ขบวนการต่อต้านของพม่า พ.ศ. 2428–2438

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การต่อต้านอังกฤษในพม่า พ.ศ. 2428 - 2438
วันที่พ.ศ. 2428 - 2438
สถานที่
พม่าตอนบน พม่าตอนล่าง เขตเทือกเขาในชาน กะชีน และชีน
ผล ความสงบในพม่าภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร
คู่สงคราม
กลุ่มกบฏในพม่า สหราชอาณาจักร จักรวรรดิอังกฤษ
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
เจ้าฟ้ามยินซายง์
เจ้าฟ้าช่องกวา
เจ้าเตกตินมัต เจ้าเตกตินเธน
เจ้าฟ้าชเวโจบะยู
จ้าฟ้าบายินกัน
เจ้าฟ้าจีมยินดายง์
เจ้าฟ้าเซะต์จา
โบส่วย
โบยายุ่น
อูโอตมะ
หลวงพ่อวัดมยันชอง
เจ้าฟ้าลิมบิน
อูโปซอว์
อูส่วยทา
อูอ่องมยัต
กอว์นบิก
Lieutenant Forbes
Major Kennedy
Captain Beville
Lieutenant Eckersley
Captain Rolland
Major Gordan
Lieutenant-General Phayre
Captain Dunsford
Major Robinson
Captain O’Donnell
Colonel Skene
Brigadier-General Symons

การต่อต้านอังกฤษในพม่า พ.ศ. 2428–2438 เป็นการต่อต้านที่เกิดขึ้นเกือบจะทันทีหลังจากที่อังกฤษยกทัพขึ้นมาถึงแม่น้ำอิรวดี และพระเจ้าธีบอยอมจำนนต่ออังกฤษเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 หลังจากพม่ายอมแพ้แล้ว ได้เกิดการต่อต้านอังกฤษทั่วไปทั้งในพม่าตอนบน พม่าตอนล่าง เขตเทือกเขาในชาน กะชีน และชีน การต่อต้านนี้สิ้นสุดใน พ.ศ. 2439 [1][2]

จุดที่เป็นชนวนให้เกิดการต่อต้านอังกฤษคือการที่อังกฤษถอดพระเจ้าธีบอออกจากราชบัลลังก์และยกเลิกสถาบันกษัตริย์ไปในที่สุด อังกฤษได้ขอให้เสนาบดีสภาควบคุมและส่งตัวเจ้านายเชื้อพระวงศ์ออกจากพม่าตอนบน แต่มีบางพระองค์หลบหนีไปได้ และกลายมาเป็นผู้นำขบวนการต่อต้าน[3]

การต่อต้านในพม่าตอนบน[แก้]

เจ้าฟ้ามยินซายง์[แก้]

เจ้าฟ้ามยินซายง์เป็นพระโอรสของพระเจ้ามินดงกับพระนางเละต์ปันซิน เป็นหนึ่งในเจ้าฟ้า 5 พระองค์ที่รอดชีวิตจากการสังหารหมู่ใน พ.ศ. 2422 พระองค์ได้หลบหนีไปยังเทือกเขาทางตะวันออกของมัณฑะเลย์และเป็นผู้นำกองกำลังชาวพม่าโจมตีทหารอังกฤษด้วยธงเศวตฉัตรและธงมยุราเป็นธงนำทัพและอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ ทำให้ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง[3]

การต่อสู่ครั้งแรกในเขตพม่าตอนบนเกิดขึ้นระหว่าง 18 – 25 ธันวาคม พ.ศ. 2428 ชาวพม่าราว 200 คนนำโดยเจ้าฟ้ามยินซายง์ซุ่มกำลังที่ริมฝั่งแม่น้ำมยิตเงระหว่างหมู่บ้านชเวสะยันไปจนถึงมองต่อว์ และเข้าโจมตีมัณฑะเลย์เมื่อ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2428 เจ้าฟ้ามยินซายง์และผู้สนับสนุนได้โจมตีทหารอังกฤษที่ปาเลตในช่วงต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2428 แต่หลังจากที่อังกฤษเข้ามาปราปรามและกดดัน กลุ่มของเจ้าฟ้ามยินซายง์ได้เคลื่อนย้ายลงไปทางใต้ ไปตั้งมั่นที่จอกแส และยังคงต่อต้านอังกฤษต่อไป จอกแสเป็นที่มั่นของเจ้าฟ้ามยินซายง์จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2429 [4]

