การสงครามสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การสงครามสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

แผนที่รัฐสยามทั้ง 5 (รวมเมืองหลวงด้วย) ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2310
วันที่2310–2313/14[1][2][a]
สถานที่
ผล ชัยชนะของกรุงธนบุรี การรวมสยามภายใต้อาณาจักรธนบุรี
คู่สงคราม
รัฐธนบุรี (อาณาจักรธนบุรี) รัฐพิมาย
รัฐพิษณุโลก
รัฐสวางคบุรี
รัฐนครศรีธรรมราช
ราชรัฐบันทายมาศ (ห่าเตียน)
ราชวงศ์โก้นบอง (พม่า)
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
เจ้าพระยาจักรี
เจ้าพระยาสุรสีห์
พระยาพิชัยดาบหัก
พระยาจ่าบ้าน
พระยากาวิละ
พระยาไวยวงศา
กรมหมื่นเทพพิพิธ  โทษประหารชีวิต
เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง โรจนกุล) 
เจ้าพระฝาง (MIA)
เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) (เชลย)
พระยาราชาเศรษฐี (ม่อซื่อหลิน)
Maengki Manya
กำลัง
ไม่ทราบ ไม่ทราบ
ความสูญเสีย
ไม่ทราบ ไม่ทราบ

หลังจากการล่มสลายของอาณาจักรอยุธยาในช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เกิดสุญญากาศทางอำนาจทำให้สยามแบ่งออกเป็น 5 รัฐ คือ พิมาย พิษณุโลก สวางคบุรี นครศรีธรรมราช และธนบุรี กองทัพพม่าหลังจากตีกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ ต้องรีบเดินทางกลับไปปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนจากการรุกรานของจีน ทำให้เกิดสุญญากาศทางอำนาจในสยาม

รัฐธนบุรีซึ่งนำโดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีชัยเหนือรัฐคู่แข่งทั้ง 4 และรวมสยามเป็นปึกแผ่นได้สำเร็จอีกครั้งใน พ.ศ. 2313/14[3][4][a]

เพื่อป้องกันการรุกรานของพม่าในอนาคต สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงรุกรานล้านนา ในขณะที่พระเจ้ามังระทรงส่งกองกำลังขนาดเล็กเข้าตอบโต้การรุกรานของสมเด็จพระเจ้าตากสิน อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขับไล่กองทัพพม่าขนาดเล็กและยึดล้านนากลับคืนมาได้สำเร็จในปี 2318 ทำให้พระเจ้ามังระที่กำลังจะสวรรคตตัดสินพระทัยส่งกองทัพใหญ่มาตีกรุงธนบุรี เหมือนคราวส่งมังมหานรธาและเนเมียวสีหบดีมาตีกรุงศรีอยุธยาในปี 2310 ก่อนที่พระเจ้ามังระจะสวรรคตในปีถัดมา

ภูมิหลัง[แก้]

ต้นกำเนิดของพระยาตาก[แก้]

พระยาตากเกิดเมื่อปี 2277[5][6] มีนามว่า สิน[7] หรือ เจิ้ง ซิน[8] พ่อของเขาเป็นพ่อค้าชาวจีนแต้จิ๋วและนายภาษีอากรชื่อเจิ้ง หยง[5][6] ซึ่งก่อนหน้านี้อพยพมาจากหมู่บ้านหัวฟู่ในอำเภอเฉิงไห่[6][9] มณฑลกวางตุ้ง เพื่อมารับราชการในสยาม มารดาชื่อนกเอี้ยง[5] มีเชื้อสายสยาม-มอญ[10] ต่อมาสินได้เป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยาจักรีที่สมุหนายก หลังจากอุปสมบทและถวายตัวเป็นมหาดเล็กแล้ว สินได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองตากเมื่อปี 2307[9] มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาตาก ในปี 2308 พระยาตากได้รับคำสั่งจากราชสำนักอยุธยาให้ลงมาช่วยป้องกันพระนครจากการรุกรานของพม่า[5] ที่นำโดยมังมหานรธาและเนเมียวสีหบดี ไม่ค่อยมีใครรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพระยาตากก่อนปี 2308 เนื่องจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เหลืออยู่น้อยมาก

พม่าบุกตีกรุงศรีอยุธยา[แก้]

กษัตริย์มอญคือพญาทะละแห่งอาณาจักรหงสาวดียึดเมืองอังวะซึ่งเป็นเมืองหลวงของพม่าในปี 2295[11][12] โค่นล้มราชวงศ์ตองอูของพม่าที่มีอายุหลายศตวรรษ สุญญากาศทางอำนาจทำให้อองไจยะ[11] ผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านมุกโชโบ (ชเวโบในปัจจุบัน) มีอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในการต่อต้านการปกครองของมอญ[11] หลังจากโค่นอาณาจักรหงสาวดีลงได้ อองไจยะได้จัดพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าอลองพญา ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โก้นบองในปี 2295[11]

การเดินทางสู่จันทบุรีของพระยาตาก[แก้]

ออกจากกรุงศรีอยุธยา[แก้]

ภายในเดือนมกราคม 2309 สถานการณ์การป้องกันกรุงศรีอยุธยาเริ่มเลวร้ายเนื่องจากเสบียงอาหารหมดลง และผู้คนจำนวนมากยอมจำนนต่อพม่าที่ปิดล้อมพระนคร ต่อมาเมื่อดินปืนของกรุงศรีอยุธยามีไม่เพียงพอ พระเจ้าเอกทัศน์จึงได้มีพระบรมราชโองการว่าก่อนจะยิงปืนใหญ่ทุกครั้งจะต้องได้รับอนุญาตจากราชสำนักก่อน พระยาตากถูกจับฐานยิงปืนใหญ่โดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้พระยาตากท้อถอย เมื่อทราบว่ากรุงศรีอยุธยาไม่สามารถต้านทานการโจมตีของพม่าได้ พระยาตากจึงวางแผนที่จะบุกทะลวงวงล้อมพม่าไปทางทิศตะวันออก ในคืนวันที่ 3 มกราคม 2309 พระยาตากรวบรวมเสบียงอาหารและทหารฝ่ายสยาม-จีนจำนวนประมาณ 500 นาย[13]วัดพิชัยสงคราม นอกกำแพงเมืองด้านตะวันออกของกรุงศรีอยุธยา ผู้ติดตามเดิมของพระยาตากที่สำคัญทั้ง 4 ได้แก่

  • พระเชียงเงิน, เจ้าเมืองเชียงเงินใกล้เมืองตาก
  • หลวงพิชัยอาสา (ทองดี ฟันขาว) คนเมืองพิชัย
  • ขุนพิพิธวาที (เฉิน เหลียน) ชาวจีนแต้จิ๋ว
  • นักองค์นนแห่งกัมพูชาซึ่งลี้ภัยมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาเมื่อปี 2301 เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในกัมพูชา

