การปรองดอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การปรองดอง (reconciliation) หมายจัดการความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม ในสังคมที่เคยแตกแยก ต่อสู้ และปะทะกัน ทั้งในระดับความคิดและในระดับการใช้ความรุนแรงทางกายภาพ ในการตกลงเพื่อเข้าสู่การเจรจาสันติภาพ ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ โดยไม่ใช้ความรุนแรง และทำการสร้างองค์กรหรือสถาบันที่เป็นประชาธิปไตยในการเข้ามาช่วยปรองดองและต่อรองอำนาจระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในที่นี้อาจจะรวมถึงการใช้มาตรการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อเป็นเครื่องมือเยียวยาความเสียหายโดยเริ่มจากการแสวงหาความจริงในอดีต สาเหตุความไม่เป็นธรรมในสังคม การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อนจากความขัดแย้ง การแสวงหาข้อเท็จจริงของความคิดแต่ไม่หาคนผิด และการจัดสรรอำนาจใหม่ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่ควรระลึกด้วยว่า การใช้กฎหมายนิรโทษกรรมแต่เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถนำไปสู่การปรองดองอย่างแท้จริงได้ การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อต้นตอของความขัดแย้งในสังคมได้รับการแก้ไข การจะเริ่มแก้ไขได้ก็โดยการพิสูจน์ทราบ บันทึก และชี้แจงข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะสังคมมีสิทธิในการเข้าถึงความจริง การรับทราบความจริงจึงจะนำมาสู่ความเข้าใจ การให้อภัย และเมื่อนั้นการปรองดองจึงจะเกิดขึ้นได้ (Murphy, 2010: 1-37)[1]

อรรถาธิบาย[แก้]

สถาบันส่งเสริมประชาธิปไตยและการเลือกตั้งสากล (International Institute for Democracy and Electoral Assistance: IDEA) ได้กล่าวถึงกระบวนการการปรองดองใน 3 ขั้นตอนไว้ดังนี้[2]

  1. การตกลงที่จะอยู่ร่วมกันโดยไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อหยุดยั้งการมีชีวิตอยู่ภายใต้ความกลัว
  2. เมื่อความกลัวหมดไป ให้ทำการสร้างความเชื่อมั่นและความเชื่อใจ (confidence and trust)
  3. การสร้างสังคมที่เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น (empathy)

อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติจะพบว่าไม่มีการปรองดองในที่ใดไม่เกี่ยวกับ “การเมือง” และแทบจะไม่มีการปรองดองในที่ใดไม่มีผลประโยชน์ทาง “เศรษฐกิจ” ตัวอย่างเช่นในประเทศแอฟริกาใต้ที่เคยเกิดสงครามกลางเมืองและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ได้ทำการสร้างกระบวนการปรองดอง การเลือกตั้งที่ได้เนลสัน แมนเดลาขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี แม้จะได้คะแนนเสียงจากคนดำอย่างท่วมท้น แต่เนลสัน แมนเดลาถือว่าตนเป็นประธานาธิบดีของคนแอฟริกาใต้ทั้งประเทศ ไม่ว่าคนดำหรือคนขาว ความปรองดองของคนในชาติถือเป็นสิ่งสำคัญทำให้เนลสัน แมนเดลาเลือกอดีตประธานาธิบดีเดอเคลิร์กซึ่งเป็นคนขาว มาเป็นรองประธานาธิบดีในคณะรัฐบาลแห่งชาติ เพื่อเปิดกระบวนการปรองดอง การสืบค้นหาความจริง การเยียวยา การนิรโทษกรรม และการเจรจากับกลุ่มต่าง ๆ อีกหลายครั้ง การสร้างกระบวนการปรองดองจึงต้องใช้เวลานานและความอดทนต่อความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างมาก (Whittaker, 1999: 28-29)[3]

