ขุนไกรพลพ่าย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ขุนไกรพลพ่าย
ตัวละครใน ขุนช้างขุนแผน
ข้อมูลตัวละครในเรื่อง
เพศชาย
อาชีพทหาร
สังกัดกรมอาทมาต
คู่สมรสทองประศรี
บุตรขุนแผน
ญาติกุมารทอง (หลานชาย)
พลายงาม (หลานชาย)
พลายณรงค์ (หลานชาย)
พลายชุมพล (หลานชาย)
พลายเพชร (เหลนชาย)
พลายบัว (เหลนชาย)
พลายยง (เหลนชาย)
ศาสนาศาสนาพุทธ
บ้านเกิดบ้านพลับ กาญจนบุรี
สัญชาติกรุงศรีอยุธยา

ขุนไกรพลพ่าย (/ขุน-ไกรฺ-พน-ละ-พ่าย/) หรือเรียกโดยย่อว่าขุนไกร เป็นชื่อบรรดาศักดิ์ฝ่ายทหารของตัวละครตัวหนึ่งในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ขุนไกรเป็นบิดาของพลายแก้วผู้ต่อมามีบรรดาศักดิ์ว่า "ขุนแผน" และเป็นสามีของนางทองประศรี ขุนไกรต้องโทษประหารชีวิตตั้งแต่บุตรยังเล็ก ๆ

พื้นเพ[แก้]

ขุนไกรเป็นคนบ้านพลับ จังหวัดกาญจนบุรีพบรักกับนางทองประศรีชาวบ้านวัดตะไกร จังหวัดเดียวกัน เขตหมู่บ้านทั้งสองนี้ปัจจุบันจะคงอยู่หรือไม่ไม่อาจทราบได้ ทั้งสองเมื่อสมรสกันแล้วก็พากันไปตั้งครอบครัวใหม่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี มีบุตรด้วยกันเพียงคนเดียวคือพลายแก้ว

ด้านลักษณนิสัยของขุนไกรนั้น เสภาขุนช้างขุนแผนบรรยายว่า

เป็นทหารชาญชัยใจฉกรรจ์      คุมไพร่ทั้งนั้นได้เจ็ดร้อย
อาจองคงกระพันชาตรี      เข้าไหนไม่มีที่จะถอย
รบศึกศัตรูอยู่กับรอย      ถึงมากน้อยทหารไม่หนีมา
กรมการเมืองสุพรรณสั่นหัว      เข็ดขามคร้ามกลัวใครไม่ฝ่า
โปรดปรานเป็นทหารอยุธยา      มีสง่าอยู่ในเมืองสุพรรณ

ส่วนด้านเศรษฐกิจนั้น ขุนไกรเป็นข้าราชการที่มีฐานะมั่งมีพอสมควร โดยศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่า[1]

ครอบครัวของขุนแผน ขุนช้าง และนางพิมนั้นปรากฏว่าเป็นครอบครัวที่มีฐานะดี ร่ำรวย มีทั้งทรัพย์และผู้คนไว้ใช้สอยทุกครอบครัว ที่เป็นเช่นนี้เพราะข้าราชการสมัยนั้นไม่มีกฎบังคับว่าต้องอุทิศเวลาทั้ง 24 ชั่วโมงให้แก่ทางราชการ แต่มีสิทธิที่จะทำมาหากินในทางส่วนตัวได้ จึงสามารถสร้างฐานะของตนให้ดีได้ตาม ๆ กัน คติที่ว่ามีทางทำมาหากินให้ร่ำรวยได้ในราชการนั้น ถึงในปัจจุบันนี้ก็ดูเหมือนจะยังไม่หมดไป

เชื้อชาติ[แก้]

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช สันนิษฐานว่าขุนไกรมีเชื้อมอญ โดยให้ข้อสังเกตว่า[2]

