การแข่งขันฝีมือคนพิการแห่งชาติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การแข่งขันฝีมือคนพิการแห่งชาติ (อังกฤษ: Abilympic) เป็นการแข่งขันความสามารถและทักษะในการประกอบอาชีพสาขาต่าง ๆ ของคนพิการ เพื่อศึกษา เรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคคลและองค์กรด้านอาชีพคนพิการในระดับสากล ตลอดจนการแลกเปลี่ยนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีระหว่างคนพิการจากประเทศต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างมิตรภาพ ทั้งในระดับองค์กรและตัวบุคคลให้เกิดการพัฒนาเทคนิคในการทำงาน

ในปี พ.ศ. 2528 ศาสตราจารย์ Harry Fang ชาวฮ่องกง เสนอให้จัดตั้ง สมาพันธ์ส่งเสริมความสามารถคนพิการสากล (International Abilympic Federation - IAF) ขึ้น เพื่อกำหนดข้อบังคับและมาตรฐานการจัดการแข่งขันให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น และกำหนดให้ จัดการแข่งขันทุก 4 ปี

ประเทศไทย โดยสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมถ์ เป็นหน่วยงานในการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับคนพิการ และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การส่งเสริมความสามารถคนพิการสากล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524

นอกจากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมถ์ แล้วยังมี คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ซึ่งกรมประชาสงเคราะห์ รับผิดชอบกิจกรรมเกี่ยวกับคนพิการ เพื่อสร้างโอกาสการมีงานทำ สามารถพึ่งพาตนเองของคนพิการ และจากการประชุมเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2544 คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ได้มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมอาชีพคนพิการขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาการดำเนินงานด้านอาชีพคนพิการ คณะอนุกรรมการฯ ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2544 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม (นายเดช บุญ-หลง) ได้เล็งเห็นว่ากรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพสูง มีความพร้อม และมีประสบการณ์ในการจัดงานแข่งขันฝีมือแรงงาน จึงได้มอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการจัดการแข่งขันฝีมือคนพิการในระดับชาติ และสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมถ์ เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดส่งคนพิการไปร่วมการแข่งขันความสามารถทางอาชีพของคนพิการระหว่างประเทศ ซึ่งกำหนดจะจัดระหว่างวันที่ 23 ถึง 29 พฤศจิกายน 2546 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

สาขาที่ทำการแข่งขัน[แก้]

สาขาที่จะจัดการแข่งขันฝีมือคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ได้แบ่งผู้เข้าแข่งขันเป็น 2 กลุ่ม โดยให้มีแนวทางและสาขาที่สอดคล้องกับการแข่งขันระหว่างประเทศ ของ IAF ดังนี้

  1. กลุ่มผู้แข่งขันที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 21 สาขา
    1. การแข่งขันด้านวิชาชีพ จำนวน 17 สาขา
    2. การแข่งขันงานอดิเรกและทักษะในการดำรงชีวิตของผู้พิการ จำนวน 4 สาขา
  2. กลุ่มเด็กพิการอายุระหว่าง 8 – 14 ปี จำนวน 5 สาขา

รวม 26 สาขา

ด้านวิชาชีพ[แก้]

  1. การประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์
  2. การสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์
  3. การเขียนหน้าเว็บ
  4. English Text Processing
  5. การวาดภาพวิศวกรรมโดยใช้โปรแกรม CAD
  6. English Desktop Publishing
  7. งานเซรามิก
  8. ตัดเย็บเสื้อผ้าบุรุษ
  9. ตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี
  10. การประกอบวงจรอิเล็กทรอนิกส์และการทดสอบ
  11. การออกแบบโปสเตอร์
  12. การแกะสลักไม้
  13. การวาดภาพสีน้ำ
  14. การวาดภาพสีน้ำมัน
  15. Billboard
  16. Electronic
  17. การขับรถยนต์

