การสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ พ.ศ. 2553

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ พ.ศ. 2553
เป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พ.ศ. 2553
A makeshift shrine on the spot where a protester was shot
ที่ตั้งศาลชั่วคราวในบริเวณที่ผู้ประท้วงถูกยิง
สถานที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
วันที่7-19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 (13 ปีที่แล้ว)
ประเภทการปราบปรามทางทหารขนาดใหญ่
ตาย87 คน (ประชาชน 79 คน และทหาร 8 นาย)[1] 51 คนหายตัวไปในวันที่ 8 มิถุนายน[2]
เจ็บอย่างน้อย 2,100 คน
ผู้ก่อเหตุกองทัพบกไทย และกำลังความมั่นคงของรัฐบาลไทย

การสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 7-19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งรัฐบาลได้ส่งกำลังทหารพร้อมอาวุธสงคราม และรถหุ้มเกราะ เข้าปิดล้อมพื้นที่การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณแยกราชประสงค์ ระหว่างการชุมนุมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม ทั้งสิ้น 59 ศพ[3] ในบรรดาผู้เสียชีวิตมีชาวต่างประเทศรวมอยู่สองศพและเจ้าหน้าที่กู้ชีพอีกสองศพ[4] ได้รับบาดเจ็บ 480 คน[5] และจนถึงวันที่ 8 มิถุนายน กลุ่มผู้ชุมนุมยังสูญหายอีกกว่า 51 คน[6] หลังแกนนำผู้ชุมนุมเข้ามอบตัวกับตำรวจเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ได้เกิดเหตุเผาอาคารหลายแห่งทั่วประเทศ รวมทั้ง เซ็นทรัลเวิลด์[7] สื่อต่างประเทศบางแห่ง ขนานนามการสลายการชุมนุมดังกล่าวว่า "สมรภูมิกรุงเทพมหานคร"[8][9] สื่อไทยบางแห่ง ขนานนามเหตุการณ์ดังกล่าวว่า "พฤษภาอำมหิต"[10] หรือ "พฤษภาเลือด"[11]

พื้นที่แยกราชประสงค์ถูกล้อมด้วยรถหุ้มเกราะและพลแม่นปืนเป็นเวลาหลายวัน ก่อนหน้าวันที่ 13 พฤษภาคม[12] เย็นวันที่ 13 พฤษภาคม พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) ผู้สนับสนุนการรักษาความปลอดภัยแก่กลุ่มผู้ชุมนุม ถูกพลแม่นปืนยิงที่ศีรษะระหว่างให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวต่างประเทศ รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มอีก 17 จังหวัดทั่วประเทศ ฝ่ายกองทัพอ้างว่าพลเรือนที่ถูกฆ่าทั้งหมดเป็นฝีมือของผู้ก่อการร้ายหรือไม่ก็เป็นผู้ก่อการร้ายติดอาวุธ และเน้นว่าบางคนถูกฆ่าโดยผู้ก่อการร้ายที่แต่งกายในชุดทหาร[13] ทางกองทัพได้ประกาศ "เขตยิงกระสุนจริง" และศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินก็ห้ามเจ้าหน้าที่แพทย์มิให้เข้าไปในเขตดังกล่าว[4][14][15][16] วันที่ 16 พฤษภาคม แกนนำ นปช. กล่าวว่า พวกตนพร้อมที่จะเจรจากับรัฐบาลทันที่ที่ทหารถูกถอนกลับไป แต่รัฐบาลเกรงว่าการถอนทหารจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการนำคนเติมเข้าไปในที่ชุมนุม จึงได้ปฏิเสธข้อเสนอนี้[17] รถหุ้มเกราะนำการสลายการชุมนุมครั้งสุดท้ายในตอนเช้าของวันที่ 19 พฤษภาคม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 ศพ[18] มีรายงานว่าทหารได้ยิงเจ้าหน้าที่แพทย์ซึ่งเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ถูกยิง[18] แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมมอบตัวกับตำรวจและประกาศสลายการชุมนุม ในวันเดียวกัน ได้เกิดเหตุการเผาอาคารหลายแห่งทั่วประเทศ รัฐบาลจึงประกาศห้ามออกนอกเคหสถาน และทหารได้รับคำสั่งให้ยิงทุกคนที่ก่อความไม่สงบ[18]

ภาพสรุปเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย
ภาพสรุปเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวข้องกับ
วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553

การเมืองไทยประวัติศาสตร์ไทย

เบื้องหลัง[แก้]

การชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2552 หลังได้มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมนำโดย พรรคประชาธิปัตย์ และหลังจากการตัดสินคดียึดทรัพย์ของ ทักษิณ ชินวัตร ให้ตกเป็นของแผ่นดิน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จึงได้ประกาศจัดการชุมนุมในกรุงเทพมหานครนับตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม เป็นต้นไป การชุมนุมดังกล่าวมีเป้าหมายเรียกร้องให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา และจัดการเลือกตั้งใหม่ ในขณะที่รัฐบาลจัดตั้ง ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ขึ้นในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553[19]ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ พิเศษ 1/2553

ลำดับเหตุการณ์[แก้]

บริเวณแยกพระรามสี่ผู้ชุมนุมตั้งบังเกอร์
ผู้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์

7 พฤษภาคม[แก้]

เกิดเหตุการณ์ยิงและระเบิดเกิดขึ้นบริเวณสี่แยกถนนพระรามที่ 4 แยกศาลาแดง ส่งผลให้ ส.ต.อ. กาณนุพัฒน์ เลิศจันทร์เพ็ญ เสียชีวิตจากอาวุธปืน ผบ. หมู่ จร.สน. ทุ่งมหาเมฆ กรุงเทพมหานคร เสียชีวิตจากเหตุการณ์คนร้ายยิงเอ็ม 16 เข้าใส่ที่หน้า ธนาคารกรุงไทยถนนสีลม เมื่อกลางดึกของวันที่ 7 พฤษภาคม 2553[20]

8 พฤษภาคม[แก้]

เกิดเหตุระเบิดบริเวณหน้าสวนลุมพินี รพ. จุฬาลงกรณ์ และ จ.ส.ต. วิทยา พรหมสำลี สังกัดสถานีตำรวจภูธรหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท ที่เสียชีวิตจากเหตุคนร้ายยิงระเบิดด้วยเครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม79 ใส่ชุดควบคุมฝูงชน ขณะปฏิบัติหน้าที่บริเวณหน้าอาคารอื้อจือเหลียง ย่านสีลม เมื่อคืนวันที่ 8 พฤษภาคม 2553[21]

13 พฤษภาคม[แก้]

พลตรี ขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) ถูกกระสุนปืนความเร็วสูงยิงเข้าที่กะโหลกศีรษะระหว่างให้สัมภาษณ์แก่เดอะนิวยอร์กไทมส์ ได้รับบาดเจ็บสาหัส [22][23] เจ้าหน้าที่นำตัวส่ง โรงพยาบาลหัวเฉียว หลังจาก พล.ต. ขัตติยะ ถูกยิง ก็มีเสียงปืนยิงต่อสู้ และเสียงระเบิดเกิดขึ้น ภายในพื้นที่ปิดล้อมของกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย นอกจากนี้ ยังมีการตัดไฟฟ้า บริเวณสวนลุมพินี และแยกศาลาแดง[24]

บริเวณ แยกสวนลุมพินี ผู้ชุมนุมได้นำกรวยออกเพื่อเส้นทางสัญจร พร้อมทั้งขวางและผลักดันเจ้าหน้าที่ทหารไม่ให้ออกมาจากสวนลุมพินี หลังจากนั้นไม่นาน มีเสียงปืนดังติดต่อกันหลายนัด ขณะที่เจ้าหน้าที่ยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุม มีผู้บาดเจ็บ 20 ราย[25] หลังจากที่เจ้าหน้าที่เข้าปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม บริเวณแยกศาลาแดง ประตู 2 สวนลุมพินี ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการรื้อแผงจราจร ขว้างปาก้อนอิฐและสิ่งของ จำนวนหลายสิบราย ในจำนวนนี้ชาติชาย ชาเหลา ผู้ชุมนุม เสียชีวิต[26]