นอกเหนือจากนี้ พงศาวดารไทยยังกล่าวถึงชื่ออื่น ๆ อีกหลายชื่อที่ไม่สามารถระบุได้ ผู้ติดตามเดิมของพระยาตากส่วนใหญ่เป็นขุนนางระดับกลาง ในคืนนั้นพระยาตากได้นำกองทัพผู้ติดตามตีฝ่าวงล้อมพม่าไปทางทิศตะวันออกได้สำเร็จก่อนเที่ยงคืน ในเวลาเที่ยงคืนเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่กรุงศรีอยุธยาซึ่งสว่างไสวจนทำให้พระยาตากสามารถมองเห็นได้ วันรุ่งขึ้น 4 มกราคม 2309 กองทัพพม่าพยายามไล่ตามพระยาตากมาถึงที่บ้านโพธิ์สังหารห่างจากกรุงศรีอยุธยาไปทางทิศตะวันออกประมาณ 20 กิโลเมตร (ปัจจุบันอยู่ในอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) พระยาตากนำทัพสยาม-จีนขับไล่ทัพพม่าที่ไล่ตามมาได้สำเร็จ[14] พร้อมกับเกิดวีรกรรมของนางโพชาวบ้านในพื้นที่นั้นซึ่งนำชาวบ้านอาสาสู้รบกับพม่าเพื่อช่วยพระยาตากจนตายในสนามรบ และต่อมาบริเวณนี้จึงเปลี่ยนชื่อเป็นตำบลโพสาวหาญเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของนางโพ นอกจากนี้ รัฐบาลยังกำหนดให้วันที่ 4 มกราคมของทุกปีเป็นวันทหารม้าอีกด้วย[15] ชัยชนะของพระยาตากในศึกครั้งนี้เป็นชัยชนะครั้งแรกหลังออกจากกรุงศรีอยุธยา

วันที่ 5 มกราคม ผู้นำท้องถิ่นชื่อขุนชำนาญไพรสณฑ์ มอบช้าง 6 เชือกให้พระยาตาก ก่อนเข้าร่วมกับพระยาตาก ขุนชำนาญไพรสณฑ์ยังได้นำพระยาตากไปยังบ้านดง (เมืองนครนายกในปัจจุบัน) ซึ่งพระยาตากพบกับการต่อต้านครั้งแรกจากผู้นำท้องถิ่นที่ปฏิเสธที่จะยอมจำนน ชาวบ้านดงเองก็ตั้งค่ายทหารประมาณ 1,000 คน[14] พระยาตากนำกำลังพลที่ด้อยกว่าเข้าโจมตีบ้านดงเมื่อวันที่ 6 มกราคม ค่ายบ้านดงพ่ายแพ้และยอมจำนนต่อพระยาตาก[14] พระยาตากเดินทางต่อผ่านนครนายกถึงปราจีนบุรีเมื่อวันที่ 10 มกราคม พระเชียงเงินเดินทัพติดตามพระยาตากอย่างช้า ๆ จนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง พระยาตากลงโทษพระเชียงเงิน[14] กองทัพพม่าขนาดใหญ่ยกพลมาที่ปากน้ำโจ้โล้ริมแม่น้ำบางปะกง เมืองฉะเชิงเทรา มุ่งหน้าไปหาพระยาตากที่ปราจีนบุรี พระยาตากจึงเตรียมเผชิญหน้ากับพม่าและตั้งปืนใหญ่ไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำ พระยาตากสั่งปืนใหญ่ทั้งหมดยิงเข้าใส่พม่าและเข้าบดขยี้พร้อมกัน ทำเช่นนี้สามครั้งแล้วพม่าก็แตกพ่ายไปในที่สุด[14]

หลังจากได้รับชัยชนะเหนือพม่า พระยาตากก็เปลี่ยนเส้นทางเดินทัพล่องไปตามแม่น้ำบางปะกงมุ่งหน้าสู่อ่าวไทยถึงบางปลาสร้อย (ปัจจุบันคือ จังหวัดชลบุรี) ทางชายฝั่งตะวันออกเมื่อวันที่ 19 มกราคม เขาปราบกองกำลังต่อต้านในท้องถิ่นที่พัทยาแล้วเดินทัพต่อผ่านจอมเทียนและสัตหีบตามแนวชายฝั่งตะวันออกถึงเมืองระยองในวันที่ 25 มกราคม[14]

พระยาตากที่เมืองระยอง[แก้]

ปลายเดือนมกราคม 2309 พระยาตากและผู้ติดตามเดินทางถึงชานเมืองระยอง ซึ่งเจ้าเมืองระยองมาพบพระยาตากเพื่อแสวงหาพันธมิตร[14] วันที่ 21 มกราคม พระยาตากเคลื่อนทัพไปตั้งทัพที่วัดลุ่มมหาชัยชุมพลในตัวเมืองระยอง โดยพระยาตากแต่งตั้งผู้ใต้บังคับบัญชาคือพระเชียงเงินเป็นพระท้ายน้ำ พระยาตากยังได้เลื่อนยศผู้ใต้บังคับบัญชาจาก ขุน ขึ้นเป็น หลวง อีกด้วย พระยาตากได้แต่งตั้งขุนนางและข้าราชการของตนก่อนขึ้นเป็นกษัตริย์พระนามว่า เจ้าตาก

2 วันต่อมา คือในวันที่ 23 มกราคม มีชาย 2 คนจากในเมืองระยองมาแจ้งเจ้าตากว่านี่เป็นแผนล่อเจ้าตากให้ติดกับดักของขุนนางระยอง 2 คน คือ ขุนรามและหมื่นซ่อง ซึ่งรวบรวมกำลังพล 1,500 นายจากนอกเมืองระยองเข้าโจมตีเจ้าตากในคืนนั้น เจ้าตากตระหนักว่าพระองค์ถูกหลอก จึงจับเจ้าเมืองระยองเข้าคุกและเตรียมกำลังรับมือการโจมตี[14]

  • หลวงชำนาญไพรสณฑ์และพระท้ายน้ำบังคับบัญชากองทหารสยาม
  • หลวงพิพิธวาทีและหลวงพิชัยอาสาบังคับบัญชากองทหารจีน

ในคืนวันที่ 23 มกราคม 2309 ขุนรามและหมื่นซ่องยกกำลังเข้าเมืองระยองโดยข้ามสะพาน เจ้าตากส่งกำลังเข้าโจมตีศัตรูที่สะพานสังหารศัตรูที่กระโจนลงน้ำจนแตกพ่ายไป[14] ขุนรามและหมื่นซ่องกลับมารวมตัวกันที่เมืองแกลงทางทิศตะวันออกของเมืองระยอง

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2309 หลังจากชัยชนะที่เมืองระยอง เจ้าตากได้ประกาศแผนการที่จะยึดเมืองจันทบุรีเพื่อยึดชายฝั่งสยามตะวันออกทั้งหมดให้อยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์ เจ้าตากได้ใช้วิธีทางการทูตก่อนโดยส่งผู้แทนของพระองค์ไปเรียกร้องการยอมจำนวนจากพระยาจันทบุรี พระยาจันทบุรีแสร้งทำเป็นยอมรับข้อเรียกร้องและสัญญาว่าจะไปเข้าเฝ้าเจ้าตากที่เมืองระยองเพื่อยอมจำนน เจ้าตากรออยู่ 10 วันโดยไม่มีการตอบรับจากพระยาจันทบุรี[14] ขณะเดียวกันขุนรามและหมื่นสองซึ่งตั้งมั่นอยู่ที่เมืองแกลงภายหลังพ่ายแพ้ต่อเจ้าตากได้ส่งกำลังมาโจมตีเมืองระยองอย่างต่อเนื่องในปลายเดือนมีนาคม 2309 เจ้าตากจึงส่งกำลังเข้าโจมตี ขุนรามและหมื่นซ่องพ่ายแพ้อีกครั้ง คราวนี้หนีไปจันทบุรีเพื่อขอความคุ้มครองจากพระยาจันทบุรี[14]

