คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยศิลปากร
Faculty of Education, Silpakorn University
สถาปนา18 มิถุนายน พ.ศ. 2513 (53 ปี)
คณบดีศาสตราจารย์ ดร. คณิต เขียววิชัย
ที่อยู่
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เลขที่ 6 ถนนราชมรรคาใน ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม 73000
วารสาร
  • วารสารศิลปากรศึกษาศาสตร์วิจัย
  • วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • วารสารการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร
สี██ สีครามฝรั่ง[1]
มาสคอต
พระคเณศ
สถานปฏิบัติโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร
เว็บไซต์www.educ.su.ac.th

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (อังกฤษ: Faculty of Education, Silpakorn University) เป็นคณะวิชาลำดับที่ 6 ของ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นคณะวิชาลำดับที่ 2 ของมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2513

ประวัติ[แก้]

  • พ.ศ. 2513
    • สหประชาชาติ ประกาศให้เป็นปีแห่งการศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงมีการปรับแผนการพัฒนามหาวิทยาลัย โดยให้จัดตั้ง "คณะศึกษาศาสตร์" ก่อน คณะวิทยาศาสตร์ (เดิมคณะศึกษาศาสตร์ได้รับการตั้งชื่อว่า "คณะครุศาสตร์" แต่สภาการศึกษาเสนอให้ใช้ชื่อว่า "คณะศึกษาศาสตร์" เพื่อให้ตรงกับความหมายของคำว่า "Education" ที่ ราชบัณฑิตยสถาน บัญญัติไว้)
    • ก่อตั้งคณะศึกษาศาสตร์ขึ้นเป็นคณะวิชาลำดับที่ 6 ของมหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นคณะวิชาลำดับที่ 2 ของวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อผลิตบัณฑิตทางการศึกษาที่จะประกอบวิชาชีพครูผู้สอนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
    • เปิดรับนักศึกษารุ่นแรก เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2513 โดยมี ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยศิลปากรในขณะนั้น เป็นผู้รักษาการคณบดีคนแรก
    • เปิดสอนหลักสูตร ศึกษาศาสตรบัณฑิต วิชาเอกภาษาไทย วิชาเอกภาษาอังกฤษ วิชาเอกภูมิศาสตร์ และวิชาเอกประวัติศาสตร์ มีนักเรียนรุ่นแรก 31 คน เป็นผู้หญิงจำนวน 28 คนและผู้ชายจำนวน 3 คน
    • ผู้อำนวยการสหประชาชาติส่งสารแสดงความยินดีมาถึงคณะศึกษาศาสตร์โดยตรง ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวคณะศึกษาศาสตร์
  • พ.ศ. 2514 แบ่งส่วนราชการตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยใหม่ ตามประกาศลง ณ วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2514 คณะศึกษาศาสตร์แบ่งส่วนราชการดังนี้
    • ภาควิชาพื้นฐานทางการศึกษา
    • ภาควิชาหลักสูตรและวิธีการสอน
    • ภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว
    • ภาควิชาการบริหารและนิเทศการสอน
    • สำนักงานเลขานุการ
  • พ.ศ. 2515
    • กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายเพิ่มคุณภาพ คุณวุฒิ และพัฒนาความรู้และทักษะการสอนให้แก่ครูประจำการในสถานศึกษาระดับต่าง ๆ
    • สภามหาวิทยาลัยศิลปากรจึงอนุมัติให้คณะศึกษาศาสตร์ ดำเนินการเปิดรับนักศึกษาในภาคปกติและภาคพิเศษเข้ามาศึกษาในระดับปริญญาตรี หลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี ใน 5 วิชาเอก คือ วิชาเอกที่เปิดสอนในภาคปกติ 4 วิชาเอก และเพิ่มวิชาเอกคณิตศาสตร์ขึ้นอีก 1 วิชาเอก
