้วยหญิงรักร่วมเพศ ชายรักร่วมเพศ ผู้รักร่วมสองเพศ และผู้ข้ามเพศที่นิยมพรรครีพับลิกัน ขอให้ศาลแขวงแห่งสหรัฐอเมริกาประจำแขวงกลางแคลิฟอร์เนีย (United States District Court for the Central District of California) วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแห่งสหรัฐอเมริกา ลักษณะ 10 มาตรา 654 (10 U.S.C. § 654) อันรู้จักกันทั่วไปในชื่อกฎหมาย “ห้ามถาม ห้ามบอก” (don't ask, don't tell) ที่ห้ามผู้เป็นชายรักร่วมเพศและหญิงรักร่วมเพศอย่างเปิดเผยรับราชการทหารนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยล็อกเคบินริพับลิกันส์ยื่นคำฟ้องแทนสมาชิกของตนที่กำลังหรือเคยรับราชการทหารและตกอยู่ในบังคับแห่งมาตรา 654 ข้างต้น

ล็อกเคบินริพับลิกันส์ตั้งต้นคดีใน ค.ศ. 2004 การพิจารณาคดีโดยไม่ใช้ลูกขุน (bench trial) เริ่มขึ้นในวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 2010 โดยมีตุลาการเวอร์จิเนีย เอ. ฟิลลิปส์ (Virginia A. Phillips) รับผิดชอบคดี ฝ่ายจำเลย คือ กระทรวงยุติธรรม ให้การแก้คำฟ้องโดยขอให้ศาลยกคำฟ้องเสีย กระทรวงยุติธรรมว่า ตราบที่รัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกาตั้งอยู่บนเหตุบนผลในการผ่านมาตรา 654 ใน ค.ศ. 1993 มาตรานี้ก็ย่อมชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และล็อกเคบินริพับลิกันส์หามีสิทธิเป็นคู่ความมาคัดค้านกฎหมายไม่ [2] ล็อกเคบินริพับลิกันส์แถลงตอบว่า มาตรา 654 ละเมิดวิถีทางที่ถูกต้องแห่งกฎหมาย (due process of law) และเสรีภาพในการแสดงออกตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง[3]

ในชั้นพิจารณาเบื้องต้น ตุลาการเวอร์จิเนียชี้แจงแก่คู่ความว่า ข้อที่ว่า รัฐสภามีการพิจารณาทบทวนว่าการตรากฎหมายตั้งอยู่บนเหตุผลหรือไม่ เป็นขั้นตอนการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายขั้นตอนล่างที่สุด ไม่ใช่ประเด็นวินิจฉัยในคดีนี้ แต่ดุจเดียวกับที่ศาลอุทธรณ์ภาคเก้าแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Court of Appeals for the Ninth Circuit) เคยวินิจฉัยไว้ใน “คดีระหว่างวิต กับ กองทัพอากาศ” (Witt v. Department of the Air Force) สิ่งที่จะต้องกระทำในคดีนี้ คือ การตรวจสอบขั้นกลาง กล่าวคือ จะถือว่ามาตรา 654 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้ ก็ต่อเมื่อฟังได้ว่า มาตรานั้นสนับสนุนประโยชน์หลักในทางการปกครองอย่างมีนัยสำคัญและไม่อาจบัญญัติไปในทางอื่นได้อีกแล้ว[4] [5]

วันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 2010 ตุลาการเวอร์จิเนียวินิจฉัยว่า มาตรา 654 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และในวันที่ 12 ตุลาคม ก็มีคำสั่งห้ามกองทัพดำเนินนโยบายตามมาตรา 654 นั้น นอกจากนี้ ตุลาการเวอร์จิเนียยังยกคำร้องของรัฐบาลที่ขอให้งดการบังคับตามคำสั่งดังกล่าวไว้ก่อนด้วย คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด ด้วยว่ามีการอุทธรณ์คำวินิจฉัยไปยังศาลอุทธรณ์ภาคเก้าฯ

ทนายความ[แก้]