เจ้าตากยังตัดสินพระทัยขอความช่วยเหลือทางทหารจากฮาเตียนซึ่งถูกปกครองโดยหมักเทียนตื๊อ ชาวกวางตุ้งซึ่งเป็นผู้นำที่โดดเด่นที่สุดในพื้นที่ในขณะนั้นเพื่อต่อต้านพม่า เจ้าตากมอบหมายให้พระยาพิชัยราชาถือ "พระราชสาส์น" ของพระองค์ไปมอบให้หมักเทียนตื๊อเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2309 ซึ่งกลายเป็นการติดต่อครั้งแรกระหว่างเจ้าตากและหมักเทียนตื๊อ พระยาพิชัยราชากลับถึงระยองในอีกหนึ่งเดือนต่อมาในวันที่ 27 เมษายน 2310

ในเดือนเมษายน 2310 มีชาวเมืองชลบุรีคนหนึ่งชื่อ นายทองอยู่ นกเล็ก ประกาศตัวเป็นหัวหน้าโจรสลัดและปล้นเรือสินค้า เจ้าตากยกทัพเรือจากระยองไปปราบนายทองอยู่ นกเล็ก นายทองอยู่ นกเล็ก ยอมจำนนต่อเจ้าตาก เจ้าตากจึงแต่งตั้งนายทองอยู่ นกเล็กเป็น พระยาอนุราชบุรีศรีมหาสมุทร เจ้าเมืองชลบุรี[14] เมื่อกรุงศรีอยุธยาล่มสลายในวันที่ 7 เมษายน 2310 อาณาเขตของเจ้าตากทอดยาวจากเมืองชลบุรีไปยังเมืองระยองทางชายฝั่งตะวันออก

การเสียกรุงศรีอยุธยา[แก้]

หลังจากทนการล้อมของพม่าได้นานถึง 14 เดือน กรุงศรีอยุธยาก็เสียให้กับพม่าในที่สุดในวันที่ 7 เมษายน 2310 พม่าเข้าปล้นสะดมเผาเมืองจนราบคาบ ยุติระยะเวลาการเป็นราชธานีนานถึง 417 ปีของกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์องค์ที่ 33 และกษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา สิ้นพระชนม์ด้วยความอดอยากในอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมาหรือจากการยิงปืนของทหารพม่า ได้มีการฝังพระศพของพระเจ้าเอกทัศน์ที่ค่ายโพธิ์สามต้น กองทัพพม่าภายใต้การนำของเนเมียวสีหบดี ได้เคลื่อนกำลังชาวกรุงศรีอยุธยาประมาณ 30,000 คน รวมทั้งพระเจ้าอุทุมพร สมาชิกราชวงศพระองค์อื่น ๆ และชนชั้นสูงกลับไปยังพม่า หลังจากมีชัยชนะเหนือกรุงศรีอยุธยาแล้ว กองทัพพม่าจำต้องถอนกำลังส่วนใหญ่ออกจากกรุงศรีอยุธยากลับไปเพื่อป้องกันการรุกรานจากจีน ทำให้ไม่มีเวลาไปยึดครองสยาม กองทัพพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อเดือนมิถุนายน 2310 ทิ้งกองทหารไว้ 2 กองที่ค่ายโพธิ์สามต้นทางตอนเหนือของกรุงศรีอยุธยา (ปัจจุบันอยู่ที่อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของชาวมอญตำแหน่งพระนายกองชื่อ ทองสุก หรือ สุกี้พระนายกอง ขณะที่ธนบุรีอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของชายชาวสยามชื่อทองอิน

การก่อกำเนิดระบบขุนศึก[แก้]

การล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาและการถอนตัวของพม่าทำให้เกิดสุญญากาศอำนาจครั้งใหญ่ในสยาม สยามเข้าสู่ยุคอนาธิปไตยโดยไม่มีอำนาจจากศูนย์กลางอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาอีกต่อไป หัวเมืองต่าง ๆ เริ่มเกิดความวุ่นวาย เจ้าเมืองและผู้นำท้องถิ่นจำนวนมากประกาศตนเป็นอิสระ 5 ผู้นำท้องถิ่นที่โดดเด่นภายหลังการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาได้แก่

  • กรมหมื่นเทพพิพิธ (พระองค์เจ้าแขก) พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งประกาศพระองค์เป็นอิสระที่เมืองพิมายทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากผู้ปกครองทั้ง 5 มีเพียงกรมหมื่นเทพพิพิธเท่านั้นที่อ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยา
  • ทางภาคเหนือ เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เจ้าเมืองพิษณุโลกประกาศตนเป็นอิสระที่เมืองพิษณุโลก
  • เจ้าพระฝาง พระภิกษุในท้องถิ่นผู้ประกาศตนเป็นอิสระที่สวางคบุรีทางตอนเหนือสุดของสยามพร้อมกับขุนนางรวมทั้งพระภิกษุที่นุ่งห่มจีวรสีแดงด้วย
  • ทางด้านทิศใต้ พระยาราชสุภาวดีเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชได้ยกกำลังขึ้นไปร่วมป้องกันกรุงศรีอยุธยาก่อนหน้านี้ แต่พระยาราชสุภาวดีกลับถูกคุมขังที่กรุงศรีอยุธยา ทิ้งให้พระปลัดหนูซึ่งเป็นปลัดเมืองต้องดูแลเมืองนครศรีธรรมราชแทน ภายหลังการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา พระปลัดหนูประกาศตนเป็นเจ้านคร ผู้ปกครองสยามตอนใต้ทั้งหมดโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช
  • เจ้าตากซึ่งอยู่ในเมืองระยองก็ประกาศตนเป็นผู้ปกครองด้วย

พิชิตเมืองจันทบุรี[แก้]

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ชาวจีนแต้จิ๋วได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกของสยาม โดยเฉพาะที่เมืองชลบุรีและจันทบุรี เมืองจันทบุรีมีชาวจีนเป็นเจ้าเมือง Pu Lan คือพระยาจันทบุรีที่ได้ร่วมมือกับขุนรามและหมื่นซ่องศัตรูของเจ้าตาก พระยาจันทบุรีส่งพระภิกษุ 4 รูปไประยองเพื่อเชิญเจ้าตากเสด็จไปจันทบุรีในเดือนเมษายน 2310 แม้จะรู้ว่าเป็นกับดัก แต่เจ้าตากก็ตัดสินพระทัยเสด็จไปแต่ไม่ได้เสด็จไปพระองค์เดียว พระองค์ใช้เวลาสองเดือนในการเตรียมกองทัพเพื่อพิชิตจันทบุรี การพิชิตจันทบุรีเป็นจุดเปลี่ยนในพระชนม์ชีพของเจ้าตากเมื่อพระองค์ก้าวขึ้นมาจากผู้นำท้องถิ่นสู่ผู้นำระดับภูมิภาค เจ้าตากและผู้ติดตามของพระองค์ออกจากเมืองระยองในเดือนมิถุนายน 2310 เดินทางไปจันทบุรีทางบก พระยาจันทบุรีส่งผู้แทนไปสกัดกั้นเจ้าตากเพื่อล่อเจ้าตากให้ข้ามแม่น้ำจันทบุรีที่กองกำลังจันทบุรีรอซุ่มโจมตีอยู่ เจ้าตากสั่งทัพให้หยุดไปทางนั้นแล้วให้เคลื่อนทัพไปที่ประตูท่าช้างทางตอนเหนือของจันทบุรีแทน

