ขุนนางกรุงศรีอยุธยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ขุนนางไทย)

ขุนนางไทย คือข้าราชการที่ได้รับพระราชทานยศถาบรรดาศักดิ์ราชทินนามและศักดินาตั้งแต่ 400 ขึ้นไป โดยขุนนางเป็นผู้ที่กำเนิดจากสามัญชน อาจจะมาจากครอบครัวชั้นสูงหรือชั้นต่ำในสังคมก็ได้ ฉะนั้นขุนนางเกิดจากการใช้พระราชอำนาจของกษัตริย์ สามัญชนที่มีโอกาสถวายตัวรับราชการกับกษัตริย์และได้รับศักดินา 700 ขึ้นไป หรืออาจมีข้อยกเว้นหากมีศักดินาต่ำกว่า 450 แต่รับราชการในกรมมหาดเล็กก็จัดเป็นขุนนาง ทั้งนี้ขุนนาในกรมมหาดเล็กจะได้รับการเลือกสรรโดยตรงจากพระมหากษัตริย์

สามัญชนจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นขุนนางอาจเกิดขึ้นได้ 2 ระยะ คือระยะแรกเมื่อเป็นเด็ก บิดาซึ่งเป็นขุนนางผู้ใหญ่นำเข้าเฝ้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก อาจจะถวายตัวกับเจ้านายพระองค์อื่นสักระยะ เมื่อมีคุณสมบัติครบที่จะเป็นขุนนางได้ ขุนนางผู้ใหญ่จะเป็นผู้พิจารณาคุณสมบัติ หากเห็นว่าเหมาะสมจะส่งไปประจำตามกรมกองต่างๆ ซึ่งมักเป็นกรมกองที่บิดามารดาหรือญาติพี่น้องรับราชการประจำอยู่แล้ว

ในพระราชกำหนดเก่าที่ตราขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นขุนนางว่าจะต้องประกอบด้วยวุฒิ 4 ประการ คือ ชาติวุฒิ (เป็นตระกูลขุนนางสืบทอดกันมา), วัยวุฒิ (อายุ 31 ปีขึ้นไป), คุณวุฒิ (มีภูมิรู้ที่ดี) และ ปัญญาวุฒิ (มีความฉลาดรอบรู้โดยทั่ว) นอกจากนี้ยังต้องมีฉันทาธิบดี (ถวายสิ่งที่ต้องประสงค์) วิริยาธิบดี (มีความเพียรในราชการ) จิตตาธิบดี (กล้าหาญในสงคราม) และวิมังสาธิบดี (ฉลาดการไตร่ตรองคดีความและอุบายในราชการต่างๆ) ทั้งนี้ กฎเกณฑ์เหล่านี้มิได้กำหนดเป็นการตายตัว

ยศ หรือ บรรดาศักดิ์ และ ราชทินนาม[แก้]

ยศ หรือ บรรดาศักดิ์[แก้]

การกำหนด ยศ หรือ บรรดาศักดิ์ และ ราชทินนาม เป็นของคู่กัน กษัตริย์พระราชทานพร้อมกันในคราวเดียวกัน ยศหรือบรรดาศักดิ์ของขุนนางในตอนต้นอยุธยาเท่าที่ปรากฏหลักฐานพบว่า ยศหรือบรรดาศักดิ์สูงสุดคือ "ขุน" เป็นยศที่ขึ้นอยู่กับระบบบริหารของเมืองหลวง โดยเป็นยศสำหรับขุนนางในระดับเสนาธิบดีประจำจตุสดมภ์ ได้แก่เวียง วัง คลัง นา ส่วนยศทีรองมาคือ หมื่น พัน นายร้อย นายสิบ

จนต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ 21 ยศขุนนางได้มีการพัฒนาโดยนำยศต่างชาติเช่นอินเดีย และเขมรมาใช้เพิ่มเติม ได้แก่ พระยา พระ หลวง ในเอกสารของชาวตะวันตกนับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 ตอนปลายถึงพุทธศตวรรษที่ 23 เรียกยศเหล่านี้ว่า ออกญา ออกพระ ออกหลวงและ ออกขุน ทำให้ยศ ออกขุน ถูกลดฐานะลงมาก เป็นขุนนางชั้นผู้น้อย ส่วนยศนายร้อยและนายสิบกลายเป็นยศที่ไม่ได้จัดเป็นขุนนาง และกลายเป็นยศของไพร่ที่มูลนายแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ช่วยควบคุมไพร่ ต่อมาจนถึงตอนปลายอยุธยามีการเพิ่มยศ "เจ้าพระยา" เป็นยศสูงสุดสำหรับขุนนาง นอกจากนี้ ยศขุนนางที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะอีกพวกหนึ่งได้แก่ เจ้าหมื่น จมื่น เป็นยศบรรดาศักดิ์ที่ใช้ในกรมมหาดเล็กเท่านั้น

