คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
ภาพรวมหน่วยงาน
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่ไทย
ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ
45 หมู่ 3 ถนนคลองเก้า แขวงคลองสิบ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
หน่วยงานลูกสังกัด
  • สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นคณะผู้บริหารกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย โดยใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ซึ่งระบุให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่าคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ประกอบด้วยจุฬาราชมนตรีเป็นประธานกรรมการ และกรรมการ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ซึ่งเป็นผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จังหวัดละหนึ่งคน และจากกรรมการอื่นซึ่งคัดเลือกโดยจุฬาราชมนตรีมีจำนวนหนึ่งในสามของจำนวนผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี[1]

คุณสมบัติของกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย[แก้]

  • เป็นมุสลิมผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
  • มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีบริบูรณ์
  • เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในศาสนาอิสลามเป็นอย่างดี
  • เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามโดยเคร่งครัด
  • เป็นผู้มีความสัมพันธ์อันดีกับทุกศาสนา
  • เป็นผู้มีความเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
  • ไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
  • ไม่เป็นผู้เคยถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
  • ไม่เป็นผู้ทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่กำหนดในกฎกระทรวง[1]

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย[แก้]

  • ให้คำปรึกษาแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
  • ให้คำปรึกษาหรือข้อแนะนำเกี่ยวกับศาสนาอิสลามแก่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด
  • แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมอบหมาย
  • ออกระเบียบเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินและการจัดหาผลประโยชน์ของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและมัสยิด
  • ออกระเบียบวิธีการดำเนินงานและควบคุมดูแลการบริหารงานของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด
  • ปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในจังหวัดที่ไม่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ในการนี้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจะมอบหมายให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่ใกล้เคียงปฏิบัติหน้าที่แทนก็ได้
  • พิจารณาวินิจฉัยคำร้องคัดค้านของกรรมการอิสลามประจำมัสยิดซึ่งพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีมติให้พ้นจากตำแหน่งหรือมีพการกระทำที่ไม่สมควรกับตำแหน่ง
  • จัดทำทะเบียนทรัพย์สิน เอกสารและบัญชีรายรับรายจ่ายของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยให้ถูกต้องตามความเป็นจริง
  • ออกประกาศและให้คำรับรองเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลาม
  • ส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมทางศาสนา และการศึกษาศาสนาอิสลาม
  • ประสานงานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในกิจการที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม
  • ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540[1]

นอกจากนี้แล้วคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยยังเป็นองค์กรสำคัญในการประสานความร่วมมือในการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย

การบริหารงานของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย[แก้]

สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย มีฐานะเป็นนิติบุคคลมีหน้าที่เกี่ยวกับกิจการของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยมีคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นผู้แทนของสำนักงานในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยอาจมีมติมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนทำการแทนก็ได้ และให้เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการของสำนักงาน[1]

รายนามคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย[แก้]

ประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คือ อรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี

รองประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้แก่ นายสมัย เจริญช่าง นายสมาย มาลีพันธุ์ นายอรุณ วันแอเลาะ นายแวดือราแม มะมิงจิ ศ.ดร.อิมรอน มะลูลีม นายสวาป เผ่าประทาน นายเบิ้ม ปาทาน นายประสิทธิ์ มะหะหมัด นายดีน ยีสมัน และนายสุริยา ปันจอร์

เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คือ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่[2]

รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้แก่ นายดำรงค์ สุมาลยศักดิ์ นายณรงค์เดช สุขจันทร์นายประเสริฐ ดิเจริญ และ นายรัศมี ดำชะไว

กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ตำแหน่งอื่น คือ

สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ ถนนคลองเก้า แขวงคลองสิบ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. ๒๕๔๐" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 114 (65 ก): 6–8. 25 มกราคม 2556. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2560. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. คำสั่งคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เรื่องแต่งตั้งรองประธาน เลขาธิการ รองเลขาธิการ และประธานฝ่ายต่าง [ลิงก์เสีย]

ดูเพิ่ม[แก้]