กีตาร์ฟรีกส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กีตาร์ฟรีกส์(Guitarfreaks)
'
ผู้พัฒนาบีมานี
ผู้จัดจำหน่ายโคนามิ
เครื่องเล่นเกมตู้
เพลย์สเตชัน
เพลย์สเตชัน 2
วางจำหน่ายพ.ศ. 2542
แนวดนตรี
รูปแบบเล่นได้สองคนพร้อมกัน
ระบบอาร์เคดซิสเท็มส์ 573 (ถึงภาค V)
เพลย์สเตชัน 2-เบส (ถึงภาค V3)
Windows XP Embedded(ตั้งแต่ภาค V4 เป็นต้นมา)

กีตาร์ฟรีกส์ (ญี่ปุ่น: ギターフリークス; อังกฤษ: Guitarfreaks หรือย่อว่า GF) เป็นเกมชุดประเภทดนตรีของบริษัทโคนามิ ประเทศญี่ปุ่น โดยตัวเกมนั้นจะผู้เล่นจะต้องใช้อุปกรณ์ควบคุมพิเศษที่มีลักษณะเหมือนกีตาร์ในการเล่น ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนาให้สามารถเล่นร่วมกับเกมชุดดรัมมาเนียและคีย์บอร์ดมาเนียได้ตามลำดับ ปัจจุบันเกมนี้มีจำนวนภาครวมทั้งสิ้น 21 ภาค โดยภาคล่าสุดมีการใช้ชื่อ "กีตะโดระ" (อังกฤษ: Gitadora) เพิ่มเติมหน้าชื่อกีตาร์ฟรีกส์

อย่างไรก็ดี เกมนี้เคยมีชุดคู่ขนานในชื่อ กีตาร์ฟรีกส์เอกซ์จี (ギターフリークス XG) โดยเปิดตัวครั้งแรกในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2553 และได้เป็นชุดหลักในภาคเอ็กซ์จี 3 แทนที่ชุด V ก่อนที่จะถูกปิดตัวในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2556 เนื่องจากการแทนที่ของชุดกีตะโดระ

รูปแบบพื้นฐานของการเล่น[แก้]

ในหน้าจอของเกมจะมีแถบอยู่ทั้งหมด 4 แถบ ซึ่งด้านบนของแถบเมื่อเรียงจากซ้ายไปขวาจะมีตัวอักษรภาษาอังกฤษ R, G, B ซึ่งแทนแถบสีของสีแดง, สีเขียว และสีน้ำเงินตามลำดับ โดยในระหว่างการเล่นจะมีขีดของสีทั้งสามซึ่งในเกมจะเรียกว่าโน้ตเลื่อนขึ้นมาในแถบของแต่ละสีพร้อมกับเสียงดนตรีประกอบ เมื่อโน้ตของสีใดเลื่อนมาถึงเส้นสีเหลืองซึ่งอยู่ปลายสุดของแถบให้ผู้เล่นกดปุ่มประจำสีนั้นและทำการปัดก้านดีดบนอุปกรณ์ควบคุมพิเศษที่มีลักษณะคล้ายกับกีตาร์เพื่อเล่นโน้ตนั้น ถ้าทำได้ตรงจังหวะจะมีเสียงของกีตาร์ออกมาสอดรับกับตัวเพลงและได้คะแนน แต่ถ้าหากทำได้ไม่ตรงจังหวะจะทำให้เสียงที่ออกมามีความผิดเพี้ยนและไม่ได้คะแนน นอกจากนี้ แถบว่างด้านขวาสุดที่ด้านบนของแถบมีรูปกีตาร์ขอบสีเหลืองนั้นเป็นแถบพิเศษ โดยในการเล่นแถบพิเศษนี้จะมีลักษณะแตกต่างกับการเล่นในแถบทั่วไปเพียงเล็กน้อย กล่าวคือ เมื่อมีรูปกีตาร์เลื่อนขึ้นมาในแถบนี้จนถึงรูปกีต้าร์ขอบสีเหลืองให้ผู้เล่นทำการยกอุปกรณ์ควบคุมให้ตั้งขึ้นเล็กน้อย ถ้าทำได้ตรงจังหวะจะมีเสียงเฮขึ้นและได้คะแนนพิเศษซึ่งเรียกว่าเวลลิ่งโบนัส(Weiling Bonus) แต่ถ้าหากทำได้ไม่ตรงจังหวะก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น

การประเมินผล[แก้]

