การปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก การปฏิรูปโปรเตสแตนต์)
มาร์ติน ลูเทอร์

การปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ (อังกฤษ: Protestant Reformation) คือขบวนการการปฏิรูปศาสนาที่เริ่มโดย มาร์ติน ลูเทอร์ เมื่อปี ค.ศ. 1517 เพื่อแก้ไขความเสื่อมโทรมของคริสตจักรโรมันคาทอลิก และสถาบันสันตะปาปา มาเสร็จสิ้นลงด้วยสนธิสัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย ค.ศ. 1648[1] ผลจากการปฏิรูปคือการแยกตัวจากนิกายคาทอลิกมาเป็นนิกายโปรเตสแตนต์

เหตุการณ์ก่อนการปฏิรูป[แก้]

มีเหตุการณ์หลายประการที่เป็นต้นเหตุเกิดการเปลี่ยนแปลง และปฏิรูปศาสนาคริสต์ครั้งใหญ่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16

  1. สถาบันสันตะปาปาตกอยู่ใต้อำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสระหว่าง ค.ศ. 1305-1375 ที่เรียกว่า ”การคุมขังแห่งบาบิโลเนีย" หรืออาวีญง ทำให้สถาบันฯ เสื่อมอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นชนวนให้ผู้ใฝ่ในศาสนาดิ้นรนที่จะศึกษาถึงแก่นแท้ของคำสอน เกิดเป็นขบวนการการศึกษาภาษาฮีบรูและกรีกโดยมีศูนย์ที่เมืองฟลอเรนซ์ และมีการค้นคว้าศึกษาวิจัยคัมภีร์ไบเบิลอย่างมากมายเพื่อให้ได้มาซึ่งสัจจะในคำสอน การได้ศึกษาพระคัมภีร์ด้วยตัวเองทำให้นักคิดชั้นนำสามารถวิจารณ์โจมตีสถาบันศาสนาได้อย่างเต็มที่
  2. การพัฒนาของเทคโนโลยีการพิมพ์ แบบเรียงพิมพ์ทำให้มีการแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาต่าง ๆ และตีพิมพ์อย่างแพร่หลาย ซึ่งทำให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้ด้วยตัวเอง และไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังบาทหลวง บิชอป หรือสภาสังคายนาที่จะวินิจฉัยวางหลักการอย่างไรก็ต้องยอม
    1. อีราสมัส (Desiderius Erasmus ค.ศ. 1466-1563) แปลพระคัมภีร์ฉบับกรีกเพื่อเผยแพร่ทั่วไป
    2. บิชอปซิเมเนส (Ximenes) เป็นผู้ควบคุมจัดทำคัมภีร์ไบเบิลฉบับสมรวม (The Polyglot Bible)
  3. ในช่วงศตวรรษที่ 14 เรื่อยมา มีการดึงอำนาจที่กระจัดกระจายในหมู่ขุนนางศักดินา กลับคืนสู่ราชบัลลังก์ โดยได้รับความช่วยเหลือของกลุ่มชนใหม่ที่มีภูมิกำเนิดนอกสังคมขุนนางศักดินา คือกลุ่มชนที่มีพลังเศรษฐกิจและมีความรู้ความสามารถอันเป็นผลจากความสำเร็จของครอบครัวทางการค้า หรืออุตสาหกรรม กลายเป็นสังคมรัฐประชาชาติ มีการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมืองภายในรัฐ ระหว่างรัฐในยุโรปกับสถาบันสันตะปาปา กลุ่มชนใหม่เหล่านี้ให้การสนับสนุนต่อประมุขการเมืองของรัฐปราบปรามบรรดาขุนนางศักดินาภายในรัฐ และต่อต้านสถาบันสันตะปาปาจากภายนอก กลุ่มชนใหม่นี้เรียกว่าชนชั้นกลางซึ่งประกอบด้วยกลุ่มพ่อค้า นักธุรกิจ นายธนาคาร และกลุ่มผู้มีการศึกษา
  4. สันตะปาปาในระยะศตวรรษที่ 15-16 ให้ความสำคัญในการประกอบภารกิจทางศาสนาน้อยมาก มีการหมกมุ่นในทางโลกและละเลยหน้าที่รับผิดชอบทางธรรมและพระวินัย มีการขายใบไถ่บาป (Sale of Indulgence) และการบูชาเรลิกของนักบุญอย่างงมงาย มีการซื้อขายตำแหน่งสมณศักดิ์ มีการอุดหนุนบุคคลในครอบครัวให้ได้รับตำแหน่งสำคัญในศาสนา เช่น สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 (ค.ศ. 1492-1503) แห่งสกุลเบอร์เจีย พยายามจะสร้างฐานะมั่นคงทางโลก และทรัพย์สินแก่ลูกชายลูกสาวอย่างลับ ๆ โดยลูกชายคนสำคัญคือ ซีซาเร เบอร์เจีย (ค.ศ. 1476-1507) และให้เมียลับแต่งตัวเป็นชายร่วมขบวนแห่เฉลิมพระเกียรติของพระองค์
  5. ในสภาสังคายนาแห่งคอนสแตนซ์ (The Constance Council) ค.ศ. 1417 ภายในการนำของจักรพรรดิซิกิสมุนด์ (Sigismund ค.ศ. 1410-1437) เปิดเผยหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าเอกสาร "บรรณาการของคอนสแตนติน" เป็นเอกสารปลอมที่สถาบันสันตะปาปาจัดทำขึ้นในศตวรรษที่ 8 ทำให้อำนาจของคริสตจักรยิ่งเสื่อมและสูญเสียความนิยม มีกลุ่มคนเช่น จอห์น วิคลิฟฟ์ (John Wyclyffe ค.ศ. 1320-1384) ยาน ฮุส (Jan Hus ค.ศ. 1369-1415) และ เวสเซล (Wessl ค.ศ. 1420-1489) โจมตีคริสตจักรจากภายในเพื่อรื้อฟื้นให้คริสตจักรกลับเป็นผู้เผยแพร่คำสอนที่แท้จริง ซึ่งถึงแม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่มีผลที่ทำให้คนในยุโรปในศตวรรษที่ 15 กล้าก้าวออกมาจากความงมงายของคำสอนที่แหลกเหลว และเคร่งครัดในยุคกลาง ตลอดจนการทำลายบทบาทของคริสตจักร ในฐานะอุปสรรคสำคัญของความก้าวหน้าทางด้านศิลปะวิทยาการ และความคิดที่มีเหตุผล

