การแทรกแซงของสหรัฐในชิลี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

บทบาทของสหรัฐอเมริกาในประเทศชิลีเริ่มมีบทบาทให้เห็นตั้งแต่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตั้งแต่เหตุการณ์การเรียกร้องเอกราชของชิลีเป็นต้นมา แต่การแสดงบทบาทของสหรัฐอเมริกาที่เด่นชัดที่สุดเกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เมื่อสหรัฐอเมริกาเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายในของชิลี และใช้อำนาจในการล้มล้างรัฐบาลที่ขัดผลประโยชน์ของประเทศสหรัฐอเมริกา

การเข้ามามีบทบาทของสหรัฐอเมริกาในชิลีก่อนคริสต์ศตวรรษที 20 จนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2[แก้]

สหรัฐอเมริกาเริ่มเข้ามามีเกี่ยวข้องกับประเทศชิลีตั้งแต่ในสงครามแปซิฟิก (Pacific War) ในปี 1879 – 1883 โดยสงครามครั้งนี้เป็นสงครามระหว่างชิลีกับประเทศเปรูและโบลิเวีย ซึ่งผลของสงครามฝ่ายชิลีเป็นผู้ชนะ มีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ ทำให้ชิลีได้ดินแดนของเปรูและดินแดนชายฝั่งของโบลิเวีย[1]

มูลเหตุที่สหรัฐอเมริกาเข้ามาเกี่ยวข้องในสงครามครั้งนี้เพราะในประเทศเปรู มีนักธุรกิจชาวอเมริกันเข้าไปทำธุรกิจอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อสงครามเกิดขึ้นแล้ว สหรัฐอเมริกาจึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาหนทางในการปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจของชาวอเมริกันในประเทศเปรู รวมไปถึงหาทางขัดขวางไม่ให้ชิลีได้รับชัยชนะ เพราะถ้าชิลีชนะสงคราม โอกาสที่นักธุรกิจอเมริกันจะทำธุรกิจอาจจะประสบภาวะยากลำบาก และอาจมีนักธุรกิจชาวอังกฤษเข้ามาทำธุรกิจด้วย อย่างไรก็ตามสหรัฐอเมริกาก็ไม่สามารถช่วยเหลือประเทศเปรูได้ จนกระทั่งชิลีสามารถยึดเมืองหลวงของเปรูคือเมืองลิมาได้ แม้ในขั้นต้นสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีเจมส์ การ์ฟีลด์มีความคิดที่จะใช้กองทัพเรือโจมตีชิลี แต่เมื่อพิจารณาแล้วพบกองเรืออเมริกาในเวลานั้นยังไม่พร้อมที่จะรบกับกองเรือของชิลี จึงเปลี่ยนบทบาทของตนในการเป็นผู้เจรจาแทนที่จะทำสงครามกับชิลี ทางสหรัฐอเมริกาพยายามเจรจากับชิลีให้ชิลีคืนดินแดนที่ยึดมาได้ให้กับเปรูและโบลิเวีย ซึ่งบริเวณนั้นเป็นแหล่งแร่ไนเตรนและทองแดง และมีนักธุรกิจชาวอเมริกันทำธุรกิจกันอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ชิลีไม่ยอม และเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาเป็นกลาง ท้ายที่สุดจึงต้องยอมให้ชิลียึดดินแดนในบริเวณนั้นไป

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสหรัฐอเมริกาเข้ามีความสัมพันธ์กับชิลีครั้งแรกในฐานะตัวกลางในการเจรจาระหว่างชิลีและประเทศเปรูและโบลิเวีย เพื่อหาหนทางในการรักษาผลประโยชน์ของชาวอเมริกันในดินแดนเปรูให้ได้ รวมไปถึงชี้ให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกาทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้อิทธิพลของจักรวรรดิอังกฤษในบริเวณนี้มีมากเกินไป

