การเป็นมรณสักขีของนักบุญมัทธิว (การาวัจโจ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การพลีชีพของนักบุญแม็ทธิว
ศิลปินคาราวัจโจ
ปีค.ศ. 1599 - ค.ศ. 1600
ประเภทจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ
สถานที่ชาเปลคอนทราเรลลิ, วัดซานลุยจิเดอิฟรานเชซิ, โรม

การพลีชีพของนักบุญแม็ทธิว (อังกฤษ: The Martyrdom of Saint Matthew) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนโดยคาราวัจโจจิตรกรสมัยบาโรกคนสำคัญชาวอิตาลีที่ตั้งอยู่ภายในชาเปลคอนทราเรลลิในวัดซานลุยจิเดอิฟรานเชซิในกรุงโรมในประเทศอิตาลี หลังจากเสียชีวิตไปแล้วคาร์ดินัลชาวฝรั่งเศสขื่อแม็ทธิว ควงแทรล (Matthieu Cointrel) หรือ “มัตเตโอ คอนทราเรลลิ” ในภาษาอิตาลีก็ทิ้งมรดกไว้โดยระบุว่าให้ใช้ในการตกแต่งชาเปลของตนเองในหัวเรื่องของนักบุญผู้ที่ท่านใช้เป็นชื่อ (มัตเตโอ=แม็ทธิว)

ภาพ “การพลีชีพของนักบุญแม็ทธิว” เขียนราวระหว่างปี ค.ศ. 1599 ถึงปี ค.ศ. 1600 เป็นภาพแขวนตรงกันข้ามกับภาพ “พระเยซูเรียกนักบุญแม็ทธิว” และข้างภาพสำหรับฉากแท่นบูชาแรงบันดาลใจของนักบุญแม็ทธิว” และเป็นภาพแรกในสามภาพที่เขียนเสร็จและติดตั้งภายในชาเปล

ภาพเขียนนี้เป็นฉากการพลีชีพของนักบุญแม็ทธิวผู้ประพันธ์ “พระวรสารนักบุญแม็ทธิว” ตามตำนานแล้วนักบุญแม็ทธิวถูกสั่งให้ฆ่าโดยพระเจ้าแผ่นดินแห่งเอธิโอเปียขณะที่ทรงทำพิธีมิซซาหน้าแท่นบูชา พระเจ้าแผ่นดินทรงหลงเสน่ห์พระนัดดาของพระองค์เอง นักบุญแม็ทธิวจึงกล่าวติเตียนนอกจากสตรีที่ว่าจะเป็นพระนัดดาแล้วก็ยังเป็นชีด้วยซึ่งถือว่าเป็น “เจ้าสาวของพระเยซู” (Bride of Christ) คาร์ดินัลคอนทราเรลลิผู้เสียชีวิตไปหลายสิบปีก่อนหน้านั้นบ่งไว้รายละเอียดของภาพไว้ว่าให้เป็นภาพที่เป็นฉากที่นักบุญแม็ทธิวกำลังจะถูกสังหารโดยทหารที่ส่งมาโดยพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงไม่มีคุณธรรม, ให้มีโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่เหมาะสม และให้มีผู้เห็นเหตุการณ์ที่แสดงอารมณ์ต่างๆ ที่เหมาะสม (ดูรายละเอียดในบทความชาเปลคอนทราเรลลิ)

สัญญาจ้าง (ซึ่งตามตัวหนังสือแล้วมาจากคาร์ดินัลฟรานเชสโค มาเรีย เดล มอนเตผู้เป็นผู้อุปถัมภ์ของคาราวัจโจเองไม่ใช่จากวัด) ทำให้เป็นปัญหาแก่คาราวัจโจอยู่บ้างเพราะความที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการเขียนภาพขนาดใหญ่เช่นนั้นหรือภาพที่มีคนหลายคนในภาพ จากการเอ็กซเรย์พบว่าคาราวัจโจวาดไว้สองครั้งก่อนหน้าภาพที่จะเห็นกันทุกวันนี้ โดยการทำให้องค์ประกอบของภาพง่ายขึ้น, ลดจำนวนผู้ปรากฏในภาพให้น้อยลง และตัดรายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่ระบุไว้ในคำสั่งเดิมของคาร์ดินัลคอนทราเรลลิออก