    • นักศึกษาบุคคลภายนอกพิเศษ (ภาคพิเศษ) นี้เรียนเฉพาะตอนเย็นและวันเสาร์–อาทิตย์ จึงมีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการ แต่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า "นักศึกษาภาคค่ำ"
    • โครงการนักศึกษาภายนอกนี้ได้รับความสนใจจากครูประจำการเป็นจำนวนมาก มีผู้สนใจสมัครเข้าศึกษารุ่นละ 2,000 คน ซึ่งคณะฯ สามารถรับเข้าศึกษาได้เพียงรุ่นละ 400 คน โครงการนี้เปิดสอนติดต่อกัน 4 รุ่น
    • ต่อมาสภามหาวิทยาลัยศิลปากรทบทวนนโยบายและเห็นชอบให้คณะฯ ยุติการรับนักศึกษาภายนอก (ภาคพิเศษ) ตั้งแต่ พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา
    • เดือนกรกฎาคม ส่วนราชการต่าง ๆ ของคณะศึกษาศาสตร์ ประกอบด้วยภาควิชาทั้งสี่ และสำนักงานเลขานุการคณะศึกษาศาสตร์ ย้ายจากอาคาร A2 (ศึกษา 1) ไปยังอาคาร A5
  • พ.ศ. 2516 จัดตั้ง โรงเรียนสาธิต คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งการสาธิตการสอนและการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนของนักศึกษา และเป็นแหล่งการวิจัยเกี่ยวกับการเรียนการสอนของอาจารย์ และเป็นแหล่งบริการทางวิชาการเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัยศิลปากรกับชุมชน
  • พ.ศ. 2517
    • ขยายการศึกษาขึ้นอีกสองระดับ คือ ระดับปริญญาโท สาขาวิชาการศึกษาผู้ใหญ่และการศึกษาต่อเนื่องเป็นแห่งแรกในประเทศไทย
    • โรงเรียนสาธิตฯ เปิดรับนักเรียนรุ่นแรกทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
  • พ.ศ. 2520
    • ได้รับงบประมาณดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนหลังแรก ปัจจุบันคืออาคารศึกษา 2 (อาคารข้างลานสำเภาทอง)
    • ส่วนราชการต่าง ๆ ของคณะศึกษาศาสตร์ ประกอบด้วยภาควิชาทั้งสี่ และสำนักงานเลขานุการคณะศึกษาศาสตร์ ย้ายจากอาคาร A5 ไปยังอาคารศึกษา 2
  • พ.ศ. 2521 โรงเรียนสาธิตฯ ยุติการรับนักเรียนระดับประถมศึกษา
  • พ.ศ. 2522 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เย็นใจ เลาหวณิช คณบดีคนที่ 4 เป็นผู้ริเริ่มประเพณีมอบครุสิทธิ์ โดยจัดพิธีมอบครุสิทธิ์ครั้งแรกวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2522 โดยมีการนำประเพณีดั้งเดิมที่มีมาแต่โบราณของไทยมาประยุกต์ให้เกิดเป็นมรดกทางประเพณีอันดีงามเกี่ยวกับครูและการให้การศึกษา พิธีมอบครุสิทธิ์เป็นพิธีที่ปรับปรุงจากพิธีครอบครู พิธีไหว้ครู ซึ่งตามคตินิยมถือว่าเป็นการที่ศิษย์แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อครูบาอาจารย์ และเป็นความเชื่อจากความกตัญญูสามารถดลบันดาลให้ศิษย์ที่เคารพบูชา ประสบความสำเร็จ ผ่านพ้นอุปสรรคในวิชาชีพของตนต่อไป ดังนั้นคณะศึกษาศาสตร์จึงได้จัดพิธีมอบครุสิทธิ์นี้ขึ้นให้กับนักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษาออกไปประกอบวิชาชีพให้เกิดความซาบซึ้ง ความภาคภูมิใจ และตระหนักรู้ถึงคุณค่าของการเป็นผู้สร้างสรรค์ ผู้ให้ความรู้ ผู้ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้แก่ผู้เรียนต่อไป
  • พ.ศ. 2523
    • ปิดหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต วิชาเอกภูมิศาสตร์ และวิชาเอกประวัติศาสตร์
    • เปิดสอนหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต วิชาเอกสังคมศึกษา
  • พ.ศ. 2524 เปิดสอนระดับปริญญาโท สาขาวิชาการบริหารการศึกษา