ราชทินนามและตำแหน่ง[แก้]

ราชทินนามมักเป็นภาษามคธหรือสันสกฤตล้วนๆ หรือผสมกับภาษาไทยสั้นๆ เป็นการบ่งบอกหน้าที่ของขุนนางนั้นๆ เพราะหน้าที่ตำแหน่งต่างๆ จะมียศและราชทินนามกำกับไว้ เช่น เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ เป็นยศและราชทินนามประจำตำแหน่งสมุหนายก เป็นต้น ขุนนางในตำแหน่งต่างๆ จึงย่อมมีราชทินนามเฉพาะไว้เพื่อให้ทราบหน้าที่

ตำแหน่ง เป็นสิ่งที่กำหนดสิ่งที่กำหนดระดับอำนาจและหน้าที่ความรับผิดชอบ โดยปกติมักจะสอดคล้องกับบรรดาศักดิ์และราชทินนาม ตำแหน่งสำคัญตามกรมกองต่างๆ ในระบบบริหารส่วนกลางคือ อัครมหาเสนาบดี ได้แก่ สมุหนายกและสมุหพระกลาโหม เสนาบดีจตุสดมภ์ ตำแหน่งทั้ง 2 ประเภทนี้มียศเป็น พระยา และต่อมาภายหลังเป็น เจ้าพระยา ทั้งสิ้น

ตำแหน่งขุนนางระดับรองลงมาได้แก่ ตำแหน่งจางวาง ซึ่งใช้สำหรับกรมที่ใหญ่กว่ากรมทั่วไป แต่เล็กกว่ากรมของเสนาบดี รองจากจางวางคือตำแหน่งเจ้ากรม รองจากเจ้ากรมคือตำแหน่งราชปลัดทูลฉลองสำหรับกรมใหญ่ และปลัดกรมสำหรับกรมเล็กหรือกรมธรรมดา จากนั้นก็เป็น ตำแหน่งสมุห์บัญชี ทำหน้าที่ควบคุมบัญชีกำลังพลในกรมนั้น ๆ

บรรดาตำแหน่งต่างๆ เหล่านี้ บางครั้งเป็นตำแหน่งระดับเดียวกัน แต่อาจมียศบรรดาศักดิ์ไม่เท่ากัน เช่น ตำแหน่ง เจ้ากรม บางกรมก็มีเจ้ากรมเป็นเพียง ขุน เท่านั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับความสำคัญของกรมนั้นๆ

ศักดินา[แก้]

ศักดินาเป็นเครื่องกำหนดความสูงต่ำของยศศักดิ์ขุนนาง โดยในสังคมไทยสมัยกรุงศรีอยุธยายกเว้นกษัตริย์ ถูกกำหนดให้แต่ละคนมีจำนวนศักดินาประจำตัวแตกต่างกัน บุคคลที่มียศศักดิ์สูง มีหน้าที่ราชการความรับผิดชอบมาก ก็มีศักดินาสูงเป็นไปตามลำดับขั้น

สำหรับขุนนางจะมีศักดินาได้สูงสุด 10,000 เท่านั้น แม้ว่าขุนนางจะมีจะมีบรรดาศักดิ์เท่ากันหรือตำแหน่งในระดับเดียวกัน ขุนนางที่มีศักดินาสูงย่อมมีความสำคัญมากกว่า แม้ว่าจะดำรงตำแหน่งในระดับเดียวกันหรือมีบรรดาศักดิ์เท่ากันก็ตาม ดังนั้นศักดินาจึงใช้แสดงความสูงศักดิ์ได้แน่นอนกว่า ยศ ราชทินนาม หรือตำแหน่ง