อีกเหตุการณ์หนึ่งก่อนสงครามโลกครั้งที่สองที่สหรัฐอเมริกามีบทบาทในชิลีคือครั้งสงครามกลางเมืองชิลีในปี ค.ศ. 1891 เหตุการณ์นี้คือเหตุการณ์แรกที่สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทในประเทศชิลีโดยตรง กล่าวคือในขณะนั้น เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายประธานาธิบดีมานูเอล บัลมาเชดา (Mauel Balmaceda) กับรัฐสภาเกี่ยวกับกฎหมายเกี่ยวกับรายได้จากบรรษัทข้ามชาติในแหล่งแร่ไนเตรตและทองแดง ความขัดแย้งลุกลามไปจนถึงการเกิดสงครามกลางเมือง สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมในเหตุการณ์ครั้งนี้ผ่านการขอร้องของฝ่ายประธานาธิบดีเพื่อช่วยเหลือให้ชนะสงคราม ทั้งนี้เพราะสหรัฐอเมริกาเล็งเห็นประโยชน์ว่าหากเข้าร่วมกับฝ่ายประธานาธิบดีจะมีโอกาสและกำไรจากแหล่งแร่ไนเตรดและทองแดงมากขึ้น สหรัฐอเมริกาจึงสนับสนุนทั้งทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ อย่างไรก็ตามผลของสงครามฝ่ายรัฐสภาได้รับชัยชนะโดยการช่วยเหลือของอังกฤษ หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้อังกฤษได้รับผลประโยชน์มากขึ้นจากการทำธุรกิจในชิลีและส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและชิลีก่อนสิ้นสุดศตวรรษที่ 19 เป็นไปในทางที่ไม่ดีมากนัก

เมื่อเริ่มต้นคริตศตวรรษที่ 20 สหรัฐอเมริกาประกาศใช้นโยบายเพื่อนบ้านที่ดี (Good Neighbor Policy) เพื่อลดแรงต่อต้านจากชาติต่างๆในลาตินอเมริกา จากการที่สหรัฐอเมริกาเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศต่างๆ เพื่อปกป้องธุรกิจของประชาชนชาวอเมริกัน โดยนโยบายมีหลักการสำคัญคือจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติในลาตินอเมริกา ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาเริ่มได้รับความไว้วางใจจากชาติอื่นๆในลาตินอเมริกา ซึ่งรวมถึงประเทศชิลีด้วย ดังนั้นนักธุรกิจชาวอเมริกันเริ่มเข้าไปประกอบธุรกิจเหมืองแร่ ไนเตรดและเหมืองแร่ทองแดงมากขึ้น จนสามารถควบคุมกิจการเหมืองแร่ของชิลีได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหมืองแร่ทองแดง[2] การที่สหรัฐอเมริกาสามารถควบคุมกิจการเหมืองแร่ของชิลีได้เท่ากับว่าสหรัฐอเมริกาสามารถควบคุมระบบเศรษฐกิจของชิลีได้ แม้ว่าการเข้ามาของสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้จะส่งผลให้ชิลีสามารถสร้างรายได้จากทองแดงอย่างมหาศาล แต่รายได้นั้นเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เพราะรายได้ส่วนใหญ่ตกอยู่ในกลุ่มบริษัทของนายทุนชาวอเมริกัน

หากกล่าวโดยสรุปคือความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศชิลีสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเน้นความสัมพันธ์ทางด้านการค้าการลงทุนเป็นหลัก ส่วนความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองมีไม่มากนัก เพราะเป็นเพียงการให้การสนับสนุนต่อกลุ่มต่างๆเท่านั้น ซึ่งความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้จะเริ่มแปรเปลี่ยนไปเป็นการแทรกแซงการเมืองภายในของชิลี เพราะสหรัฐอเมริกาเกิดความกังวลว่าฝ่ายซ้ายจะขึ้นมาครองอำนาจในประเทศชิลี