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2429 นี้ เจ้าฟ้ามยินซายง์วางแผนจะโจมตีมัณฑะเลย์ครั้งใหญ่ โดยร่วมมือกับเจ้าฟ้าไทใหญ่เช่นเจ้าฟ้าเมืองนายและเจ้าฟ้าลอกสอกแต่แผนนี้รั่วไหลไปถึงฝ่ายอังกฤษก่อน พระภิกษุที่ร่วมมือกับเจ้าฟ้ามยินซายง์ 4 รูปคือ อู ทีปะ อู เรวตะ อู โอตมะ อูนันทิยะถูกจับตัวและนำไปกักขังที่เมืองอักยับและย่างกุ้ง ในที่สุด เจ้าฟ้ามยินซายง์ต้องล่าถอยไปยังยวานกันและสิ้นพระชนม์ที่นั่นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2429[5]

เจ้าฟ้าช่องกวา[แก้]

เมื่อกองกำลังของเจ้าฟ้ามยินซายง์โจมตีมัณฑะเลย์ เจ้าซอว์ยานนายง์และเจ้าซอว์ยานปายง์ได้รวบรวมกำลังขึ้นที่ช่องกวา ทำให้ทั้งสองพระองค์เป็นที่รู้จักในนามเจ้าฟ้าช่องกวา กองทัพของเจ้าฟ้าช่องกวาได้มาร่วมสนับสนุนเจ้าฟ้ามยินซายง์ และในแผนการณ์โจมตีเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2429 ของเจ้าฟ้ามยินซายง์นั้น กองกำลังของเจ้าฟ้าช่องกวามีแผนจะมาร่วมสมทบด้วยแต่ถูกฝ่ายอังกฤษจับได้เสียก่อน กลุ่มของเจ้าฟ้าช่องกวายังคงต่อสู้ต่อมา และมีแผนจะอภิเษกเจ้าซอว์ยานนายง์ขึ้นเป็นกษัตริย์ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2429 แต่อังกฤษสืบรู้และบุกเข้าจับกุมคนสำคัญระดับหัวหน้าได้[3] เจ้าซอว์ยานนายง์ถูกจับกุมใน พ.ศ. 2430 และถูกส่งตัวมายังย่างกุ้ง[6]ส่วนเจ้าซอว์ยานปายง์หนีไปยังเขตเทือกเขาชานและได้หลบหนีไปอยู่ในประเทศจีนในที่สุด

โอรสของเจ้าฟ้ากะหน่อง[แก้]

ในช่วงเวลาเดียวกันคือเดือนธันวาคม พ.ศ. 2428 โอรสของเจ้าฟ้ากะหน่อง 2 องค์คือเจ้าเตกตินมัตกับเจ้าเตกตินเธนได้หนีออกจากมัณฑะเลย์[3] และได้รวบรวมกำลังคนไปตั้งมั่นที่ชเวโบ และเข้าโจมตีชเวโบเมื่อ 23 ธันวาคม อังกฤษส่งทหารไปปราบปรามอย่างต่อเนื่องและเกิดการปะทะครั้งใหญ่เมื่อ 12 มกราคม พ.ศ. 2428 ผลจากการสู้รบปรากฏว่าฝ่ายพม่าเป็นฝ่ายแพ้ล่าถอยไป เจ้าเตกตินเธนสิ้นพระชนม์ ส่วนเจ้าเตกตินมัตยังคงสู้ต่อไปโดยนำกองกำลังขึ้นเหนือไปเรื่อย ๆ โดยไปร่วมมือกับ โบ หล่า อู และซีงูเมียวหวุ่น โป ปยัน จี หลังจากถูกอังกฤษโจมตีอย่างต่อเนื่อง เจ้าเตกตินมัตหนีไปทางเหนือ และต่อสู้ต่อมาจนป่วยและสิ้นพระชนม์เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2430[7]

เจ้าฟ้าชเวโจบะยู[แก้]

เจ้าฟ้าชเวโจบะยูเป็นผู้หนึ่งที่อ้างเป็นเชื้อพระวงศ์ในการรวบรวมกำลังต่อต้านอังกฤษ แต่ความเป็นมาของพระองค์ไม่เด่นชัด ก่อนมัณฑะเลย์แตก พระองค์เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในบังคับอังกฤษประจำแขวงธะเยะต์เมียว[3] เมื่อมัณฑะเลย์แตก จึงหนีไปรวบรวมกำลังผู้คน โดยตั้งมั่นที่ กันเล ใกล้เทือกเขาปอนดอง มีอิทธิพลในเขตปะจีและปะขันจี เมื่อถูกอังกฤษปราบปรามหนักขึ้น จึงหลบหนีไปยังภูเขาชีนใน พ.ศ. 2430[8]