แดเนียล วูดส์ (Daniel Woods) จากบริษัทกฎหมายไวต์แอนด์เคส (White & Case) เป็นหัวหน้าคณะทนายความฝ่ายโจทก์ ส่วน พอล ฟรีบอร์น (Paul Freeborne) รองอัยการสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา เป็นทนายความฝ่ายจำเลย คือ สหรัฐอเมริกา[6]

กระบวนพิจารณา[แก้]

พยานบุคคลฝ่ายโจทก์ มีต่อไปนี้เป็นต้น

  • นาธาเนียล แฟรงก์ (Nathaniel Frank) ผู้เขียนหนังสือ “ไฟที่บอกบุญไม่รับ : ข้อห้ามเกย์นั้นบ่อนทำลายกองทัพและทำให้อเมริกาอ่อนปวกเปียกอย่างไร” (Unfriendly Fire: How the Gay Ban Undermines the Military and Weakens America) โดยนาธาเนียลให้การเกี่ยวกับงานวิจัยของตนที่พบว่าประเทศอื่น ๆ ประสบความสำเร็จในการรับบุคลากรที่เป็นชายรักร่วมเพศอย่างเปิดเผยเข้ามาในกองทัพ[6]
  • โจเซฟ คริสโตเฟอร์ โรชา (Joseph Christopher Rocha) ชายรักร่วมเพศ ซึ่งเป็นอดีตนายทหารระดับล่างชั้นที่ 3 และอดีตนายทหารเรือ เขาถูกปลดจากกองทัพตามมาตรา 654 นี้[7]
  • แอรอน เบลคิน (Aaron Belkin) ผู้อำนวยการศูนย์ปาล์ม (Palm Center) ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยศึกษาความเชื่อและประเด็นเรื่องเพศในกองทัพ[7]
  • ไมค์ อาล์มี (Mike Almy) อดีตนายทหารอากาศในกองทัพสหรัฐ ผู้ถูกปลดออกหลังเจ้าหน้าที่รายหนึ่งตรวจสอบไปรณีย์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนตัวของเขาโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วพบว่าเขาเป็นชายรักร่วมเพศ[8]
  • อเล็กซานเดอร์ นิโคลสัน (Alexander Nicholson) อดีตพนักงานสอบสวนในกองทัพสหรัฐ และเป็นผู้ก่อตั้งสหภาพชาวกองทัพ (Servicemembers United)[9]
  • ศาสตราจารย์อลัน โอครอส (Alan Okros) จากวิทยาลัยกองทัพแคนาดา (Canadian Forces College) ในโตรอนโต ให้การเกี่ยวกับประสบการณ์ของประเทศแคนาดาในการยุตินโยบายทางทหารที่กำจัดชายรักร่วมเพศจากกองทัพ
  • จ่าอากาศเอกแอนโธนี โลเวิร์ด (Anthony Loverde) อดีตนายทหารอากาศผู้ผ่านศึกถึงเจ็ดปี ให้การว่า การประสานงานและขวัญกำลังใจของหน่วยนั้นเอง กระตุ้นให้หน่วยของเขาล่วงรู้ว่า เขา “แตกต่างจากผู้อื่นเล็กน้อย”[2]

ส่วนรัฐบาลไม่เบิกพยานบุคคลเลย

การแถลงการณ์ปิดคดีมีขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 2010 แดเนียล วูดส์ หัวหน้าคณะทนายความฝ่ายโจทก์ ปิดคดีโดยขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามบังคับใช้มาตรา 654 เป็นการทั่วไปด้วย[10][11]

คำวินิจฉัย และกระบวนพิจารณาที่ตามมา[แก้]

วันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 2010 ตุลาการเวอร์จิเนียมีคำวินิจฉัยให้โจทก์ชนะคดี โดยเธอเห็นว่า ประมวลกฎหมายแห่งสหรัฐอเมริกา ลักษณะ 10 มาตรา 654 ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่หนึ่ง และฉบับที่ห้า[12] [13] [14] ตุลาการเวอร์จิเนียพิเคราะห์ว่า ศาลทั้งหลายจักต้องแสดงให้กองทัพเห็นว่ากองทัพต้องยอมตามสิทธิเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญฯ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่หนึ่ง โดยเธอเห็นว่า การที่มาตรา 654 จำกัดอย่างกว้างขวางซึ่งเสรีภาพในการแสดงออกของบุคลากรที่เป็นชายรักร่วมเพศในกองทัพนั้น เกินเลยความจำเป็นตามสมควรในอันที่จะพิทักษ์ประโยชน์สำคัญของรัฐบาลเป็นอันมาก เธอยังเห็นว่า มาตรา 654 ยังละเมิดสิทธิของบุคลากรผู้มีความหลากหลายทางเพศในอันที่จะชุมนุมกัน เพราะมาตรา 654 มีขึ้นบนความกลัวการถูกโต้ตอบ มาตรานี้ห้ามเขาเหล่านั้นมิให้เข้าร่วมองค์การต่าง ๆ อย่างเปิดเผย อาทิ เข้าร่วมกับล็อกเคบินริพับลิกันส์นี้เอง ฉะนั้น มาตรานี้จึงพรากไปจากเขาเหล่านั้นซึ่งความสามารถในอันที่จะเข้าชื่อร้องเรียนให้รัฐบาลเปลื้องทุกข์ให้ ตุลาการเวอร์จิเนียยังวินิจฉัยด้วยว่า มาตรา 654 ละเมิดสิทธิของเหล่าผู้มีความหลากหลายทางเพศในการเข้าถึง “วิถีทางที่ถูกต้องแห่งกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญ” (substantive due process of law) ดังที่เคยมีมาแล้วใน “คดีระหว่างลอว์เรนซ์ กับ เท็กซัส” (Lawrence v. Texas)[15]

วันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 2010 ตุลาการเวอร์จิเนียมีคำสั่งห้ามกองทัพ “ระงับและยุติการสืบสวน หรือปลด ไล่ออก หรือกระบวนการอื่น ๆ ที่กองทัพอาจได้เริ่มปฏิบัติไปแล้ว” ตามมาตรา 654 นั้นทันที และให้คำสั่งนี้มีผลบังคับเป็นการทั่วไปและถาวร[16] [17] แดเนียล วูดส์ ทนายความฝ่ายโจทก์ กล่าวว่า “คำสั่งห้ามนี้นับเป็นชัยชนะอันบริบูรณ์และเบ็ดเสร็จสำหรับล็อกเคบินริพับลิกันส์ และเป็นที่ยืนยันซ้ำถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญของชาวเกย์และเลสเบียนในกองทัพผู้ซึ่งต่อสู้และสละชีพเพื่อชาติของเรา”[18]

เครือข่ายปกป้องชาวกองทัพตามกฎหมาย (Servicemembers Legal Defense Network) ซึ่งเป็นองค์การขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศองค์กรหนึ่งสำหรับบุคลากรทางทหารที่เป็นชายรักร่วมเพศและหญิงรักร่วมเพศ แนะนำว่า ชาวกองทัพทั้งหลายที่เป็นชายรักร่วมเพศอย่างเพิ่งแสดงตนในเวลานี้ เพราะยังไม่แน่ว่ารัฐบาลจะตอบโต้คำวินิจฉัยนี้เช่นไร[19] [20] ส่วนโฆษกรัฐบาลกล่าวว่า กองทัพจะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาล ขณะที่นายทหารชั้นผู้ใหญ่ก็แจ้งให้ฝ่ายกฎหมายของทหารยุติการบังคับใช้มาตรา 654 แล้ว[21] [22]

วันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 2010 กระทรวงยุติธรรมอุทธรณ์คำวินิจฉัยนี้ต่อศาลอุทธรณ์ภาคเก้าฯ ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ยื่นคำร้องขอให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งห้ามไว้ก่อนจนกว่าจะทราบผลการอุทธรณ์[22] [21] วันที่ 19 ตุลาคม ตุลาการเวอร์จิเนียมีคำสั่งยกคำร้องของรัฐบาลที่ขอให้ทุเลาการบังคับ[23] วันที่ 20 ตุลาคม รัฐบาลจึงอุทธรณ์คำสั่งยกคำร้องนั้นต่อศาลอุทธรณ์ภาคเก้าฯ[24] และองค์คณะตุลาการศาลอุทธรณ์ภาคเก้าฯ มีคำสั่งอนุญาตตามนั้น ด้วยมติสองต่อหนึ่ง[25] วันที่ 5 พฤศจิกายน ฝ่ายผู้ร้องจึงอุทธรณ์คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาคเก้าฯ ต่อศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา ตุลาการแอนโธนี เคนเนดี (Anthony Kennedy) จึงเรียกให้รัฐบาลให้การภายในวันที่ 10 พฤศจิกายน[26] ครั้นวันที่ 12 พฤศจิกายน ศาลสูงสุดมีคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ร้อง ให้ยืนตามศาลอุทธรณ์ภาคเก้าฯ[27] [28]

เมื่อทุเลาการบังคับตามคำสั่งห้ามแล้ว จึงมีการบังคับใช้มาตรา 654 อีกครั้ง แต่ภายใต้เงื่อนไขอันเคร่งครัด [29]

วันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 2010 ประธานาธิบดีบารัก โอบามา (Barack Obama) ลงนามในร่าง “รัฐบัญญัติยกเลิกการห้ามถามห้ามบอก ค.ศ. 2010” (Don't Ask, Don't Tell Repeal Act of 2010) แต่รัฐบัญญัตินี้ยังไม่มีผลในทันทีทันใด มาตรา 654 นั้นจึงยังมีผลใช้บังคับได้อยู่[30] โอกาสเดียวกัน กระทรวงยุติธรรมร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ภาคเก้าฯ พักกระบวนพิจารณาคดีนี้ไว้ก่อนอันเนื่องมาจากการยกเลิกกฎหมายข้างต้น ล็อกเคบินริพับลิกันส์คัดค้าน โดยให้เหตุผลว่าบุคลากรที่เป็นชายรักร่วมเพศในกองทัพยังอาจถูกปลดได้อยู่ วันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 2011 ศาลอุทธรณ์ภาคเก้าฯ มีคำสั่งยกคำร้องของกระทรวงยุติธรรม และให้ดำเนินคดีต่อไป[31] วันที่ 25 กุมภาพันธ์ กระทรวงยุติธรรมจึงยื่นคำให้การ โดยไม่คัดค้านความมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญของมาตรา 654 อีกต่อไป แต่ขอให้ศาลพิจารณาว่า การยกเลิกมาตราดังกล่าวนี้เบนให้คดีหันไปอีกทิศทางหนึ่งจากวันที่ตุลาการเวอร์จิเนียมีคำสั่งห้ามนั้นเช่นไร[32]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Don’t Ask, Don’t Tell Act violates Log Cabin members' substantive due process rights because it does not significantly further the Government's interests in military readiness and unit cohesion. The Act also violates Log Cabin members' free speech rights because its restrictions on speech are not only broader than reasonably necessary to protect the Government's substantial interests, but also impede military readiness and unit cohesion."
  2. 2.0 2.1 Garcia, Michelle (2010-07-22). "Key DADT Repeal Advocate Testifies". Advocate.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-24. สืบค้นเมื่อ 2010-07-22.
  3. Harmon, Andrew (2010-07-12). "DADT Trial Begins Today". Advocate.com. สืบค้นเมื่อ 2010-07-16. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  4. Egelko, Bob (2010-05-29). "'Don't ask, don't tell' suit will go forward". The San Francisco Chronicle. สืบค้นเมื่อ 2010-07-25.
  5. Witt v. Department of the Air Force, 527 F.3d 806 (United States Court of Appeals for the Ninth Circuit 2008-05-21).
  6. 6.0 6.1 Garcia, Michelle (2010-07-14). "Homophobia on Trial in DADT Case". Advocate.com. สืบค้นเมื่อ 2010-07-16.
  7. 7.0 7.1 Harmon, Andrew (2010-07-16). "A DADT Victim's Day in Court". Advocate.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-18. สืบค้นเมื่อ 2010-07-16.
  8. Advocate.com editors (2010-07-17). "Ex-Air Force Officer Testifies in DADT Trial". Advocate.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-19. สืบค้นเมื่อ 2010-07-17. {{cite web}}: |last= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  9. Garcia, Michelle (2010-07-20). "Nicholson Testifies at DADT Trial". Advocate.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-22. สืบค้นเมื่อ 2010-07-20.
  10. Garcia, Michelle (2010-07-23). "LCR Lawyers Ask for Halt to DADT". Advocate.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-16. สืบค้นเมื่อ 2010-07-23.
  11. Woods, Daniel (2010-07-23). "Closing arguments, Log Cabin Republicans v. United States of America" (PDF). Log Cabin Republicans. สืบค้นเมื่อ 2010-07-24.[ลิงก์เสีย]
  12. Schwartz, John (9 September 2010). "Judge Rules That Military Policy Violates Rights of Gays". New York Times. สืบค้นเมื่อ 4 December 2010.
  13. "Judge: Military's ban on gays is unconstitutional". Associated Press. 2010-09-09. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-13. สืบค้นเมื่อ 2010-09-10.
  14. Willon, Phil (2010-09-09). "Judge declares U.S. military's 'don't ask, don't tell' policy openly banning gay service members unconstitutional". The Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ 2010-09-10.
  15. Log Cabin Republicans v. United States of America, [1] (United States District Court for the Central District of California 2010-09-09). “quoting Lawrence v. Texas 539 U.S. 558 (2003)”
  16. Adam Levine (October 12, 2010). "Judge orders military to stop enforcing 'don't ask, don't tell'". CNN. สืบค้นเมื่อ October 12, 2010.
  17. Pettersson, Edvard (October 12, 2010). "U.S. Military Barred by Judge From Enforcing `Don't Ask, Don't Tell' Rule". Bloomberg L.P. สืบค้นเมื่อ October 12, 2010.
  18. "Judge to military: Stop discharging gays under 'don't ask, don't tell'". MSNBC. October 12, 2010. สืบค้นเมื่อ October 12, 2010.
  19. "THE LATEST ON REPEALING "DON'T ASK, DON'T TELL"". Servicemembers Legal Defense Network. October 13, 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-18. สืบค้นเมื่อ October 13, 2010.
  20. "Pentagon Mulls Stance on 'Don't Ask' Ruling, Says 'Nothing Has Changed'". Politics Daily. October 13, 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-25. สืบค้นเมื่อ October 13, 2010.
  21. 21.0 21.1 "Justice department seeks stay of judge's 'don't-ask-don't-tell' ruling". CNN. October 14, 2010. สืบค้นเมื่อ October 14, 2010.
  22. 22.0 22.1 Daniel A. Serrano (October 14, 2010). "Justice Department says 'don't ask, don't tell' ruling will harm troops". Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ October 14, 2010.
  23. Bob Egelko (October 20, 2010). "'Don't ask' judge refuses to stay ruling". San Francisco Chronicle. สืบค้นเมื่อ October 20, 2010.
  24. "Gov't Seeks Stay of 'Don't Ask, Don't Tell' Ruling". Associated Press. October 20, 2010. สืบค้นเมื่อ October 20, 2010.
  25. Ninth Circuit Order
  26. "Supreme Court Asked to Review Gay Military Ban". Associated Press. November 5, 2010. สืบค้นเมื่อ November 5, 2010.
  27. Lyle Denniston (2010-11-12). "Military gay ban intact". สืบค้นเมื่อ 2010-11-12.
  28. "Order in pending case Log Cabin Republicans v. United States, et al." (PDF). 2010-11-12. สืบค้นเมื่อ 2010-11-12.
  29. The Hill: Roxana Tiron, "Gates Issues Stricter Rules for Discharge of Gay Troops," October 22, 2010, accessed February 27, 2011
  30. Sheryl Gay Stolberg (December 22, 2010). "With Obama's Signature, 'Don't Ask' Is Repealed". The New York Times. สืบค้นเมื่อ December 22, 2010.
  31. DADT Case Still Alive
  32. Metro Weekly: Chris Geidner, "News Analysis: DOJ Avoids DADT Constitutionality Question, Argues DADT Repeal Act Changed LCR Case," February 25, 2011 เก็บถาวร 2011-03-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, accessed February 28, 2011

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]