คณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะการบัญชีและการจัดการ
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
Mahasarakham Business School หรือ Faculty of Accountancy and Management
ตราเรือสำเภาฟ้า
สัญลักษณ์ประจำคณะ
ชื่อย่อบช. / MBS
คติพจน์สถาบันนวัตกรรมธุรกิจเพื่อสังคม
สถาปนาภาควิชาบริหารธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
· 9 ธันวาคม พ.ศ. 2538 (28 ปี)
คณะการบัญชีและการจัดการ
· 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 (25 ปี)
คณบดีดร.ชลธิชา ธรรมวิญญู
ที่อยู่
คณะการบัญชีฯ ขามเรียง
· เลขที่ 41 หมู่ 20 ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม 44150
คณะการบัญชีฯ ในเมือง
· เลขที่ 269 หมู่ 2 ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม 44000
วารสารวารสารการบัญชีและการจัดการ
สี███ สีฟ้าคราม
มาสคอต
สำเภาฟ้า
เว็บไซต์https://mbs.msu.ac.th/

คณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (อังกฤษ : Mahasarakham Business School) เป็นหน่วยงานระดับคณะวิชาสังกัดมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 5 ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยเป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยการแยกภาควิชาบริหารธุรกิจจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ภายใต้ระเบียบมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ว่าด้วยคณะการบัญชีและการจัดการ ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2541[1] ทำการเรียนการสอนด้านการบัญชี การจัดการ เศรษฐศาสตร์และการบริหารธุรกิจ ตั้งอยู่ที่อาคารบริหารธุรกิจสิรินธร ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม (ม.ใหม่) ปัจจุบันเป็นหนึ่งในคณะด้านการบัญชี การจัดการและบริหารธุรกิจที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของไทย นอกจากนี้ยังเป็นคณะบัญชีที่มีผู้สมัครในรอบแอดมิชชันสูงที่สุดด้วย[2]

ประวัติ[แก้]

กลุ่มอาคารบริหารธุรกิจและพาณิชยศาสตร์

เมื่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคามได้ยกฐานะเป็น "มหาวิทยาลัยมหาสารคาม" ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2537 จึงได้มีการควบรวมคณะมนุษยศาสตร์และคณะสังคมศาสตร์เข้าด้วยกันเป็นหน่วยงานเดียวคือ "คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม" ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "Faculty of Humanities and Social sciences, Mahasarakham University"[3][4] และได้มีการก่อตั้งภาควิชาบริหารธุรกิจขึ้นมาในปีการศึกษา 2538 โดยได้เปิดสอนหลักสูตรบริหารธุรกิจ (ต่อเนื่อง 2 ปี) สาขาวิชาการบัญชี และสาขาวิชาการตลาดขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จากเดิมที่เปิดสอนเฉพาะวิชาโทบริหารธุรกิจ) โดยจัดสอนในวันเสาร์-อาทิตย์ โดยเป็นโครงการพิเศษ ในปีการศึกษา 2540 ได้เปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (ต่อเนื่อง 2 ปี) สาขาวิชาการจัดการ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตขึ้น พร้อมทั้งปรับปรุงหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (ต่อเนื่อง 2ปี) สาขาวิชาการบัญชีและสาขาวิชาการตลาดด้วย

ต่อมาในปี 2541 ภาควิชาบริหารธุรกิจ ได้แยกตัวเพื่อไปตั้งเป็น "คณะการบัญชีและการจัดการ (Faculty of Accountancy and Management)"[5] หรือ "โรงเรียนบริหารธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (Mahasarakham Business School)" เป็นโรงเรียนบริหารธุรกิจแห่งที่ 2 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถัดจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น (KKBS) มีลักษณะของการดำเนินงานและรูปแบบของการบริหารงานแบบนอกระบบราชการ เน้นความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และพึ่งตนเองมากที่สุดในการจัดการศึกษา โดยมีสภามหาวิทยาลัยมหาสารคามทำหน้าที่กำกับดูแลและควบคุม

ในปีการศึกษา 2546 คณะฯ ได้เปิดสอนหลักสูตรบัญชีบัณฑิต และหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (4 ปี) สาขาวิชาการตลาด สาขาวิชาการจัดการ และสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิตขึ้น