  • พ.ศ. 2525 ภาควิชาบริหารการศึกษามีแนวคิดจะเปิดปริญญาเอก โดยได้ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศออสเตรเลียวางแนวหลักสูตรไว้ให้
  • พ.ศ. 2528
    • เปลี่ยนชื่อ "ภาควิชาบริหารและการนิเทศศาสตร์" เป็น "ภาควิชาการบริหารการศึกษา" ตามประกาศลงวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2528
    • เปิดสอนระดับปริญญาโท สาขาการสอนวิชาภาษาอังกฤษในฐานะภาษาต่างประเทศ และสาขาวิชาหลักสูตรและการนิเทศ
  • พ.ศ. 2529
    • มหาวิทยาลัยศิลปากร ปรับปรุงอาคาร A2 เดิม (ปัจจุบันคืออาคารศึกษา 1) และมอบอาคารดังกล่าวให้คณะศึกษาศาสตร์
    • ขอจัดตั้งภาควิชาใหม่ 2 ภาควิชา คือ ภาควิชาการศึกษานอกโรงเรียน และภาคเทคโนโลยีการศึกษา ตั้งแต่วันประกาศลงวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2529 คณะศึกษาศาสตร์จึงย้ายสำนักงานเลขานุการ และภาควิชา 3 ภาควิชา คือ ภาควิชาบริหารการศึกษา ภาควิชาหลักสูตรและวิธีการสอน และภาควิชาการศึกษานอกโรงเรียน มาอยู่ที่อาคารศึกษา 1 (อาคาร A2)
    • อาจารย์ ดร. อุทัย ดุลยเกษม คณบดีคนที่ 6 ริเริ่มแนวคิดในการจัดตั้งมูลนิธิศึกษาศาสตร์ สระน้ำจันทร์ มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการจัดกิจกรรมทางการศึกษาของคณะศึกษาศาสตร์ และเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับบุคลากรในคณะศึกษาศาสตร์
    • เครื่องหมายของมูลนิธิคือ เป็นตราพระคเณศ อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมรูปธงแนวตั้ง ส่วนล่างเว้าเข้าเป็นลักษณะเส้นโค้งตัวอักษรคำว่า "มูลนิธิศึกษาศาสตร์" อยู่บนเส้นโค้งภายในกรอบใต้รูปพระคเณศ ตัวอักษรคำว่า "สระน้ำจันทร์" อยู่ใต้เส้นโค้งนอกกรอบส่วนบนของขอบกรอบสี่เหลี่ยมมีเส้นประดับกรอบ ลักษณะคล้ายไม้แขวนเสื้อ
  • พ.ศ. 2530 กฎหมายอนุมัติให้มีการแบ่งส่วนราชการในสำนักงานเลขานุการของทุกคณะวิชาใหม่ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2530 สำนักงานเลขานุการคณะศึกษาศาสตร์จึงมีการแบ่งส่วนราชการดังนี้
    • งานบริหารและธุรการ
    • งานคลังและพัสดุ
    • งานบริการการศึกษา
  • พ.ศ. 2533
    • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุรพล พยอมแย้ม คณบดีคนที่ 8 ร่วมมือกับนักศึกษาและบุคลากรของคณะฯ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน จัดงานฉลองวาระครบรอบ 20 ปี ของการจัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีการจัดแสดงนิทรรศการ 20 ปี ศึกษาศาสตร์ ระหว่างวันที่ 5–9 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 และจัดประชุมสัมนาทางวิชาการเรื่อง "คณะศึกษาศาสตร์ เส้นทางใหม่จากกระแสพลวัต" พร้อมทั้งจัดงาน "ราตรีศึกษาศาสตร์" ที่มีกิจกรรมหลากหลายทำให้ชาวศึกษาศาสตร์ที่เป็นศิษย์เก่ากลับคืนสู่เหย้ากันมากมาย อันเป็นราตรีที่มีความอบอุ่น สุขสดชื่น เป็นที่กล่าวขวัญจนถึงทุกวันนี้
    • ในวาระครบรอบ 20 ปี ทางคณะใช้ "พระคเณศประทับยืน" เป็นสัญลักษณ์ประจำงาน โดยได้รับความกรุณาจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วิชัย สิทธิรัตน์ อาจารย์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ เป็นผู้ออกแบบให้อย่างน่าประทับใจ พร้อมกันนั้น คณะกรรมการอำนวยการจัดงาน 20 ปี ศึกษาศาสตร์ อันประกอบด้วยผู้แทนคณาจารย์ ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน เห็นพ้องร่วมกันกำหนดให้ "ดอกกล้วยไม้" เป็นดอกไม้ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยเชื่อมโยงกับคำประพันธ์ของศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ผู้รักษาการคณบดีคนแรก และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรพล พยอมแย้ม ดำเนินการขออนุญาตใช้โคลงเปรียบเทียบกล้วยไม้กับการจัดการศึกษาของศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล มาประกอบกับสัญลักษณ์ประจำคณะ