เจ้าตากประทับอยู่ที่วัดแก้วซึ่งเป็นที่ตั้งค่ายและตั้งกองกำลังป้องกัน พระยาจันทบุรีก็วางกำลังป้องกันไว้บนกำแพงเมืองด้วย พระยาจันทบุรีส่งผู้แทนเข้าเฝ้าเจ้าตากกระตุ้นให้เจ้าตากเสด็จเข้าไปในเมือง เจ้าตากยืนกรานให้พระยาจันทบุรีมาพบพระองค์ที่วัดแก้ว เจ้าตากยังตรัสให้พระยาจันทบุรีมอบขุนรามและหมื่นซ่องให้กับเจ้าตากด้วย ในตอนเย็นของวันที่ 15 มิถุนายน 2310 เจ้าตากได้รับสั่งให้กองทัพกินเสบียงอาหารที่เหลือให้หมดและทำลายหม้อข้าวให้หมดโดยกดดันว่าจะต้องได้รับชัยชนะก่อนอาหารมื้อต่อไป ทำเช่นนี้เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้ยึดเมืองจันทบุรีได้สำเร็จ เพราะถ้าไม่ทำก็อาจจะตายในสนามรบหรือไม่ก็อดอยาก ตามพระราชพงศาวดารกล่าวว่า "คืนนี้เราจะโจมตีจันทบุรี ทำลายข้าวของเครื่องใช้ที่เรามีให้หมด เพราะพรุ่งนี้เช้าเราจะไปกินข้าวที่ในเมืองจันทบุรี"

เจ้าตากยกทัพเข้าโจมตีจันทบุรีในคืนวันที่ 15 มิถุนายน ฝ่ายจันทบุรีตอบโต้ด้วยกระสุนจำนวนมาก กระสุนเฉียดเจ้าตากซึ่งขี่ช้างชื่อพังคีรีบัญชรอย่างหวุดหวิด ควาญช้างสั่งให้ถอยช้างเพื่อความปลอดภัย แต่เจ้าตากขู่ว่าจะประหารควาญเพราะไม่เชื่อฟังจึงหันไปพูดกับช้างแทน ทำให้ช้างวิ่งชนทำลายประตูเมืองจันทบุรี จันทบุรีเสียแก่เจ้าตากในคืนวันที่ 15 มิถุนายน พระยาจันทบุรีและครอบครัวหนีไปลี้ภัยที่ฮาเตียน

พิชิตเมืองตราด[แก้]

หลังจากพิชิตจันทบุรี เจ้าตากและกองกำลังของพระองค์ได้ยกทัพไปยังเมืองตราดซึ่งเป็นเมืองท่าทางตะวันออกสุดของสยาม เจ้าตากพบเรือโจรสลัดจีนแต้จิ๋วจอดทอดสมออยู่ที่ท่าเรือเมืองตราดซึ่งพวกเขาปฏิเสธที่จะยอมจำนน เจ้าตากจึงมีรับสั่งให้กองกำลังของพระองค์เข้าโจมตีโจรสลัดจีน การต่อสู้เกิดขึ้นครึ่งวันจนกระทั่งเจ้าตากได้รับชัยชนะในที่สุด โจรสลัดจีนจำนวนมากถูกสังหารในการสู้รบ เจียม ผู้นำโจรสลัดยอมสวามิภักดิ์ต่อเจ้าตาก เมื่อพิชิตตราดได้ เจ้าตากก็ยึดแนวชายฝั่งตะวันออกของสยามตั้งแต่ชลบุรีถึงตราดให้อยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์

การกู้กรุงศรีอยุธยา[แก้]

เจ้าตากใช้เวลา 3 เดือนในการต่อเรือที่อู่ต่อเรือที่บ้านเสม็ดงาม เมืองจันทบุรี ในเดือนตุลาคม 2310 เมื่อสิ้นสุดฤดูมรสุม เจ้าตากมีกำลังพลจำนวน 5,000 นาย ซึ่งมากกว่ากำลังเดิมเมื่อเสด็จออกจากกรุงศรีอยุธยาในปลายปี 2309 ถึง 10 เท่า พระองค์เสด็จออกจากจันทบุรีแล่นเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อล่องเรือไปถึงเมืองชลบุรี เจ้าตากได้ทราบว่านายทองอยู่ นกเล็กซึ่งพระองค์แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองชลบุรียังเป็นโจรสลัดอยู่ เจ้าตากจึงสั่งจับกุมนายทองอยู่ นกเล็ก และประหารชีวิตด้วยการถ่วงน้ำ

ยุทธการที่ค่ายโพธิ์สามต้น[แก้]

เจ้าตากมาถึงปากน้ำและล่องต่อไปยังธนบุรีซึ่งเป็นเมืองท่าเล็ก ๆ ห่างจากอ่าวไทยเพียง 20 กม. เป็นที่ตั้งค่ายของกองทหารพม่าภายใต้การบังคับบัญชาของชายชาวสยามชื่อนายทองอิน เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2310 กองกำลังของเจ้าตากปะทะกองกำลังของนายทองอินที่ป้อมวิชาเยนทร์ นำไปสู่ยุทธการที่ธนบุรีเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน เจ้าตากได้รับชัยชนะขณะที่นายทองอินถูกสังหารในสนามรบก่อนที่พระองค์จะจัดแจงเมืองธนบุรีจนเรียบร้อย แล้วพระองค์ล่องเรือขึ้นโจมตีกองทัพพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้นทางตอนเหนือของกรุงศรีอยุธยา