งานอดิเรกและทักษะในการดำรงชีวิตของผู้พิการ[แก้]

  1. งานถักลูกไม้
  2. งานถักไหมพรม
  3. งานผลิตภัณฑ์จากวัตถุเหลือใช้
  4. งานร้อยลูกปัด

กลุ่มเด็กพิการอายุระหว่าง 8-14 ปี[แก้]

  1. งานคอมพิวเตอร์
  2. ออกแบบบัตรอวยพร
  3. การต่อชุดต่อเลโก้
  4. การต่อภาพจิ๊กซอว์
  5. การวาดภาพ

คณะกรรมการจัดการแข่งขัน[แก้]

เพื่อให้การดำเนินการจัดการแข่งขันทักษะความสามารถทางอาชีพของคนพิการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงได้ยกร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ รวมทั้งสิ้น 16 คณะ ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 มาตรา 43 ประกอบด้วย

คณะอนุกรรมการดำเนินการ จำนวน 6 คณะ
  1. คณะอนุกรรมการจัดการแข่งขัน
  2. คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และนิทรรศการ
  3. คณะอนุกรรมการปฏิคม
  4. คณะอนุกรรมการสถานที่และพิธีเปิด-ปิด
  5. คณะอนุกรรมการวิชาการ
  6. คณะอนุกรรมการหารายได้
คณะอนุกรรมการทางด้านเทคนิค จำนวน 9 คณะ/สาขา
  1. สาขาคอมพิวเตอร์
  2. สาขาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  3. สาขาตัดเย็บเสื้อผ้า
  4. สาขาการออกแบบและวาดภาพ
  5. สาขาการแกะสลักไม้ และ สาขาผลิตภัณฑ์จากหวาย
  6. สาขาช่างเซรามิก
  7. สาขาสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ และ สาขางานถัก
  8. สาขาการต่อชุดเลโก และต่อภาพจิ๊กซอ
  9. สาขาการขับรถยนต์

คณะอนุกรรมการทั้ง 16 คณะจะทำหน้าที่พิจารณาอำนวยการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการจัดงานแข่งขัน จัดทำข้อสอบแข่งขัน กำหนดระยะเวลาในการแข่งขัน วัสดุ เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ต้องใช้ รวมทั้งเกณฑ์การให้คะแนน

สำหรับการแข่งขันฝีมือคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ. 2546 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้รับงบประมาณสำหรับจัดการแข่งขัน ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เมื่อวันที่ 30 – 31 สิงหาคม พ.ศ. 2546 โดยกราบทูลเชิญพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เพื่อคัดเลือกผู้ชนะการแข่งขันเป็นตัวแทนของประเทศไทย เดินทางไปร่วมการแข่งขันทักษะความสามารถทางอาชีพของคนพิการ ครั้งที่ 6 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย โดยจัดแข่งขันจำนวน 23 สาขา จากที่กำหนดไว้ 26 สาขา เนื่องจากไม่มีผู้สมัครเข้าแข่งขัน ในสาขา Billboard, งานคอมพิวเตอร์ และออกแบบบัตรอวยพร

การจัดการแข่งขันฝีมือคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2548 กรมพัฒนาฝีมือแรงงานยังคงยึดแนวทางการจัดงานเหมือนการแข่งขันฯ ครั้งที่ 1 แต่ได้พยายามปรับปรุงให้ดีขึ้น เช่น การคัดเลือกสาขาที่แข่งขัน การกำหนดเนื้อหาของแบบแข่งขัน การปรับปรุงเกณฑ์การให้คะแนน เป็นต้น

เงินรางวัลที่ได้รับจากงบประมาณทางราชการ
  • เหรียญทอง จำนวน 10,000 บาท
  • เหรียญเงิน จำนวน 5,000 บาท
  • เหรียญทองแดง จำนวน 3,000 บาท
  • ประกาศนียบัตร (รางวัลชมเชย) จำนวน 2,000 บาท