การผ่าตัดส่องกล้อง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การผ่าตัดส่องกล้อง
การแทรกแซง
ตัวอย่างการผ่าตัดส่องกล้อง
ICD-9-CM54.21
MeSHD010535
OPS-301 code:1-694
การผ่าตัดถุงน้ำดี (Cholecystectomy) มองผ่านกล้อง


การผ่าตัดส่องกล้อง (อังกฤษ: laparoscopy, laparoscopic surgery) เป็นการผ่าตัดโดยการเจาะผ่านช่องท้องหรือผิวหนังใกล้บริเวณอวัยวะที่ต้องการผ่าตัด เพื่อสอดอุปกรณ์ผ่าตัด อุปกรณ์ไฟฉาย และกล้องขนาดเล็กเพื่อบันทึกภาพและส่งมายังจอรับซึ่งทำหน้าที่แทนตาของศัลยแพทย์รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อให้การผ่าตัดสะดวกขึ้นและลดความเจ็บปวดจากแผลผ่าตัดทำให้ระยะพักฟื้นของผู้ป่วยน้อยลง

เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผ่าตัดด้วยกล้องประกอบด้วยเครื่องมือหลายประเภท ดังนี้ (ไพศาล พงศ์ชัยฤกษ์. ตาราศัลยกรรมส่องกล้องในระบบทางเดินอาหาร เล่ม ๓ หน้า ๔๑๕ - ๕๘๙ , พิมพ์ครั้งที่ ๑ กรุงเทพฯ : บริษัท โฮลิสติก พับลิชชิ่ง จำกัด, สิงหาคม ๒๕๓๘.)

  1. เครืองมือที่ใช้ผลิตภาพ ได้แก่ กล้องส่องช่องท้อง (rigid endoscope) กล้องถ่ายวิดีโอ (video camera and controller) เครื่องกำเนิดแสงสว่าง (light source) และจอรับภาพ (monitor)
  2. เครื่องมือที่ใช้ในการทำให้เกิดช่องว่างในท้อง เป็นเครื่องมือที่บรรจุแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปในช่องท้อง ซึ่งตามปกติจะไม่มีลมอยู่ภายในเลย เมื่อแก๊สเข้าไปก็จะสามารถ ทำให้ผนังหน้าท้องพองออกไปในทุกทิศทาง ยกเว้นทางด้านล่างซึ่งวางอยู่บนพื้นเตียงผ่าตัด อวัยวะภายในทั้งหลายก็จะถูกกดดันให้แบนราบลงไปด้วย ทำให้เกิดช่องว่างในท้องสะดวกต่อการผ่าตัดเป็นอันมาก
  3. เครื่องเป่าและดูดน้ำออก ใช้ในการล้างคราบเลือดหรือเศษชิ้นเนื้อ ในบริเวณที่ทำการผ่าตัดและดูดออกทิ้ง เพื่อการมองเห็นได้อย่างชัดเจนระหว่างการผ่าตัด
  4. เครื่องมือที่ใช้ในการเข้าสู่ช่องท้อง เรียกว่า trocar and canula เป็นเครื่องมือที่ใช้แทงผนังหน้าท้องที่มีแก๊สบรรจุอยู่ภายใน แต่ไม่เกิดการรั่วของแก๊สขณะที่กำลังทำงานอยู่ สามารถสอดเครื่องมือผ่านท่อเครื่องมือนี้ เข้าไปในช่องท้องได้โดยไม่สูญเสียแก๊สออกไปมากมายนัก และไม่เสียจังหวะในกระบวนการของการผ่าตัด ลักษณะเป็นท่อยาวกลวง ที่นิยมใช้กันมาก ด้แก่เส้นผ่าศูนย์กลาง ๕ มิลลิเมตร และ ๑๐มิลลิเมตร มีแท่งเหล็กปลายแหลมสอดอยู่ตรงกลาง ซึ่งใช้ในการแทงครั้งแรกแล้วถอดออก และใช้เครื่องมือชนิดอื่นสอดเข้าไปแทนในการทำงานโดยไม่มีแก๊สรั่วออกมาระหว่างทำการผ่าตัดเลย
  5. เครื่องมือผ่าตัด ส่วนใหญ่แล้วลักษณะจะเป็นแท่งเล็กๆยาวๆ ขนาดประมาณ ๓๓ เซ็นติเมตร และมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕ มิลลิเมตร หรือ ๑๐มิลลิเมตร แล้วแต่ลักษณะ และ จุดประสงค์ของการใช้งาน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักจะแบ่งออกเป็น ประเภทต่างๆ ได้แก่ เครื่องมือจับ (Grasping forceps) เครื่องมือฉีก (Dissecting forceps) กรรไกร (Scissors) เครื่องมือจับเข็ม (Needle holder) เครื่องมือจี้ไฟฟ้า(Cauterizing electrode) เครื่องมือหนีบ(Clipping and stapling instruments) และ อุปกรณ์เบ็ดเตล็ด อื่นๆอีกหลายอย่าง