สำหรับการประเมินผลระหว่างการเล่นจะใช้ระบบเกจซึ่งจะมีให้จำนวนหนึ่งในช่วงเริ่มต้นของแต่ละเพลง หากผู้เล่นสามารถเล่นได้ตรงจังหวะมากเท่าไหร่เกจก็จะถูกเติมมากขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าผู้เล่นเล่นผิดจังหวะเกจก็จะลดลง หากเกจดังกล่าวหมดลงก่อนที่เพลงจะจบเกมจะจบลงทันที โดยเกณฑ์การเพิ่มและลดของเกจขึ้นอยู่กับความแม่นยำในการเล่นให้ตรงตามจังหวะของโน้ตที่ปรากฏขึ้นและความต่อเนื่องของความแม่นยำ ซึ่งมีทั้งหมด 5 ระดับ โดยระดับ PERFECT, GREAT และ GOOD จะทำให้เกจเพิ่มขึ้น ส่วนระดับ POOR และ MISS จะทำให้เกจลดลง

ส่วนการประเมินผลหลังการเล่นจบในแต่ละเพลงจะเป็นการนำผลรวมความแม่นยำในการเล่นตลอดทั้งเพลงมาประเมิน ซึ่งสรุปออกมาในรูปของเกรด โดยเรียงจากดีที่สุดไปยังแย่ที่สุด ได้แก่ SS, S, A ,B ,C ,D และ E แต่อย่างไรก็ตามยังมีเกรดแยกย่อยออกเป็น 2 เกรด คือ

  1. ฟูลคอมโบ (Full Combo) จะได้ต่อเมื่อสามารถเล่นจบโดยไม่ได้ค่าความแม่นยำในระดับ POOR และ MISS เลยในเพลงนั้น
  2. เอ็กซ์เซลเลนท์ (Excellent) (เฉพาะ SS เท่านั้น) จะได้ต่อเมื่อสามารถเล่นจบโดยได้ค่าความแม่นยำระดับ PERFECT ทุกตัวในเพลงนั้น

โดยเกรดพิเศษนี้จะบวกคะแนนพิเศษให้กับผู้เล่นด้วย

อย่างไรก็ตาม การเล่นในแถบพิเศษจะไม่ถูกนำไปใช้ในการประเมินผลทั้งในระหว่างการเล่นและหลังจบเพลงแต่อย่างใด

ส่วนพิเศษของเกม[แก้]

ระบบเซสชั่น[แก้]

ระบบเซสชั่น เป็นระบบพิเศษที่มีเฉพาะในระบบเกมตู้ ซึ่งทำให้ผู้เล่นสามารถที่จะเล่นเกมร่วมกับผู้เล่นที่เล่นเกมดรัมมาเนีย และ คีย์บอร์ดมาเนีย ได้ ซึ่งทำให้เล่นได้สูงสุด 2 - 5 คน โดยการเล่นรูปแบบนี้เสียงดนตรีทั้งดนตรีประกอบและเสียงของโน้ตที่เล่นจะออกไปยังทุกตู้ที่มีการเล่นเซสชั่นด้วยกัน ซึ่งตู้ที่สามารถเล่นระบบนี้ได้จะมีสัญลักษณ์พิเศษปรากฏขึ้นที่จอภาพก่อนการเริ่มเกม โดยระบบเซสชั่นนี้สามารถใช้ได้ในเกมที่มีเลขภาคเหมือนกันเท่า้นั้น แต่เนื่องจากเกมดรัมมาเนีย และ คีย์บอร์ดมาเนีย ได้ออกมาภายหลัง ดังนั้นในช่วงแรก ระบบดังกล่าวจึงมีการจับคู่ตู้ โดยที่หมายเลขภาคของกีตาร์ฟรีกส์จะมากกว่าของดรัมมาเนียอยู่ 1 เสมอ จนถึงภาคที่ 12 จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อภาคโดยมีตัวอักษร V นำหน้าตัวเลขของภาคและเริ่มนับ 1 ใหม่ เพื่อป้องกันความสับสน

สำหรับเกมคีย์บอร์ดมาเนีย นั้น เฉพาะภาคที่ 3 เท่า้นั้น ที่สามารถเล่นในระบบเซสชั่นได้ โดยสามารถเล่นได้กับกีตาร์ฟรีกส์ 5 มิกซ์ กับ ดรัมมาเนีย 4 มิกซ์ และ กีตาร์ฟรีกส์ 6 มิกซ์ กับ ดรัมมาเนีย 5 มิกซ์

แหล่งข้อมูล[แก้]