  • พ.ศ. 2534 เปิดสอนระดับปริญญาโท สาขาวิชาการสอนภาษาไทย
  • พ.ศ. 2536 มีการแบ่งส่วนราชการใหม่ให้มีโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร ในคณะศึกษาศาสตร์ ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2536
  • พ.ศ. 2539
    • อาจารย์ ข้าราชการ และศิษย์เก่าคณะศึกษาศาสตร์ ร่วมกันก่อตั้งสมาคมศิษย์เก่าคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับการจดทะเบียนก่อตั้งสมาคมเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 ใช้ชื่อว่า สมาคมศึกษาศาสตร์ศิลปากร ใช้อักษรย่อว่า "สศศ." โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวมตัวของคณาจารย์ ข้าราชการ และศิษย์เก่าคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีเครื่องหมายสมาคมเป็นรูปดอกกล้วยไม้กับพระคเณศอยู่ภายใต้ซุ้มเรือนแก้ว และมีตัวอักษรเรียงโค้งเขียนว่า สมาคมศึกษาศาสตร์ ศิลปากร กิจกรรมที่สำคัญคือ "วันกล้วยไม้บาน" โดยมีกำหนดจัดขึ้นในวันเสาร์ที่สองของเดือนมิถุนายนของทุกปี โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ลิขิต กาญจนาภรณ์ เป็นนายกสมาคมตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน
    • เปิดสอนระดับปริญญาโท (โครงการพิเศษ) สาขาวิชาบริหารการศึกษา
  • พ.ศ. 2540
    • มีประกาศเรื่องการแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยศิลปากร ในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2540 ใหม่ โดยยกเลิกประกาศของมหาวิทยาลัยอันเดิม[2] คณะศึกษาศาสตร์จึงมีการแบ่งส่วนราชการดังนี้
      • สำนักงานเลขานุการ
      • ภาควิชาการบริหารการศึกษา
      • ภาควิชาการศึกษานอกโรงเรียน
      • ภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว
      • ภาควิชาเทคโนโลยีการศึกษา
      • ภาควิชาพื้นฐานทางการศึกษา
      • ภาควิชาหลักสูตรและวิธีสอน
      • โรงเรียนสาธิตฯ
    • เปิดสอนระดับปริญญาโท สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา
    • เปิดสอนโครงการพิเศษ สาขาวิชาบริการการศึกษา
    • จัดทำวารสารทางวิชาการโดยใช้ชื่อว่า "ทับแก้ว" เริ่มเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2540 โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
      • เพื่อเป็นเวทีสำหรับแสดงความคิดเห็นเชิงวิชาการของบุคลากรในคณะศึกษาศาสตร์
      • เพื่อเผยแพร่ผลงานทางวิชาการแก่สาธารณชน
      • เพื่อเป็นสื่อกลางสำหรับความเข้าใจอันดีทั้งภายในและภายนอกคณะ
  • พ.ศ. 2541
    • เปิดสอนระดับปริญญาโท หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจิตวิทยาชุมชน เป็นแห่งแรกในประเทศ
    • เปิดสอนโครงการพิเศษ ในระดับบัณฑิตศึกษา ได้แก่ สาขาวิชาหลักสูตรและการนิเทศ และสาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษในฐานะภาษาต่างประเทศ
  • พ.ศ. 2543
    • ขยายโครงการความร่วมมือเพื่อรับบุคลากรจากกรมสามัญศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติเพิ่มขึ้นในทุกสาขาวิชาที่มีการจัดการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา
    • คณะศึกษาศาสตร์จัดงานฉลองครบรอบ 30 ปี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อประชาสัมพันธ์ สรุปผลการพัฒนาวิชาชีพ และรายงานผลการดำเนินงานของคณะศึกษาศาสตร์
    • การฉลองครบรอบ 30 ปีครั้งนี้ คณะศึกษาศาสตร์ระดมทุนเพื่อสร้างอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ พร้อมทั้งประกวดคำขวัญคณะศึกษาศาสตร์ที่ "วิสัยทัศน์กว้างไกล ใส่ใจสังคม อุดมความรู้ เชิดชูคุณธรรม"
  • พ.ศ. 2545 ได้รับการอนุมัติหลักสูตรสำหรับบัณฑิตศึกษาเพิ่มเติม 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนศึกษา คือ สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย และสาขาวิชาการศึกษาตลอดชีวิต นอกจากนี้คณะยังได้รับการอนุมัติหลักสูตรเพิ่มเติม 2 หลักสูตร คือ สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษาพิเศษ และสาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา
  • พ.ศ. 2547 ปรับหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย สาขาวิชาภาษาอังกฤษ สาขาวิชาสังคมศึกษา สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย และสาขาวิชาการประถมศึกษา เป็นหลักสูตร 5 ปี
  • พ.ศ. 2548 เปิดสอนหลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา โดยได้รับการอนุมัติจากทางสภามหาวิทยาลัยศิลปากรในการประชุมครั้งที่ 2/2548 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2548
  • พ.ศ. 2552 เปิดสอนหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต 5 ปี สาขาวิชาการสอนภาษาจีนในฐานะภาษาต่างประเทศ โดยได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยศิลปากรในการประชุมครั้งที่ 4/2552 เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2552
  • พ.ศ. 2555 ปรับปรุงหลักสูตรใหม่ตามมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษา ระดับปริญญาตรี 9 หลักสูตร ได้แก่ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา สาขาวิชาจิตวิทยา สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา สาขาวิชาการศึกษาตลอดชีวิต สาขาวิชาภาษาไทย สาขาวิชาภาษาอังกฤษ สาขาวิชาสังคมศึกษา สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย และสาขาวิชาการประถมศึกษา
  • พ.ศ. 2556 ปรับปรุงหลักสูตรใหม่ตามมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษา ระดับปริญญาตรี 1 หลักสูตร คือ สาขาวิชาการสอนภาษาจีนในฐานะภาษาต่างประเทศ
  • พ.ศ. 2560
    • ปรับหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา และสาขาวิชาการศึกษาตลอดชีวิต เป็นหลักสูตร ศิลปศาสตรบัณฑิต
    • เปิดสอนหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต 5 ปี สาขาวิชาคณิตศาสตร์ (ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์)
  • พ.ศ. 2562
    • ปรับหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย สาขาวิชาภาษาอังกฤษ สาขาวิชาสังคมศึกษา สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย สาขาวิชาการประถมศึกษา สาขาวิชาการสอนภาษาจีนในฐานะภาษาต่างประเทศ และสาขาวิชาคณิตศาสตร์ เป็นหลักสูตร 4 ปี
    • เปิดสอนหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศิลปศึกษา (ร่วมกับ คณะอักษรศาสตร์)
  • พ.ศ. 2566
    • การก่อสร้างเทวาลัยองค์พระพิฆเนศวร เนื้อสำริดนอก ขนาดหน้าตัก 29 นิ้ว จัดสร้างเป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