14 พฤษภาคม[แก้]

เจ้าหน้าที่ตำรวจเคลื่อนเข้าไปปิดล้อมและพยายามตัดขาดกลุ่มผู้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประกาศว่าอภิสิทธิ์ได้เริ่ม สงครามกลางเมือง เนื่องจากเกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงปืนใส่เจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเกิดความแตกแยกในกองกำลังความมั่นคง สถานทูตอเมริกันและอังกฤษปิดด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย[27] ราว 13.30 น. มีการปะทะกันระหว่างทหารกับกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณหน้า สนามมวยเวทีลุมพินี ทั้งสองฝ่ายมีการยิงปืน ประทัดยักษ์และพลุตะไลตอบโต้กัน[28] มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย จากการปะทะกันบริเวณหน้าสวนลุมไนท์บาซาร์[29] เมื่อเวลา 15.20 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้ย้ายไปปักหลักบริเวณแยกประตูน้ำ ถนนราชปรารภ ทั้งสองฝั่ง และบริเวณสถานีรถไฟฟ้าราชปรารภ[30]

ซากรถบรรทุกที่ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมเผาทำลายกีดขวางถนนพระราม 4

เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำการบริเวณ แยกบ่อนไก่ ถนนพระรามที่ 4 ได้รุกคืบเข้าควบคุมพื้นที่อีกครั้งด้วยการกลับมาวางแนวลวดหนาม หลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามานำออกไปก่อนหน้านี้ ฝ่ายทหารใช้ทั้งกระสุนและแก๊สน้ำตาเข้าช่วยยึดคืนพื้นที่[31] ต่อมา เวลา 18.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเสียชีวิต 1 ราย จากการปะทะกับกองกำลังทหารบริเวณแยกบ่อนไก่ กระสุนเข้าที่ท้ายทอย[32] สถานทูตแคนาดาถูกปิดไปเมื่อเวลาประมาณ 18.00 น.[33]

ในเวลาใกล้เคียงกัน เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นหน้าเวทีคนเสื้อแดง โดยเกิดเสียงคล้ายปืนดังขึ้น และมีระเบิดควันขว้างลงมาหลังเวที ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 15 คน[34] เวลา 18.40 น. เจ้าหน้าที่ทหารเคลื่อนรถหุ้มเกราะเข้าไปยังแยกศาลาแดง พร้อมกันนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าต่อต้านด้วยการขว้างขวด ระเบิดขวด และระเบิดควันเข้าใส่ เจ้าหน้าที่ทหารเตือนว่าจะนับหนึ่งถึงสามแล้วจะยิงทันที เสร็จแล้วเสียงปืนจากกองกำลังทหารที่ซุ่มอยู่บนรางรถไฟฟ้าก็ดังขึ้นทันที[35]

เวลา 21.00 น. บริเวณถนนสาทร ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ทหารตั้งแนวป้องกันปิดถนน ไม่ให้ประชาชนผ่านเข้าไปยังถนนพระรามที่ 4 ตามประกาศของ ศอฉ. โดยเจ้าหน้าที่ทหารยิงกระสุนใส่ประชาชนที่ขับรถไปตามเส้นทางถนนสาทร ช่วงบริเวณแยกไฟแดงซอยสาทร 6 หน้าโรงแรมเอฟเวอร์กรีน จนได้รับบาดเจ็บไป 1 ราย โดยถูกยิงเข้าบริเวณตาตุ่มข้อเท้าด้านขวาเจ้าหน้าที่ศูนย์เอราวัณ ช่วยเหลือนำส่งโรงพยาบาลตากสิน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทหารยังใช้ปืนยิงขู่ประชาชน ที่ขับรถเข้ามาตามถนนสาทร มุ่งหน้าถนนพระรามที่ 4 อีกด้วย[36]

นายแพทย์ เพชรพงษ์ กำจรกิจการ ผู้อำนวยการศูนย์เอราวัณ เปิดเผยว่าตัวเลขเมื่อเวลา 22.00 น. มีผู้เสียชีวิต 7 ศพ และได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 101 คน ส่วนมากถูกกระสุนปืนยิงเข้าที่ศีรษะ ปาก และช่วงท้อง[37] ต่อมา สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มีผู้บาดเจ็บ 125 คน และเสียชีวิต 10 ศพ[38] ส่วนตามข้อมูลของเดอะเทเลกราฟนั้น ได้รายงานว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเสียชีวิตอย่างน้อย 16 ศพ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 157 คน[39]

15 พฤษภาคม[แก้]

แนวป้องกันยางรถยนต์ของผู้ชุมนุม ที่เกิดขึ้นตามจุดปะทะต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร

เมื่อเวลา 00.30 น. เกิดเหตุรถตู้โตโยต้าคอมมิวเตอร์ สีบรอนซ์เงิน ทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพมหานคร ขับมาบนถนนราชปรารภ มุ่งหน้าไปทางดินแดงด้วยความเร็วสูง เมื่อวิ่งมาถึงบริเวณสถานีแอร์พอร์ตเรลลิงก์มักกะสัน ทหารประจำด่านตรวจส่งสัญญาณให้หยุดรถ แต่รถตู้คันดังกล่าวไม่ยอมหยุด เจ้าหน้าที่ใช้ปืนยิงยางรถ แต่รถยังคงไม่หยุดวิ่ง ทหารจึงตัดสินใจระดมยิงด้วยกระสุนจนรถพรุนไปทั้งคัน ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสามราย รวมทั้งคนขับและเด็กชายวัย 10 ปี เจ้าหน้าที่ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลพญาไท 1[40] ต่อมา เวลาประมาณ 9.00 น. ได้เกิดเหตุจ่าทหารอากาศนายหนึ่งเสียชีวิตจากการถูกฝ่ายเดียวกันยิง (friendly fire) [41]

เจ้าหน้าที่ทหารประกาศจัดตั้ง "เขตยิงกระสุนจริง" ในหลายพื้นที่ใกล้กับกลุ่มผู้ชุมนุม และกลุ่มผู้ชุมนุมที่เข้าไปในเขตเหล่านี้จะถูกยิงทันทีที่พบ มีรายงานว่ากลุ่มผู้ชุมนุมขาดแคลนน้ำและอาหารจากการปิดกั้นของเจ้าหน้าที่ทหาร และอาจชุมนุมต่อไปได้อีกเพียงไม่กี่วัน หลังกลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าปล้นร้านค้าใกล้เคียง[42]

เวลา 24.00 น. ศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร รายงานรายชื่อผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ทหารกระชับพื้นที่การชุมนุม ของกลุ่มคนเสื้อแดง ตั้งแต่วันที่ 14-15 พฤษภาคม ว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 24 ศพ และบาดเจ็บ 187 คน[43]

16 พฤษภาคม[แก้]

บริเวณจุดปะทะถนนพระรามสี่ ในกรุงเทพมหานคร

ผู้สื่อข่าวในบริเวณใกล้เคียงกับที่มีการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ทหารนั้นจำต้องยุติการออกอากาศสดด้วยเกรงว่าจะถูกพลแม่นปืนฝ่ายทหารในพื้นที่ยิง[44] รัฐบาลกระตุ้นให้ผู้ชุมนุมเด็กและผู้สูงอายุออกจากพื้นที่ชุมนุมเมื่อช่วงเช้าวันรุ่งขึ้น ทำให้เกิดความกลัวว่าจะมีการสลายการชุมนุมตามมา แกนนำ นปช. เริ่มบอกกลุ่มผู้ชุมนุมว่าสื่อต่างประเทศ เช่น ซีเอ็นเอ็น บีบีซี รอยเตอร์ และอื่น ๆ ไม่สามารถเชื่อถือได้ เนื่องจากสำนักข่าวเหล่านี้มีอคติ ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้รุนแรงจากผู้สนับสนุนชาวต่างประเทศ[45] วันเดียวกัน พลตรี ขัตติยะ สวัสดิผล ซึ่งถูกยิงเข้าที่ศีรษะเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม เสียชีวิต[46]