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างในประเทศพม่า การพัฒนาเขตเศรษฐกิจและท่าเรือน้ำลึกทวายในช่วงปี 2008 เป็นต้นมา ได้มีการพัฒนาเศรษฐกิจทำให้ผลประโยชน์จำนวนมหาศาลเข้าสู่ประเทศ ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อยจึงเบาบางลง เพราะถนนในการเข้าถึงพื้นที่ทวายจำเป็นต้องตัดผ่านเขตการปกครองของชนกลุ่มน้อย ทำให้รัฐบาลเปิดกระบวนการเจรจาสันติภาพกับชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ร่วมกันทางเศรษฐกิจ

จะเห็นได้ว่ากระบวนการสร้างความปรองดองนั้นวางอยู่บนกรอบความคิดทางการเมืองพื้นฐานสามประการ ประการแรกคือการยึดหลักนิติธรรม (rule of law) เพราะแม้กระบวนการปรองดองจะพยายามไกล่เกลี่ย และมีการรอมชอมระหว่างคู่ขัดแย้ง แต่ความจริงทางการเมือง และความถูก-ผิด ภายใต้กรอบของกฎหมายก็ยังคงต้องดำรงอยู่ และมีการตัดสินไปตามกระบวนการปกติเพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรม แต่ความเป็นธรรมที่ว่านี้ ตั้งอยู่ภายใต้แนวคิดความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน ประการที่สองคือ การสร้างความไว้วางใจทางการเมือง (political trust) ระหว่างคู่ขัดแย้ง และประการสุดท้ายก็คือ การสร้างศักยภาพ (capability) ให้แก่สถาบันทางการเมืองทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการเพื่อก่อร่างสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ดีระหว่างคู่ขัดแย้ง (Murphy, 2010: 41, 71, 94)[4]

ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย[แก้]

สำหรับงานศึกษาของไทย พบงานของสถาบันพระปกเกล้า (2555: 18)[5] ได้ให้ความหมายของการปรองดองไว้ว่า การปรองดองได้แก่กระบวนการต่าง ๆ ที่ป้องกันแก้ไขไม่ให้ความขัดแย้งเกิดขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยการสร้างสันติภาพ หยุดยั้งวงจรความรุนแรง และสร้างสถาบันที่เป็นประชาธิปไตยให้กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง แต่ในส่วนของแนวทางการปฏิบัตินั้นเป็นที่ยอมรับว่าอาจไม่ง่ายนักที่จะสามารถทำตามแนวคิดทฤษฎีของการปรองดอง เนื่องจากกระบวนการปรองดองไม่สามารถแยกออกจากสังคมที่มีปัญหาความขัดแย้งและความหวาดกลัวอย่างรุนแรงได้ การปรองดองเป็นกระบวนการที่ยากลำบาก ยาวนาน คาดเดาได้ยากและเกี่ยวข้องกับการวางแผน ขั้นตอนและวิธีการต่าง ๆ ที่เหมาะสม และต้องทำอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ เช่น การมีสันติธรรมแทนที่จะแก้แค้น การจัดการความทรงจำร่วมกัน และสร้างการอธิบายจากมุมมองต่าง ๆ ของความขัดแย้งอย่างเท่าเทียมกัน

ในทางปฏิบัติ สังคมไทยหลังปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา เป็นสังคมที่มีความแตกแยกกันอย่างมาก ทั้งความแตกแยกทางการเมือง (ระหว่างกลุ่มสีเสื้อต่าง ๆ ) ความแตกแยกทางเศรษฐกิจ (ความแตกต่างระหว่างชนชั้น ความไม่เป็นธรรมในการแบ่งบันทรัพยากร) และความแตกแยกทางสังคม (การไม่ได้รับความยุติธรรม หรือ ถูกปฏิบัติแบบ “สองมาตรฐาน”) นำมาสู่การจัดการปัญหาด้วยการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) สมัชชาปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยในการสร้างความปรองดองในชาติ