บรรดาศักดิ์ ราชทินนาม ตำแหน่งและศักดินาซึ่งแสดงถึงความสูงศักดิ์ของขุนนาง มิใช่สิ่งที่จะสืบทอดกันในวงศ์ตระกูลและไม่ใช่สิ่งถาวร กล่าวคือ 4 สิ่งนี้อาจจะหมดไปได้ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงถอดถอนหรือขุนนางผู้นั้นลาออกจากตำแหน่งความสูงศักดิ์จะดำรงอยู่ในช่วงระยะเวลาที่ขุนนางยังดำรงตำแหน่ง แต่อาจมีข้อยกเว้นบ้าง เช่นขุนนางที่ลาออกและมีบ่าวไพร่จะเหลือศักดินา 1 ใน 3 ของศักดินาเดิม หรือขุนนางบางคนที่มีความดีความชอบอาจได้รับพระบรมราชานุญาตให้คงรักษาบรรดาศักดิ์เดิมไว้หลังจากที่ลาออก ในสมัยอยุธยาขุนนางจะอยู่ในตำแหน่งได้ตลอดชีวิตหากไม่ประพฤติผิดและถูกกษัตริย์ถอดถอนหรือมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

อำนาจและหน้าที่[แก้]

ขุนนางนอกจากจะมีอำนาจและหน้าที่ในการปฏิบัติราชการ บังคับบัญชากรมกองต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายมาแล้ว ยังมีอำนาจหน้าที่สำคัญอื่น ๆ อย่าง การควบคุมดูแลไพร่พลในกรมกองที่ตนเป็นผู้บังคับบัญชา และควบคุมดูแลไพร่ในหัวเมืองชั้นในซึ่งถูกแบ่งให้สังกัดกรมกองในเมืองหลวง ไพร่พลเหล่านี้ถือเป็นไพร่หลวงเป็นไพร่ของพระมหากษัตริย์แต่พระองค์มิได้ปกครองด้วยพระองค์เอง จำนวนไพร่พลในสังกัดมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตำแหน่งและศักดินาของขุนนางผู้นั้น

ในเวลาปกติขุนนางต้องควบคุมดูแลไพร่หลวงให้สามารถทำมาหากินโดยสงบสุข ถ้าเกิดกรณีพิพาทขึ้นในสังกัด ขุนนางผู้นั้นมีอำนาจหน้าที่ในการพิพากษาคดี และเมื่อถึงกำหนดเกณฑ์แรงงานไพร่หลวงเข้าขุนนางต้องควบคุมไพร่ หากไพร่ขาดจำนวนเมื่อมีรายการเรียกใช้ ขุนนางผู้นั้นจะมีความผิด

หน้าที่การเก็บภาษีอาการ เช่นการเก็บภาษีที่เก็บจากไพร่พลของตนและภาษีอากรที่อยู่ในบังคับบัญชาของกรมที่ตนสังกัด ถ้าเป็นเจ้าเมืองหัวเมืองชั้นนอกมีอำนาจหน้าที่เก็บภาษีอาการทั้งหมดในบริเวณอาณาเขตที่เจ้าเมืองนั้นมีอำนาจ

ขุนนางมีหน้าที่ต้องรายงานพระมหากษัตริย์ทันทีที่ได้รู้เห็นว่าที่จะเป็นผลร้ายต่อพระมหากษัตริย์เช่น ข่าวกบฏ ยักยอกพระราชทรัพย์ ลักลอบติดต่อนางสนมกำนัลเป็นต้น ถ้ารู้แล้วไม่กราบทูลมีโทษถึงกบฏ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ขุนนางระแวงกันเอง หรืออาจมีการกลั่นแกล้งกัน โดยแจ้งเรื่องเท็จ หรือทำบัตรสนเท่ห์ ทำให้ขุนนางระมัดระวังอยู่เสมอ และขุนนางทุกคนจะต้องเข้าร่วมพิธีดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ใครขาดถือมีโทษถึงกบฏ

การควบคุมพฤติกรรม เพื่อกำหนดขอบเขตการเคลื่อนไหวของขุนนางหรือเจ้านายรวมตัวกัน ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อราชบัลลังก์ เช่น เจ้าเมืองไปมาหาสู่กันไม่ได้ ขุนนางศักดินา 800-10,000 ไปมาหาสู่กันถึงเรือน หรือในที่สงัดหรือลอบเจรจากันในศาลาลูกขุนสองต่อสอง ล้วนแล้วมีความผิดโทษถึงตาย หรือแม้แต่ห้ามมิให้ขุนนางที่จะถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาสวมแหวนนาก แหวนทอง กินข้าวกินปลาก่อนถือน้ำ ก็มีโทษระวางกบฏ

สิทธิและผลประโยชน์[แก้]