เจ้าฟ้าบายินกัน[แก้]

ในช่วงเวลาเดียวกับที่เจ้าฟ้าชเวโจบะยูได้รวบรวมกำลังต่อต้านอังกฤษ เจ้าฟ้าบายินกันได้จัดตั้งขบวนการต่อต้านในมัณฑะเลย์ ต่อมาได้เคลื่อนขึ้นเหนือไปยังสะกายง์[9] ต่อมา ใน พ.ศ. 2430 ได้เคลื่อนย้ายไปยังปะจีเพื่อร่วมมือกับเจ้าฟ้าชเวโจบะยู อังกฤษส่งกำลังไปปราบเมื่อ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2430 การปะทะเกิดขึ้นอย่างดุเดือด เจ้าฟ้าบายินกันเสียชีวิตในการสู้รบครั้งนี้

เจ้าฟ้าจีมยินดายง์[แก้]

ใน พ.ศ. 2428 เจ้าฟ้าจีมยินดายง์ได้เริ่มจัดตั้งขบวนการต่อต้านของตนที่อาวา ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2428 กองกำลังของเขาซุ่มโจมตีทหารอังกฤษที่เดินทางระหว่างปะกันไปยังยะเมทิน พระองค์นำกำลังไปรวมกับผู้นำท้องถิ่นคนอื่น ๆ แล้วเคลื่อนพลลงใต้ มีเป้าหมายในการเข้าไปรบกวนการสื่อสารของทหารอังกฤษที่ปยินมานา อย่างไรก็ตาม อังกฤษได้โจมตีฐานทัพของพระองค์เมื่อ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2429 เจ้าฟ้าถอยหนีไปยวานกัน เมื่ออังกฤษตามไปโจมตีอีก พระองค์ได้ต่อสู้กับอังกฤษจนสิ้นพระชนม์[10]

เจ้าฟ้าเซะต์จา[แก้]

เจ้าฟ้าเซะต์จาเริ่มรวมกำลังต่อต้านในมัณฑะเลย์ก่อนจะเคลื่อนย้ายไปยังมเยลัตที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจอกแสเมื่อ พ.ศ. 2430 กองทัพของพระองค์โดดเด่นขึ้นหลังเจ้าฟ้ามยินซายง์สิ้นพระชนม์ ต่อมากองทัพของพระองค์ถูกบีบจนต้องถอนตัวออกไปทางตะวันออกใน พ.ศ. 2431 ต่อมา พระองค์ถูกเจ้าฟ้าลอกสอกจับตัวส่งให้อังกฤษและถูกประหารชีวิต[11]

โบส่วย[แก้]

โบส่วยเป็นเชื้อสายของขุนนางตำแหน่งถุจีหรือนายบ้านได้เป็นผู้นำในการต่อต้านอังกฤษคนหนึ่ง เขาจัดตั้งกองกำลังในเขตมินบู ระหว่างแม่น้ำอิระวดีและยะไข่ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2428 โบส่วยได้โจมตีสถานีตำรวจในแนวชายแดนตะวันตกและเคลื่อนย้ายไปยังเมืองมาลุนใน พ.ศ. 2429 เขาถูกปราบปรามจนต้องย้ายไปตั้งมั่นในอาระกันโยมา โบส่วยรวบรวมกำลังได้อีกครั้ง ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2429 เข้าโจมตีทหารอังกฤษอีก และถูกบีบจนต้องถอนตัวไปเมืองยอว์ ฝ่ายอังกฤษตั้งค่าหัวโบส่วยถึง 1,000 รูปี เนื่องจากกองกำลังของโบส่วยเป็นกองกำลังที่สำคัญและเคยชนะทหารอังกฤษที่ปาเดน อังกฤษพยายามปราบปรามและเกลี้ยกล่อมโบส่วย ตลอด แต่โบส่วยไม่ยอมอ่อนน้อม โบ ส่วยได้ต่อสู้อังกฤษจนตัวตายที่มิลันกอน เมื่อ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2430[3]

โบยายุ่น[แก้]

โบยายุ่นเป็นหัวหน้าทหารม้าในมยินจัน ได้จัดตั้งกองกำลังต่อต้านอังกฤษระหว่าง พ.ศ. 2430 – 2431 อังกฤษพยายามเกลี้ยกล่อมให้โบยายุ่นมอบตัวแต่เขาปฏิเสธ กองทัพของเขาถูกอังกฤษตีแตกเมื่อ พ.ศ. 2433 และเขาถูกจับเมื่อ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2433[3]

อูโอตมะ[แก้]

