การปฏิวัติเดือนเมษายน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การปฏิวัติเดือนเมษายนในเกาหลีใต้

การปฏิวัติของนักศึกษาเกาหลีใต้ 19 เมษายน (April Nineteenth Student Rovolution) เป็นเหตุการณ์ที่นักศึกษาหัวรุนแรงประท้วงผลการเลือกตั้งในกรุงโซลและเมืองอื่นๆ ในระหว่างวันที่ 18 – 26 เมษายน พ.ศ. 2503 ทำให้การครองอำนาจของประธานาธิบดีอี ซึง-มันสิ้นลุดลง

ความไม่พอใจต่อประธานาธิบดีอึ ซึง-มันในหมู่นักศึกษาเกิดจากการที่รัฐบาลปกครองประเทศอย่างกดขี่ มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง และมีการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ความไม่สงบได้เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ 15 มีนาคม พ.ศ. 2503 ประธานาธิบดีรี ชิงมันจากพรรคเสรีนิยมไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และไม่สามารถผลักดันยี กีปุงให้เป็นรองประธานาธิบดี ทำให้มีการใช้กลโกงต่างๆในการเลือกตั้ง โดยในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ได้มีการปะทะระหว่างนักศึกษากับตำรวจที่บุกขึ้นไปยังห้องเรียนของนักศึกษา ในวันเลือกตั้งได้ประชาชนออกมาประท้วงมากมาย ทำให้มีการปราบปรามอย่างนองเลือด

ในวันที่ 11 เมษายน มีผู้พบศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวที่เสียชีวิตด้วยระเบิดแก๊สน้ำตา ทำให้ชาวเมืองมาซานเกิดความเคียดแค้น การจับตำรวจมาโบยตีเพื่อระบายความแค้น เมื่อข่าวนี้ไปถึงโซล มีนักศึกษาในโซลออกมาประท้วงรัฐบาล 3,000 คน เมื่อ 18 เมษายน แต่เมื่อนักศึกษากลับบ้านหลังการประท้วงกลับถูกทุบตี ลอบทำร้ายจนบาดเจ็บ ดังนั้น ในวันรุ่งขึ้น คือ 19 เมษายน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆในโซลต่างออกมาเดินขบวนประท้วง รวมทั้งนักเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษา ระหว่างที่นักศึกษาพยายามฝ่าเครื่องกีดขวางเพื่อเข้าสู่ทำเนียบประธานาธิบดี ได้มีการยิงแก๊สน้ำตาและยิงปืนเข้าใส่นักศึกษาจนมีผู้เสียชีวิต ทำให้การประท้วงเต็มไปด้วยความรุนแรง มีการเผาสถานที่ราชการต่างๆ รัฐบาลจึงประกาศกฎอัยการศึก และนำทหารออกมาปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 200 คน บาดเจ็บราว 1,000 คน

ในวันที่ 25 เมษายน คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยได้ยื่นหนังสือขอให้ประธานาธิบดีรี ชิงมันลาออก[1] ในวันที่ 26 เมษายน การประท้วงรุนแรงขึ้นอีก ข้าราชการที่ใกล้ชิดและสถานทูตสหรัฐก็ร่วมกดดันให้อึ ซึง-มันลาออก เขาจึงลาออกในวันที่ 27 เมษายน และลี้ภัยไปฮาวาย ส่วนยี กีปุงพร้อมภรรยาและบุตรชายได้ทำอัตวินิบาตกรรมในวันที่ 28 เมษายน[2] การประท้วงจึงสิ้นสุดลง หลังจากนั้น โฮ ชองอดีตนายกรัฐมนตรีได้เข้ามาบริหารประเทศชั่วคราว และจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม ผลปรากฏว่าพรรคประชาธิปไตยเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง และยุน โบ-ซ็อนได้เป็นประธานาธิบดี

อ้างอิง[แก้]

  • เพ็ชรี สุมิตร. การปฏิวัติของนักศึกษา (เกาหลีใต้) 19 เมษายน ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กทม.ราชบัณฑิตยสถาน. 2539. หน้า 229 - 231
  1. Kim, C. I. Eugene, and Ke-soo Kim (1964). "The April 1960 Korean Student Movement", The Western Political Quarterly, 17(1).
  2. Tennant, Roger (1996). "A History of Korea", Kegan Paul International London and New York