ขุนนางในสมัยอยุธยามีรายได้และผลประโยชน์หลายอย่าง โดยเฉพาะผลประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่ที่ตนดำรงอยู่ ดังนั้น การอยู่ในตำแหน่งของขุนนางจึงมักเรียกว่า "กินตำแหน่ง" หรือ "กินเมือง"

ขุนนางและครอบครัวบุตรหลานบริวารได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน ขุนนางไม่ต้องเสียภาษี มีไพร่ในสังกัดเพื่อควบคุมตามความสูงศักดิ์ไม่ต้องไปศาลเอง แต่มีสิทธิใช้ทนายไปให้การในศาลแทน และการสืบสวนขุนนางจะทำได้ต่อเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงพระบรมราชานุญาต ขุนนางมีสิทธิเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ตามลำดับยศศักดิ์ มีสิทธิในการใช้เสมียนนายรับใช้ใกล้ชิดติดตามขุนนาง นอกจากนี้ ขุนนางได้รับเครื่องยศต่างๆ เพื่อแสดงฐานะสูงศักดิ์ เช่น หีบหมาก คนโท กระโถน หรือบางทีอาจมีช้าง มีม้า ข้าคนและที่ดิน เครื่องยศเหล่านี้ต้องคืนถวายเมื่อถึงแก่อนิจกรรมหรือออกจากราชการ ขุนนางที่มีความดีความชอบมาแต่ก่อน แต่ทำความผิดซึ่งโทษถึงตาย (ยกเว้นเป็นกบฏ) มีสิทธิขอพระราชทานลดโทษไม่ให้ถึงตายได้

สิทธิของขุนนางก็มีข้อจำกัดขอบเขตสิทธิเช่นกัน เช่น ความสูงศักดิ์ของการเป็นขุนนางมีเฉพาะตน ไม่สามารถถ่ายทอดถึงลูกหลานได้ การทำเกินยศศักดิ์ในด้านชีวิตความเป็นอยู่และมีไพร่เกินฐานะ มีโทษถูกริบไพร่ทั้งหมด ให้ออกจากราชการ ถ้าขุนนางตาย บุตรภรรยาหรือญาติพี่น้องต้องทำบัญชีแจ้งทรัพย์สินทั้งหมดเรียกว่า พัทธยา เพื่อกราบทูล เพื่อทรงพิจารณาว่าจะเรียกทรัพย์สินที่พระราชทานไปใด้กลับมาประการใดบ้าง จะต้องคืนพัทธยาได้แก่ราชการและยังต้องแบ่งทรัพย์มรดกส่วนหนึ่งให้แก่พระคลังหลวงอีกด้วย เป็นการควบคุมความมั่งคั่งของขุนนางทางหนึ่งมิให้มีทรัพย์เป็นมรดกมากเกินไป

ค่าตอบแทนจากรัฐ[แก้]

ขุนนางไม่มีเงินเดือน แต่จะได้รับเบี้ยหวัดเงินปีจากพระมหากษัตริย์ ได้มากหรือน้อยขึ้นกับยศศักดิ์ แต่รายได้หลักมาจากการปฏิบัติหน้าที่ เช่น ถ้ากรมกองใดงานในหน้าที่อำนวยให้มีรายได้มาก เช่น เก็บภาษีอากร ค่าฤชาการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ ฯลฯ ขุนนางในกรมนั้นจะได้รายได้สูงไปด้วย ทั้งนี้ เพราะขุนนางสามารถจัดเก็บรายได้ส่วนหนึ่งไว้แบ่งจ่ายเฉลี่ยกันเองในกรม โดยนำส่วนหนึ่งเข้าท้องพระคลัง ซึ่งขุนนางก็สามารถจะปิดบังรายได้ที่แท้จริง เพื่อให้เข้าพระคลังน้อยและไว้แบ่งปันกันเองให้มาก การทุจริตในหน้าที่ต่างๆ จึงเป็นเรื่องปกติที่แพร่หลาย และปฏิบัติสืบต่อมาจนเป็นประเพณี

นอกจากนี้ขุนนางยังอาจมีรายได้และผลประโยชน์เป็นคราว ๆ ถ้าปฏิบัติราชการมีความดีความชอบในเรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นการเฉพาะ เช่น ในการราชการสงคราม พระมหากษัตริย์จะพระราชทานรางวัลเป็นทรัพย์สินมีค่า ข้าทาสบริวาร ช้างม้า ตลอดจนที่ดิน

ดูเพิ่ม[แก้]