สุกี้พระนายกองหรือนายทองสุก แม่ทัพชาวมอญของกองทหารพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น สั่งการให้กองทหารตั้งรับขณะที่เจ้าตากเข้ามาใกล้ เจ้าตากและกองทัพเรือแล่นทวนแม่น้ำเจ้าพระยาและในที่สุดก็ถึงค่ายโพธิ์สามต้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน นำไปสู่ยุทธการที่ค่ายโพธิ์สามตัน สุกี้ตั้งค่ายป้องกันไว้ทั้งสองฝั่งคลอง กองทัพของเจ้าตากสามารถยึดค่ายโพธิ์สามต้นทางด้านตะวันออกได้ โดยสุกี้เองก็ยืนหยัดอยู่ทางค่ายด้านตะวันตก เจ้าตากสั่งโจมตีค่ายโพธิ์สามต้นด้านตะวันตก โดยมีหลวงพิพิธวาทีและพระยาพิชัยราชาคุมกองทหารจีนเป็นทัพหน้า เช้าวันที่ 6 พฤศจิกายน กองทหารจีนเข้าโจมตีสุกี้และกองกำลังของเขา สุกี้ต่อสู้จนถึงเที่ยงก็พ่ายแพ้และถูกสังหารในสนามรบ กองทหารพม่าที่เหลืออยู่ถูกสังหารหมู่ ค่ายพม่าโพธิ์สามต้นก็เสียแก่เจ้าตากเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2310 ภายในเวลา 7 เดือนภายหลังการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา เจ้าตากสามารถยึดค่ายโพธิ์สามต้นของพม่าได้ภายในเวลา 2 วัน และชัยชนะของพระองค์ที่โพธิ์สามต้นนั้นเป็นสัญลักษณ์ของการปลดปล่อยสยามจากการยึดครองของพม่า

ด้วยการยึดค่ายพม่า 2 แห่งที่ธนบุรีและโพธิ์สามต้นโดยเจ้าตากในเดือนพฤศจิกายน 2310 อำนาจของพม่าเหนือภาคกลางตอนล่างของสยามก็แทบจะหมดสิ้นไป และเจ้าตากก็เข้าปกครองพื้นที่แทน เจ้าตากประทับอยู่ที่บ้านของสุกี้ พระยาธิเบศร์บดีขุนนางผู้อาวุโสที่สุดในราชสำนักกรุงศรีอยุธยาที่เหลืออยู่ในค่ายโพธิ์สามต้นก็ยอมสวามิภักดิ์กับพระองค์ เจ้าตากพบกับอดีตราชวงศ์ ขุนนาง และชนชั้นสูงที่หลงเหลืออยู่ที่โพธิ์สามต้นอยู่ในสภาพที่น่าสมเพช องค์หญิง 2 พระองค์สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการประชวรและสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ เจ้าตากจึงมีรับสั่งให้ขุดพระศพของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ขึ้นมาเพื่อประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพแบบสังเขปโดยนิมนต์พระภิกษุที่สามารถหามาได้มาประกอบพระราชพิธี เจ้าตากทรงช้างทอดพระเนตรกรุงศรีอยุธยา พระองค์พบว่าอดีตราชธานีของสยามแห่งนี้มีแต่ซากปรักหักพัง มีศพมนุษย์และกระดูกกระจัดกระจายไปทั่ว เจ้าตากเดิมตั้งพระทัยที่จะฟื้นฟูกรุงศรีอยุธยาให้กลับมาเป็นเมืองหลวงของสยาม แต่ตามพระราชพงศาวดารไทยระบุว่าคืนนั้นเจ้าตากบรรทมที่พระที่นั่งทรงปืนในพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา พระองค์พระสุบินว่าอดีตกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาขับไล่พระองค์และเร่งให้ออกจากกรุงศรีอยุธยา เจ้าตากจึงตัดสินพระทัยว่ากรุงศรีอยุธยานั้นเสียหายเกินกว่าจะบูรณะได้ในเวลาอันสั้น เนื่องจากพระองค์ต้องการป้อมปราการที่สามารถป้องกันพม่าได้ โดยพระองค์ตระหนักว่ากรุงศรีอยุธยาคงป้องกันพม่าได้ยาก จึงสถาปนาธนบุรีใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเมืองหลวงใหม่ของสยาม

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช[แก้]

เดิมเจ้าตากตั้งพระทัยที่จะสถาปนากรุงศรีอยุธยาให้เป็นเมืองหลวงอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์ เจ้าตากจึงตัดสินพระทัยไม่สร้างฐานอำนาจของพระองค์ที่กรุงศรีอยุธยา เหตุผลประการหนึ่งสำหรับการตัดสินพระทัยของพระองค์คือความเสียหายอันใหญ่หลวงที่เกิดขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาเอง เจ้าตากได้ตัดสินพระทัยสถาปนาธนบุรีเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ เนื่องจากห่างจากอ่าวไทยเพียง 20 กิโลเมตร เหมาะแก่การตั้งเป็นท่าเรือพาณิชย์ มีป้อมวิชาเยนทร์ (ป้อมวิชัยประสิทธิ์ในปัจจุบัน) สร้างขึ้นโดยชาวฝรั่งเศสที่ธนบุรีในพุทธศตวรรษที่ 23 เจ้าตากได้มีรับสั่งให้สร้างพระราชวังธนบุรีเป็นที่ประทับใกล้กับป้อม เจ้าตากประกอบพิธีราชาภิเษกเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2310 ณ พระราชวังธนบุรี พระนามในรัชกาลของพระองค์คือสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 แต่พระนามที่เป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมหลังการสวรรคตของพระองค์คือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งรวมพระอิสริยยศเดิมของพระองค์คือพระยาตากกับพระนามเดิมของพระองค์คือสิน แต่กรุงธนบุรีก็ถูกปล่อยทิ้งไว้จนถึงปี 2314 เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินได้มีพระบรมราชโองการให้ขุดคูเมือง และสร้างกำแพงเมืองขึ้นล้อมรอบพระนครจากต้นทองหลางลาย

ยุทธการที่ค่ายบางกุ้ง[แก้]

เนื่องจากพม่าอพยพออกจากสยามเป็นส่วนใหญ่และกำลังทำสงครามจีน–พม่า ตามบันทึกในพระราชพงศาวดารไทย พระเจ้ามังระมีพระราชโองการให้เจ้าเมืองทวายชาวพม่าชื่อแมงกี้มารหญ้านำกองกำลังสอดแนมเข้าสู่สยามทางด่านพระเจดีย์สามองค์เพื่อสืบข่าวในปี พ.ศ. 2311 แมงกี้มารหญ้านำกำลังทหาร 2,000 นายเข้าสู่สยาม เคลื่อนพลผ่านกาญจนบุรีถึงบางกุ้งริมแม่น้ำแม่กลองที่เมืองสมุทรสงครามซึ่งมีชุมชนชาวจีนตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินไม่ทรงทราบถึงการเคลื่อนทัพของพม่าครั้งนี้ และได้รับแจ้งก็ต่อเมื่อพม่าเข้าโจมตีชาวจีนที่บางกุ้งแล้วเท่านั้น ฝ่ายชาวจีนในท้องถิ่นก็ตั้งรับป้องกันตัวเองที่วัดบางกุ้ง แต่ฝ่ายแมงกี้มารหญ้าก็กดดันอย่างหนัก สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดให้พระมหามนตรี (บุญมา ต่อมาคือสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) เป็นทัพหน้านำทัพไปขับไล่พม่าที่บางกุ้งด้วยเรือ 20 ลำ สถานการณ์ของชาวจีนที่บางกุ้งกำลังวิกฤต แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินก็เสด็จมาถึงได้ทันเวลาและเอาชนะพม่าในยุทธการที่บางกุ้งเมื่อปี 2311 ยุทธการที่บางกุ้งเป็นชัยชนะครั้งแรกของสมเด็จพระเจ้าตากสินเหนือพม่าหลังจากการขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์

การรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น[แก้]