วันเดียวกันนาย จตุพร พรหมพันธุ์ ขอพึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช[47]นายจตุพร กล่าวว่า เหตุการณ์วันที่ 20 พฤษภาคม 2535 หากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไม่เรียกคู่ขัดแย้งมาหยุดยั้งความตายในวันนั้น ไม่รู้จะมีกี่พันศพ วันนี้ก็เช่นกัน พวกตนเป็นพสกนิกร ก็ขอพึ่งพระบารมีพระองค์ เพราะเราไม่มีที่พึ่งจริง ๆ

เวลา 23.00 น. ศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร รายงานจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต จากเหตุการณ์กระชับพื้นที่การชุมนุม ระหว่างวันที่ 14-16 พฤษภาคม สรุปล่าสุดเวลา 22.00 น. ว่ามีผู้เสียชีวิต 31 ศพ บาดเจ็บ 230 คน รวม 261 คน รับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล 83 ราย ในจำนวนนี้ต้องรักษาตัวในห้องไอซียู 12 ราย[48]

17 พฤษภาคม[แก้]

เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. มีผู้ขับรถกระบะ โตโยต้า วีโก้ คือ จ่าอากาศเอก พงศ์ชลิต มาจากซอยคอนแวนต์เข้าไปยังถนนสีลม ระหว่างนั้นมีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด และเกิดการยิงต่อสู้กันขึ้นระหว่างผู้ที่อยู่ในรถกับทหารซึ่งคุมพื้นที่อยู่ริมถนน จนรถกระบะเสียหลักพุ่งชนรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จอดอยู่บริเวณข้างทาง ช่วงหน้าธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ จากนั้น ได้นำผู้บาดเจ็บสองรายส่งโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน จ่าอากาศเอก พงศ์ชลิต ทิพยานนทการ ถูกยิงที่ศีรษะและเสียชีวิตในเวลาต่อมา และเรืออากาศตรีอภิชาติ ช้งย้ง อายุ 26 ปี ได้รับบาดเจ็บ คาดว่าเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะความเข้าใจผิด[49] โดยมีการปะทะกันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งคืนระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและทหาร โดยมีคนร้ายยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่หน้าโรงแรมดุสิตธานีจำนวนหลายลูก ทำให้กระจกหน้าโรงแรมแตก และมีกลุ่มควันสีดำพุ่งออกมาจากบริเวณชั้น 5 และ ชั้น 17 ของโรงแรม และยิงระเบิดเอ็ม 79 ตกลงบริเวณตึกอื้อจื่อเหลียงอีกจำนวน 3 ลูก แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งยิงเอ็ม 79 จำนวน 2 ลูก เข้าไปที่บริเวณลานพระราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สวนลุมพินีด้วย [50]

เมื่อเวลา 08.30 น. ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน กรุงเทพมหานคร หรือ ศูนย์เอราวัณ เปิดเผยจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุปะทะกัน ระหว่างวันที่ 14-17 พฤษภาคม ว่า ขณะนี้มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว จำนวน 252 ราย เสียชีวิต 35 ศพ รวมถึงพลตรี ขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) ก็เสียชีวิตลงที่ วชิรพยาบาล ส่วนผู้บาดเจ็บเป็นชาวต่างชาติ มีจำนวน 6 ราย ประกอบด้วย ชาวแคนาดา ชาวโปแลนด์ ชาวพม่า ชาวไลบีเรีย ชาวอิตาลี และนิวซีแลนด์ ประเทศละ 1 ราย[51]

18 พฤษภาคม[แก้]

การปะทะกันอย่างประปรายดำเนินต่อไปในวันที่ 18 พฤษภาคม แต่การปะทะกันเหล่านี้มีความรุนแรงน้อยกว่าการเผชิญหน้าครั้งก่อน ๆ มาก[52] จำนวนผู้มีเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 39 ศพ ขณะที่การปะทะกันยังดำเนินต่อ เป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่าเจ้าหน้าที่ทหารจะสลายการชุมนุม เนื่องจากกำลังพลและรถหุ้มเกราะมารวมตัวอยู่โดยรอบบริเวณที่ชุมนุม และกระตุ้นให้ประชาชนและกลุ่มผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ พร้อมทั้งประกาศว่ากำลังจะดำเนินปฏิบัติการทางทหารในอีกไม่ช้า[53] หลังจากนั้นไม่นาน ทหารพร้อมด้วยรถหุ้มเกราะบุกเข้าไปผ่านสิ่งกีดขวางหลักของกลุ่มผู้ชุมนุม คนเสื้อแดงถูกยิงสองรายในช่วงแรกของปฏิบัติการ ขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดงอื่น ๆ จุดน้ำมันก๊าดใส่สิ่งกีดขวางเพื่อขัดขวางการรุกคืบของเจ้าหน้าที่และปิดบังทัศนียภาพ[54]

ทั้งนี้ ประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง หารือกับสมาชิกวุฒิสภากลุ่มที่ไม่นิยมความรุนแรง และมีข้อยุติที่จะส่งกลุ่มผู้แทนไปพบแกนนำ นปช. เพื่อรับทราบเงื่อนไข และนำมาเสนอต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ จึงได้มีการเจรจาระหว่างกลุ่มผู้แทนสมาชิกวุฒิสภากับแกนนำ นปช. ระหว่างเวลา 18:30-20:15 น. บริเวณหลังเวทีชุมนุมแยกราชประสงค์ โดยแกนนำ นปช.เห็นด้วยกับการเจรจาแบบไม่มีเงื่อนไขกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ และนอกจากนี้ สมาชิกวุฒิสภายังได้รับคำสัญญาจากอภิสิทธิ์ว่า หากแกนนำ นปช.เข้าร่วมการพูดคุยอย่างไม่มีเงื่อนไข รัฐบาลอภิสิทธิ์จะยับยั้งการใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามในอนาคต[55]

ศูนย์บริหารการแพทย์ฉุกเฉิน กรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) แจ้งยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทหารกดดันกลุ่ม นปช. วันที่ 14-18 พฤษภาคม สิ้นสุดเวลา 18.00 น. เพิ่มเป็น 43 ราย บาดเจ็บรวม 365 ราย นักข่าวต่างชาติรายล่าสุดที่เสียชีวิต ชื่อโปเลนกี ฟาดิโอ ชาวอิตาลี[56]

19 พฤษภาคม : สลายการชุมนุม[แก้]

ผู้ชุมนุมเผารถดับเพลิงที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 19 พฤษภาคม

แม้จะมีความพยายามในการเจรจา โดยมีวุฒิสมาชิกบางส่วนเป็นสื่อกลาง และแกนนำ นปช. ยินยอมที่จะเจรจากับรัฐบาลโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ก็ยังเกิดการสลายการชุมนุม ตามข่าวที่รับรู้กันในหมู่ผู้ชุมนุม ตั้งแต่คืนวันที่ 18 พฤษภาคม[57] โดยกองทัพทำยุทธการปิดล้อมพื้นที่ชุมนุม ก่อนจะเริ่มการโจมตีอย่างเต็มรูปแบบ[58] เริ่มจากใช้รถหุ้มเกราะเข้าทำลายสิ่งกีดขวาง ซึ่งผู้ชุมนุมสร้างขึ้นจากไม้ไผ่ ซึ่งตามคำแถลงของ พลโท ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองเสนาธิการทหาร (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) แถลงถึงปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ ในวันต่อมาว่า “เรามียานเกราะ มีการเคลื่อนที่เข้าไป ในลักษณะเหมือนในสนามรบ ซึ่งต้องยอมรับว่า การจัดกำลังเข้าดำเนินการในครั้งนี้ เราไม่ได้ทำเหมือนกับการควบคุมฝูงชน ถ้าหากย้อนไปก่อนหน้านี้ จะเห็นภาพของทหารถือโล่ กระบอง เดินเข้าไปเป็นรูปขบวนปึกหนา ๆ เข้าไปประจันหน้ากับผู้ชุมนุม อันนี้เป็นการควบคุมฝูงชนปกติ”[59][60] ต่อมามีทหารถูกยิงด้วยลูกระเบิด ซึ่งเชื่อว่ายิงจากเครื่องชนิดเอ็ม-79 จนบาดเจ็บสาหัส 2 นาย[61] มีการเผารถดับเพลิงที่จังหวัดเชียงใหม่ที่เชิงสะพานนวรัฐและกลุ่มผู้ชุมนุมบุกเผาบ้านพักปลัดจังหวัดเชียงใหม่[62]กองกำลังจังหวัดเชียงใหม่ประเมินความเสียหาย 13 ล้านบาท

