คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
Faculty of Law, Rajabhat Maha Sarakham University
ชื่อย่อนต., FOL
สถาปนา• พ.ศ. 2543 – โปรแกรมวิชานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

• 19 มิถุนายน พ.ศ. 2552 - หลักสูตรสาขาวิชานิติศาสตร์ วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง

• 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 – คณะนิติศาสตร์
คณบดีอาจารย์ ดร.กริช สินธุศิริ
ที่อยู่
อาคารคณะนิติศาสตร์ (อาคาร 33) มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เลขที่ 80 ถนนนครสวรรค์ ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
สี  สีชมพู
มาสคอต
ตราชู
เว็บไซต์คณะนิติศาสตร์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เป็นส่วนงานประเภทคณะของมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม จัดตั้งขึ้นตามประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เรื่องเปลี่ยนชื่อ "วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง" เป็น "คณะนิติศาสตร์" ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2557 โดยให้มีผลเป็นคณะนิติศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นไป [1] มีรากฐานมาจากภาควิชาเศรษฐศาสตร์และการเมือง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ต่อมา พ.ศ. 2543 แยกจากภาควิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มาเปิดสอนโดยเอกเทศเป็นโปรแกรมวิชานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2552 แยกจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จัดตั้งเป็นวิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง ร่วมกับหลักสูตรสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์และหลักสูตรสาขาวิชารัฐศาสตร์ โดยมีฐานะเป็น หลักสูตรสาขาวิชานิติศาสตร์ วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง และในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เปลี่ยนชื่อจากวิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง เป็น คณะนิติศาสตร์ ปัจจุบัน เปิดสอนระดับปริญญาตรี

ประวัติ[แก้]

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามมีวิวัฒนาการสืบเนื่องมานับตั้งแต่ พ.ศ. 2538 กล่าวคือ วิทยาลัยครูมหาสารคามยกฐานะเป็นสถาบันราชภัฏมหาสารคาม จึงได้จัดตั้งภาควิชาเศรษฐศาสตร์และการเมือง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ขึ้น แต่ยังไม่ได้จัดการเรียนการสอนสาขานิติศาสตร์ ต่อมาภาควิชาเศรษฐศาสตร์และการเมืองได้เปิดสอนหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต (นิติศาสตร์) เป็นรุ่นแรกในปี พ.ศ. 2543 หลังจากการการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามเมื่อปี พ.ศ. 2547 ได้มีการเปลี่ยนแปลงภายในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ขึ้น โดยได้ยุบภาควิชาเศรษฐศาสตร์และการเมืองจัดตั้งเป็น 2 โปรแกรมวิชา คือ โปรแกรมวิชารัฐประศาสนศาสตร์และโปรแกรมวิชานิติศาสตร์

ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 หลักสูตรสาขาวิชานิติศาสตร์ร่วมกับหลักสูตรสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์และหลักสูตรสาขาวิชารัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรวิชาชีพและกึ่งวิชาชีพได้ขอแยกจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพในการบริหารงาน รวมทั้งรองรับความเติบโตของหน่วยงาน จึงมีการรวมหลักสูตรสาขาวิชาทั้ง 3 หลักสูตรเพื่อยกฐานะขึ้นเป็นหน่วยงานภายใน เรียกว่า วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง มีฐานะเทียบเท่าคณะ ซึ่งได้รับการอนุมัติจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2552 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ตามระเบียบมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ว่าด้วย วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง พ.ศ. 2552[2]

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ได้เปลี่ยนชื่อ "วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง" เป็น "คณะนิติศาสตร์" ตามประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เรื่องเปลี่ยนชื่อ "วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง" เป็น "คณะนิติศาสตร์" ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2557 โดยให้มีผลเป็นคณะนิติศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นไป และสภามหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามได้ตราข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ว่าด้วย คณะนิติศาสตร์ พ.ศ. 2557 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2557[3]

ปัจจุบันคณะนิติศาสตร์ ตั้งอยู่อาคารคณะนิติศาสตร์ (อาคาร 33) มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

สัญลักษณ์[แก้]

  • สัญลักษณ์ประจำคณะ

ตราชู หมายถึง ความรับผิดชอบในการผดุงความยุติธรรมให้สถิตเสถียร สม่ำเสมอ ไม่เอนเอียงไปข้างฝ่ายใดด้วยอคติ รูปตราชูจึงเป็นเครื่องหมายที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ในการนำมาประกอบตราชูแห่งความยุติธรรม

  • สีประจำคณะ

  สีชมพู

  • ต้นไม้/ดอกไม้ประจำคณะ

ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์/ดอกชมพูพันธุ์ทิพย์

หลักสูตร[แก้]

ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก

หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต (น.บ.)

