การลอบวางแผนไรย์เฮาส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รายเฮาส์ ค.ศ. 1823

การคบคิดรายเฮาส์ (อังกฤษ: Rye House Plot) การคบคิดรายเฮาส์ของปี ค.ศ. 1683 เป็นแผนการที่มีวัตถุประสงค์ในการลอบปลงพระชนม์พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ และเจมส์ ดยุคแห่งยอร์คพระอนุชาผู้ในขณะเดียวกันก็ทรงเป็นรัชทายาทด้วย นักประวัติศาสตร์มีความเห็นที่ต่างกันไปเกี่ยวกับแผนการดังกล่าว

หลังจากการฟื้นฟูชาร์ลส์ขึ้นมาเป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษในปี ค.ศ. 1660 แล้ว สมาชิกของรัฐสภาบางท่าน, อดีตผู้สนับสนุนรัฐสภา และประชาชนที่เป็นโปรเตสแตนต์โดยทั่วไปต่างก็มีความวิตกกังวลถึงความสัมพันธ์ที่ดูจะใกล้ชิดระหว่างพระเจ้าชาร์ลส์และราชอาณาจักรฝรั่งเศสภายใต้การนำของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และประมุขที่เป็นโรมันคาทอลิกอื่นๆ ในยุโรป ความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อโรมันคาทอลิกที่เห็นกันว่ามีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับ ปรัชญาที่สนับสนุนเทวสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์จึงแพร่ขยายโดยทั่วไป โดยเฉพาะความเป็นปฏิปักษ์ที่มีต่อดยุคแห่งยอร์ค โดยทั่วไปแล้วแม้ว่าพระเจ้าชาร์ลส์ทรงประกาศพระองค์ว่าทรงเป็นโปรเตสแตนต์แต่ดูเหมือนว่าจะทรงมีความเห็นอกเห็นใจผู้ที่ที่เป็นโรมันคาทอลิก ความเคลือบแคลงใจดังกล่าวได้รับการยืนยันเมื่อเป็นที่เปิดเผยในปี ค.ศ. 1673 ว่าเจมส์ ดยุคแห่งยอร์คเปลี่ยนไปนับถือนิกายโรมันคาทอลิก

ในปี ค.ศ. 1681 รัฐสภาก็เสนอร่างพระราชบัญญัติการยกเว้นผู้สืบราชบัลลังก์ในสภาสามัญที่เป็นการพยายามห้ามไม่ให้พระอนุชาของพระเจ้าชาร์ลส์ดยุคแห่งยอร์คผู้เป็นรัชทายาทโดยพฤตินัยจากการขึ้นครองราชบัลลังก์อังกฤษ ร่างพระราชบัญญัติเป็นผลมาจากการคบคิดพ็อพพิชอันไม่มีมูล พระเจ้าชาร์ลส์จึงทรงยุบรัฐสภา ที่เป็นผลทำให้ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ไม่มีหนทางที่จะยับยั้งเจมส์ ดยุคแห่งยอร์คจากการขึ้นครองราชย์ อันสร้างความระส่ำระสายให้แก่บ้านเมือง และเป็นผลทำให้บางคนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ

คฤหาสน์รายเป็นคฤหาสน์ที่ตั้งอยู่ที่ฮอดเดสดันในฮาร์ทฟอร์ดเชอร์ที่เป็นของริชาร์ด รัมโบลด์นักสาธารณรัฐนิยมคนสำคัญ รายละเอียดของแผนการดังกล่าวคือการซ่อนกองกำลังราว 100 คนในบริเวณคฤหาสน์และทำการจู่โจมพระเจ้าชาร์ลส์และพระอนุชาระหว่างทางที่จะเสด็จกลับลอนดอนจากการไปชมการแข่งม้าที่นิวมาร์เค็ต

คาดกันว่าพระเจ้าชาร์ลส์และพระอนุชาจะเสด็จกลับเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1683 แต่เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ก็ได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่นิวมาร์เค็ตและทำลายตัวเมืองไปครึ่งหนึ่ง การแข่งม้าจึงถูกยกเลิก พระเจ้าชาร์ลส์และพระอนุชาจึงเสด็จกลับลอนดอนก่อนกำหนด ฉะนั้นแผนการการจู่โจมที่วางไว้จึงไม่ได้เกิดขึ้น

ข่าวลือเกี่ยวกับการคบคิดรั่วไหลออกมาถึงหูประชาชนเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1683 พระเจ้าชาร์ลส์และผู้สนับสนุนตอบโต้อย่างเฉียบพลันโดยการออกประกาศประณามแผนการอันชั่วร้ายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม[1] สมาชิกรัฐสภาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายคนถูกจับ แม้ว่าผู้ที่มีส่วนสำคัญในการวางแผนจะเป็นผู้ที่ไม่ไคร่มีความสำคัญเท่าใดนัก แต่ผู้นำคนสำคัญที่รวมทั้งลอร์ดวิลเลียม รัสเซลล์และอาลเกอร์นอน ซิดนีย์ถูกตัดสินว่าผิดตามข้อกล่าวหาและถูกประหารชีวิต อาร์เธอร์ คาเพลล์ เอิร์ลแห่งเอสเซ็กส์ฆ่าตัวตายขณะที่ถูกจำขังอยู่ที่หอคอยแห่งลอนดอน เจมส์ สกอตต์ ดยุคแห่งมอนม็อธพระราชโอรสนอกกฎหมายของพระเจ้าชาร์ลส์ผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหนีไปสาธารณรัฐดัตช์ รายละเอียดของแผนคบคิดตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1685 โดยที. สแปร็ตใน “A True Account and Declaration of the Horrid Conspiracy against the Late King”

นักประวัติศาสตร์ให้ความเห็นว่ารายละเอียดส่วนใหญ่เกี่ยวกับแผนคบคิดส่วนใหญ่สร้างขึ้นโดยพระเจ้าชาร์ลส์หรือผู้สนับสนุนเพื่อเป็นการกำจัดศัตรูทางการเมืองของพระองค์

อ้างอิง[แก้]

  1. Milne 1951:95
  • Greaves, Richard L. Secrets of the Kingdom: British Radicals from the Popish Plot to the Revolution of 1688-89 (Stanford University Press) 1992.
  • Milne, Doreen J. "The Results of the Rye House Plot and Their Influence upon the Revolution of 1688: The Alexander Prize Essay" Transactions of the Royal Historical Society 5th Seris, 1 (1951), p. 91-108.

ดูเพิ่ม[แก้]