หน่วยงาน[แก้]

อาคารศึกษา 3
  • สำนักงานคณบดี
  • ภาควิชาการบริหารการศึกษา
  • ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต
  • ภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว
  • ภาควิชาเทคโนโลยีการศึกษา
  • ภาควิชาพื้นฐานทางการศึกษา
  • ภาควิชาหลักสูตรและวิธีสอน
  • โรงเรียนสาธิต
  • โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร (ปฐมวัยและประถมศึกษา)

หลักสูตร[แก้]

ปริญญาตรี
ปริญญาโท
ปริญญาเอก

หลักสูตร ศึกษาศาสตรบัณฑิต (ศษ.บ.)

  • สาขาวิชาภาษาไทย
  • สาขาวิชาภาษาอังกฤษ
  • สาขาวิชาสังคมศึกษา
  • สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย
  • สาขาวิชาการประถมศึกษา
  • สาขาวิชาการสอนภาษาจีนในฐานะภาษาต่างประเทศ
  • สาขาวิชาคณิตศาสตร์ (ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์)
  • สาขาวิชาศิลปศึกษา (ร่วมกับ คณะอักษรศาสตร์)
  • สาขาวิทยาศาสตร์ศึกษา

หลักสูตร ศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.)

  • สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา
  • สาขาวิชาการศึกษาตลอดชีวิต
  • สาขาวิชาจิตวิทยา

หลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)

  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา

หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (ศษ.ม.)

  • สาขาวิชาการบริหารการศึกษา
  • สาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษ
  • สาขาวิชาการสอนภาษาไทย
  • สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา
  • สาขาวิชาพัฒนศึกษา
  • สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน
  • สาขาวิชาวิธีวิทยาการวิจัยทางการศึกษา

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชาการบริหารการศึกษา
  • สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน
  • สาขาวิชาพัฒนศึกษา
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา
  • สาขาวิชาการสอนภาษาไทย

ทำเนียบคณบดี[แก้]