  • สาขาวิชานิติศาสตร์ (ภาคปกติ)
  • สาขาวิชานิติศาสตร์ (ภาคสมทบ, ภาค กศ.บป.)

หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต (น.ม.)

  • ยังไม่เปิดการเรียนการสอน

หลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต (น.ด.)

  • ยังไม่เปิดการเรียนการสอน

การรับรองคุณภาพการศึกษา[แก้]

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามได้ผ่านการรับรองคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาจากองค์กรวิชาชีพต่าง ๆ ได้แก่

1. สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

2. สภาทนายความ (ประเทศไทย)

3. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

4. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.)

ทำเนียบคณบดี[แก้]

ทำเนียบคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
ชื่อ ระยะเวลาอยู่ในตำแหน่ง หมายเหตุ

1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิทยา เจริญศิริ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 – 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 -
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกพร ทองสอดแสง 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ผู้รักษาราชการแทนคณบดี
3. อาจารย์พิทักษ์ ธรรมะ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2560 - 2564 -
4. อาจารย์ ดร.กริช สินธุศิริ 2564-ปัจจุบัน -

หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีเป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะรับตำแหน่ง

กิจกรรมและองค์กรนักศึกษา[แก้]

องค์กรนักศึกษา

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มีองค์กรนักศึกษา ดังนี้

1. สโมสรนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

2. ชมรมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

กิจกรรมนักศึกษา

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามมีกิจกรรมนักศึกษาที่โดดเด่น ดังนี้

1. วันรพี

2. วันต้นกล้านักกฎหมาย

3. พิธีไหว้ครูและพิธีมอบเข็มกลัดตราชูและเนคไท

4. กีฬาประเพณีสานสัมพันธ์นิติศาสตร์ มรม.-มมส.

5. กิจกรรมรับน้อง

6. ละครศาลจำลอง

7. กิจกรรมสืบสานประเพณีลอยกระทง

8. กีฬาน้องใหม่และกีฬาระหว่างคณะ

เกียรติประวัติ[แก้]

ผู้สำเร็จการศึกษาเป็นนิติศาสตรบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ได้แยกย้ายกันไปประกอบอาชีพต่าง ๆ กัน เป็นผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ อาจารย์สอนวิชากฎหมาย ที่ปรึกษากฎหมาย นิติกร ข้าราชการตามกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ ประกอบอาชีพธุรกิจเอกชน ฯลฯ ได้สร้างผลงานและชื่อเสียงให้เป็นที่ปรากฏแก่วงการต่าง ๆ และยังเป็นบัณฑิตที่สำเร็จนิติศาสตรบัณฑิตของมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งแรกที่สามารถสอบไล่ได้เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 40 แห่งอีกด้วย

ศิษย์เก่าที่สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย

1. นายฉลาด ทานาวิน สอบผ่านการคัดเลือกเป็นข้าราชการตุลาการ ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา, สอบไล่เนติบัณฑิตไทย ได้ลำที่ 9 สมัยที่ 59 [4]

2. นายกฤษณ์ ภูตลาดขาม สอบผ่านการคัดเลือกเป็นข้าราชการตุลาการ ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา, สอบใบประกาศนียบัตรวิชาชีพทนายความ ได้ลำดับที่ 1 [5]

3. นายสุริยันต์ หงสาคู สอบผ่านการคัดเลือกเป็นข้าราชการตุลาการ ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา

4. ร้อยตำรวจตรี ทัศน์ทวี ยอดทหาร สอบผ่านการคัดเลือกเป็นข้าราชการอัยการ ในตำแหน่งอัยการผู้ช่วย

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. {{http://office.rmu.ac.th/uppdf/Rule%20for%20UPpdf/8/B0075-8.pdf/ ประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เรื่องเปลี่ยนชื่อ "วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง" เป็น "คณะนิติศาสตร์" }}
  2. {{http://office.rmu.ac.th/uppdf/Rule%20for%20UPpdf/8/C0026-8.pdf/ ระเบียบมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ว่าด้วย วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง พ.ศ. 2552 }}
  3. {{http://office.rmu.ac.th/uppdf/Rule%20for%20UPpdf/8/A0064-8.pdf/ ข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ว่าด้วย คณะนิติศาสตร์ พ.ศ. 2557 }}
  4. {{http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2556/E/013/19.PDF/ ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการตุลาการ เล่มที่ 130 ตอนพิเศษ 13 ง ลงวันที่ 29 มกราคม 2556 }}
  5. {{http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2556/E/013/19.PDF/ ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการตุลาการ เล่มที่ 130 ตอนพิเศษ 13 ง ลงวันที่ 29 มกราคม 2556 }}