ใน พ.ศ. 2428 หลังจากได้รับคำสั่งจากเจ้าฟ้ามยินซายง์ อูโอตมะและอูธองได้สะสมกำลังคนและอาวุธเพื่อเตรียมต่อสู้กับอังกฤษ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2428 กองกำลังนี้ได้โจมตีอังกฤษที่ซากู อังกฤษได้ตีโต้จนกำลังฝ่ายพม่าต้องถอยไป ฝ่ายของอูโอตมะต้องล่าถอยไปที่ปอก จัดตั้งกองกำลังขึ้นใหม่ และร่วมมือกับโบส่วย

อังกฤษเริ่มโจมตีกองกำลังของอูโอตมะเมื่อ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2429 แม้จะฆ่าทหารอังกฤษได้แต่ฝ่ายของอูโอตมะได้ย้ายฐานที่มั่นไปยังมินบู อังกฤษพยายามเข้าไปเกลี้ยกล่อมหัวหน้าในระดับรองลงมาในกองทัพของอูโอตมะ ในที่สุดมีทหารของอูโอตมะ 1,204 คนยอมมอบตัวต่ออังกฤษ และอูโอตมะถูกจับในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2432 ที่ละกายง์

การต่อต้านในพม่าตอนล่าง[แก้]

หลวงพ่อวัดมยันชอง[แก้]

หลวงพ่อวัดมยันชองเป็นชาวไทใหญ่ และเป็นกลุ่มแรกที่ก่อการต่อต้านในพม่าตอนล่างโดยได้รับพระบรมราชโองการจากพระเจ้าสีป่อก่อนจะเกิดสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่ 3[3][12] หลวงพ่อวัดมยันชองได้นำทหารเข้าโจมตีสิตตัง วินบาดอว์และการาเวเมื่อ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2428 ในวันต่อมา กลุ่มนี้ได้ตัดสายโทรเลขที่ทะเยะต์ทาเมนและเข้ายึดบิลิน และมีจอกจีเป็นที่มั่น ในที่สุดกองกำลังของหลวงพ่อวัดมยันชองถูกตีแตกที่จอกจี กองกำลังของหลวงพ่อวัดมยันชองหนีขึ้นเหนือไปยาทอง อังกฤษปราบปรามกลุ่มของหลวงพ่อวัดมยันชองอย่างหนัก จนหลวงพ่อวัดมยันชองถูกจับกุมได้เมื่อ 10 มีนาคม พ.ศ. 2428 และถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอที่หน้าสถานีตำรวจจายก์โต

การต่อต้านในเขตเทือกเขาฉาน[แก้]

เจ้าฟ้าลิมบิน[แก้]

เจ้าฟ้าและเมียวซาในฉานได้รวมกลุ่มกันโดยมีเจ้าฟ้าลิมบินเป็นหัวหน้าสมาพันธ์เพื่อต่อต้านพระเจ้าธีบอ[13] จนหลังจากมัณฑะเลย์แตกจึงได้หันมาต่อต้านอังกฤษ อังกฤษพยายามเข้ามาเกลี้ยกล่อมเจ้าฟ้าไทใหญ่ให้ร่วมมือกับอังกฤษ กลุ่มของเจ้าฟ้าลอกสอกและเจ้าฟ้าเมืองนายได้ต่อสู้กับอังกฤษอย่างแข็งขัน แต่ภายหลังเกิดความแตกแยกกันเองภายในกลุ่ม โดยมีเจ้าอ่อนแห่งเมืองยองห้วยที่เข้าร่วมกับอังกฤษเป็นกำลังสำคัญในการร่วมมือกับอังกฤษเพื่อปราบปรามเจ้าฟ้าลิมบิน[3] ในที่สุด เจ้าเมืองไทใหญ่ต่างยอมจำนนต่ออังกฤษ เจ้าฟ้าลิมบินถูกจับตัวและถูกส่งไปอยู่กัลกัตตา ได้กลับมาอยู่ย่างกุ้งอีกครั้งใน พ.ศ. 2464 จนสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2476

การต่อต้านในเขตภูเขากะชีน[แก้]

อูโปซอว์[แก้]

อูโปซอว์ได้จัดตั้งกลุ่มโจมตีกองทัพอังกฤษโดยได้รับการสนับสนุนจากชาวกะชีนมาก เขาเริ่มต่อต้านอังกฤษใน พ.ศ. 2431 หลังจากที่อังกฤษมาถึงโมกองและสำรวจแหล่งแร่หยก เขายึดครองโมกองไว้ได้เมื่อ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2431 อังกฤษได้โจมตีโมกองอย่างหนักในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2431 กองกำลังของอูโปซอว์ถูกปราบได้ใน พ.ศ. 2432

