วารีกุญชร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กุญชรวารี)
วารีกุญชร ในพระราชพิธี

วารีกุญชร เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ มีรูปร่างเป็นช้าง มีเท้าครบทั้ง 4 เท้า และมีหางเป็นปลา (แต่ถ้าเป็นช้างที่มีเท้าเพียง 2 เท้าหน้า ด้านลำตัวและส่วนหางเป็นปลาทั้งหมด จะเรียกว่า กุญชรวารี) อาศัยอยู่ในทะเลสีทันดร สามารถว่ายน้ำและดำน้ำได้ดี ประวัติของวารีกุญชรไม่มีที่มาอย่างแน่ชัด จิตรกรรมฝาผนังของวารีกุญชรมักเขียนบนฝาผนังของโบสถ์ตามวัดต่าง ๆ เช่น วัดช่องนนทรี ในกรุงเทพมหานคร หรือ วัดคงคาราม ในจังหวัดราชบุรี เป็นต้น

การปรากฏเป็นข่าว[แก้]

เรื่องราวของช้างน้ำ หรือ วารีกุญชร ได้ตกเป็นข่าวครึกโครมตามหน้าหนังสือพิมพ์ของไทยครั้งแรก เมื่อกลางปี พ.ศ. 2539 หลังจากการตกเป็นข่าวของนารีผล (มักกะลีผล) ว่ามีผู้ได้ซากของช้างน้ำมาจากชาวกะเหรี่ยง ที่ป่าชายแดนไทย-พม่า โดยซากของช้างน้ำนี้ มีลักษณะคล้ายช้าง แต่ขนาดจะเล็กจิ๋วจนสามารถวางบนฝ่ามือได้ เมื่อนำไปเอ็กซ์เรย์แล้ว พบว่าภายในมีโครงกระดูกต่าง ๆ เหมือนเป็นช้างจริงไม่มีผิด ซึ่งในเรื่องนี้ก็ได้มีบุคคลหลายฝ่ายออกมายืนยันว่า ช้างน้ำเป็นสัตว์ที่มีอยู่จริง เช่น พระภิกษุชาวไทยรูปหนึ่ง ได้อ้างว่า "ขณะที่ตนกำลังเดินทางธุดงค์และได้ไปปักกลดในป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นช่วงคืนก่อนวันเข้าพรรษา 1 วัน ได้เจอกับสัตว์ขนาดเล็กฝูงหนึ่งกำลังเล่นน้ำอยู่ เมื่อเข้าไปดูใกล้ ๆ พบว่าเป็นช้างขนาดเล็ก ขนาดไม่เกินกล่องไม้ขีดไฟ" [1] โดยเป็นสัตว์ในตำนานของชาวกะเหรี่ยง ที่เชื่อกันว่า "ช้างน้ำเป็นสัตว์วิเศษที่สัตว์ใหญ่ยังหวาดกลัว หากผู้ใดได้ครอบครองซากช้างน้ำแล้ว เมื่อเดินทางเข้าไปในป่าจะปลอดภัย และสัตว์ป่าที่มีนิสัยดุร้ายก็จะไม่มาคุกคาม"

จนกระทั่งในต้นปี พ.ศ. 2552 ช้างน้ำก็กลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อผู้ใหญ่บ้านของอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้ออกมาเปิดเผยว่า มีทหารของฝ่ายกะเหรี่ยงพุทธ ได้นำซากช้างน้ำมาขาย โดยเชื่อว่าหากนำมาขายที่ฝั่งไทยแล้ว จะมีราคาสูงถึง 3-5 ล้านบาท ผู้ที่ซื้อส่วนใหญ่มักจะซื้อมาเก็บไว้เป็นสิริมงคล รวมทั้งได้มีพระภิกษุชาวกะเหรี่ยงรูปหนึ่งในฝั่งพม่า ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับอำเภอแม่สอด โดยกล่าวอ้างว่า "ได้มีชาวบ้านคนหนึ่ง นำช้างน้ำมาถวายให้ 1 เชือก โดยเพิ่งจะตายได้ไม่กี่วัน เผอิญว่าชาวบ้านคนดังกล่าวไปพบช้างน้ำ ที่บริเวณหนองน้ำในหมู่บ้านโกเซนา จังหวัดผะอัง ของรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งขณะนั้น กำลังเดินเข้าไปหาอาหารและปลาในป่าลึก จึงนำกลับมาที่บ้าน แต่ก็มาตายในเวลาต่อมา และชาวบ้านคนดังกล่าวนั้น ได้มาพบตนขณะที่กำลังออกเดินธุดงค์ในป่าลึก จึงได้นำมาถวายให้เพื่อเป็นสิริมงคล เพราะถือว่า ช้างน้ำเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่พบแห่งเดียวในโลก คือที่ รัฐกะเหรี่ยง" และพระภิกษุรูปนี้ยังได้ยืนยันอีกว่า "ช้างน้ำลักษณะนี้มีอยู่จริง เพราะตนเองเคยพบเห็นมาแล้วถึง 2 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดคือก่อนปี พ.ศ. 2550 โดยพบเป็นซากขาย ที่ชายแดนในจังหวัดเมียวดี" [2]

อย่างไรก็ตามในวันที่ 2 กันยายน ปีเดียวกันนี้ นายวราวุธ สุธีธร อดีตผู้อำนวยการสำนักวิจัยซากดึกดำบรรพ์และพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ได้เคยกล่าวถึงกรณีที่ชาวบ้านของ ตำบลวาเล่ย์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ที่ได้พบสัตว์ประหลาดรูปร่างคล้ายช้างขนาดเล็กว่า "เมื่อพิจารณาดูภาพฟิล์มเอ็กซเรย์ พบว่าโครงร่างโดยรวมมีลักษณะเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกกัดแทะที่เรียกว่า โรเดนท์ เช่น หนู หรือ กระรอก หรือ บีเวอร์ โดยเฉพาะส่วนหัวบริเวณกรามล่างและใต้งา จะเห็นชัดเจนเลยว่าฟันมีลักษณะเป็นซี่ มีฟันหน้าที่ยื่นยาวออกไป รวมถึงโครงกระดูกส่วนอื่นนั้นก็มีลักษณะแตกต่างจากของช้างโดยสิ้นเชิง ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นซากสัตว์จำพวกหนู แล้วเอาไปต่อเติมงวงและเสียบงาเข้าไปในภายหลัง" ต่อมา รองศาสตราจารย์ สมโภชน์ ศรีโกสามาตร อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ในขณะนั้น) ได้เคยกล่าวว่า "สิ่งนี้อาจจะเป็นสัตว์จำพวกหนูผี เนื่องจากตรงที่ฟันมีลักษณะเป็นซี่แหลมยื่นออกมา และที่บริเวณขาและเท้ามีลักษณะยาว เห็นนิ้วเท้าเป็นซี่ 4-5 นิ้ว และมีเล็บ" [3]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ช้างจิ๋ว". เด็กดีดอตคอม.
  2. ""ช้างน้ำจิ๋ว " โผล่! ขายตัวละ 5 ล้าน". กะปุกดอตคอม.
  3. "ช้างน้ำ ที่แท้เป็น หนูผี ต่อเติมงวง-งา". S! News สำเนาจากมติชน. 3 ก.ย. 52 11.22 น. สืบค้นเมื่อ 2010-10-09. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)