กีฬากระโดดน้ำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กระโดดน้ำ
หอกระโดดในยูโรส 2008
สมาพันธ์สูงสุดฟีน่า
ลักษณะเฉพาะ
หมวดหมู่กีฬาทางน้ำ
จัดแข่งขัน
โอลิมปิกตั้งแต่ 1904
นักกีฬากระโดดน้ำจาก โอลิมปิก 1908

กีฬากระโดดน้ำ (อังกฤษ: diving) เป็นกีฬาที่มีวิธีการกระโดดลงไปในน้ำจากกระดานสปริง หรือที่นิยมเรียกตามภาษาอังกฤษว่า สปริงบอร์ด (springboard) จากชานหรือหอกระโดด ซึ่งเรียกกันว่า แพล็ตฟอร์ม (platform) ด้วยการเอาศีรษะหรือเท้าลงไปก่อนและมีท่าทางที่มีความยากง่ายแตกต่างกันมากมาย

ประวัติ[แก้]

จากหลักฐานที่พบตั้งแต่ยุคที่มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสมัยโบราณ เชื่อว่าการกระโดดน้ำในสมัยนั้นน่าจะเป็นรากฐานของกีฬากระโดดน้ำในปัจจุบัน นอกจากนั้นเรายังพบหลุมฝังศพดึกดำบรรพ์ที่มีอายุราว 2,500 ปีมาแล้ว ในเมืองนาโปลี ประเทศอิตาลี ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ได้กระโดดน้ำจากแท่นแคบๆที่ตั้งอยู่บนที่สูง ไม่ว่าจะเป็นหน้าผาหรือสะพาน โดยความลึกของน้ำที่อยู่ข้างล่างนั้นไม่มีใครยืนยันได้ว่ามีความลึกเท่าไร นอกจากนั้นยังมีตำนานการกระโดดน้ำจากหน้าผาอากาปุลโก (Acapulco) เมืองท่าชายทะเลที่อยู่ทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของประเทศเม็กซิโก

อังกฤษถือเป็นชาติแรกที่จัดการแข่งขันกระโดดน้ำขึ้นอย่างจริงจัง ในปี ค.ศ. 1880 ในสมัยนั้นยังใช้บ่อน้ำเป็นสถานที่แข่งขันซึ่งมีความลึกไม่มากนัก การแข่งขันเป็นไปอย่างทุลักทุเล นอกจากนักกระโดดน้ำจะต้องรอให้ฝูงเป็ดผ่านไปก่อนจึงจะเริ่มกระโดด บางครั้งนักกระโดดน้ำยังพุ่งทะลวงลึกลงไปจนถึงก้นบ่อและกลับขึ้นมาบนผิวน้ำด้วยเนื้อตัวที่เต็มไปด้วยสวะปฏิกูล รวมทั้งเศษกระป๋องนมเนยพัลวันไปหมด ระยะแรก การกระโดดน้ำยังไม่มีท่าที่พลิกแพลงไปมากกว่าการกระโดดพุ่งเข้าไปข้างหน้าให้ลำตัวตั้งตรงและเอาศีรษะลงน้ำก่อน แต่ต่อมานักยิมนาสติกชาวสวีเดนและเยอรมนีเริ่มนำท่าแปลกๆใหม่ๆเข้ามาใช้ เช้น การตีลังกา (Somersault) หรือการทำเกลียว(Twist) ก่อนที่ลำตัวจะถึงผิวน้ำ ซึ่งท่าเหล่านั้นก็เป็นที่ฮือฮาเรียกความสนใจจากผู้ชมได้เป็นอย่างมาก ทำให้กีฬากระโดดน้ำกลายเป็นกีฬายอดฮิตและเรียกกันติดปาก ตั้งแต่นั้นมาจนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ว่ากีฬากระโดดน้ำลีลา (Fancy Diving)

กีฬากระโดดน้ำได้ถูกบรรจุในการแข่งขันในโอลิมปิกฤดูร้อนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1904 โดยในระยะแรกจะแข่งขันเฉพาะในนักกระโดดน้ำชาย ต่อมาแพร่หลายไปทั่วโลก เกิดการพัฒนาปรับปรุงท่ากระโดดใหม่ ๆ รวมถึงการนำแพลตฟอร์มและสปริงบอร์โมใช้ในการแข่งขัน จากนั้นในปี ค.ศ. 1912 ผู้หญิงก็มีโอกาสแข่งขันกีฬาชนิดนี้ในที่สุด

หลังปี 1924 จนถึงปัจจุบัน การกระโดน้ำไม่ได้เปลี่ยนรูปแบบมากนัก จนกระทั่งกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2000 ที่ซิดนีย์ ได้บรรจุรายการกระโดดน้ำคู่เข้าไปด้วย เรียกว่า ซิงโครไนซ์ ไอวิ่ง ซึ่งมีลักษณะเหมือนการกระโดดน้ำประเภทเดี่ยว ต่างที่นักกระโดดน้ำทั้งสองคนต้องทำทุกอย่างให้พร้อมกัน

การแข่งขัน[แก้]

ระบบการตัดสิน[แก้]

กรรมการมีตั้งแต่ 5-7 คน แต่ละคนจะให้คะแนนได้ตั้งแต่ 0 ถึง 10 คะแนน โดยวัดจากความสวยงามของท่วงท่า การจัดระเบียบร่างกาย การกระเซ็นของน้ำ และความยากง่ายของท่ากระโดด ผลคะแนนสูงสุดและต่ำสุดของแต่ละรอบจะถูกตัดออก แล้วนำคะแนนของกรรมการที่เหลือมารวมกันและคูณด้วยคะแนนความยากประจำท่า จนได้คะแนนรวมออกมา ผู้ได้คะแนนรวมสูงสุด หลังการกระโดดครบทุกรอบจะเป็นผู้ชนะ[1]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. นิตยสารสตาร์พิกส์ ฉบับที่ 734 ปักษ์แรกกันยายน 2551 หน้า 59

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]