ข้อจำกัดของการผ่าตัดส่องกล้อง[แก้]

  • ตัวผู้ป่วย การผ่าตัดช่องท้องมาก่อนเป็นข้อห้ามของการผ่าตัดด้วยกล้องที่ไม่ค่อยเคร่งครัดนัก ศัลยแพทย์สามารถทำได้ ถ้ามีความชานาญพอและไม่เกิดผลเสียต่อผู้ป่วย ผู้ป่วยทื่มีปัญหาสุขภาพรุนแรง เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและปอดที่รุนแรงควบคุมไม่ค่อยได้ โรคความดันโลหิตสูงควบคุมไม่ได้ โรคเบาหวานที่ไม่ได้ควบคุมน้ำตาลในเลือดสูงมากเกินไป โรคหัวใจล้มเหลว หรือการหายใจล้มเหลว ก็ไม่สามารถผ่าตัดได้
  • ตัวโรค เช่น ก้อนมะเร็งที่ลุกลามหรือมีภาวะอักเสบรุนแรงในช่องท้องก่อนผ่าตัด ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศัลยแพทย์เป็นผู้ตัดสินใจว่าควรเปลี่ยนจากผ่าตัดส่องกล้องมาเป็นเปิดหน้าท้องแทนดีหรือไม่

การเปรียบเทียบระหว่างการผ่าตัดส่องกล้องกับการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง[แก้]

ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง การผ่าตัดส่องกล้อง
ปริมาณการเสียเลือดขณะผ่าตัด 500-200 มิลลิลิตร 5-10 มิลลิลิตร
ระยะเวลาผ่าตัด* ตามความยาก-ง่าย นานกว่า 30 นาที
ขนาดของแผล 12-20 เซนติเมตร** ขนาด 6-8 มิลลิเมตรจำนวน 3-4 รู
ความเจ็บปวดหนังผ่าตัด (ตามขนาดแผล) มาก น้อย
เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาล 7-14 วัน

2-5 วัน***

เวลาพักฟื้นที่บ้านจนไปทำงานปกติ 4-6 สัปดาห์ 2-3 สัปดาห์
ทักษะของศัลยแพทย์ ศัลยแพทย์เฉพาะด้าน ศัลยแพทย์เฉพาะด้านที่ฝึกผ่าตัดส่องกล้องโดยเฉพาะ
ข้อจำกัดของผู้ป่วย - ต้องไม่เคยผ่าตัดช่องท้อง
ค่าใช้จ่ายในการรักษา ราคาถูก ราคาแพง (ค่าอุปกรณ์)
  • การผ่าตัดเปิดหน้าท้องสามารถใช้มือเข้าไปจัดการได้ทุกอย่างจึงเร็วกว่าการผ่าตัดส่องกล้อง
  • นอกจากแผลใหญ่กว่าแล้วการเปิดช่องท้องอาจทำให้เกิดพังผืดในช่องท้องหลังผ่าตัดมากกว่า
  • แม้มีโรงพยาบาลโฆษณาว่าการผ่าตัดส่องกล้องใช้เวลาพักฃฟื้นวันเดียว แต่เพื่อความปลอดภัยควรพักฟื้นที่โรงพยาบาลเพื่อรอดูอาการจนแน่ใจเสียก่อน

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด[แก้]

  1. ก่อนผ่าตัดคุณต้องทราบก่อนว่าตนเองป่วยเป็นโรคอะไรและจุดประสงค์หลักของการผ่าตัดครั้งนี้ทำเพื่ออะไร รวมถึงเมื่อผ่าตัดเรียบร้อยแล้วสภาพร่างกายจะกลับสู่ปกติมากน้อยช้าเร็วเพียงใด
  2. คุณต้องทราบว่าตนเองมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง และโรคดังกล่าวมีผลต่อการผ่าตัดครั้งนี้หรือไม่ และหากมีจะเป็นอย่างไร ที่สำคัญคุณมีประวัติแพ้ยาตัวใดบ้างหรือเปล่า
  3. คุณต้องทราบวิธีการผ่าตัดคร่าวๆ เช่น ผ่าตัดด้วยวิธีฉีดยาชาหรือดมยาสลบ
  4. หากคุณดื่มสุราหรือสูบบุหรี่เป็นประจำควรงดเว้นก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์
  5. ควรเตรียมร่างกายโดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ
  6. หากไม่สบายในวันใกล้ผ่าตัด เช่น เป็นหวัดหรือมีอาการผื่นคันควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย

อ้างอิง[แก้]

  • นิตยสารชีวจิต ฉบับวันที่ 1 สิงหาคม 2552