สังเกตดูจากคำนำหน้านามที่เรียกผู้ชายในตระกูลของขุนไกรว่า พลาย เช่น พลายแก้ว พลายงาม แล้ว สันนิษฐานว่าขุนไกรจะเป็นมอญหรือเป็นคนมีเชื้อมอญที่อพยพเข้ามาอยู่ในพระราชอาณาจักร คำว่าพลายนั้นเป็นภาษามอญแปลว่าหนุ่มหรือแปลว่าผู้ชายที่แข็งแรง ในภาษาไทยก็ยังใช้ แต่ใช้เรียกช้างตัวผู้ว่าช้างพลาย

นอกจากนี้ ด้วยเหตุที่ขุนไกรเป็นข้าราชการทหารสังกัดกรมอาทมาตซึ่งเป็นกรมของสายลับ มีหน้าที่ไปแฝงตัวสอดแนมอยู่ตามประเทศเพื่อนบ้านของไทยแล้ว ในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจะใช้คนไทยซึ่งไม่ชำนาญภาษาเพื่อนบ้านและมีความแตกต่างกับคนเหล่านั้นอยู่อักโขก็ไม่เหมาะสม และคนมอญนั้นนอกจากพูดภาษาพม่าได้ดีเป็นภาษาที่สองคนตนแล้วยังมีความเป็นอยู่เฉกเช่นเดียวกับชาวพม่าอีก หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงสันนิษฐานด้วยเหตุข้างต้นว่า ขุนไกรผู้สังกัดกรมดังกล่าวน่าจะมีเชื้อมอญ[3]

ชีวิตราชการ[แก้]

ขุนไกรเป็นข้าราชการทหารสังกัดกรมอาทมาตซึ่งเป็นกรมของสายลับ มีหน้าที่ไปแฝงตัวสอดแนมอยู่ตามประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยขุนไกรมีอำนาจควบคุมทหารเจ็ดร้อยนาย และประจำอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรีนั้นเอง

นอกจากนี้ ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรีมีฝูงควายป่าชุกชุม ซึ่งรัฐบาลไทยสมัยนั้นจัดให้เป็นสัตว์อนุรักษ์พันธุ์ จึงมอบหมายให้ขุนไกรมีหน้าที่อนุรักษ์พันธุ์ควายป่านั้นไว้ด้วย

การถึงแก่กรรม[แก้]

ต่อมาสมเด็จพระพันวษา พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้นเสด็จทอดพระเนตรฝูงควายป่าดังกล่าว ขุนไกรซึ่งคุมกองทหารมากมายจึงมีหน้าที่ถวายอารักขาและต้อนควายป่ามาให้ทอดพระเนตร

ในการออกจากบ้านไปทำหน้าที่ในวันนั้น เหตุที่ดวงขุนไกรถึงฆาต จึงปรากฏเป็นลางร้ายบอกเหตุต่าง ๆ นานาที่บ้านขุนไกร ดังเสภาขุนช้างขุนแผนว่า

ให้มีลางคืนนั้นสนั่นอึง      แมงมุมตีอกผึงหาหยุดไม่
สยอดสยองพองขนทุกคนไป      เย็นยักเยือกจับใจไปทุกยาม

นอกจากนี้ ในคืนที่ขุนไกรอยู่บ้านเป็นครั้งสุดท้าย นางทองประศรียังหลับฝันร้ายว่าฟันร่วงจากปากอีกด้วย ฝันเช่นนี้เชื่อกันว่าเป็นฝันร้ายนักเพราะถ้าใครฝันแล้ว บิดา มารดา สามี หรือภรรยาของผู้ฝันนั้นจะถึงแก่ความตาย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่า[4]

เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องแปลก ผมเองเป็นคนไม่ค่อยจะเชื่อถือในโชคลางแต่อย่างใดเลย โดยเฉพาะเรื่องฝันนั้นถ้าจะว่าไปก็เกือบฝันไม่เป็น และถ้าเกิดฝันขึ้นแล้วก็มักจะจำไม่ได้เมื่อตื่นขึ้น...แต่ในคืนก่อนที่พ่อผมจะตายนั้น ผมจำได้เป็นแน่นอนว่า ผมฝันว่าฟันผมยุ่ยเป็นแป้งไปทั้งปากจนไม่มีเหลือ พอตื่นขึ้นในรุ่งเช้าวันนั้นอีกไม่กี่ชั่วโมงพ่อผมก็ตาย

วันที่ขุนไกรไปปฏิบัติหน้าที่ ฝูงควายป่าเกิดแตกตื่นเป็นโกลาหลอยู่หน้าที่นั่งและมีที่ท่าว่าจะฝ่าเข้ามาถึงพระที่นั่ง ขุนไกรจึงคว้าหอกไปยืนประจันกับฝูงควายแล้วไล่แทงจนล้มตายสุมกันนับร้อยตัวเพื่อป้องกันพระองค์

ฝ่ายสมเด็จพระพันวษานั้นมีพระราชประสงค์อนุรักษ์ฝูงควายป่านั้นไว้และสนพระราชหฤทัยในความเป็นอยู่ของควายฝูงนี้ยิ่งนักถึงขนาดเสด็จมาทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง แต่เมื่อขุนไกรผู้มีหน้าที่รักษาพันธุ์ควายป่ากลับประหารควายป่าเสียเอง จึงทรงพระโกรธยิ่ง มีรับสั่งให้ประหารชีวิตขุนไกรในทันทีทันใดนั้น แล้วให้นำศพของขุนไกรเสียบขาหย่างถ่างไว้ประจาน กับให้ริบลูกเมีย ข้าทาสบริวาร ตลอดจนทรัพย์สินต่าง ๆ ของขุนไกรเข้าเป็นของหลวงสิ้น

"ขุนไกรนั้นพอได้ยินว่าตนจะถูกประหารชีวิตก็ดูออกจะเสียสติไม่สมกับชายชาติทหารเลย เพราะร้องห่มร้องไห้และพรรณนาไปต่าง ๆ คร่ำครวญ และเกลือกกลิ้งอยู่บนพื้นดินเหมือนคนขาดสติ..."[5] หลวงฤทธานนท์เพื่อนเก่าของขุนไกรซึ่งอยู่ ณ ที่นั้นด้วยจึงเข้ามาปลอบโยนจนขุนไกรได้สติ ยอมให้เพชฌฆาตมัดตัวกับหลักที่จะประหารชีวิตในท่านั่งประนมมือบนพื้นดินอย่างการประหารชีวิตทั่ว ๆ ไป แล้วหลับตานึกในใจว่าขอตายอย่างชายชาติทหาร และชี้นิ้วสั่งให้เพชฌฆาตลงมือได้เลย

ระหว่างนั้น หลวงฤทธานนท์ได้แจ้งข่าวแก่นางทองประศรี นางจึงหอบลูกและเงินอีกสองถูกหลบหนีไปอาศัยกับญาติของสามีที่ตำบลเขาชนไก่ จังหวัดกาญจนบุรี และเริ่มนับหนึ่งตั้งเนื้อตั้งตัวใหม่จนกลับมามั่งคั่งอีกครั้งหนึ่ง

อนุสรณ์สถานถึงขุนไกรพลพ่าย[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2539). "ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่". คึกฤทธิ์ ปราโมช. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2538). หน้า 179.
  2. คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2539). "ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่". คึกฤทธิ์ ปราโมช. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2538). หน้า 177.
  3. คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2539). "ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่". คึกฤทธิ์ ปราโมช. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2538). หน้า 178.
  4. คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2539). "ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่". คึกฤทธิ์ ปราโมช. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2538). หน้า 182.
  5. คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2539). "ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่". คึกฤทธิ์ ปราโมช. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2538). หน้า 183.

0