ยุทธการที่เกยไชย[แก้]

หลังจากปกครองภาคกลางตอนล่างของสยามได้อย่างสมบูรณ์แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินก็เริ่มปราบขุนศึกคู่แข่งและรวมสยามให้เป็นหนึ่งเดียว พระองค์เริ่มเคลื่อนทัพไปรบกับชุมนุมเจ้าพิษณุโลกซึ่งอยู่ทางเหนือซึ่งมีผู้นำคือเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง โรจนกุล) เจ้าเมืองพิษณุโลกก่อนจะเสียกรุงศรีอยุธยา ในปี 2311 ภายหลังยุทธการที่บางกุ้ง สมเด็จพระเจ้าตากสินยกกองทัพผสมสยาม-จีนของพระองค์ขึ้นเหนือเข้าโจมตีพิษณุโลกถึงตำบลเกยไชยในอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ในปัจจุบัน เจ้าพระยาพิษณุโลกเรืองได้ส่งแม่ทัพของเขาคือหลวงโกษายังลงใต้ไปรบกับสมเด็จพระเจ้าตากสินที่ตำบลเกยไชย ซึ่งนำไปสู่ยุทธการที่เกยไชยในปี 2311 สมเด็จพระเจ้าตากสินและกองทัพของพระองค์แตกพ่าย สมเด็จพระเจ้าตากสินถูกยิงเข้าที่พระชงฆ์ (หน้าแข้ง) สมเด็จพระเจ้าตากสินและกองทัพของพระองค์ถอยกลับลงใต้สู่กรุงธนบุรี

หลังจากชัยชนะที่ตำบลเกยไชย เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ประกาศตนเป็นกษัตริย์ที่เมืองพิษณุโลก และประกอบพิธีราชาภิเษก เจ้าพระยาพิษณุโลกยังได้แต่งตั้งพระอักษรสุนทร (ทองดี พระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต่อมาได้รับการสถาปนาพระบรมอัฐิเป็นสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก) เป็นสมุหนายกด้วย[16] แต่ไม่นานหลังจากนั้น เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ก็สิ้นพระชนม์ด้วยวัณโรค น้องชายของเขาชื่อพระอินทร์อากรเป็นผู้นำชุมนุมเจ้าพิษณุโลกสืบต่อมา พระอักษรสุนทรก็ล้มป่วยหนักเช่นกันและถึงแก่อสัญกรรมในปีเดียวกัน[16] พระอินทร์อากรไม่มีความสามารถเท่าพี่ชาย เจ้าพระฝาง ผู้นำคณะสงฆ์แห่งสวางคบุรีเดินทัพเข้าล้อมเมืองพิษณุโลก พระอินทร์อากรครองเมืองได้ 3 เดือน จนกระทั่งเจ้าพระฝางมาตีและยึดเมืองพิษณุโลกได้สำเร็จในปี 2311 พระอินทร์อากรถูกประหารชีวิตและชุมนุมพิษณุโลกได้รวมเข้ากับชุมนุมของเจ้าพระฝาง ชาวเมืองและยุทโธปกรณ์ของเมืองพิษณุโลกถูกส่งไปยังเมืองสวางคบุรี แต่ขุนนางเก่าที่สนับสนุนเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) กลับไม่สนับสนุนเจ้าพระฝางเลย ผู้ไม่พอใจการปกครองของเจ้าพระฝางจึงอพยพลงใต้ไปกรุงธนบุรีเพื่อสวามิภักดิ์

ปราบชุมนุมเจ้าพิมาย[แก้]

หลังจากพ่ายแพ้และบาดเจ็บที่เกยไชย ในปี 2311 สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ฟื้นฟูพระวรกายและเริ่มออกปราบปรามชุมนุมเจ้าพิมายทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือบนที่ราบสูงโคราชซึ่งปกครองโดยกรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กรมหมื่นเทพพิพิธเป็นบุคคลสำคัญทางการเมืองเนื่องจากเป็นผู้เดียวที่อ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยา และดึงดูดผู้ติดตามจำนวนมาก รวมทั้งขุนนางเก่าของกรุงศรีอยุธยาด้วย มือขวาของกรมหมื่นเทพพิพิธคือพระพิมายผู้สำเร็จราชการงานเมืองทั้งหมด และบุตรชายของพระพิมายคือพระยาวรวงษาซึ่งเป็นเจ้าเมืองนครราชสีมา ม่องย่า แม่ทัพพม่าที่แตกพ่ายหลังค่ายโพธิ์สามต้นแตกหนีไปขอความคุ้มครองจากกรมหมื่นเทพพิพิธที่เมืองพิมาย สมเด็จพระเจ้าตากสินประกาศจะส่งกองทัพติดตามและลงโทษม่องย่า สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระราชทานพระราชโองการให้แม่ทัพ 2 พระองค์ คือ พระราชวรินทร์ (ทองด้วง ต่อมาคือ รัชกาลที่ 1) และพระมหามนตรี (บุญมา ต่อมาคือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) เป็นทัพหน้าพร้อมกับสมเด็จพระเจ้าตากสินนำทัพไปปราบชุมนุมเจ้าพิมายในปี 2311

กรมหมื่นเทพพิพิธได้รับทราบเรื่องการรุกรานจากกรุงธนบุรีจึงได้มอบหมายให้กองทัพของพระองค์ไปรักษาเมืองนครราชสีมา

  • พระยาวรวงษารักษาเมืองนครราชสีมาที่ด่านขุนทดทางทิศตะวันตกของเมือง
  • พระพิมายรวมถึงบุตรชายคือ พระยามหามนตรี และม่องย่า แม่ทัพพม่าตั้งมั่นอยู่ที่จอหอทางเหนือของเมือง

สมเด็จพระเจ้าตากสินยกทัพผ่านป่าดงพญาไฟเข้าโจมตีเมืองนครราชสีมา พระองค์ส่งทัพหน้าภายใต้พระราชวรินทร์และพระมหามนตรีไปโจมตีพระยาวรวงษาที่ด่านขุนทด สมเด็จพระเจ้าตากสินโจมตีกองทัพพิมายที่ด่านจอหอ ในที่สุดกองทัพธนบุรีก็ได้ชัยทั้งด่านจอหอและด่านขุนทด

การพิชิตภาคใต้ของสยาม[แก้]

ราวเดือน 4 พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีให้เจ้าพระยาจักรี (แขก) เป็นแม่ทัพใหญ่ คุมกำลัง 5,000 คน ยกไปตี เมืองนครศรีธรรมราช ทางบกเมื่อยกไปถึงท่าหมาก แขวงอำเภอลำพูน แม่ทัพธนบุรีไม่สามัคคี ตีค่ายชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชไม่พร้อมกันจึงเสียทีสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทราบและประเมินสถานการณ์แล้ว จึงเสด็จยกกองทัพเรือกำลัง 10,000 คน ยกลงไปช่วย ขึ้นบกแล้วเคลื่อนทัพต่อไปจนถึงเมืองไชยา ก่อนจะเข้าตีนครศรีธรรมราช ฝ่ายกองทัพเรือธนบุรีก็ไปถึงเช่นกันกองทัพกรุงธนบุรีจึงตีได้เมืองนครศรีธรรมราช