เหมืองทองแดง Chuquicamata ในปี 1925 ซึ่งชิลีได้มาเมื่อคราวชนะสงครามแปซิฟิก

สหรัฐอเมริกากับความพยายามในการต่อต้านฝ่ายซ้ายในชิลี (1946 – 1970)[แก้]

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านไป การเมืองโลกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจนคือฝ่ายเสรีประชาธิปไตยนำโดยประเทศสหรัฐอเมริกา และฝ่ายสังคมนิยมนำโดยสหภาพโซเวียต ทั้งสองฝ่ายต่างใช้ความพยายามในหลาย ๆ วิถีทางที่เป็นไปได้ในการขยายอิทธิพลและป้องกันอิทธิพลของอีกฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผยแพร่ลัทธิอุดมการณ์สังคมนิยม ซึ่งสหรัฐอเมริกามองว่าเป็นสิ่งที่สั่นคลอนอำนาจของตนเอง

กรรมกรชาวชิลีเดินขบวนสนับสนุนนายซัลวาดอร์ อัลเยนเดในการเลือกตั้งปี 1964

เมื่อย้อนกลับมามองสภาพการณ์ในประเทศชิลี ในขณะนั้นสังคมชิลีแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มอย่างเห็นได้ชัดเจนเช่นกันคือกลุ่มนายทุนกับกลุ่มกรรมกร ซึ่งกลุ่มกรรมกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมกรในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ไนเตรตและเหมืองแร่ทองแดง ต่างได้รับการกดขี่จากนายจ้างและไม่ได้รับความเท่าเทียม รวมทั้งสวัสดิการที่ไม่ดีพอ ดังนั้นความคิดแบบมาร์กซิสจึงเริ่มเข้ามาเผยแพร่แก่กลุ่มกรรมกรเป็นลำดับแรก[3] ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ชิลีและพรรคสังคมนิยมได้ถือกำเนิดขึ้น

อย่างไรก็ตามสหรัฐอเมริกาเกิดความรู้สึกเป็นกังวลอย่างยิ่งและเกรงว่าหากประเทศชิลีมีรัฐบาลเป็นคอมมิวนิสต์หรือเป็นสังคมจะเป็นผลร้ายต่อประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งในด้านของเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ของภูมิภาค กล่าวคือ กิจการเหมืองแร่ไนเตรตและทองแดงอาจถูกยึดเป็นของรัฐ รวมถึงมีประเทศที่มีอุดมการณ์สังคมนิยมอยู่ใกล้ประเทศของตนด้วย รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาจึงกดดันรัฐบาลของประเทศชิลีนำโดยนายกาเบรียล กอนซาเลซ บิเดลา ให้ออกประกาศให้พรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรคการเมืองที่ผิดกฎหมาย[4] ทั้งที่พรรคคอมมิวนิสต์มีส่วนทำให้เขาชนะการเลือกตั้ง

ถึงแม้จะมีการประกาศให้พรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรคการเมืองที่ผิดกฎหมายแต่กลุ่มแนวร่วมฝ่ายซ้าย รวมไปถึงพรรคสังคมนิยมชิลีได้รวมพลังกันก่อตั้ง Unidad Popular อันเป็นแนวร่วมของผู้ที่มีความคิดฝ่ายซ้ายภายใต้การนำของนายซัลวาดอร์ อัลเลนเด ในการเลือกตั้งในปี 1958 นายซัลวาดอร์ อัลเยนเด้แพ้การเลือกตั้งนายเอดูอาร์โด้ มอนทาลวาไม่มากนัก เมื่อนายเอดูอาร์โด้ได้เป็นประธานาธิบดี ได้มีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามแบบทุนนิยมเสรี ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกราคา และลดกำแพงภาษีสินค้านำเข้า ส่งผลให้สินค้าจากอเมริกาเข้ามาขายในประเทศชิลีเป็นจำนวนมาก กรรมกรที่แต่เดิมรายได้น้อยอยู่แล้ว ก็ไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือน รวมไปถึงเศรษฐกิจของชิลีที่ค่อนข้างแย่มากจากนโยบายทุนนิยมที่ล้มเหลว ส่งผลให้มีความจำเป็นต้องกู้เงินจากประเทศสหรัฐอเมริกาและ IMF มากขึ้น เมื่อสภาพการณ์เป็นเช่นนี้ย่อมเห็นได้โดยชัดเจนว่าสหรัฐอเมริกาได้ประโยชน์จากการใช้นโยบายทุนนิยมเสรี ส่งสินค้าเข้ามาขายคราวละมากๆ รวมทั้งสามารถควบคุมเศรษฐกิจของชิลีไม่ให้เป็นอิสระผ่านรูปแบบการกู้เงินต่างๆ และสหรัฐอเมริกาสามารถมั่นใจได้ว่าตราบใดที่นายเอดูอาร์โดยังเป็นประธานาธิบดีอยู่ สหรัฐอเมริกายังคงได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์จากประเทศชิลี