เจ้าฟ้าหวุ่นโธ[แก้]

อูส่วยทาได้เป็นเจ้าฟ้าหวุ่นโธตั้งแต่ พ.ศ. 2409 และได้มอบตำแหน่งให้ลูกชายคืออูอ่องมยัตใน พ.ศ. 2424 ทั้งพ่อและลูกต่างจงรักภักดีต่อราชวงศ์คองบอง เมื่ออังกฤษตีมัณฑะเลย์แตก อูอ่องมยัตปฏิเสธที่จะมอบตัวและได้ต่อต้านอังกฤษ การต่อต้านอย่างเปิดเผยเกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2433 อังกฤษพยายามกดดันจนเข้ายึดเมืองหลวงของหวุ่นโธได้เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ สองพ่อลูกต้องลี้ภัยไปยูนนาน การต่อต้านจึงสงบลง

การต่อต้านในเขตภูเขาชีน[แก้]

ชนเผ่าชีน[แก้]

เผ่าตาชอนเป็นเผ่าที่มีอิทธิพลมากในบรรดาชาวชีน อังกฤษเริ่มขยายอิทธิพลเข้าไปในชีนเมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2429 โดยอังกฤษพยายามเข้าไปเจรจาและลดความสำคัญทางทหารของเผ่าต่าง ๆ กลุ่มที่เคยต่อต้านอังกฤษในพม่าหลายกลุ่มได้หนีมาอยู่กับเผ่าตาชอน เช่น เจ้าฟ้าชเวโจบะยู ในที่สุดชนเผ่าต่าง ๆ ของชีนรวมตัวกันต่อต้าน อังกฤษได้ส่งกองทหารเข้าไปเมื่อ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2431 โดยแบ่งเป็นกองทัพฝ่ายเหนือและใต้ ในที่สุดผู้นำของชาวชีนกลุ่มสุดท้ายคือไข่กำ ผู้นำเผ่าสิยินยอมมอบตัวใน พ.ศ. 2437[3]

หลังจากนั้น[แก้]

กลุ่มต่อต้านต่าง ๆ ในพม่าไม่ได้รวมกันเป็นเอกภาพ แต่เป็นลักษณะการตอบสนองต่อเหตุการณ์หลังการล่มสลายโดยฉับพลันของราชวงศ์คองบอง กลุ่มต่อต้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มขนาดเล็ก ไม่มีการจัดองค์กรที่ดี และมีเป้าหมายเพียงต่อสู้กับกองกำลังต่างชาติที่รุกรานแผ่นดิน เป็นภัยต่อศาสนาและพระมหากษัตริย์ การที่อังกฤษสามารถปราบปรามกลุ่มเหล่านี้ได้เพราะ อังกฤษมีวิธีการรบที่ดี มีประสบการณ์ในการรบและการยึดครองมากกว่า มีอาวุธและเครื่องจักรกลมากกว่า หลังจากนี้ จะมีเพียงการต่อต้านจากชาวกะชีนเพียงเล็กน้อยจนถึง พ.ศ. 2457- 2458

อ้างอิง[แก้]

  1. Myint, Ni Ni (1983). Burma's Struggle Against British Imperialism. Burma: The Universities Press Rangoon. p. 243.
  2. Maung, Htin Aung (1965). The Stricken Peacock. The Hague: Martinus Nijhoff.
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 นินิเมียนต์. พม่ากับการต่อต้านจักรวรรดินิยมอังกฤษ ค.ศ. 1885 – 1893 แปลโดย ฉลอง สุนทราวาณิชย์. กทม. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 2543
  4. . File NP: National Archives Department, Rangoon. 1886. {{cite book}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  5. Duffferin Papers. Burma: MIC 22/Reel48. 1886. p. 278.
  6. Burma Proceedings, Proceeding No. 2. Upper Burma: Foreign Department. 1887.
  7. U B Home (Misc Dept). Burma. October 1886.
  8. Burma Home Proceeding. Crosthwaithe Pacification. July 1886.
  9. Administration of Burma. Upper Burma: Gazetteer of Upper Burma. 1887–1888.
  10. Maung, Tha Aung; Maung Mya Din (1941). "Pacification of Upper Burma: A Vernacular History". Journal of Burma Research Society. XXXI.
  11. Report on Administration of Burma, 1888–1889. Gazetteer of Upper Burma. 4 October 1889.
  12. BHP. February 1886.
  13. Upper Burma Proceedings (Foreign Department), Proceeding No. 3 Enclosure 2 (3). Burma. 14 October 1886.