รายนามคณบดีคณะศึกษาศาสตร์
ลำดับ คณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1
ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ปฏิบัติงานในหน้าที่คณบดี 5 ตุลาคม พ.ศ. 2513 – 19 สิงหาคม พ.ศ. 2514[3]
2
อาจารย์ มาลี อติแพทย์ ปฏิบัติงานในหน้าที่คณบดี 20 สิงหาคม พ.ศ. 2514 – 15 ตุลาคม พ.ศ. 2515
รักษาราชการแทนคณบดี 16 ตุลาคม พ.ศ. 2515 – 21 มีนาคม พ.ศ. 2516[4]
22 มีนาคม พ.ศ. 2516 – 21 มีนาคม พ.ศ. 2520[5]
3
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พรรณศรี วิชากรกุล รักษาราชการแทนคณบดี 22 มีนาคม พ.ศ. 2520 – 30 กันยายน พ.ศ. 2521[6]
4
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เย็นใจ เลาหวณิช 1 ตุลาคม พ.ศ. 2521 – 30 กันยายน พ.ศ. 2525[7]
1 ตุลาคม พ.ศ. 2525 – 31 ตุลาคม พ.ศ. 2527[8]
5
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดุสิต ทิวถนอม รักษาราชการแทนคณบดี 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 – 15 มกราคม พ.ศ. 2528
6
อาจารย์ ดร. อุทัย ดุลยเกษม 16 มกราคม พ.ศ. 2528 – 31 ตุลาคม พ.ศ. 2529 (ลาออก)[9]
7
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ลิขิต กาญจนาภรณ์ รักษาราชการแทนคณบดี 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 – 7 เมษายน พ.ศ. 2530[10]
14 ธันวาคม พ.ศ. 2537 – 13 ธันวาคม พ.ศ. 2541[11]
8
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุรพล พยอมแย้ม 8 เมษายน พ.ศ. 2530 – 15 ตุลาคม พ.ศ. 2533[12]
9
รองศาสตราจารย์ ดร. ทวีป ศิริรัศมี รักษาราชการแทนคณบดี 16 ตุลาคม พ.ศ. 2533 – 11 ธันวาคม พ.ศ. 2533[13]
10
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิคม ตังคะพิภพ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2533 – 11 ธันวาคม พ.ศ. 2537[14]
รักษาราชการแทนคณบดี 12 ธันวาคม พ.ศ. 2537 – 13 ธันวาคม พ.ศ. 2537
11
รองศาสตราจารย์ ดร. ประกอบ คุณารักษ์ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2541 – 13 ธันวาคม พ.ศ. 2545[15]
12
รองศาสตราจารย์ คณิต เขียววิชัย 14 ธันวาคม พ.ศ. 2545 – 13 ธันวาคม พ.ศ. 2549[16]
14 ธันวาคม พ.ศ. 2549 – 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553[17]
รักษาการ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2557 – 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558[18]
13
รองศาสตราจารย์ ดร. วิสาข์ จัติวัตร์ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553 – 13 ธันวาคม พ.ศ. 2557[19]
14
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชัยชาญ ถาวรเวช รักษาการ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2557 – 17 ธันวาคม พ.ศ. 2557[20]
15
อาจารย์ ดร. บำรุง ชำนาญเรือ รักษาการ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558 – 13 ธันวาคม พ.ศ. 2558[21]
16
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มาเรียม นิลพันธุ์ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2558 – 13 ธันวาคม 2566[22]
17
ศาสตราจารย์ ดร. คณิต เขียววิชัย 14 ธันวาคม พ.ศ. 2566 – ปัจจุบัน
  • หมายเหตุ ตำแหน่งทางวิชาการในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น

อ้างอิง[แก้]

  1. สรุปมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560
  2. ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. ๒๕๔๐, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๓๒ ง หน้า ๑๘ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๐
  3. บันทึกการประชุมสภามหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 2/2513 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2513
  4. คำสั่งทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ ที่ 11/2515 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2515
  5. คำสั่ง มศก. ที่ 80/2516 ลงวันที่ 5 เมษายน 2516
  6. คำสั่ง มศก. ที่ 120/2520 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2520
  7. คำสั่ง มศก. ที่ 420/2521 ลงวันที่ 15 กันยายน 2521
  8. คำสั่ง มศก. ที่ 609/2525 ลงวันที่ 23 กันยายน 2525
  9. คำสั่ง มศก. ที่ 48/2528 ลงวันที่ 17 มกราคม 2528
  10. คำสั่ง มศก.ที่ 829/2529 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2529
  11. คำสั่ง มศก.ที่ 1344/2537 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2537
  12. คำสั่ง มศก.ที่ 270/2530 ลงวันที่10 เมษายน 2530
  13. คำสั่ง มศก.ที่ 871/2533 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2533
  14. คำสั่ง มศก.ที่ 1092/2533 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2533
  15. คำสั่ง มศก.ที่ 910/2541 ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2541
  16. คำสั่ง มศก.ที่ 1241/2545 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2545
  17. คำสั่ง มศก.ที่ 1486/2549 ลงวันที่ 14 กันยายน 2549
  18. คำสั่ง มศก. ที่ 2102/2557 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2557
  19. คำสั่ง มศก. ที่ 1605/2553 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553
  20. คำสั่ง มศก.ที่ 2042/2557 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2557
  21. คำสั่ง มศก. ที่ 771/2558 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2558
  22. คำสั่ง มศก.ที่ 1853/2558 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2558

[1]

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  1. คำสั่ง มศก.ที่ 2559/2566 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566