คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะบริหารธุรกิจ
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
School of Business Administration
Bangkok University
สถาปนาพ.ศ. 2505
คณบดีผศ.ดร.ศุภณัฐ ชูชินปราการ
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
9/1 หมู่ 5 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
สีสีแดง
มาสคอต
พังงาเรือ
เว็บไซต์http://ba.bu.ac.th/

คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นแผนกวิชาแรกเช่นเดียวกับแผนกวิชาบัญชีที่ก่อตั้งขึ้นพร้อมกับการจัดตั้งวิทยาลัยไทยเทคนิค ในช่วงแรกที่เปิดดำเนินการสอน คณะบริหารธุรกิจมีสถานภาพเป็นแผนกวิชาบริหารธุรกิจและแผนกวิชาการเลขานุการ มีหัวหน้าแผนกวิชาเป็นผู้รับผิดชอบ

ต่อมาได้เปิดสาขาวิชาการเงิน สาขาวิชาการตลาด และสาขาวิชาบริหารทั่วไปเมื่อปี พ.ศ. 2515 โดยสังกัดอยู่ในแผนกวิชาบริหารธุรกิจ หลังจากนั้นอีก 1 ปีได้เปิดสอนแผนกบริหารธุรกิจในหลักสูตรภาคค่ำ และเปิดแผนกบริหารงานบุคคลในปี พ.ศ. 2518 ส่วนสาขาวิชาบริหารทั่วไปได้เปลี่ยนชื่อเป็นสาขาวิชาการการจัดการในปี พ.ศ. 2519 และได้จัดตั้งแผนกวิชาการเลขานุการเป็นแผนกวิชาอิสระ (ภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นสาขาวิชาหนึ่งของคณะบริหารธุรกิจ เรียกว่า สาขาวิชาการเลขานุการ)

ปี พ.ศ. 2520 ได้มีการเปลี่ยนสถานภาพจากการใช้ชื่อเรียกว่าแผนกวิชามาเป็นคณะ แผนกวิชาบริหารธุรกิจจึงเปลี่ยนเป็นคณะบริหารธุรกิจ และเรียกชื่อแผนกในสังกัดคณะเป็นภาควิชา โดยที่การเรียนการสอนของคณะได้มุ่งเน้นให้นักศึกษาได้ฝึกฝนและหาประสบการณ์จากการฝึกงานในสถานการณ์จริง

ด้วยปณิธานของคณาจารย์ผู้สอนที่เล็งเห็นช่องทางการเสริมสร้างทักษะนักศึกษา ทางคณะฯ จึงได้มีการริเริ่มจัดตั้งโครงการบริษัทจำลองรีจอยซ์ (Rejoice Simulated Company) ขึ้นในปี พ.ศ. 2526 ซึ่งเป็นโครงการฝึกงานภาคฤดูร้อนของนักศึกษาสาขาวิชาการตลาดชั้นปีที่ 3 ที่ทางคณะฯกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาเกี่ยวกับการฝึกงานด้านวิชาชีพ (Professional Internship) โดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมการจัดการ ธุรกิจแห่งประเทศไทย (T.M.A.) การจัดตั้งบริษัทจำลองนี้ขึ้นทำให้นักศึกษาได้ฝึกประสบการณ์ตรงด้วยการปฏิบัติงานด้านการบริหารและการขาย รวมทั้งยังได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่นและรับผิดชอบงานของตนเองได้อย่างดี

คณะบริหารธุรกิจได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาหลักสูตรให้ก้าวสู่ความเป็นสากลในปี พ.ศ. 2528 คณะบริหารธุรกิจจึงได้ริเริ่มเปิดดำเนินการสอนหลักสูตร English Program ในสาขาวิชาการตลาด (ปี พ.ศ. 2531 หลักสูตรนี้ได้เปลี่ยนชื่อเรียกว่าเป็น (International Program) โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการเรียนการสอนทุกวิชา ต่อมามหาวิทยาลัยได้จัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยกรุงเทพขึ้น สาขาวิชานี้จึงย้ายไปสังกัดกับหน่วยงานใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541