ภาพแรกที่เห็นได้จากการเอ็กซเรย์มีลักษณะที่มีอิทธิพลการเขียนแบบแมนเนอริสต์ของจูเซปเป เซซารีผู้เป็นศิลปินผู้มีชื่อเสียงของโรมในขณะนั้น โดยมีผู้เห็นเหตุการณ์ที่มีขนาดเล็กท่ามกลางฉากสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ที่ดูเหมือนเป็นภาพนิ่งและไกล ภาพที่สองคาราวัจโจหันไปใช้ราฟาเอลเป็นตัวอย่าง ผู้เห็นเหตุการณ์แสดงอารมณ์หวาดกลัวและสงสารที่รวมทั้งสตรีคนหนึ่งที่คงจะเป็นสัญลักษณ์ของแม่ชี แต่ก็ยังมีลักษณะไปทางแมนเนอริสต์อยู่บ้าง องค์ประกอบโดยทั่วไปในภาพที่สองตรงกับคำสั่งของคาร์ดินัลคอนทราเรลลิที่ระบุไว้ว่าการเขียนร่างกายและสิ่งก่อสร้างต้องเป็นไปตามทัศนมิติและการร่าง แต่ในการวาดครั้งที่สามคาราวัจโจก็เริ่มที่จะเขียนภาพที่มีลักษณะเป็นตัวของตัวเองบ้างแล้วที่ใช้ทฤษฎที่ว่าการวาดภาพคนขึ้นอยู่กับแสงและความมืดและการละทิ้งการเขียนฉากหลัง

เมื่อมาถึงจุดนี้คาราวัจโจก็ทิ้งการเขียนภาพ “การพลีชีพ” และหันไปเขียน “พระเยซูเรียกนักบุญแม็ทธิว” ซึ่งใช้ลักษณะการเขียนจากประสบการณ์ในการเขียนภาพชีวิตประจำวันเช่นในภาพ “คนโกงไพ่” และ “หมอดู” ที่เขียนก่อนหน้านั้นเพียงแต่ขยายให้ใหญ่ขึ้น เมื่อได้ทำเช่นนั้นแล้วก็เหมือนกับทำให้เกิดมีความเชื่อมั่นในตนเองเพิ่มขึ้นจนสามารถหันกลับไปเขียน “การพลีชีพ” ต่อได้แต่ครั้งนี้เขียนด้วยลักษณะการเขียนที่เป็นตัวของตนเอง

ภาพที่สามไม่รวมสถาปัตยกรรมและลดจำนวนผู้คนในภาพลงและย้ายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ใกล้ผู้ดูยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนั้นก็ริเริ่มการใช้ค่าต่างแสง (chiaroscuro) อย่างจริงจังโดยการเน้นสิ่งที่สำคัญที่สุดของภาพโดยการใช้แสงส่องลงไปตรงจุดนั้นเช่นเดียวกับการใช้สป็อตไลท์บนเวทีในปัจจุบัน แต่เป็นการใช้ก่อนที่จะมีการใช้สป็อตไลท์เป็นเวลาหลายร้อยปี ส่วนเนื้อหาของภาพคาราวัจโจก็เลือกชั่วขณะที่เป็นจุดสุดยอดของนาฏกรรมที่เกิดขึ้น ในจังหวะที่ผู้สังหารพร้อมที่จะพุ่งดาบเข้าไปเสียบอกของนักบุญที่ผงะหงายหลังลงไป ภาพที่สามเป็นภาพที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ผู้เห็นเหตุการณ์เป็นตัวรองแต่ก็ได้รับแสงที่จัดไว้อย่างเหมาะสม ภาพที่เห็นนี้ให้ผู้ชมมีความรู้สึกราวกับว่ามีสายฟ้าแลบแปลบเข้ามาในภาพ

ภาพนี้เป็นจุดเปลี่ยนแปลงของการเขียนภาพแบบแมนเนอริสต์ของคาราวัจโจในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 ไปเป็นการเขียนแบบศิลปะบาโรก ภาพเขียนสร้างความตื่นเต้นให้แก่วงการจิตรกรรมโดยทั่วไปในโรม แต่เฟเดริโค ซุคคาริ (Federico Zuccari) ผู้เป็นจิตรกรผู้มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของโรมขณะนั้นและผู้สนับสนุนลักษณะการเขียนภาพแบบแมนเนอริสต์มาดูภาพเขียนแต่ไม่ให้ความเห็นแต่อย่างใดราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ศิลปินอื่นๆ ที่ยังมีอายุน้อยกว่าต่างก็มีความประทับใจและความทึ่งซึ่งทำให้คาราวัจโจกลายเป็นศิลปินผู้มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในกรุงโรมขณะนั้น

การที่จะทำความเข้าใจกับภาพที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ในการได้มาซึ่งความเป็นนักบุญไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ นักบุญแม็ทธิวดูเหมือนจะพยายามถอยจากการทำร้ายของผู้สังหารที่ส่องสว่างด้วยแสงที่พร้อมที่จะยกดาบขึ้นแทง รอบๆ นักบุญก็เป็นผู้คนที่แสดงอารมณ์ต่างกันไปตามที่คอนทราเรลลิที่ระบุไว้: ความกลัว, ความอกสั่นขวัญหนี และความตกตลึง ขณะที่มีเทวดาถือใบปาล์มห้อยลงมาเป็นสัญญลักษณ์ของการพลีชีพเพื่อศาสนา ความสับสนของภาพของผู้ดูจะลดน้อยลงมากถ้ามีความเข้าใจว่าการยื่นมือออกไปของนักบุญแม็ทธิว มิใช่เป็นการแสดงความเสียขวัญด้วยความกลัวที่จะถูกสังหารแต่เป็นการพยายามที่จะเอื้อมไปรับใบปาล์มจากเทวดา การยึดมือของนักบุญโดยผู้สังหารและความพยายามของเทวดาที่จะเอื้อมมาหาเป็นสิ่งที่สวนทางกัน และนักบุญแม็ทธิวเท่านั้นที่ได้เห็นมโนทัศน์ของเทวดา เมื่อเข้าใจเช่นนั้นแล้วภาพเขียนนี้จึงไม่ใช่ชั่วขณะของความสยดสยองแต่เป็นภาพของการพลีชีพหรือการเสียสละตนเองของนักบุญเพื่อสิ่งที่เหนือกว่า การวาดภาพบาโรกแบบอิตาลีของภาพที่เกี่ยวกับการพลีชีพโดยทั่วไปแล้วมิไช่เป็นการแสดงความหวาดกลัวหรือความสยดสยองแต่เป็นการแสดงชั่วขณะที่ผู้พลีชีพหรือผู้เสียสละชีพมีความปลื้มปิติในสิ่งที่เกิดขึ้น เช่นในงาน “ความปิติของนักบุญบิเบียนา” โดยจานโลเรนโซ แบร์นินีเป็นต้น

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือความแตกต่างของคาราวัจโจจากจิตรกรแมนเนอริสต์ก่อนหน้านั้นอื่นๆ ตรงที่คาราวัจโจใช้สถาปัตยกรรมในการเพิ่มความเป็นนาฏกรรมของภาพเขียนยิ่งขึ้น จริงอยู่ที่วัดใหญ่ๆ อาจจะมีแสงส่องสว่างภายใน แต่ในวัดเล็กๆ เช่นวัดซานลุยจิแทบจะไม่มีแสงส่องเข้ามาในวัด วัดเล็กจึงมักเป็นวัดที่มืดและแคบ แต่คาราวัจโจก็ใช้ความมืดนี้ในการเพิ่มความเป็นนาฏกรรมของภาพ ที่ปีเตอร์ รอบบ์นักชีวประวัติของคาราวัจโจกล่าวว่า “ถ้าผู้ใดเดินเข้ามาตามทางเดินกลางของวัดซานลุยจิแล้วก็จะเห็นร่างขาวโพลนของผู้สังหารยืนทมึนอยู่ท่ามกลางความมืดมาแต่ไกลในช่องว่างที่ดูเหมือนกับเปิดออกมาจากผนังมายังทางเดินกลางของวัด”

ภาพเขียนมีสิ่งต่างๆ ที่มาจากภาพเขียนอื่นเช่นจากไมเคิล แอนเจโล และราฟาเอล นักวิจารณ์ศิลปะจอห์น แกชกล่าวว่าการนำอิทธิพลอื่นเข้ามาใช้มิใช่เพื่อการพยายามหาองค์ประกอบที่ต้องการแต่เป็นความต้องการที่จะสร้างงานให้เป็นงานอันยิ่งใหญ่ที่ควรค่ากับงานของงานของยุคทองของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (High Renaissance) เช่นรูปของนักบุญหรือเด็กที่ลนลานด้วยความกลัวทางด้านซ้ายของภาพเป็นท่าที่ยืมมาจากหรือนำมาโดยตรงจาก “การพลีชีพของนักบุญปีเตอร์ผู้พลีชีพ” (The Martyrdom of St Peter the Martyr) ที่เวนิสโดยทิเชียน

ภาพคนในฉากหลังราวซ้ายจากกลางภาพหลังผู้สังหารคือภาพเหมือนตนเองของคาราวัจโจ

อ้างอิง[แก้]

  • Prose, Francine (2005). Caravaggio: Painter of Miracles. ISBN 0-06-057560-3.
  • Spike, John T. (2001). Caravaggio. ISBN 0-7892-0639-0.
  • Gash, John (2003). Caravaggio. ISBN 1-904449-22-0.
  • Robb, Peter (1998). M. ISBN 0-312-27474-2.
  • Langdon, Helen (1998). Caravaggio: A Life. ISBN 0-374-11894-9.

ดูเพิ่ม[แก้]