ในปีการศึกษา 2547 คณะฯ ได้เปิดสอนหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (4 ปี) สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ (หลักสูตรนานาชาติ) ขึ้นอีกหลักสูตรหนึ่ง พร้อมทั้งมีการปรับปรุง หลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี และหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตให้มีความทันสมัย และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และเปิดหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต หลักสูตรการจัดการ มหาบัณฑิต หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการตลาด หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเชิงกลยุทธ์

ในปีการศึกษา 2548 คณะฯ ได้เปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (4 ปี) สาขาวิชาการจัดการทรัพยากร มนุษย์ สาขาวิชาการจัดการการประกอบการ สาขาวิชาการบริหารการเงิน สาขาวิชาการจัดการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ และหลักสูตรเศรษฐศาสตร์บัณฑิต (ศ.บ.) สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ยังเปิด ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบัญชี ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ

ในปีการศึกษา 2549 คณะฯ ได้เปิดหลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต (ศ.ม.) สาขาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ

ในปีการศึกษา 2551 คณะฯ ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรให้มีความทันสมัยเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด จำนวน 6 สาขาวิชา ได้แก่ หลักสูตรบัญชีบัณฑิต หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขา วิชาการตลาด สาขาวิชาการจัดการ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ และสาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ (นานาชาติ) และหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต

ในปีการศึกษา 2553 คณะฯ ได้เปิดโครงการสอบคัดเลือกบุคคลเข้านิสิตปริญญาตรี โครงการพิเศษ ACC.BIZ.SMART เรียน 5 ปี ตรี-โท ประจำปีการศึกษา 2554 ได้แก่

  • หลักสูตรบัญชีบัณฑิตและหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต (ACC-SMART)
  • หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (สาขาวิชาการจัดการ) และหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต (BIZ-SMART)
  • หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (สาขาวิชาการจัดการการประกอบการ) และหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต (CEO-SMART)
  • หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (สาขาวิชาการบริหารทรัพยากรมนุษย์) และหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต (HR-SMART)
  • หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ) และหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต (IB-SMART)
  • หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ) และหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศทางธุรกิจ (IT-SMART)
  • หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ) และหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศทางธุรกิจ (BIT-SMART)
  • หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ) และหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศทางธุรกิจ (ECOM-SMART)
  • หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (สาขาวิชาการตลาด) และหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการตลาด (MK-SMART)
  • หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต (สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ) และหลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ (ECON-SMART) และหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (สาขาวิชาการบริหารการเงิน)
  • หลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ (FM-SMART) และหลักสูตรระดับปริญญาโทภาคปกติ หลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต หลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต หลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต

ในปีการศึกษา 2554 คณะฯ ได้เปิดโครงการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อนักธุรกิจรุ่นใหม่ (New.Gen) หลักสูตรบัญชีบัณฑิต หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต และหลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต ประจำปีการศึกษา 2554 ซึ่งเน้นผู้เรียนประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับการดำเนินงานด้านบริหารธุรกิจ เน้นการฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ การวางแผนกลยุทธ์ใหม่ๆ และเน้นการวิเคราะห์สถานการณ์ทางธุรกิจ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และเปิดหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการตลาด

ในปีการศึกษา 2555 คณะฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรตามระยะเวลาที่กำหนด จำนวน 6 หลักสูตร ได้แก่ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ สาขาวิชาการบริหารการเงิน สาขาวิชาการจัดการการประกอบการ สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ สาขาวิชาการจัดการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ

ในปีการศึกษา 2556 คณะฯ ได้เปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (บธ.บ.) สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ (นานาชาติ) เรียน 4 ปี 3 ปริญญา จาก 3 ประเทศ ประจำปีการศึกษา 2556 และได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรตามระยะเวลาที่กำหนด จำนวน 6 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรบัญชีบัณฑิต หลักสูตรบริหาร ธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด สาขาวิชาการจัดการ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ (นานาชาติ) หลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต

นับจาก 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 จวบจนถึงปัจจุบัน คณะการบัญชีและการจัดการได้พัฒนาความก้าวหน้าทั้งทางด้านวิชาการและการบริหารจัดการองค์กรที่มุ่งเน้นการยกระดับการบริหารระบบคุณภาพทั้งระบบบริหารคุณภาพภายในประเทศและสากลมาโดยตลอด และเสริมสร้างให้บุคลากรทุกระดับเกิดความตระหนักรับรู้ ยอมรับ และพัฒนางานของตนให้มีคุณภาพมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนปลูกจิตสำนึกเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมมุ่งคุณภาพทั่วทั้งองค์กรอย่างยั่งยืน กว่า 25 ปี ที่ก้าวเดิน บนเส้นทางการผลิตบัณฑิต และมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบัญชีและสาขาวิชาบริหารธุรกิจ ทำให้ปัจจุบัน คณะฯ ได้ผลิตบัณฑิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดออกไปรับใช้สังคมในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และระดับประเทศจำนวนมาก ซึ่งบัณฑิตและมหาบัณฑิตของคณะฯ เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในวิชาชีพ การบัญชี บริหารธุรกิจ และเศรษฐศาสตร์ เป็นอย่างดี มีคุณธรรม จริยธรรมที่โดดเด่น และสามารถประยุกต์ความรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง และช่วยเหลือ สนับสนุน และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคม และประเทศชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม[6]

อัตลักษณ์[แก้]

  • สีประจำคณะ

  สีฟ้าคราม

  • สัญลักษณ์

เรือสำเภาฟ้า สัญลักษณ์แห่งการค้าขายและพาณิชยกรรม

  • ชื่อคณะ

ชื่อของคณะฯ คือ Faculty of Accountancy and Management นั้น มักจะต้องมีการชี้แจงเพิ่มเติมว่าหมายถึง Business School ที่มีการเรียนการสอนทางด้านบริหารธุรกิจ ซึ่งคำว่า Business School นั้นเป็นชื่อที่เข้าใจได้ทันทีและใช้กันอย่างแพร่หลายในคณะฯที่มีการเรียนการสอนทางด้านบริหารธุรกิจ และมักจะใช้ควบคู่ไปกับชื่อของมหาวิทยาลัย เช่น Chulalongkorn Business School ซึ่งหมายถึง School of Business ของ Chulalongkorn University หรือ Thammasat Business School ซึ่งหมายถึง School of Business ของ Thammasat University ดังนั้นเพื่อให้การสื่อสารประชาสัมพันธ์ของคณะฯเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ให้สังคมภายนอกได้รับทราบว่า คณะการบัญชีและการจัดการเป็นสถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงเลือกใช้ชื่อ Mahasarakham Business School พร้อมกับอักษรย่อว่า MBS ในการประชาสัมพันธ์คณะฯ ทั้งในเอกสารคู่มือ รวมถึงในนามบัตรของอาจารย์และ บุคลากรของคณะฯ ด้วย

หน่วยงานภายใน[แก้]

หน่วยงานภายในคณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประกอบด้วย[7]


การบริหารหน่วยงานของคณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
การบริหารงาน การเรียนการสอน การวิจัยและพัฒนา
  • สำนักงานเลขานุการคณะการบัญชีและการจัดการ
  • สาขาวิชาการตลาด
  • สาขาวิชาบริหารการเงิน
  • สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์
  • สาขาวิชาการจัดการ
  • สาขาวิชาการบัญชี
  • สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
  • สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
  • สำนักพัฒนาศักยภาพนิสิตและนวัตกรรม
  • สำนักพัฒนากายภาพและสิ่งแวดล้อม
  • สำนักการจัดการศึกษาออนไลน์
  • สำนักส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจดิจิตัล
  • ศูนย์บริการวิชาการและกิจการพิเศษ
  • ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ

หลักสูตรการศึกษา[แก้]

คณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดทำการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี โท และเอกทั้งสิ้น 9 หลักสูตร 22 สาขาวิชา ดังนี้


หลักสูตรที่เปิดสอนในคณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม[8]
ระดับปริญญาบัณฑิต ระดับปริญญามหาบัณฑิต ระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต

หลักสูตรบัญชีบัณฑิต (บช.บ.)

  • สาขาการบัญชี

หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (บธ.บ)

  • สาขาการตลาด
  • สาขาวิชาการจัดการ
  • สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์
  • สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
  • สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ
  • สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ (หลักสูตรนานาชาติ)

หลักสูตรเศรษฐศาสตร์บัณฑิต (ศ.บ.)

  • สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ

หลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต (บช.ม.)

  • สาขาการบัญชี

หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (บธ.ม.)