การปฏิรูปศาสนา (Protestant Reformation)[แก้]

การปฏิรูปศาสนาของนิกายโปรเตสแตนต์ เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และเสร็จสิ้นลงด้วยสนธิสัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย ค.ศ. 1648 ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กระแสใหญ่ ๆ คือ

  1. การปฏิรูปภายนอกที่แบ่งศาสนาคริสต์ออกเป็น 2 นิกายคือ โรมันคาทอลิก และโปรเตสแตนต์
  2. การปฏิรูปภายใน ที่แก้ไขความเสื่อมโทรมของศาสนา และสถาบันสันตะปาปา เพื่อต่อสู้ไม่ให้ชาวยุโรปหันไปนิยมนิกายโปแตสแตนต์ที่เกิดขึ้นใหม่

โดยการปฏิรูปนั้นเริ่มต้นจากหลายๆทาง

จุดเริ่มต้นขบวนการปฏิรูปศาสนา[แก้]

  1. ผลงานวิทยานิพนธ์ “เทวนคร” (City of God) ของออกัสตินแห่งฮิปโป ที่เป็นแรงบันดาลใจในหมู่นักปฏิรูป
  2. ขบวนการฮุสไซต์ (The Hussites) กลุ่มผู้ติดตามยัน ฮุส (Jan Hus) ชื่อหลักการ Utraquism คือ ฆราวาสมีสิทธิเช่นเดียวกับสงฆ์ในพิธีรับศีลมหาสนิท ที่จะรับทั้งขนมปังและเหล้า โดยในสมัยนั้นฆราวาสจะรับได้เพียงขนมปังและน้ำเท่านั้น ซึ่งเบื้องหลังคือการกดดันให้สถาบันสันตะปาปา และคณะกรรมาธิการศาสนา (Council Authority) ยอมรับว่าทั้งบรรพชิตและฆราวาสนั้นเท่าเทียมกัน และพระคัมภีร์เท่านั้นที่มีอำนาจสูงสุดในศาสนกิจ โดยภายหลังการปฏิรูปศาสนากลุ่มฮุสไซต์ได้เข้ารวมกับพวกติดตามลูเทอร์
  3. ขบวนการลอล์ลาร์ด (The Lollard Movement) ของจอห์น วิคลิฟฟ์ (John Wycliffe) ที่เน้นการปรับปรุงศาสนาให้เข้ากับความต้องการของสามัญชน เน้นการเทศนาสั่งสอนมากกว่าการรับศีล ต่อต้านการสารภาพบาป การสวดมนต์ให้แก่ผู้สิ้นชีวิตแล้ว การเดินทางไปจาริกแสวงบุญ การเชื่อเครื่องรางของขลัง และเริ่มการใช้คัมภีร์ไบเบิลที่แปลเป็นภาษาพื้นเมือง เพื่อให้ชาวบ้านได้ศึกษาพระคัมภีร์ด้วยตนเองแทนการพึ่งพิงพระที่ใช้พระคัมภีร์ภาษาละติน โดยขบวนการลอล์ลาร์ดนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการปฏิรูปศาสนาระยะแรกภายใต้มาร์ติน ลูเทอร์