ตั้งแต่เวลาประมาณ 09.00 น. เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงมีหน่วยแทรกซึมของทหาร เข้ามาตัดสายลำโพงซึ่งขยายเสียงจากเวทีชุมนุม[63]

เวลาประมาณ 10.00 น. มีผู้บาดเจ็บนำส่งโรงพยาบาลตำรวจ ประมาณ 10 ราย ส่วนมากบาดเจ็บสาหัส เนื่องจากถูกกระสุนปืนเข้าที่อวัยวะสำคัญ การ์ด นปช. เริ่มระดมยางรถยนต์ ไปเสริมเป็นบังเกอร์[64]

เวลาประมาณ 11.00 น. ผู้ชุมนุมพบเห็นกำลังทหาร เคลื่อนพลอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ส่งผลให้เกิดความแตกตื่น ผู้สื่อข่าวต่างหลบกันอลหม่าน การ์ดเข้าคุ้มกันแกนนำ นปช. พร้อมทั้งนำตัวออกจากเต็นท์หลังเวทีโดยทันที[65]

หลังจากกำลังทหาร เข้ายึดพื้นที่โดยรอบสวนลุมพินีไว้ได้ จากการเข้าตรวจที่เกิดเหตุโดยรอบ พบผู้เสียชีวิตเป็นชาย 2 ศพถูกยิงเข้าบริเวณศีรษะ อยู่ด้านหลังแนวบังเกอร์ฝั่งถนนราชดำริ บริเวณตรงข้ามตึก สก. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งกำลังทหารทลายเข้ามาสำเร็จ[66]

ประกาศยุติการชุมนุม[แก้]

เวลา 13.20 น. แกนนำ นปช. ลงมติตัดสินใจประกาศยุติการชุมนุม พร้อมทั้งยอมเข้ามอบตัว กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยในเวลาดังกล่าว แกนนำ นปช. คนสำคัญคือ จตุพร พรหมพันธุ์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, วิภูแถลง พัฒนภูมิไทย เป็นต้น ต่างขึ้นบนเวทีแยกราชประสงค์ จากนั้นจตุพร เริ่มกล่าวเป็นคนแรกว่า "ชีวิตของพวกผมเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่นี่เป็นชีวิตของคนอื่น พวกผมรอด แต่พี่น้องต้องตาย ถ้าเขาขยับมาถึงเวที ผมรู้ว่า พี่น้องพร้อมพลีชีพ ไม่รู้กี่ชีวิต เราร่วมทุกข์ร่วมสุขมายาวนานที่สุด และก็รู้กันว่า อีกไม่รู้กี่ชีวิตที่ต้องตาย ถ้า ศอฉ. บุกมาถึงที่นี่ พี่น้องก็ยอมพลีชีพกันทุกคน ผมยอมไม่ได้ ฉะนั้น วันนี้ไม่ใช่ยอมจำนน แต่ไม่ต้องการให้พี่น้องเราต้องเสียชีวิตอีกแล้ว ทนความตายของพี่น้องไม่ได้อีกต่อไป พวกผมเพื่อน ๆ จะเดินทางไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผมรู้ว่าพี่น้องขมขื่น ทุกคนที่ขึ้นมาที่นี่ เราไม่รู้จะพูดกับพี่น้องกันอย่างไร เพราะหัวใจพี่น้องเลยความตายกันมาทุกคน วันนี้ เราหยุดความตาย แต่ยังไม่หยุดการต่อสู้ เพราะตอนนี้ยังตายอยู่เรื่อย ๆ เรามาช่วยหยุดความตาย หัวใจการต่อสู้ไม่เคยหมด เราไม่ได้ทรยศ กว่าจะมาถึงเวที ไม่รู้อีกกี่ร้อยชีวิต เรามาหยุดความตายกันเถิด" ณัฐวุฒิกล่าวเป็นคนถัดมาว่า "เราขอยุติเวทีการชุมนุมแต่เพียงเท่านี้ แต่การต่อสู้ยังไม่ยุติ การต่อสู้ยังต้องเดินหน้าไปตามกระบวนการประชาธิปไตยต่อไป เราไม่อาจต้านทานความอำมหิตนี้ได้อีก ขอให้พี่น้องเดินออกไปทางสนามศุภชลาศัย การ์ดจะดูแลให้พี่น้องเดินทางกลับด้วยความสงบ และปลอดภัย"[67] ทั้งนี้ระหว่างที่ณัฐวุฒิกำลังแถลง มีเสียงปืนยิงดังแทรกขึ้นมา ทำให้แกนนำ นปช. บนเวทีตกใจ แต่ยังคงแถลงต่อไปจนเสร็จสิ้น ผู้ชุมนุมบางส่วนทยอยเดินไปทางที่แกนนำแจ้ง ส่วนแกนนำเดินทางเข้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ[68]

สำหรับแกนนำที่เข้ามอบตัวกับตำรวจทันที ตามลำดับประกอบด้วยขวัญชัย ไพรพนา ตามด้วยจตุพร ซึ่งก้มลงกราบที่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ภายใน สตช. และคนสุดท้ายคือณัฐวุฒิ โดยก่อนเข้ามอบตัว ณัฐวุฒิกล่าวผ่านเครื่องขยายเสียงหน้า สตช.อีกครั้งว่า "ขอให้พี่น้องเสื้อแดงเดินทางกลับบ้าน ส่วนจุดยืนยังเหมือนเดิม ไม่ต้องห่วงว่าแกนนำทุกคนจะสูญสิ้นอิสรภาพ เนื่องจากความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย ขอให้วางใจ ถ้าเสร็จภารกิจนี้ และยังได้รับความไว้วางใจจากมวลชน จะกลับมาเป็นแกนนำเหมือนเดิม แต่ถ้ามวลชนไม่ไว้ใจอีกแล้ว ก็จะกลับมาเป็นคนเสื้อแดง ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยเหมือนเดิม[69]

ในที่สุด แกนนำ นปช. ส่วนหนึ่งยอมมอบตัวต่อตำรวจ ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ส่งเสียงโห่ร้อง เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของแกนนำ นปช. ที่ขอให้ยุติการชุมนุม และไม่ยอมมอบตัวต่อทางการ การปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับกองทัพ ยังคงดำเนินต่อไป ในหลายส่วนของกรุงเทพมหานคร มีมือที่ 3 เข้าวางเพลิงอาคารที่ทำการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 สาขาธนาคารบางแห่ง ศูนย์การค้าอย่างน้อยสองแห่ง อาทิ เซ็นเตอร์วัน และ เซ็นทรัลเวิลด์ รวมทั้งมีการตั้งสิ่งกีดขวางกำลังทหารตามท้องถนน[70][71] ผู้ชุมต่างแยกย้ายกันกลับ เพราะทหารกำลังเข้ามาสลาย มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 39 ศพ บาดเจ็บกว่า 300 ราย ในช่วงการสลายผู้ชุมนุม

เวลา 18.00 น. ศูนย์เอราวัณรายงานยอดผู้บาดเจ็บ เฉพาะวันที่ 19 พฤษภาคม ตั้งแต่เวลา 06.00–18.00 น. พบว่ามีผู้บาดเจ็บ 58 ราย เสียชีวิต 6 ศพ มีชาวต่างชาติได้รับบาดเจ็บ 2 ราย เป็นชาวแคนาดา 1 ราย ไม่ทราบสัญชาติ 1 ราย[72]