  • สาขาการจัดการตลาดสมัยใหม่
  • สาขาวิชาการจัดการเชิงกลยุทธ์
  • สาขาวิชาการธุรกิจดิจิทัลและระบบสารสนเทศ
  • สาขาวิชาบริหารธุรกิจและนวัตกรรมดิจิทัล
  • สาขาวิชาการบริหารการเงิน

หลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต (กจ.ม.)

  • สาขาวิชาการจัดการ

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.)

  • สาขาวิชาการจัดการสมาร์ตซิตี้และนวัตกรรมดิจิทัล

หลักสูตรเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต (ศ.ม.)

  • สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจและนวัตกรรมธุรกิจ

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาการบัญชี
  • สาขาวิชาการจัดการตลาดสมัยใหม่
  • สาขาวิชาการจัดการสมัยใหม่
  • สาขาวิชาการจัดการสมาร์ตซิตี้และนวัตกรรมดิจิทัล
  • สาขาวิชาบริหารธุรกิจและนวัตกรรมดิจิทัล

การรับรองมาตรฐาน[แก้]

คณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับการรับรองมาตรฐานหลักสูตร ดังนี้

สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์

หลักสูตรบัญชีบัณฑิต และหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต คณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่งผลให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรบัญชีบัณฑิตจาก คณะการบัญชีฯ สามารถสมัครเป็นสมาชิกสามัญของสภาวิชาชีพบัญชีเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี[9]

ที่ตั้ง[แก้]

อาคารบริหารธุรกิจสิรินธร

ในการดำเนินงานระยะแรก คณะการบัญชีและการจัดการ ได้อาศัยใช้อาคารเรียนหลังที่ 1 ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เขตพื้นที่ในเมืองเป็นที่ทำการเรียนการสอน ภายหลังจึงได้ก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ในปี พ.ศ. 2546 บนที่ตั้งตำบลขามเรียง ทั้งยังได้สร้างอาคารเรียนอีกหนึ่งหลังซึ่งเป็นอาคารสูง 11 ชั้น ขึ้นพร้อมกัน และได้รับพระราชทานนามว่า “อาคารบริหารธุรกิจสิรินธร” จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2552 ทำให้คณะการบัญชีและการจัดการ มีสถานที่ในการจัดการเรียนการสอนทั้งที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ตั้งตำบลตลาด และตำบลขามเรียง ซึ่งสามารถผลิตบัณฑิตเพื่อออกไปรับใช้สังคมได้เป็นจำนวนมาก

ปัจจุบันอาคารเรียนรวมและปฏิบัติการคณะการบัญชีและการจัดการ “อาคารบริหารธุรกิจสิรินธร”

  • ชั้น 1 ห้องเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี Room, ห้องหอเกียรติยศ Hall of Fame
  • ชั้น 2 สำนักงานคณบดี และรองคณบดี
  • ชั้น 3 ห้องพักอาจารย์ Instructor Rooms
  • ชั้น 4 ห้องพักอาจารย์ Instructor Rooms
  • ชั้น 5 Lecture Room SBB 501 - SBB 507
  • ชั้น 6 Lecture Room SBB 601 - SBB 607
  • ชั้น 7 Lecture Room SBB 701 - SBB 707
  • ชั้น 8 Lecture Room SBB 801 - SBB 807
  • ชั้น 9 Lecture Room SBB 901 - SBB 907
  • ชั้น 10 Lecture Room SBB 1001 – SBB 1007
  • ชั้น 11 ห้องเอนกประสงค์ Multipurpose Room

ศูนย์บริการวิชาการ[แก้]

อาคารคณะการบัญชีและการจัดการ ม.เก่า
ป้ายชื่อคณะการบัญชีและการจัดการ
ด้านหน้าคณะการบัญชีและการจัดการ

กลุ่มงานที่ 1 ศูนย์เสริมสร้างศักยภาพธุรกิจ SMEs (SMEs Competence Building Center) มีภาระหน้าที่เกี่ยวกับการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดตั้งและการประกอบการ การบริหารงานของธุรกิจ ขนาดเล็ก ขนาดย่อม และขนาดกลาง การจัดองค์กรการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และส่งเสริมพัฒนาศักยภาพบุคลากร ด้านงานวิจัย การผลิตผลงานวิชาการ สู่การเผยแพร่ และการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะ และเชิงนโยบาย ให้กับผู้ประกอบการภาครัฐและเอกชน รวมถึงการให้บริการฝึกอบรมแก่บุคคลทั่วไปและหน่วยงานต่างๆ ในประเด็นและหัวข้อทางด้านการบริหารจัดการธุรกิจ และการตลาด นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ดูแลหน่วยงานวิจัยเฉพาะทาง ในหลักสูตรต่อไปนี้ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ สาขาวิชาการจัดการการประกอบการ สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ สาขาวิชาการตลาด สาขาวิชาการบริหารการเงิน หลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชา การจัดการการตลาด สาขาวิชาการจัดการเชิงกลยุทธ์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ และปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการตลาด

กลุ่มงานที่ 2 ศูนย์พัฒนาวิชาชีพบัญชี (Accounting Professional Development Center) มีภาระหน้าที่เกี่ยวกับการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการบัญชี และภาษีอากรโดยเฉพาะ ได้แก่ การจัดทำบัญชี การวางระบบบัญชี และการภาษีอากร และส่งเสริมพัฒนาศักยภาพบุคลากร ด้านงานวิจัย การผลิตผลงานวิชาการ สู่การเผยแพร่และการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะ และเชิงนโยบาย ให้กับผู้ประกอบการภาครัฐและเอกชน รวมถึงการให้บริการฝึกอบรมแก่บุคคลทั่วไปและหน่วยงานต่างๆ ในประเด็นและหัวข้อทางด้านการบัญชีและภาษีอากร และการให้บริการเป็นหน่วยตรวจสอบบัญชีของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ดูแลหน่วยงานวิจัยเฉพาะทาง ในหลักสูตรต่อไปนี้ หลักสูตรบัญชีบัณฑิต หลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบัญชี สาขาวิชาการสอบบัญชีและการตรวจสอบภายใน สาขาวิชาระบบสารสนเทศทางการบัญชี และหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบัญชี

กลุ่มงานที่ 3 ศูนย์ที่ปรึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Development and Consulting Center) มีภาระหน้าที่เกี่ยวกับการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่ การบริหารระบบคอมพิวเตอร์ การเรียนรู้ และการประยุกต์ใช้ซอฟต์แวร์ธุรกิจ และการพัฒนาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ และส่งเสริมพัฒนาศักยภาพบุคลากร ด้านงานวิจัย การผลิตผลงานวิชาการ สู่การเผยแพร่และการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะ และเชิงนโยบาย ให้กับผู้ประกอบการภาครัฐและเอกชน รวมถึงการให้บริการฝึกอบรมแก่บุคคลทั่วไปและหน่วยงานต่างๆ ในประเด็นและหัวข้อทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์ และการใช้ซอฟต์แวร์ทางด้านธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ดูแลหน่วยงานวิจัยเฉพาะทาง ในหลักสูตรต่อไปนี้ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ และหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีและสารสนเทศทาง

กลุ่มงานที่ 4 ศูนย์ข้อมูลธุรกิจการเกษตรอีสาน (Northeastern Agriculture Business Data Center) มีภาระหน้าที่เกี่ยวกับการเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจการเกษตร การกำหนดแนวทางและการส่งเสริมช่องทางการจัดจำหน่ายธุรกิจการเกษตร การวิจัยธุรกิจการเกษตร การส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจการเกษตร การสร้างสรรค์นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ทางด้านธุรกิจเกษตร การตลาดระหว่างประเทศ การตลาดเพื่อการส่งออกธุรกิจการเกษตร และส่งเสริมพัฒนาศักยภาพบุคลากร ด้านงานวิจัย การผลิตผลงานวิชาการ สู่การเผยแพร่และการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะ และเชิงนโยบาย ให้กับผู้ประกอบการภาครัฐและเอกชน รวมถึงการให้บริการฝึกอบรมแก่บุคคลทั่วไปและหน่วยงานต่างๆ ในประเด็นและหัวข้อทางด้านเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ดูแลหน่วยงานวิจัยเฉพาะทาง ในหลักสูตรต่อไปนี้ หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ หลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต

กลุ่มงานที่ 5 ศูนย์ศึกษาธุรกิจและเศรษฐกิจอาเซียน (Asian Economic and Business Studies Center) มีภาระหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษาวิจัยเพื่อเพิ่ม ขีดความสามารถทางธุรกิจให้กับประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเพื่อนบ้านที่มีเขตชายแดนติดต่อกันกับประเทศไทย ส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการ ในประเด็นทางการค้า สิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ตลอดจนเป็นศูนย์ข้อมูลเพื่อการค้า การวิจัย การลงทุน การท่องเที่ยว และการศึกษา รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ และส่งเสริมพัฒนาศักยภาพบุคลากร ด้านงานวิจัย การผลิตผลงานวิชาการ สู่การเผยแพร่และการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะ และเชิงนโยบาย ให้กับผู้ประกอบการภูมิภาคอาเซียนและต่างประเทศ รวมถึงการให้บริการฝึกอบรมแก่บุคคลทั่วไปและหน่วยงานต่างๆ ในประเด็นและหัวข้อทางด้านการค้าเสรีและการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ดูแลหน่วยงานวิจัยเฉพาะทาง ในหลักสูตรต่อไปนี้ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ

กลุ่มงานที่ 6 ศูนย์ร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก (Public and Government Affairs Cooperation Center) มีภาระหน้าที่เกี่ยวกับการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ภาครัฐและเอกชน ในการบริการวิชาการ การวิจัย การจัดกิจกรรมอบรมสัมมนาทางวิชาการ หรือการวิจัยระดับชาติและนานาชาติ และส่งเสริมพัฒนาศักยภาพบุคลากร ด้านงานวิจัย การผลิตผลงานวิชาการ สู่การเผยแพร่และการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะ และเชิงนโยบายให้กับผู้ประกอบการภาครัฐและเอกชน รวมถึงการให้บริการฝึกอบรมแก่บุคคลทั่วไปและหน่วยงานต่างๆ ในประเด็นและหัวข้องานวิจัยที่ได้รับการจัดสรรทุนอุดหนุนงานวิจัยภายนอก

ทำเนียบคณบดี[แก้]

รายนามคณบดีคณะการบัญชีและการจัดการ ตั้งแต่ก่อตั้งคณะจนถึงปัจจุบัน มีรายนามดังนี้


ทำเนียบคณบดีคณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. - พ.ศ. 2541 - 2545
2. - พ.ศ. 2545 - 2547
3. นายมงคล ม่วงเขียว พ.ศ. 2547 - 2551[10]
4. รองศาสตราจารย์ ปพฤกษ์ อุตสาหะวาณิชกิจ พ.ศ. 2551 - 2555[11] (วาระที่หนึ่ง)
พ.ศ. 2555 - 2559[12] (วาระที่สอง)
5. ผศ.นิติพงษ์ ส่งศรีโรจน์ พ.ศ. 2559 - 2563[13]
6. อ.ดร.ชลธิชา ธรรมวิญญู พ.ศ. 2563 - ปัจจุบัน[14]

อ้างอิง[แก้]

  1. กองแผนงาน สำนักงานอธิการบดี : ระเบียบมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ว่าด้วย คณะการบัญชีและการจัดการ พ.ศ. ๒๕๔๑. สืบค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2564.
  2. "คณะบัญชีฯ มมส ชิวอันดับ 1 คณะ/สาขาที่มีผู้สมัครแอดมิชชั่นมากที่สุด (2 ปีซ้อน)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-14. สืบค้นเมื่อ 2021-01-12.
  3. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. ประวัติโดยย่อ. สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2564.
  4. สำนักงานอธิการบดี. พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทบวงมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๓๘. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2564.
  5. คณะการบัญชีและการจัดการ. ประวัติคณะการบัญชีและการจัดการ. เก็บถาวร 2021-04-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 2 เมษายน 2564.
  6. "ประวัติคณะการบัญชีและการจัดการ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-25. สืบค้นเมื่อ 2014-10-27.
  7. กองแผนงาน : [รายงานข้อมูลพื้นฐาน ปีการศึกษา 2560] สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2564.
  8. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, รายงานข้อมูลพื้นฐานประจำปี 2563 หน้า 136 เก็บถาวร 2021-04-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 31 มีนาคม 2564
  9. สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์. ตรวจสอบหลักสูตรการศึกษาที่สภาฯ รับรอง. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2565.
  10. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, คำสั่งมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ 2920/2547, สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2564.
  11. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, คำสั่งมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ 3752/2551, สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2564.
  12. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, คำสั่งมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ 4059/2555, สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2564.
  13. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, คำสั่งมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ 3388/2559, สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2564.
  14. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, คำสั่งมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ 2202/2563, สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2564.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

เว็บไซต์หลักคณะ เก็บถาวร 2013-10-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน