การุณ ใสงาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก การุณ ไสงาม)
การุณ ใสงาม
การุณ ในปี พ.ศ. 2551
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด1 ตุลาคม พ.ศ. 2495 (71 ปี)
จังหวัดบุรีรัมย์ ประเทศไทย
พรรคการเมืองประชาธิปัตย์ (2526–2543,2552–2564)
ไทยรักไทย (2543–2550)
ประชาราช (2550)
มัชฌิมาธิปไตย (2550–2551)
ไทยสร้างไทย (2565–ปัจจุบัน)

การุณ ใสงาม นักการเมืองอดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดบุรีรัมย์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาราช อดีตรองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย

ประวัติ[แก้]

นายการุณ ใสงาม เกิดวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2495 เป็นชาวตำบลปังกู อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ มีพี่น้อง 8 คน บิดาเป็นสมาชิกสภาจังหวัดบุรีรัมย์หลายสมัย

การุณจบการศึกษาจากวิทยาลัยครูนครราชสีมา เมื่ออายุ 16 ปี และสมัครเข้าเรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง รุ่นที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2514

ในยุครัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เกิดการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมระหว่างชาวบ้าน กับนายทุนที่ผูกขาดสัมปทานรถประจำทางในอำเภอประโคนชัย เกิดกรณี 9 กบฏสองแถว หญิงท้องแก่ถูกไล่ลงจากรถสองแถว ระหว่างเดินทางไปโรงพยาบาล แล้วทิ้งไว้ข้างทางจนเสียชีวิต การุณ ใสงาม เข้าร่วมประท้วงด้วย จนถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหา กบฏในราชอาณาจักร และน้องชายชื่อ มงคล ใสงาม ซึ่งร่วมประท้วงด้วยถูกยิงเสียชีวิต

ในช่วงใกล้เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 สถานการณ์การเมืองรุนแรงขึ้น จนต้องหนีเข้าป่าพร้อมกับน้องชายชื่อ สมนึก ใสงาม เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีชื่อจัดตั้งว่า ‘สหายสมคิด’ ทำให้ครอบครัวถูกเพ่งเล็งจากทางการ น้องชาย, บิดาและแม่เลี้ยง ถูกยิงเสียชีวิต

การุณออกจากป่าเมื่อ พ.ศ. 2525 และกลับเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงจนสำเร็จการศึกษา จากนั้นไปทำงานเอ็นจีโอ โครงการพัฒนาชนบท ปัจจุบัน จบปริญญาโทพัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สมรสแล้ว มีบุตร 2 คน

การเมือง[แก้]

การุณ ใสงาม สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2526 และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จังหวัดบุรีรัมย์ ปี พ.ศ. 2526, 2529 และ 2538 ในสังกัด พรรคประชาธิปัตย์ มาโดยตลอด และลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์เพื่อสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว. ครั้งแรกที่มีการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2543

ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นายการุณได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 เข้าร่วมสังกัดพรรคประชาราช ได้รับตำแหน่ง รองหัวหน้าพรรค แต่ลาออกเมื่อ เดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 และไปสังกัด พรรคมัชฌิมาธิปไตย พร้อมกับกลุ่มของ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ในการเลือกตั้งในปลายปี พ.ศ. 2550 นายการุณได้ลงสมัครในระบบสัดส่วน กลุ่ม 4 ลำดับที่ 2 ในสังกัดพรรคมัชฌิมาธิปไตย แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง และในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2551 ได้ลงสมัครนายกเทศมนตรีตำบลประโคนชัย บ้านเกิดอีกครั้ง ก็ไม่ได้รับเลือกตั้ง

ช่วงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปี พ.ศ. 2551 นายการุณ ใสงาม ได้เข้าร่วมขึ้นเวทีปราสรัย โดยมีนายสมบูรณ์ ทองบุราณ อดีต ส.ว.ยโสธร และ นายอธิวัฒน์ บุญชาติ แกนนำอีสานกู้ชาติ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นักการเมืองจากจังหวัดบุรีรัมย์ เข้าร่วมชุมนุมกับ พลตรีจำลอง ศรีเมือง และ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชนชนเพื่อประชาธิปไตย

ในปี พ.ศ. 2551 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตย[1]

ในการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2566 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บุรีรัมย์ เขตเลือกตั้งที่ 10 สังกัดพรรคไทยสร้างไทย แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง

ผลงาน[แก้]

การุณ ใสงาม เคยจัดรายการโทรทัศน์ชื่อ "ตรงไป ตรงมา" ทาง ASTV ช่อง NEWS1 ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 23.00 - 24.00 น. และรายการ "วิเคราะห์บ้าน วิจารณ์เมือง" ทาง ASTV ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 19.30 - 21.30 น. ต่อมาได้เลิกจัดรายการดังกล่าว เนื่องจากเข้าเป็นนักการเมืองในสังกัด พรรคมัชฌิมาธิปไตย และมีผลงานหนังสือชื่อ "ตรงไป ตรงมา" ซึ่งเป็นผลงานเขียนอย่างตรงไป ตรงมา เกี่ยวกับการเมืองไทย โดยใช้สไตล์ของตัวเอง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "เปิดชื่อ 109 กก.บริหาร "พปช.-ชาติไทย-มัชฌิมาฯ" ถูกยุบ-เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-18. สืบค้นเมื่อ 2011-06-10.
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2005-12-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๙, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๘
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-05-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๓๐, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๕
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๕๐, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๒ ข หน้า ๒๗, ๗ มกราคม ๒๕๕๑

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]