ในแต่ละปี คณะบริหารธุรกิจเป็นคณะฯที่มีนักศึกษาสนใจสมัครสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อเป็นจำนวนมากการเปิดดำเนินการสอนสาขาวิชาและหลักสูตรใหม่จึงเกิดขึ้นพร้อมกับการปรับปรุงหลักสูตรเดิมให้ทันสมัยอยู่เสมอ ในปี พ.ศ. 2532 ทางคณะฯได้เปิดหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่องสาขาวิชาการจัดการและสาขาวิชาการตลาดขึ้น โดยมีแนวความคิดว่าการขยายหลักสูตรนี้จะเป็นการเพิ่มโอกาส ในการศึกษาให้แก่ผู้สนใจที่จะเพิ่มพูนคุณวุฒิด้วยการศึกษาต่อ นอกจากนี้ เมื่อธุรกิจได้นำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาผสมผสานในการบริหารงาน คณะบริหารธุรกิจจึงได้เปิดสอนสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งสาขาวิชา โดยเริ่มเปิดสอนในหลักสูตร ปริญญาตรีต่อเนื่องเมื่อปี พ.ศ. 2541 และเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีภาคปกติในปี พ.ศ. 2542

ในปีการศึกษา 2550 เปิดภาควิชาใหม่คือ ภาควิชาการเป็นเจ้าของธุรกิจ

สัญลักษณ์ประจำคณะ[แก้]

พังงา หมายถึง พวงมาลัยเรือ เพื่อแสดงว่านักบริหารที่ดีต้องรู้จักบริหารจัดการให้องค์กรเดินถูกตามเส้นทางสู่เป้าหมาย มีจรรยาบรรณประจำใจ คือ ซื่อสัตย์ มองการณ์ไกล สามารถดำเนินการและฟันฝ่าอุปสรรค์ต่าง ๆ อย่างมีแบบแผนและเน้นการให้ความร่วมมือในหมู่คณะเพื่อให้ได้ผลงานบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้โดยส่วนรวม

หน่วยงาน[แก้]

คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีภาควิชาในสังกัดทั้งหมด 4 ภาควิชา ได้แก่

และมีการจัดตั้ง 1 คณะใหม่ โดยแยกออกมาจากคณะบริหารธุรกิจ แต่ยังคงใช้หลักสูตรในรูปแบบของคณะบริหารธุรกิจ คือ

  • คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ (เดิมเป็น ภาควิชาการเป็นเจ้าของธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ)

หลักสูตร[แก้]

ปัจจุบัน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ปรับปรุงหลักสูตรเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย โดยมีการเปิดสอน 10 สาขาวิชา ใน 4 ภาควิชา และ 1 คณะ ได้แก่

หน่วยงาน ระดับปริญญาตรี
ภาควิชาการจัดการ บริหารธุรกิจบัณฑิต (บธ.บ.) / Bachelor of Business Administration (B.B.A.)
  • สาขาวิชาการจัดการ (Management)
ภาควิชาการเงิน บริหารธุรกิจบัณฑิต (บธ.บ.) / Bachelor of Business Administration (B.B.A.)
  • สาขาวิชาการเงิน (Finance)
  • สาขาวิชาการวางแผนการเงินและการลงทุน (Financial and Investment Planning)
ภาควิชาการตลาด บริหารธุรกิจบัณฑิต (บธ.บ.) / Bachelor of Business Administration (B.B.A.)
  • สาขาวิชาการตลาด (Marketing)
  • สาขาวิชาการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing)
  • สาขาวิชาการตลาดดิจิทัล มุ่งเน้นเจ้าของธุรกิจดิจิทัลและแบรนด์อินฟลูเอนเซอร์ (Digital Marketing (Digital Entrepreneur & Brand Influencer))
ภาควิชาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ บริหารธุรกิจบัณฑิต (บธ.บ.) / Bachelor of Business Administration (B.B.A.)
  • สาขาวิชาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Management)
  • สาขาวิชาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ (มุ่งเน้นธุรกิจจีน) (Chiness Business Management)
  • สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน (Logistics and Supply Chain Management)
คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ บริหารธุรกิจบัณฑิต (บธ.บ.) / Bachelor of Business Administration (B.B.A.)
  • สาขาวิชาการเป็นเจ้าของธุรกิจ (Entrepreneurship)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]