ดังนั้นพบว่าขบวนการปฏิรูปศาสนานั้นได้มีการเริ่มมาจากความไม่พอใจของสงฆ์ที่มีธรรมะ และสามัญชนที่ผิดหวังในสถาบันศาสนา ประกอบกับมีการผันแปรทางการเมือง ทัศนคติทำให้ผู้ที่ปรารถนาจะแก้ไขความเสื่อมในศาสนากล้าที่จะประกาศตนออกจากสถาบันศาสนา โดยไม่ต้องหวาดกลัวต่อชะตากรรมแบบ “ลอยแพ” ของสังคมในยุคกลางอีกต่อไป

ผลของการปฏิรูปศาสนา[แก้]

ทางการเมือง
การปฏิรูปศาสนาได้ทำให้พวกที่ไม่ต้องการระเบียบแบบแผน และพวกที่มีความคิดเห็นรุนแรงทางศาสนาก่อการจลาจลวุ่นวายขึ้นเรียกว่า ”กบฏชาวนา” ในปี ค.ศ. 1525 ที่โบฮีเมีย มีทั้งกลุ่มอัศวินต่อสู้กับเจ้านายของตน และพวกชาวนาที่ก่อการปฏิวัติต่อเจ้าของที่ดินโดยต่างยื่นข้อเสนอเรียกร้องสิทธิของตน และกำหนดกฎเกณฑ์เอาตามใจชอบ บ้างก็ขอเสรีภาพในการถือศาสนา ดังนั้นลูเทอร์จึงได้ลุกขึ้นมาสอนให้ประชาชนเคารพประมุข และกฎหมายของรัฐ และต่อต้านการจลาจล โดยถือว่าประมุขของรัฐมีอำนาจอันชอบธรรมในสายตาของศาสนา ที่จะดำเนินการเด็ดขาดกับขบวนการเหล่านี้ เพราะฉะนั้นคำสอนของลักธิลูเทอรันส่งเสริมอำนาจชนชั้นปกครอง
ทางศาสนา

เกิดการปฏิรูปศาสนาไปทั่วยุโรปโดยแบ่งออกเป็น

  • แยกนิกายเป็น โปรเตสแตนต์และโรมันคาทอลิก
  • การปฏิรูปภายในนิกายโรมันคาทอลิกเอง เช่น เกิดคณะเยสุอิต (The Jesuits) ที่เน้นการศึกษาวิทยาการใหม่เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม สภาสังคายนาแห่งเทรนต์ (1545-1563) ซึ่งต้องการแก้ไขข้อติดเตียนของขบวนการปฏิรูปศาสนาโปรเตสแตนต์ทั้งหมด แต่ยังเชื่อว่าสิทธิอำนาจมาจากพระคัมภีร์และขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ที่คริสตจักรได้รับสืบทอดมาจากเปโตร และยอมรับอำนาจของสันตะปาปาว่ายังมีอยู่ ผลการปฏิรูปนิกายโรมันคาทอลิก ทำให้สามารถป้องการการขยายตัวของความนิยมในนิกายโปรเตสแตนต์อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าสันตะปาปาต้องเสียอำนาจในยุโรปไปมาก แต่ก็ยังสามารถรักษาอิทธิพลทางจิตใจเหนือประชากรจำนวนมากของโลกตะวันตกไว้ได้ และสามารถฟื้นฟูความศักดิ์สิทธิของโรมได้จนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. Simon, Edith (1966). Great Ages of Man: The Reformation. Time-Life Books. pp. 120–121. ISBN 0662278208.

ดูเพิ่ม[แก้]