ในปี พ.ศ. 2313 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ยกกองทัพขึ้นไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝางตีได้เมืองพิษณุโลกแล้วตามไปตีเมือง สวางคบุรี เจ้าพระฝางสู้ไม่ได้จึงนับได้ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบปรามชุมนุมต่าง ๆ ลงอย่างราบคาบแล้ว

การปกป้องแผ่นดิน[แก้]

ภาพจิตรกรรมการรบที่บางแก้ว

ครั้น พระเจ้ามังระ กษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์โก้นบอง ทราบข่าวว่ามีคนไทยตั้งตนเป็นใหญ่อีกครั้งจึงได้มีพระบรมราชโองการให้ แมงกี้มารหญ้า[17] เจ้าเมือง ทวาย ยกทัพมาปราบปราม กองทัพพม่ายกมาถึงอำเภอบางกุ้ง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของกรุงธนบุรีมีกำลังตามพระราชพงศาวดาร 2,000 คน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จนำกองทัพออกตีพม่าจนแตกพ่ายกิตติศัพท์ที่รบชนะทำให้พระราชอำนาจทางการเมืองในภาคกลางยิ่งเข้มแข็งยิ่งขึ้น[18] ราวปี พ.ศ. 2311 พระองค์ก็ยกทัพไปตีชุมนุมพิษณุโลกอีกแต่กระสุนปืนเข้าที่พระชงฆ์ (แข้ง) จึงต้องยกทัพกลับและรักษาพระองค์ยังพระนคร

หลังหายจากพระอาการประชวรแล้วในระหว่างปี พ.ศ. 2312-2313 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ใช้เวลาในการปราบปรามชุมนุมอื่น ๆ เพื่อรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นเริ่มจากชุมนุมเจ้าพิมาย[19] ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช[20] และชุมนุมเจ้าพระฝางตามลำดับ[21] เมื่อปราบปรามชุมนุมต่าง ๆ ลงอย่างราบคาบแล้ว รัฐบาลจีนก็เริ่มให้การยอมรับสถานะพระมหากษัตริย์ของพระองค์อย่างเป็นทางการ[22] นอกจากการต่อสู้เพื่อรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นแล้วยังต้องป้องกันหัวเมืองชายแดนอีกด้วย ตลอดรัชสมัยทำสงครามกับพม่าถึง 9 ครั้ง ดังนี้

  • สงครามครั้งที่ 1 รบพม่าที่บางกุ้ง พ.ศ. 2310 เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตเจ้าเมืองเวียงจันทน์มีใจฝักใฝ่พม่าได้กราบทูลข่าวการตั้งตัวเป็นใหญ่ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีให้พระเจ้ามังระทราบพระองค์จึงมีบัญชาให้ แมงกี้มารหญ้า เจ้าเมืองทวายคุมกำลังมาตรวจตราแผ่นดินไทยมีหน้าที่ปราบปรามผู้ที่กำเริบตั้งตนเป็นใหญ่ แมงกี้มารหญ้ายกทัพเข้ามาทางเมืองไทรโยคในฤดูแล้งปลายปี พ.ศ. 2310 เมื่อทัพมาถึงบางกุ้งแขวงเมืองสมุทรสงคราม ซึ่งมีค่ายทหารจีนของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตั้งอยู่ก็สั่งให้ทหารเข้าล้อมค่ายนั้นไว้ ฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้พระมหามนตรี (บุญมา) เป็นทัพหน้ามีพระองค์เป็นทัพหลวงโจมตีข้าศึก แมงกี้มารหญ้าเห็นสู้ไม่ได้ก็ยกทัพถอยไปทางเมืองทวายทางด้านเจ้าขว้าว ทำให้กองทัพไทยยสามารถยึดเรือรบ เครื่องศัตราวุธ และเสบียงอาหารเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้เมืองราชบุรรยังตกอยู่ใต้การปกครองของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี อีกทั้งยึดได้กองทัพเรือพม่าซึ่งตั้งอยู่ที่นั่นด้วย[23]
  • สงครามครั้งที่ 2 พม่าตีเมืองสวรรคโลก พ.ศ. 2313 รบกับพม่าครั้งพม่าตีเมืองสวรรคโลก ไทยสามารถตีแตกไปได้[21]
  • สงครามครั้งที่ 3 ไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก พ.ศ. 2313–2314 เป็นการรบกับพม่าเมื่อฝ่ายไทยยกไปตีนครเชียงใหม่ครั้งแรกแต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากขาดเสบียง[24]
  • สงครามครั้งที่ 4 พม่าตีเมืองพิชัยครั้งที่ 1 พ.ศ. 2315 โปสุพลา แม่ทัพยกทัพไปช่วยเมืองเวียงจันทน์รบกับหลวงพระบาง ขากลับแวะตีเมืองพิชัยแต่ไม่สำเร็จ[25]
  • สงครามครั้งที่ 5 พม่าตีเมืองพิชัยครั้งที่ 2 พ.ศ. 2316 พม่ายกมาตีเมืองพิชัย ครั้งที่ 2 แต่พม่าตีไม่สำเร็จ พระยาพิชัยได้สร้างวีรกรรม พระยาพิชัยดาบหัก [26]
  • สงครามครั้งที่ 6 ไทยตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2317 กองทัพไทยชนะยึดนครเชียงใหม่กลับจากพม่าได้ เพราะชาวล้านนาออกมาสวามิภักดิ์กับไทยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแต่งตั้งให้ พระยาจ่าบ้าน เป็น พระยาวิเชียรปราการ ปกครองนครเชียงใหม่ พระยากาวิละ ซึ่งเป็นต้นราชวงศ์กาวิละปกครองนครลำปาง และ พระยาลำพูน เป็นพระยาวัยวงศาปกครองเมืองลำพูน การครั้งนี้จึงได้ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และ น่าน กลับมาเป็นของไทย[27]
  • สงครามครั้งที่ 7 รบพม่าที่บางแก้วเมืองราชบุรี พ.ศ. 2317 เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีรู้ข่าวว่าพม่ายกพลตามจับพวกมอญที่หนีเข้ามาในเขตไทย จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพมุ่งตรงไปยังราชบุรีโดยบัญชาการทัพด้วยพระองค์เองตั้งค่ายล้อมค่ายพม่าและลอบตีตัดทางลำเลียงเสบียงอาหาร โดยได้กำลังสนับสนุนจากพระยายมราชในที่สุดพม่าจึงต้องยอมแพ้ ชัยชนะในครั้งนี้ส่งผลให้ผู้คนที่หลบซ่อนตามที่ต่าง ๆ เข้ามาสวามิภักดิ์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากหมดความเกรงกลัวพม่า[28]
  • สงครามครั้งที่ 8 อะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ พ.ศ. 2318 เป็นสงครามที่ใหญ่มาก อะแซหวุ่นกี้เป็นผู้นำที่เชี่ยวชาญศึกมีอัธยาศัยสุภาพ ส่วนทางด้านฝ่ายไทยนั้น มี เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และ เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช (บุญมา) ในการครั้งนี้พม่ายกพลมา 30,000 คนเข้าล้อมเมืองพิษณุโลก อีก 5,000 คนล้อมเมืองสุโขทัย ส่วนเมืองพิษณุโลกมีพลประมาณ 10,000 คนเท่านั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพไปช่วย ในที่สุดอะแซหวุ่นกี้ต้องยกทัพกลับเนื่องจากพระเจ้าแผ่นดินมังระเสด็จสวรรคต กองทัพพม่าส่วนที่ตามไปไม่ทันจึงถูกกองทัพทหารจับ[29]
  • สงครามครั้งที่ 9 พม่าตีเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 2319 พระเจ้าจิงกูจาโปรดให้เกณฑ์ไพร่พล 6,000 คนยกมาตีเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2319 พระยาวิเชียรปราการได้พิจารณาแลเห็นว่านครเชียงใหม่ไม่มีพลมากมายขนาดที่จะว่าป้องกันเมืองได้ จึงให้ประชาชนอพยพลงมาอยู่ที่เมืองสวรรคโลก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรสีห์เจ้าเมืองพิษณุโลกคุมกองทัพเมืองเหนือขึ้นไปสมทบกับกองกำลังของพระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปาง และยกไปตีเมืองเชียงใหม่คืนสำเร็จ นครเชียงใหม่เป็นเมืองร้างถึง 15 ปี จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้ฟื้นฟูใหม่[30]