ต่อมาเวลา 23.00 น. มีรายงานเพิ่มเติม โดยได้รับการยืนยันจากพระภิกษุภายในวัดปทุมวนาราม ว่ามีผู้เสียชีวิตในวัด ขณะที่นายแพทย์ปิยะลาภ วสุวัต แพทย์กองอุบัติเหตุโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า ได้รับการติดต่อมาแล้วว่า มีผู้เสียชีวิต 9 ศพ บาดเจ็บ 7 คน แต่ต้องรอถึงวันรุ่งขึ้น ทีมแพทย์จึงจะเข้าไปได้[73]

ปฏิกิริยาของแกนนำ หลังยุติการชุมนุม[แก้]

ปรากฏหลังจากนั้นว่า แกนนำ นปช.ได้รับการรับรองที่ดีกว่าผู้ต้องหาโดยทั่วไปเป็นอย่างมาก[74] ทั้งไม่สวมกุญแจมือ ทำให้ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง วิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ[75] โดยเฉพาะการจัดให้แกนนำได้แถลงข่าว และตำรวจจับมือกับแกนนำ[76] ภายหลังมีการย้ายสถานที่ควบคุมตัว โดยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 อนึ่ง ปรากฏว่า อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง, พายัพ ปั้นเกตุ และสุภรณ์ อัตถาวงศ์ แกนนำส่วนหนึ่ง หลบหนีไปจากที่ชุมนุมแยกราชประสงค์

การชุมนุมภายหลังการสลายการชุมนุม[แก้]

การชุมนุมย่อยในวันที่ 17 พฤษภาคม บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง

ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม กลุ่มคนเสื้อแดงทยอยตั้งเวทีปราศรัยย่อยหลายแห่ง เพื่อรวบรวมกลุ่มคนเสื้อแดง ทั้งผู้อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร และที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด แต่ไม่สามารถเข้าร่วมการชุมนุมที่เวทีใหญ่แยกราชประสงค์ได้ เนื่องจากมีกำลังทหารปิดล้อมทุกทิศทาง และเพื่อป้องกันมิให้มวลชนออกไปตั้งแนวปะทะกับฝ่ายทหาร โดยจุดแรกบริเวณย่านคลองเตย บริเวณใต้ทางด่วนพระรามที่ 4 ชุมชนบ่อนไก่, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หน้าศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วัน, สามเหลี่ยมดินแดง, มูลนิธิบ้านเลขที่ 111 นางเลิ้ง, ที่ทำการพรรคเพื่อไทย เป็นต้น[77] และมหาวิทยาลัยรามคำแหง[78]

จากนั้น สมยศ พฤกษาเกษมสุข สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ สุรชัย แซ่ด่าน ประกาศว่าจะชุมนุมที่จังหวัดราชบุรี ในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2553[79] และจะเข้าสู่กรุงเทพฯ ในวันที่ 24 มิถุนายน ปีเดียวกัน[80]

ผลที่ตามมา[แก้]

อาคารส่วนของห้างฯ ZEN ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ที่พังถล่มลงมา

หลังแกนนำ นปช. บนเวทียุติการชุมนุม กลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าทำลายทรัพย์สิน และลอบวางเพลิงอาคารหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร ส่วนเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ กลับถูกกลุ่มผู้ชุมนุมยิงด้วยอาวุธปืนเพื่อสกัดไม่ให้เข้าดับเพลิงได้[81]

เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อเวลา 14.25 น. กลุ่มผู้ชุมนุมทุบกระจกที่ชั้น 1 ของอาคารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ฝั่งศูนย์การค้าเซน แล้วลอบเข้าไปวางเพลิงภายใน[82] จนทำให้มีกลุ่มควัน และเปลวไฟพวยพุ่งออกมา นอกจากนี้ ในภายหลังยังมีรูปกลุ่มผู้ชุมนุมบางคนลับลอบขโมยขนสินค้าราคาสูงออกมาจากตัวห้างด้วย ต่อมา มีการลอบวางเพลิงโรงภาพยนตร์สยามอีกแห่งหนึ่งเช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าสกัดเพลิงได้ เนื่องจากถูกกลุ่มคนในชุดดำ ยิงต่อสู้ เพลิงได้ลุกไหม้เป็นเวลาหลายชั่วโมง นอกจากนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมบุกรุกเข้าไปภายในอาคารมาลีนนท์ ริมถนนพระรามที่ 4 ซึ่งเป็นที่ทำการของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 จากนั้นเกิดเพลิงลุกไหม้ป้ายชื่ออาคาร และชั้นล่างของอาคาร

หลังจากนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าวางเพลิงสถานที่อีกหลายแห่ง เช่นสาขาธนาคารออมสิน บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง และถนนวิภาวดีรังสิต, ร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น สาขาใกล้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ย่านดินแดง และสาขาหัวมุมวงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ส่งผลให้เพลิงลุกลามขึ้นไปยังร้านหนังสือดอกหญ้า ซึ่งเป็นชั้นบนของอาคาร รวมทั้งศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วันที่อยู่ติดกัน นอกจากนี้ยังมีผู้ขว้างถังดับเพลิง เข้าใส่อาคารห้างสรรพสินค้าแพลทินัม ย่านประตูน้ำ แต่ไม่มีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นบริเวณดังกล่าว โดยเหตุเพลิงไหม้ทุกแห่ง รถดับเพลิงไม่สามารถเข้าควบคุมเพลิงได้ เป็นเวลาหลายชั่วโมงเช่นกัน[83] ผู้ชุมนุมยังทำลายทรัพย์สินกระจกหน้าต่าง สถานีคลองเตย รถไฟฟ้ามหานคร[84]

ภาพกรุงเทพมหานครบางส่วนเกิดอัคคีภัยระหว่างวิกฤตการณ์การเมืองเดือนพฤษภาคม 2553

ผู้เสียชีวิต[แก้]

ในเหตุการณ์นี้มีประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 57 ศพ ในจำนวนนี้ เป็นชายไทยไม่ทราบชื่อ 4 ศพ เป็นหญิงไทยไม่ทราบชื่อ 1 ศพ ระบุชื่อได้ จำนวน 47 ศพ ทหารเสียชีวิต 9 นาย ตำรวจ 2 นาย[85] และชาวต่างประเทศเสียชีวิต 2 ราย[86][87] นอกจากนี้ยังมีชาวต่างประเทศสองศพ คือ ฟาบิโอ โปเลนกี ซึ่งเป็นช่างภาพข่าวชาวอิตาลี และ ออง ลวิน ชาวพม่า ทั้งสองถูกกระสุนปืน พลเอก ร่มเกล้า ธุวธรรม ถูกกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ยิงด้วยกระสุนหลายนัด เสียชีวิต 10 เมษายน 2553

กระบวนการยุติธรรม[แก้]

อัยการได้สั่งฟ้องนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และนาย สุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในข้อหาร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา [88] ซึ่งในการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง ได้มีการระดมกำลังทหารถึง 67,000 นาย ใช้กระสุนจริงไปกว่า 110,000 นัด และกระสุนสไนเปอร์อีกกว่า 2,000 นัด และผู้นำเหล่าทัพไม่เคยปฏิเสธ[89]

โดยหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 ในวันที่ 28 สิงหาคม 2557 ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ด้วยเหตุผลว่าไม่มีอำนาจพิจารณาคดี แต่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) [90]

ต่อมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติไม่ฟ้องนาย อภิสิทธิ์ นาย สุเทพ และพลเอก อนุพงษ์ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558[91]และวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ [92]

กรณีการเสียชีวิตของประชาชน 6 คนในเขต “อภัยทาน” ของวัดปทุมวนารามในช่วงบ่ายวันที่ 19 พ.ค. ซึ่งผู้เสียชีวิต 2 คนเป็นพยาบาลอาสา และ 1 คนเป็นอาสากู้ชีพ ซึ่งมีการอ้างจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ศอฉ. และกองทัพ ว่ามีชายชุดดำซุ่มโจมตีทหารอยู่ในภายในวัด พบอาวุธและกระสุนมากมายในวัด [93] อย่างไรก็ตาม ผลการไต่สวนการตายเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ศาลจึงได้วินิจฉัยว่า [94]

  • กระสุนปืนยิงมาจากทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ ตามคำสั่งของ ศอฉ. อยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส
  • หลักฐานชี้ว่าผู้ตายทั้ง 6 คน ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนมาก่อนการเสียชีวิต เพราะไม่มีคราบเขม่าดินปืนที่มือทั้งสองข้าง
  • ศาลได้พิเคราะห์ว่าไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ ตามที่ฝ่ายทหารอ้างว่ามีชายชุดดำ 4 คนยิงใส่ทหาร เพราะขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน และบริเวณดังกล่าวมีผู้สื่อข่าวทั้งชาวไทยและต่างประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่ปรากฏภาพถ่ายของชายชุดดำมาแสดงแม้แต่ภาพเดียว ทั้งไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ความตายจากการยิงต่อสู้
  • จากการให้ปากคำของนายทหารอีกสองนายหนึ่งที่ประจำอยู่ชั้นล่างของสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมฯ ก็กล่าวว่า ตนไม่ได้รู้สึกว่าตกอยู่ในอันตราย จึงไม่ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงใส่ผู้ชุมนุมในวัด
  • ศาลเห็นว่าการยึดอาวุธในวัดปทุมวนารามหลังเกิดเหตุ ไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจยึดอาวุธจริง เพราะหลังจากการตรวจยึดอาวุธของกล่าว กลับไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดได้ส่งอาวุธของกลางไปส่งพิสูจน์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจหารอยนิ้วมือหรือดีเอ็นเอต่อไป อีกทั้งการตรวจยึดอาวุธก็ไม่ได้กระทำทันทีหลังเกิดเหตุวันที่ 19 พ.ค.
  • กรณี นางสาว กมนเกด อัคฮาด และ นาย อัครเดช ขันแก้ว สองอาสาพยาบาลที่เสียชีวิต แม้แพทย์ผู้ผ่าพิสูจน์ได้ลงความเห็นว่า บาดแผลในร่าง นางสาว กมนเกด มาจากทิศทางล่างขึ้นบน หลังไปหน้า และบาดแผลในร่าง นาย อัครเดช ไม่สามารถระบุถึงทิศทางกระสุนปืนได้ เนื่องจากทางเข้าของกระสุนรวมถึงตำแหน่งพบตะกั่วในร่างกายสั้นมากก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากภาพถ่าย จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ในขณะที่ทั้งสองคนถูกยิงนั้น กำลังคุกเข่าก้มลงกับพื้นโดยหันหน้าเข้าไปในวัด จึงเป็นเหตุให้ดูเสมือนหนึ่งว่าทิศทางวิถีกระสุนที่ยิงมายังผู้ตายทั้งสองนั้น ยิงมาจากล่างขึ้นบน และหลังไปหน้า

คดีเกี่ยวกับชายชุดดำยังคงอยู่ในระหว่างขั้นตอนตามกระบวนการยุติธรรม โดยทนายของจำเลยคดีชายชุดดำที่ก่อเหตุบริเวณสี่แยกคอกวัวได้ระบุว่าจำเลยถูกเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานและข่มขู่

[95]

รายงานขององค์การต่าง ๆ[แก้]

กรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ตรวจสอบเหตุการณ์ชุมนุมของนปช. และการสลายม็อบระหว่างวันที่ 12 มีนาคม–19 พฤษภาคม 2553 ใน 9 กรณี[96]

กรณีที่ 1 การสั่งการของรัฐบาลนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ การปฏิบัติหน้าที่และผู้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ที่มีผลสืบเนื่องมาจาก นปช.ปลุกระดมมวลชนชุมนุมเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ยุบสภาหรือลาออก บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคมเป็นต้นมา

กสม.สอบพยานบุคคลเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 28 รายนปช. 54 ราย ผู้ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมแต่อยู่ในเหตุการณ์ 26 ราย รวมทั้งพยานเอกสาร เช่น ข้อเท็จจริงจากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้ข้อสรุปว่า ผู้ชุมนุมกระทำเกินกว่าการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และแม้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ แต่ในวันที่ 10 เมษายน การที่รัฐบาลขอคืนพื้นที่ ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากลุ่ม นปช.ต่อต้านและขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ ทั้งยังมีกลุ่มชายชุดดำติดอาวุธปะปนอยู่กับผู้ชุมนุมถือว่าเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนที่มีอาวุธและมีลักษณะเป็นกระบวนการที่พร้อมใช้อาวุธและความรุนแรงได้ตลอดเวลา ดังนั้น การชุมนุมดังกล่าวจึงมิใช่การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

กสม.ยังระบุอีกว่า ในส่วนของรัฐบาล การขอคืนพื้นที่เมื่อวันที่ 10 เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนทั่วไป รัฐบาลทำไปตามมาตรการที่ได้ประกาศไว้ก่อนจริง เป็นการกระทำจากเบาไปหาหนัก จึงเป็นการกระทำภายใต้กฎหมายที่ให้อำนาจไว้

กรณีที่ 2 เหตุการณ์กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากระเบิดเอ็ม 79 บริเวณแยกศาลาแดงเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 กสม.สอบถามจากพยานบุคคลที่อยู่ในที่เกิดเหตุ 21 คน และพยานเอกสาร สรุปว่าการชุมนุมของนปช.เป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ มีการใช้ความรุนแรง

กรณีที่ 3 เหตุการณ์กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 คณะกรรมการเห็นว่าทหารเสียชีวิตจากอาวุธปืนและประชาชน รวมถึงทหารจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ ถือว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนทั่วไปและทหารที่เสียชีวิต แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าฝ่ายใดเป็นผู้กระทำ

กรณีที่ 4 เหตุการณ์กรณีการชุมนุมของกลุ่มนปช.บริเวณโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และสภากาชาดไทย และการบุกเข้าไปตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาฯเมื่อวันที่ 29 เมษายน เข้าข่ายบุกรุก และเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ ละเมิดสิทธิผู้อื่น ทำลายทรัพย์สินของโรงพยาบาล

กรณีที่ 5 เหตุการณ์กรณีการสั่งการของรัฐบาลการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมระหว่างวันที่ 13–19 พฤษภาคม รวมทั้งเหตุการณ์ต่อเนื่อง เช่น การเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ และอาคารต่าง ๆ

กสม. สรุปว่า นปช. ชุมนุมไม่สงบและมีอาวุธปืน มีกลุ่มบุคคลติดอาวุธแฝงตัวอยู่ในกลุ่มม็อบ ส่งผลต่อความมั่นคงภายในประเทศ ส่วนมาตรการกระชับพื้นที่สี่แยกราชประสงค์และบริเวณโดยรอบตั้งแต่วันที่ 13-19 พฤษภาคม 2553 ตามประกาศของ ศอฉ.นั้น กสม.เห็นว่า ผลที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งย่อมเป็นไปได้ว่ามาจากการกระทำของฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหาร รัฐบาลจึงมีหน้าที่รับผิดชอบเยียวยาผู้ที่เสียหาย และต้องสืบสวนหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ

กรณีที่ 6 การเสียชีวิต 6 ศพและการกระทำในรูปแบบอื่น ๆ ในวัดปทุมวนารามระหว่างวันที่ 19–20 พฤษภาคม กสม.อ้างว่าการรวบรวมหลักฐานในชั้นนี้ ไม่มีพยานยืนยันว่าใคร ฝ่ายใดเป็นผู้ยิงทั้ง 6 ศพ และผู้เสียชีวิตบางรายได้ความว่าเป็นการเสียชีวิตนอกวัดบางศพไม่รู้ว่าเสียชีวิตบริเวณใด แต่ทั้งหมดได้ถูกเคลื่อนย้ายมาไว้ในวัด กรณีที่เกิดขึ้นรัฐบาลไม่อาจปฏิเสธการเยียวยาชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น และควรสืบสวนหาข้อเท็จจริงและหาผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม

กรณีที่ 7 เหตุการณ์กรณีนายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 และระงับการออกอากาศสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล ตลอดจนการระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสถานีวิทยุชุมชน กสม.เห็นว่านายกฯกระทำที่อยู่ในขอบเขตของกฎหมายและเป็นการจำเป็นเหมาะสมในสถานการณ์ความรุนแรงและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

กรณีที่ 8 เหตุการณ์กรณีชุมนุมและการเคลื่อนขบวนของกลุ่ม นปช.ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม–20 พฤษภาคม ทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวมถึง นปช.เจาะเลือดของผู้ชุมนุมและนำไปเทที่พรรคประชาธิปัตย์และทำเนียบรัฐบาล นั้นถือว่าละเมิดสิทธิของผู้อื่น

กรณีที่ 9 การเสียชีวิตและบาดเจ็บของสื่อมวลชนเกิดขึ้นจากการยิงปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มบุคคลผู้ติดอาวุธแฝงในกลุ่มผู้ชุมนุม แม้ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าผู้ใดเป็นผู้ยิง และกลุ่มที่ติดอาวุธแฝงเป็นใคร ดังนั้น รัฐบาลจึงมีหน้าที่เยียวยาช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ

อ้างอิง[แก้]

  1. Erawan EMS Center, รายชื่อผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์การชุมนุมของกลุมนปช. เก็บถาวร 2012-03-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. MThai, มูลนิธิกระจกเงาเผยจลาจลคนหาย 74 พบ 23, 30 เก็บถาวร 2019-03-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. รายชื่อผู้เสียชีวิตทั้งหมด เก็บถาวร 2012-03-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ศูนย์เอราวัณ
  4. 4.0 4.1 Nation, Rescue teams bemoan soldiers' lack of trust เก็บถาวร 2011-06-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 27 May 2010
  5. "ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-18. สืบค้นเมื่อ 2010-07-24.
  6. MThai, มูลนิธิกระจกเงาเผยจลาจลคนหาย74พบ23 เก็บถาวร 2010-06-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 30
  7. "Bangkok protest leaders surrender as curfew begins". The Irish Times. May 19, 2010. สืบค้นเมื่อ 2010-05-20.
  8. MacKinnon, Mark (May 19, 2010). "D-Day in Battle of Bangkok". The Globe and Mail. Bangkok. สืบค้นเมื่อ 2010-05-20.
  9. Condie, Bill (May 19, 2010). "Expat life in the Battle of Bangkok". The Times. สืบค้นเมื่อ 2010-05-20.
  10. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, พฤษภาอำมหิตกับองค์การนิรโทษกรรมสากล เก็บถาวร 2010-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 2 มิถุนายน 2010
  11. รำลึกพฤษภาฯ ย้อนเวลาหาอดีต ชีวิตคน และชะตาประชาธิปไตย บีบีซีไทย สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2018
  12. CSM, Thai PM preps snipers, police to seal off Red-Shirt protest site, 13 May 2010
  13. Bangkok Post
  14. The Nation, Medics banned from entering 'red zones' เก็บถาวร 2010-08-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 16 May 2010
  15. Brisbane Times, 16 dead, more likely as Thai authorities ramp up protest crack down, 15 May 2010
  16. "Thai violence claims more lives". BBC News. 15 May 2010.
  17. "Thailand toughens stand against spiraling protests". Reuters. 16 May 2010.
  18. 18.0 18.1 18.2 SMH, Red-Shirts on rampage in Bangkok, 19 May 2010
  19. การชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
  20. รดน้ำศพตำรวจถูกยิงที่สีลมอย่างสมเกียรติ
  21. รับศพตำรวจถูกยิงที่สีลม[ลิงก์เสีย]
  22. Fuller, Thomas; Mydans, Seth (13 May 2010). "Explainer: Thai General Shot; Army Moves to Face Protesters". New York Times. สืบค้นเมื่อ 23 May 2010.
  23. "Explainer: Thailand's political crisis". CNN. 26 February 2010. สืบค้นเมื่อ 18 May 2010.
  24. "ด่วน!! ผู้สื่อข่าว ตปท.เผยนาที"เสธ.แดง" ถูกยิง สงสัยโดน"สไนเปอร์"ส่อง หามส่งรพ.หัวเฉียวแล้ว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-28. สืบค้นเมื่อ 2010-06-13.
  25. "ทหารยิงกระสุนยางไล่ม็อบระดมคนปิดทางเข้าออกสวนลุมพินี เสื้อแดงบาดเจ็บถูกหามส่งโรงพยาบาลกว่า20ราย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-16. สืบค้นเมื่อ 2010-06-13.
  26. ตายแล้ว1ราย ปะทะศาลาแดง ย้ายเสธ.ไปวชิระ
  27. Sian Powell and Joanna Sugden (14 May 2010). "Violent stand-off in heart of Thai capital". The Times. London. สืบค้นเมื่อ 16 May 2010.
  28. "เผชิญหน้า!! ทหารยิงปืนสกัดไม่ให้ นปช.รุกคืบ หวังยึดพื้นที่คืนหน้าสนามมวยเวทีลุมพินี นปช.ยิงพลุตะไลใส่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-17. สืบค้นเมื่อ 2010-06-13.
  29. "ปะทะเดือด!! นปช.ถูกยิง2ราย จากเหตุยิงปะทะกันที่หน้า ไนท์ บาร์ซ่าร์ ช่างภาพมติชนถูกยิงที่บริเวณขา นำตัวส่งรพ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-17. สืบค้นเมื่อ 2010-06-13.
  30. "ปะทะกันอีกรอบ!! ทหาร-เสื้อแดง ยิงเข้าใส่กันที่แยกราชปรารภ รัฐหวังยึดพื้นที่คืน นปช.ถอยร่นไปถึงประตูน้ำ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-17. สืบค้นเมื่อ 2010-06-13.
  31. "ทหารรุกคืบวางลวดหนามแยกบ่อนไก่อีกรอบ นปช.เผายางรถยนต์กลิ้งใส่สกัดกั้น ตายแล้ว1เจ็บ12". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-17. สืบค้นเมื่อ 2010-06-13.
  32. "แยกบ่อนไก่เดือดไม่หยุด ส่องท้ายทอยเสื้อแดงดับทันที ทหารปักหลักประเมินสถานการณ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-17. สืบค้นเมื่อ 2010-06-13.
  33. "As it happened: Unrest in Bangkok". BBC News. 14 May 2010. สืบค้นเมื่อ 14 May 2010.
  34. "บึ้มสนั่นเวทีราชประสงค์ม็อบเสื้อแดงกระเจิง แกนนำกำลังปราศรัยโดดหนีตาย บาดเจ็บ15คน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-17. สืบค้นเมื่อ 2010-06-13.
  35. ยิงบึ้ม6ลูกซ้อนจุดตรวจทหารแยกศาลาแดง จนท.เคลื่อนรถหุ้มเกราะนปช.ต้านเดือดปืน-ระเบิดก้อง[ลิงก์เสีย]
  36. "ทหารยิงวัยรุ่น18 ปีขณะขี่จยย.มาตามถนนสาทร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-17. สืบค้นเมื่อ 2010-06-13.
  37. "ปฏิบัติการจนท.กระชับพื้นที่ชุมุนมปชช.ตาย 7 บาดเจ็บ 101 คนถูกยิง"หัว-ปาก-ท้อง"สอยช่างภาพร่วงหลายราย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-17. สืบค้นเมื่อ 2010-06-13.
  38. "Ten dead, 125 injured in Bangkok violence". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-18. สืบค้นเมื่อ 2010-06-13.
  39. Ian MacKinnon and Damien McElroy (14 May 2010). "Ten killed in Thailand as police join Red Shirt protest". The Telegraph. London. สืบค้นเมื่อ 14 May 2010.
  40. "ยิงรถตู้แดงแหกด่านเจ็บ 3". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-20. สืบค้นเมื่อ 2010-06-13.
  41. Parry (18 May 2010). "Thai stand-off as Red Shirt peace talks rejected but Army stays away". The Times. London. สืบค้นเมื่อ 20 May 2010. {{cite news}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |fist= ถูกละเว้น (help)
  42. Doherty, Ben (15 May 2010). "Redshirts warn of civil war as Thai troops told to shoot on sight". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 16 May 2010.
  43. ยอดตายพุ่ง 24 บาดเจ็บ 187 เป็นต่างชาติ 5
  44. จับตาสถานการณ์"เสื้อแดงชุมนุม"
  45. Parry, Richard Lloyd (17 May 2010). "Violence reduces central Bangkok to a 21st-century Sarajevo". The Times. London. สืบค้นเมื่อ 20 May 2010.
  46. "Seh Daeng pronounced dead at 9:20 am". The Nation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-19. สืบค้นเมื่อ 20 May 2010.
  47. พึ่งพระบารมี[ลิงก์เสีย]
  48. ยอดเหตุปะทะล่าสุด ตาย 31 เจ็บ 261
  49. "ถล่มเอ็ม79 สนั่นทั้งคืน รร.ดุสิตฯ-ตึกอื้อจื่อเหลียง-พระราชานุสาวรีย์ร.6 ทหารปะทะกันเองคาดเข้าใจผิด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-20. สืบค้นเมื่อ 2010-06-13.
  50. "ถล่มเอ็ม79 สนั่นทั้งคืน รร.ดุสิตฯ-ตึกอื้อจื่อเหลียง-พระราชานุสาวรีย์ร.6 ทหารปะทะกันเองคาดเข้าใจผิด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-20. สืบค้นเมื่อ 2010-06-13.
  51. ยอดผู้เสียชีวิตเหตุปะทะ14-17พ.ค. 36 ราย เจ็บ 252 ราย[ลิงก์เสีย]
  52. "Thailand government rejects Bangkok protest talks offer". BBC News. 18 May 2010. สืบค้นเมื่อ 2010-05-19.
  53. Adrees Latif and Damir Sagolj (19 May 2010). "Bangkok burns as protest leaders surrender". Reuters. สืบค้นเมื่อ 2010-05-19.
  54. "Troops break into Red Shirt camp - ABC News (Australian Broadcasting Corporation)". Abc.net.au. สืบค้นเมื่อ 2010-05-19.
  55. "เปิดบันทึกเจรจา 'นปช.-ส.ว.' ก่อนสลาย 19 พ.ค.53 ทำไมถึงประณาม "มาร์ค" ว่าหักหลัง".[ลิงก์เสีย]
  56. O Thai One Day
  57. "เปิดบันทึกเจรจา 'นปช.-ส.ว.' ก่อนสลาย 19 พ.ค.53 ทำไมถึงประณาม "มาร์ค" ว่าหักหลัง".[ลิงก์เสีย]
  58. กองทัพทำยุทธการปิดล้อมพื้นที่ชุมนุม[ลิงก์เสีย]
  59. "เปิดบันทึกเจรจา 'นปช.-ส.ว.' ก่อนสลาย 19 พ.ค.53 ทำไมถึงประณาม "มาร์ค" ว่าหักหลัง".[ลิงก์เสีย]
  60. คลิปวีดีโอการปราบปราม 19 พ.ค.
  61. พลเมืองเพื่อเสรีภาพและความยุติธรรม
  62. สรุปความเสียหายเบื้องต้นจากเหตุ เสื้อแดงป่วนเมืองเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 กว่า 13 ล้านบาท[ลิงก์เสีย]
  63. เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่[ลิงก์เสีย]
  64. มีผู้บาดเจ็บนำส่งโรงพยาบาลตำรวจ[ลิงก์เสีย]
  65. ผู้ชุมนุมพบเห็นกำลังทหาร[ลิงก์เสีย]
  66. "สื่อนอกระบุนักข่าวต่างชาติถูกยิง 3 รายคาดตาย1 ม็อบถูกยิง 2 ราย พบ 2 ศพถูกยิงหัวนอนนิ่งบนถ.ราชดำริ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-22. สืบค้นเมื่อ 2010-06-11.
  67. แถลงยุติชุมนุม![ลิงก์เสีย]
  68. "จลาจลจุดไฟเผากรุงเทพฯ ผงะอีก 6 ศพในวัดปทุมวนาราม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2015-05-20.
  69. แดงประกาศ ยุติชุมนุม ระเบิดใกล้เวที
  70. "RTÉ News: Thai forces to fire on looters and arsonists". Rte.ie. สืบค้นเมื่อ 2010-05-19.
  71. McElroy, Damien (19 May 2010). "Thailand protests: Red shirts surrender as army storms Bangkok camp". London: Telegraph. สืบค้นเมื่อ 2010-05-19.
  72. "จลาจลจุดไฟเผากรุงเทพฯ ตายเพิ่มอีก 6". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-22. สืบค้นเมื่อ 2010-06-11.
  73. จลาจลจุดไฟเผากรุงเทพฯ ผงะอีก 9 ศพในวัดปทุมวนาราม[ลิงก์เสีย]
  74. "แกนนำ นปช.ได้รับการรับรองที่ดี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-25. สืบค้นเมื่อ 2010-06-11.
  75. "วิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2010-06-11.
  76. "แกนนำนปช.แถลงข่าว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2010-06-11.
  77. เสื้อแดงตั้งเวทีย่อยรอบนอก อนุสาวรีย์-บ่อนไก่[ลิงก์เสีย]
  78. ""สนนท."ตั้งเวทีย่อยหน้ารามฯหวิดปะทะนศ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-25. สืบค้นเมื่อ 2010-06-11.
  79. ชุมนุมจังหวัดราชบุรี[ลิงก์เสีย]
  80. การประกาศชุมนุมต่อแต่ไม่เป็นผล
  81. "ม็อบขับไล่อภิสิทธิ์" นปช.ปิดถนนยึดกรุง สู่บทสรุปข้อหา "ก่อการร้าย 53"
  82. เผาห้างย่านราชประสงค์พินาศ
  83. กลุ่มคนป่วนกรุง เผาห้างดัง CTW
  84. ผู้ชุมนุมยังทำลายทรัพย์สินกระจกหน้าต่าง[ลิงก์เสีย]
  85. "รวมผู้เสียชีวิต" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-03-06. สืบค้นเมื่อ 2011-05-22.
  86. บีบพื้นที่ม็อบ5วัน ตาย36ศพ บาดเจ็บ280ราย
  87. กระชับพื้นที่ชุมนุม ปชช.เสียชีวิต 17ต่างชาติ 3 รายเจ็บ 157 จนท.กู้ภัยถูกยิงตาย-สอยช่างภาพร่วงหลายราย[ลิงก์เสีย]
  88. ทหารกับความตายของผู้ชุมนุม เม.ย.-พ.ค.2553
  89. ""'ตัวเลขเป๊ะ ๆ หลุดมาได้อย่างไร' เสียงบ่นจากพล.อ.ดาว์พงษ์ กรณียอดเบิกจ่ายกระสุนพฤษภามหาโหด"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-12-14. สืบค้นเมื่อ 2015-06-26.
  90. "ศาลยกฟ้องคดีอภิสิทธิ์-สุเทพ สั่งสลายม็อบ ชี้อำนาจศาลฎีกาฯนักการเมือง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2015-06-26.
  91. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
  92. "ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-02-18. สืบค้นเมื่อ 2016-05-06.
  93. ทหารกับความตายของผู้ชุมนุม เม.ย.-พ.ค.2553
  94. เปิดคำสั่งศาลโดยย่อ ทำไม 6 ศพวัดปทุม เสียชีวิตจากทหาร
  95. นัดตรวจพยานหลักฐานคดี ‘ชายชุดดำ’ ทนายเผยเตรียมประกันตัวอีกครั้ง
  96. รายงาน: ชำแหละรายงาน กสม. ความตายในอุ้งมือนักสิทธิมนุษยชน

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]