ขนรักแร้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ขนรักแร้
รายละเอียด
ตัวระบุ
ภาษาละตินhirci
TA98A16.0.00.021
TA27061
FMA70756
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์

ขนรักแร้ คือ ขนที่ขึ้นตรงบริเวณรักแร้อันเนื่องมาจากผลการทำงานของฮอร์โมนแอนโดรเจนของผู้ชายและผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ มีประโยชน์ในการช่วยเพิ่มการกระจายของฟีโรโมนซึ่งช่วยกระตุ้นอารมณ์และพฤติกรรมทางเพศของผู้ได้รับ อีกทั้งยังช่วยลดการเสียดสีของผิวหนังบริเวณรักแร้

ทั้งนี้ ขนรักแร้จะเริ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น โดยปกติ เด็กหญิงจะเข้าสู่วัยรุ่นก่อนเด็กชายประมาณ 1 - 2 ปี ผู้หญิงโดยเฉลี่ยจะเริ่มมีขนรักแร้เมื่ออายุประมาณ 12 - 13 ปี ส่วนผู้ชายจะเริ่มมีขนรักแร้เมื่ออายุประมาณ 13 - 14 ปี ปัจจัยที่ส่งผลต่อการขึ้นของขนรักแร้นั้น พบว่าเกิดจาก ปริมาณและการหลั่งของฮอร์โมน ส่วนปริมาณและลักษณะของขนรักแร้ (เช่น เหยียดตรงหรือหยิก) นั้นเชื่อว่าเป็นผลมาจากพันธุกรรม ซึ่งรวมถึงเรื่องของ "ชาติพันธุ์" ด้วย พบว่า มนุษย์เผ่าพันธุ์ "คอเคซอยด์" จะมีปริมาณขนรักแร้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มที่เราเรียกว่า "แขก" ในขณะที่เผ่าพันธุ์ "นิกรอย" จะมีปริมาณขนรักแร้น้อยและสั้น สีของขนรักแร้มักจะเป็นสีเดียวกับสีผมและสีขนในส่วนอื่น ๆ ของร่างกายซึ่งขึ้นอยู่กับพันธุกรรมเช่นกัน

ในบางวัฒนธรรมผู้หญิงจะนิยมไว้ขนรักแร้และถูกมองว่าเซ็กซี่เช่น ในจีน, ไต้หวัน, เกาหลี, และบางส่วนในประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีคนบางกลุ่มซึ่งแม้ไม่ได้อยู่ในประเทศที่มีวัฒนธรรมนิยมการไว้ขนรักแร้ แต่ก็มีความเห็นว่า คนที่มีขนรักแร้มีความดึงดูดและสร้างแรงกระตุ้นทางด้านเพศ อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมโดยทั่วไป ผู้หญิงจะกำจัดขนรักแร้ด้วยการถอน โกนหรือแว็กซ์ หากผู้หญิงคนใดไว้ขนรักแร้จะถูกมองว่าเป็นเรื่องประหลาด ไม่รักษาความสะอาด ส่วนผู้ชายนั้น มีความเชื่อในทางตรงกันข้ามคือ ถ้าผู้ชายคนใดกำจัดขนรักแร้ อาจถูกมองว่ามีพฤติกรรมในลักษณะเกย์ หรืออื่น ๆ เพราะขนรักแร้เป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นชายอย่างหนึ่ง มีรายงานทางการแพทย์ยืนยันอย่างต่อเนื่องว่า ขนรักแร้เป็นแหล่งหมักหมมของเชื้อแบคทีเรียที่เกิดขึ้นขณะเหงื่อออก หากปล่อยทิ้งไว้นาน ไม่รักษาความสะอาดก็จะเป็นที่มาของกลิ่นไม่พึงประสงค์ทำให้เป็นที่น่ารังเกียจได้ ดังนั้น จึงควรดูแลรักษาความสะอาดบริเวณรักแร้และขนรักแร้ไม่ให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค

รักแร้ผู้ชาย
รักแร้ผู้ชาย 
รักแร้ผู้หญิง
รักแร้ผู้หญิง