การสืบค้นหาความจริงของ “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ” ที่ได้ออกผลการศึกษาในช่วงปลายปี พ.ศ. 2555[6] และรายงานที่จัดทำโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ถึงผลการตรวจสอบกรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช. หรือกลุ่มคนเสื้อแดง) ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553-19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553[7] นำมาสู่ข้อถกเถียงและการตั้งคำถามอย่างกว้างขวางต่อเนื้อหาและข้อสรุป ความพยายามสร้างความปรองดองที่ผ่านมาของสังคมไทยสะท้อนว่า กระบวนการปรองดองเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องอาศัยการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ ต้องอดทนต่อข้อมูลและการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง จริงใจและเปิดใจยอมรับฟังเสียงจากผู้เห็นต่างให้มากกว่าเดิม ทั้งนี้เป้าหมายคือการสร้างความไว้วางใจระหว่างคนในสังคม[8]

ในการนำหลักการและกระบวนการปรองดองมาใช้ในสังคมไทย ต้องไม่ลืมว่าการปรองดองมีความสัมพันธ์กับระบบการเมือง โครงสร้างทางเศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด ไม่มีกระบวนการปรองดองใดที่แยกตัวออกจากเศรษฐกิจและการเมือง และต้องคำนึงว่าความขัดแย้งที่มีมาเป็นเวลายาวนานไม่สามารถจัดการได้ภายในระยะเวลาอันสั้น แต่จำเป็นต้องใช้กระบวนการที่กินเวลาในการเปิดเจรจาระหว่างกลุ่มต่าง ๆ และใช้กลไกช่วยเหลือเยียวยาจนทุกกลุ่มในสังคมสามารถกลับมาดำรงอยู่ร่วมกันได้ด้วยความอดทนต่อความหลากหลาย และที่สำคัญที่สุด การปรองดองที่แท้จริงมิอาจทำได้โดยใช้ความรุนแรงและกำลังบังคับ มิอาจเกิดขึ้นได้ด้วยวาทกรรมที่ปราศจากสำนึกในความผิด และการสรุปบทเรียนแห่งความผิดพลาดที่จะไม่กระทำต่อกันอีก การปรองดองจะสำเร็จได้ก็ต้องเริ่มด้วยการชำระประวัติศาสตร์ ให้ข้อเท็จจริงปรากฏ ไม่ใช่การทำให้ความจริงหายไป

อ้างอิง[แก้]

  1. Murphy, Colleen (2010). A Moral Theory of Political Reconciliation. Cambridge:Cambridge University Press.
  2. International Institute for Democracy and Electoral Assistance (2003). “Reconciliation after Violent Conflict”. Accessed October 3, 2012 from http://www.idea.int/publications/reconciliation/upload/reconciliation_chap02.pdf เก็บถาวร 2016-03-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  3. Whittaker, David J. (1999). Conflict and Reconciliation in the Contemporary World. New York: Routledge.
  4. Murphy, Colleen (2010). A Moral Theory of Political Reconciliation. Cambridge: Cambridge University Press.
  5. สถาบันพระปกเกล้า (2555). รายงานวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ. รายงานวิจัยเสนอต่อคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร.
  6. รายงานฉบับสมบูรณ์คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กรกฎาคม 2553- กรกฎาคม 2554. เข้าถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2555 ใน http://www.slideshare.net/FishFly/2553-2554-14315242.
  7. รายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่ม นปช. ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ. เข้าถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2555 ใน http://www.nhrc.or.th/2012/wb/img_contentpage_attachment/692_file_name_9897.pdf เก็บถาวร 2013-10-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  8. “ลูกเสธ.แดง-แม่น้องเกด มอบหลักฐาน "ยงยุทธ" พิจารณาร่วมรายงาน "คอป”. มติชน. เข้าถึงวันที่ 25 กันยายน 2555 ใน http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1348552553&grpid=02&catid=02[ลิงก์เสีย].