เมื่อครบกำหนดการดำรงตำแหน่งของนายเอดูอาร์โด ได้มีการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ขึ้นในปี 1964 ครั้งนี้ยังคงเป็นการแข่งระหว่างผู้สมัครสองคนเป็นสำคัญคือนายเอดูอาร์โดและนายอัลเยนเด้ การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นที่น่าสนใจมาก ทั้งนี้เพราะสหรัฐอเมริกามีบทบาทอย่างสูงมากในการช่วยนายเอดูอาร์โดหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อให้เขาได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีอีกหนึ่งสมัยและสามารถรักษาผลประโยชน์ของอเมริกาได้ รวมไปถึงป้องกันนายอัลเยนเด้ที่มีความคิดแบบสังคมไม่ให้ขึ้นมามีอำนาจในชิลี การเลือกตั้งครั้งนี้สหรัฐอเมริกา โดยการจัดการของ CIA ได้สนับสนุนทั้งทางด้านงบประมาณ การโฆษณาชวนเชื่อ รวมไปถึงการเดินทางออกไปขอคะแนนเสียงและสนับสนุนพรรคจากเล็กพรรคน้อยให้ออกมาตัดคะแนนนายอัลเยนเด้[5] การกระทำครั้งนี้ของสหรัฐอเมริกาและ CIA ประสบผลสำเร็จ นายเอดูอาร์โด้กลับมาชนะเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากหมดวาระของนายเอดูอาร์โด้อีกหนึ่งสมัย ประเทศชิลีได้มีการจัดการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งในปี 1970 โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ยังคงเป็นการแข่งขันระหว่าง 2 ผู้สมัครคนสำคัญคือนายอเลสซานดิ ผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและนายอัลเยนเด้ ในการเลือกตั้งครั้งนี้สหรัฐอเมริกาไม่ได้ทุ่มเทงบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้สมัครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นพิเศษ แต่ทุ่มเทงบประมาณเพื่อโจมตีนายอัลเยนเด้ อย่างไรก็ตามในครั้งนี้การกระทำของ CIA และสหรัฐอเมริกาไม่เป็นผลสำเร็จ นายซัลวาดอร์ อัลเยนเด้ชนะการเลือกตั้งขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายคนแรกของลาตินอเมริกาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แม้ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นที่ประจักษ์แล้ว แต่ทางสหรัฐอเมริกามีท่าทีไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งโดยใช้บทความต่างๆเพื่อโจมตีนายซัลวาดอร์ อัลเยนเด้ เมื่อสหรัฐอเมริการู้ว่าการกระทำเช่นนี้ไม่สำเร็จแล้วจึงส่งคนไปลักพาตัวผู้บัญชาการทหารสูงสุดของชิลีคือนายพลชไนเดอร์ เพื่อเจรจาให้นายพลชไนเดอร์ร่วมมือกับรัฐประหาร[6] อย่างไรก็ตามนายพลชไนเดอร์ ผู้ซึ่งปฏิญาณตนปกป้องรัฐธรรมนูญ ได้ยิงต่อสู้กับกลุ่มคนที่จะทำการลักพาตัว ท้ายที่สุดในพลชไนเดอร์เสียชีวิต การเสียชีวิตของนายพลชไนเดอร์ในครั้งนี้ส่งผลให้กองทัพและประชาชนสนับสนุนเขามากขึ้น และอัลเยนเด้ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีของชิลี

การก้าวขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดีซัลวาดอร์ อัลเยนเด (1970 – 1973)[แก้]

ประธานาธิบดีซัลวาดอร์ อัลเยนเด้ เป็นประธานาธิบดีเอียงซ้ายคนแรกของลาตินอเมริกาที่มาจากการเลือกตั้ง อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นที่น่าสังเกตของประธานาธิบดีซัลวาดอร์ อัลเยนเด้คือแม้ว่าตนจะแพ้การเลือกตั้ง แต่ก็ไม่เคยคิดที่จะล้มล้างอำนาจของรัฐบาลกลางหรือร้องขอให้ต่างชาติช่วยเหลือ ซึ่งผิดจากผู้ที่มีแนวคิดเอียงซ้ายโดยทั่วไปที่ต้องทำการปฏิวัติเพื่อให้ได้อำนาจในการบริหารประเทศ

เมื่อประธานาธิบดีอัลเยนเด้เข้ามาบริหารประเทศแล้ว สหรัฐอเมริกาสืบทราบมาว่าประธานาธิบดีมีนโยบายที่จะควบรวมกิจการของเอกชน ทำให้สหรัฐอเมริกาและ CIA ใช้แผนการที่ถูกเรียกว่า Operation Track I และ Track II

Operation track I เป็นแผนที่ใช้กดดันสภาคองเกรสของชิลีไม่ให้เลือกนายซัลวาดอร์ อัลเยนเด้ เป็นประธานาธิบดี เนื่องจากคะแนนระหว่างผู้สมัครทั้งสองใกล้เคียงกันมาก โดยให้สภาคองเกรสของชิลีเลือกอเลสซานดิแทน แล้วให้นายอเลสซานดิลาออก เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่แผนนี้ไม่สำเร็จ จึงดำเนินการต่อในแผนที่ 2

Operation track II เป็นแผนการที่ใช้หลังจากพบว่าแผนแรกไม่สำเร็จ ซึ่งเป็นแผนการที่กล่าวถึงมาก่อนหน้านี้แล้ว กล่าวคือ การหานายพลชาวชิลีมาเป็นพรรคพวกและใช้กองกำลังทางทหารทำการปฏิวัติ ซึ่งแผนนี้ก็ไม่สำเร็จเพราะนายพลชไนเดอร์ไม่ได้ร่วมมือด้วย[7]

รัฐประหารและระบอบเผด็จการทหารในชิลี (1973 – 1990)[แก้]

การยิงถล่มทำเนียบประธานาธิบดีของฝ่ายรัฐประหาร

หลังจากที่ CIA ล้มเหลวในการโค่นล้มประธานาธิบดีซัลวาดอร์ อัลเยนเด้ ทั้งในแผน Track I และ Track II ประธานาธิบดีนิกสันของสหรัฐอเมริกาและนายคิสซิงเจอร์ได้ประชุมกับ CIA เพื่อหาทางโค่นล้มอำนาจของประธานาธิบดีซัลวาดอร์ อัลเยนเด้ โดยได้ข้อสรุปว่าจำเป็นต้องมีรัฐประหารเกิดขึ้นในประเทศชิลี เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางธุรกิจของสหรัฐอเมริกาและสกัดกั้นการขยายตัวของแนวคิดสังคมนิยม ในที่สุดจึงมีการเลือกนายพลปิโนเชต์เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร รัฐบาลสหรัฐอเมริกาสนับสนุนทางด้านอาวุธ การข่าว รวมไปถึงงบประมาณสำหรับรัฐประหารครั้งนี้

รัฐประหารเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 11 กันยายน 1973 โดยกองทัพชิลีภายใต้การนำของนายพลปิโนเชต์ยกกองกำลังเข้าถล่มทำเนียบประธานาธิบดี จนกระทั่งในที่สุดกองทัพของชิลีภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาได้รับชัยชนะ ประธานาธิบดีอัลเยนเดกระทำอัตวินิบาตกรรม และการปกครองภายใต้ระบบทหารก็ได้เริ่มขึ้นในชิลี พร้อมไปกับการสิ้นสุดระบอบประชาธิปไตยของประเทศชิลี ทั้งหมดนี้ล้วนสร้างความมั่นใจให้กับสหรัฐอเมริกาว่ารัฐบาลที่มีแนวความคิดแบบมาร์กซิสจะไม่มีโอกาสเข้ามาปกครองประเทศชิลีอีกจากปฏิบัติการในครั้งนี้[8]

หลังจากกองทัพชิลีได้รับชัยชนะแล้ว สหรัฐอเมริกาสนับสนุนงบประมาณมหาศาล พร้อมกับความช่วยเหลือต่างๆแก่รัฐบาลใหม่ที่เป็นรัฐบาลเผด็จการทหาร พร้อมกันนั้นก็ปฏิเสธที่จะรับรู้ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในประเทศชิลีจากการที่นายพลปิโนเชต์ตั้งองค์กรตำรวจลับขึ้นเพื่อสอบสวนประชาชนในประเทศ อย่างไรก็ตามนายพลปิโนเชต์สามารถครองอำนาจในประเทศชิลีได้อย่างยาวนาน จนกระทั่งถึงปี 1990 และเป็นปีเดียวกันกับที่ประชาธิปไตยของชิลีกลับมาสู่ประเทศชิลีอีกครั้งหนึ่ง

อ้างอิง[แก้]

  1. Clayton, Lawrence A, Peru and the United States : the Condor and the Eagle, (Georgia : University of Georgia, 1999), 61
  2. Smith,Peter H, Modern Latin America, (New York : Oxford University,1989), 111 - 112
  3. Vanden, Harry E, Politics of Latin America : the power game, (New York : Oxford University, 2006), 439.
  4. Vanden, Harry E, Politics of Latin America : the power game, (New York : Oxford University, 2006), 440.
  5. "CIA Activities in chile". The George Washington University. 28 November 2013.
  6. Vanden, Harry E, Politics of Latin America : the power game, (New York : Oxford University, 2006), 442.
  7. "Convert Intervention in Chile, 1970 – 1973" (PDF). Treverton, Gregory F. 28 November 2013.
  8. "Navy Section United States Military Group,Chile" (PDF). TNavy Section United States Military Group,Chile. 28 November 2013.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Bakewell, Peter. John. A history of Latin America : C. 1450 to the present. 2 nd ed. Malden : Blackwell, 2004.
  • Vanden, Harry E. Politics of Latin America : the power game. 2 nd ed. New York : Oxford University, 2006.
  • Ariagada, Genaro. Pinochet : The Politics of Power. Boulder : Westview, 1991.
  • Clarfield, Gerard. United States Diplomatic History. Englewood Cliffs : Prentice Hall, 1992.
  • Spanier, John. American Foreign Policy Since World War II. Washington D.C. : Congressional Quarterly, 1995.
  • Smith,Peter H. Modern Latin America. New York : Oxford University, 1989.
  • Bell,Brian. Insight Guides : Chile. New York : Langenscheidt Publishing, 2002.
  • Clayton, Lawrence A. Peru and the United States : the Condor and the Eagle. Georgia : University of Georgia, 1999
  • Treverton, Gregory F. Convert Intervention in Chile, 1970 – 1973. Retrieved July 1, 2013, from http://www.princeton.edu/~bsimpson/history405/history405readingpages/history405readings/casestudychile.pdf

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]