การสำรวจโลมาน้ำจืดแยงซี พ.ศ. 2549

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การสำรวจโลมาน้ำจืดแยงซี พ.ศ. 2549 (จีน: 长江淡水豚类考察) เป็นการสำรวจค้นหานานหกสัปดาห์ระหว่างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม พ.ศ. 2549 ในเมืองอู่ฮั่น ทางตอนกลางของประเทศจีน โดยมีจุดประสงค์ที่จะค้นหาหลักฐานต่อเนื่องซึ่งระบุการมีอยู่ของโลมาแม่น้ำแยงซีเกียงซึ่งใกล้สูญพันธุ์ การสำรวจดังกล่าวอยู่ภายใต้การกำกับของสถาบันชลชีววิทยาในอู่ฮั่นและมูลนิธิสัญชาติสวิส baiji.org และมีชื่อเสียงที่การสำรวจสิ้นสุดลงโดยไม่พบเห็นโลมาแม่น้ำแยงซีเกียงแม้แต่ตัวเดียว จึงประกาศว่าสปีชีส์ดังกล่าวได้สูญพันธุ์ไปแล้ว

การสำรวจ[แก้]

นักวิทยาศาสตร์ได้เดินทางไปพร้อมกับเรือวิจัยสองลำเป็นระยะทางเกือบ 3,500 กิโลเมตรจากอี๋ชางไปยังเขื่อนสามผา ก่อนจะมุ่งหน้าต่อไปยังเซี่ยงไฮ้และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี ก่อนจะเดินทางกลับโดยใช้เส้นทางเดิม พวกเขาได้ใช้อุปกรณ์การสังเกตสมรรถภาพสูง และไมโครโฟนใต้น้ำในความพยายามที่จะค้นหาโลมาสักตัว

หัวหน้ามูลนิธิ baiji.com และผู้ร่วมให้การสนับสนุนโครงการ ออกัส ฟลูเกอร์ ได้รายงานว่า "มีความเป็นไปได้ที่ว่าเราจะพลาดโลมาไปสักตัวสองตัว" อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าโลมาจะยังมีชีวิตอยู่จำนวนน้อยจริง ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่พวกมันจะมีชีวิตรอดได้ในระยะยาว "มันเป็นโศกนาฏกรรม เป็นความสูญเสีย ไม่ใช่เพียงสำหรับจีนเท่านั้น แต่เป็นของโลกทั้งใบ"

อย่างไรก็ตาม ยังมีความหวังสำหรับสปีชีส์ดังกล่าว วาง ลีมิน ผู้อำนวยการกองทุนสัตว์ป่าโลกสำนักงานอู่ฮั่น ได้กล่าวว่า "ข้อเท็จจจริงที่ว่าคณะสำรวจไม่พบโลมาแม่น้ำแยงซีเกียงเลยแม้แต่ตัวเดียวระหว่างการสำรวจคราวนี้ไม่จำเป็นจะต้องหมายความว่าสปีชีส์ดังกล่าวสูญพันธุ์หรือแม้แต่ 'สูญพันธุ์ชะงัด' เนื่องจากการสำรวจกินระยะทางค่อนข้างไกลและใช้เวลาสำรวจน้อยเกินไป ... อย่างไรก็ตาม เราเป็นกังวลอย่างมาก แม่น้ำแยงซีได้ถูกลดคุณภาพลงอย่างมาก และเราพบโลมาหัวบาตรหลังเรียบลดน้อยลงกว่าในอดีตมาก"[1]

รายงาน[แก้]

รายงานการสำรวจได้รับการตีพิมพ์ออนไลน์ทางวารสารไบโอโลจีเล็ทเทอรส์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งผู้เขียนได้ระบุว่า: "เราไม่มีทางเลือกนอกจากสรุปว่าไป๋จีมีแนวโน้มว่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว โดยมีความเป็นไปได้ว่าเป็นผลมาจากการประมงท้องถิ่น แม้ว่ามันจะไม่ใช่ปลาเป้าหมายแต่ติดมากับเครื่องมือประมงก็ตาม ..."[2]

อ้างอิง[แก้]