การขยายอาณาเขต[แก้]

แผนที่แสดงอาณาเขตประเทศไทย ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
การขยายอาณาเขตไปยังหลวงพระบางและเวียงจันทน์

พ.ศ. 2322 ยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเวียงจันทน์และอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรพระแก้วมรกต และพระบางมาสู่กรุงธนบุรี

การอาณาเขตไปยังกัมพูชา

พ.ศ. 2324 ยกกองทัพขึ้นไปตีเขมร

อาณาเขตของประเทศไทยในสมัยนั้น มีดังนี้

การขยายอำนาจเข้าสู่อาณาจักรลาว (เวียงจันทน์และหลวงพระบาง) โดยตรงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงธนบุรี เช่นเดียวกับการขยายอำนาจสู่เขมร

ในสมัยกรุงธนบุรีได้มีการรวบรวมหัวเมืองต่างๆ เข้ามาในราชอาณาจักร ได้แก่ ธนบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ ฉะเชิงเทรา นครนายก ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นครชัยศรี นครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. 1.0 1.1 เบเคอร์-พงษ์ไพจิตรและTerwiel โต้แย้งว่าปีที่พระเจ้าตากสินรวมประเทศคือ พ.ศ. 2314 ส่วน วัยอาจระบุเป็นปี 2313

อ้างอิง[แก้]

  1. Baker, Chris; Phongpaichit, Pasuk. A History of Thailand Third Edition (p. 307). (Cambridge University Press. Kindle Edition.)
  2. Wyatt, David K. (2003). Thailand : A Short History (2nd ed.). Chiang Mai: Silkworm Books. ISBN 974957544X.
  3. Baker, Chris; Phongpaichit, Pasuk. A History of Thailand Third Edition (p. 307). (Cambridge University Press. Kindle Edition.)
  4. Wyatt, David K. (2003). Thailand : A Short History (2nd ed.). Chiang Mai: Silkworm Books. ISBN 974957544X.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 Wade, Geoff (19 Dec 2018). China and Southeast Asia: Historical Interactions. Routledge.
  6. 6.0 6.1 6.2 Macauley, Melissa (18 May 2011). Distant Shores: Colonial Encounters on China's Maritime Frontier. Princeton University Press.
  7. Raymond, Gregory; Blaxland, John (30 November 2021). The US-Thai Alliance and Asian International Relations: History, Memory and Current Developments. Routledge.
  8. Chirathivat, Suthiphand; Rutchatorn, Buddhagarn; Devendrakumar, Anupama (15 January 2019). China's Rise In Mainland Asean: New Dynamics And Changing Landscape. World Scientific.
  9. 9.0 9.1 Yen, Ching-hwang (13 Sep 2013). Ethnic Chinese Business In Asia: History, Culture And Business Enterprise. World Scientific.
  10. Roy, Edward (2010). "Prominent Mon Lineages from Late Ayutthaya to Early Bangkok" (PDF). The Siam Society Under Royal Patronage.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 Topich, William J.; Leitich, Keith A. (2013). The History of Myanmar. ABC-CLIO.
  12. Keat Gin Ooi (2004). Southeast Asia: A Historical Encyclopedia, from Angkor Wat to East Timor. ABC-CLIO.
  13. Rappa, Antonio L. (2017). The King and the Making of Modern Thailand. Routledge.
  14. 14.00 14.01 14.02 14.03 14.04 14.05 14.06 14.07 14.08 14.09 14.10 14.11 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 65 พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม).
  15. 4 มกราคม – วันทหารม้า
  16. 16.0 16.1 Sitthithanyakit, Phalādisai (2021). สมเด็จพระชนกาธิบดี พระปฐมราชวงศ์จักรี. Pailinbooknet.
  17. ธีระชัย ธนาเศรษฐ. เปิดวังสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. สำนักพิมพ์ ธีรกิจ (ประเทศไทย) จำกัด. หน้า 134.
  18. นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 148.
  19. พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบลัดเล, หน้า 36-38
  20. พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบรัดเล, หน้า 41-49
  21. 21.0 21.1 พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบลัดเล, หน้า 50-53
  22. นิธิ เอียวศรีวงษ์. หน้า 173.
  23. พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบลัดเล, หน้า 33-34
  24. พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบลัดเล, หน้า 56-58
  25. พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบลัดเล, หน้า 56-61
  26. พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบลัดเล, หน้า 68
  27. พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบลัดเล, หน้า 68-78
  28. พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบลัดเล, หน้า
  29. พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี, หน้า 128-146
  30. พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี, หน้า 177

บรรณานุกรม[แก้]

  • กรมตำรากระทรวงธรรมการ. พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 (พระเจ้าตากสิน) จุลศักราช 1128-1144. พิมพ์ครั้งที่ 4. --พระนคร : กรมตำรากระทรวงพระธรรมการ, 2472.
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2550). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. มติชน. ISBN 9789740201779.
  • ธีระชัย ธนาเศรษฐ. เปิดวังสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. ธีรกิจ (ประเทศไทย) จำกัด.
  • Baker, Chris; Phongpaichit, Pasuk (2017). A History of Ayutthaya: Siam in the Early Modern World. Cambridge University Press. ISBN 978-1-107-19076-4 (Hardback), ISBN 978-1-316-64113-2 (Paperback).
  • Baker, Chris; Phongpaichit, Pasuk (2014). A History of Thailand (ภาษาอังกฤษ). 477 Williamstown Road, Port Melbourne, VIC 3207, Australia: Cambridge University Press. ISBN 9781107420212.{{cite book}}: CS1 maint: location (ลิงก์)
  • Damrong Rajanubhab, Prince (1920). The Thais Fight the Burmese. Matichon. ISBN 978-974-02-0177-9.
  • Wood, W.A.R. (1924). A History of Siam. London: T. Fisher Unwin, Ltd.