การก่อการกำเริบของประชาชนในยุโรปช่วงปลายสมัยกลาง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษพบปะกับคณะผู้ก่อการในการปฏิวัติชาวนา

การปฏิวัติของชุมชนในปลายสมัยกลางของยุโรป (อังกฤษ: Popular revolt in late medieval Europe) โดยทั่วไปเป็นการก่อความไม่สงบหรือการปฏิวัติของเกษตรกรในชนบทหรือชนชั้นกลางในเมืองในการต่อต้านขุนนาง, นักบวช หรือ พระมหากษัตริย์ระหว่างคริสต์ศัตวรรษที่ 14 จนถึงต้นคริสต์ศัตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ“วิกฤติกาลของปลายสมัยกลางของยุโรป”(Crisis of the Late Middle Ages) บางครั้งก็เรียกว่า“กบฏชาวนา”(Peasant revolt) ที่เป็นการปฏิวัติของชุมชนที่ครอบคลุมอย่างกว้างไม่เฉพาะแต่เกษตรกรหรือชาวนา

เบื้องหลัง[แก้]

ก่อนคริสต์ศัตวรรษที่ 14 การปฏิวัติโดยชุมชนมิใช่เป็นสิ่งใหม่แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้น แต่มักจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในท้องถิ่น แต่เมื่อมาถึงคริสต์ศัตวรรษที่ 14 และ 15 ความกดดันจากชนชั้นสูงที่เพิ่มมากขึ้นก็ทำให้การก่อความไม่สงบหรือการปฏิวัติโดยชุมชนแพร่ขยายไปทั่วยุโรป ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปก็จะเห็นได้จาก ระหว่างปี ค.ศ. 1336 ถึงปี ค.ศ. 1525 ในเยอรมนีมีการก่อความไม่สงบโดยเกษตรกรไม่น้อยไปกว่าหกสิบครั้ง[1]

การก่อความไม่สงบส่วนใหญ่เป็นการแสดงความต้องการที่จะมีส่วนร่วมในผลประโยชน์ของผู้ที่มีฐานะดีกว่าทั้งทางด้านความมั่งคั่ง, ทางฐานะ และทางด้านความเป็นอยู่ แต่ผลของการก่อความไม่สงบส่วนใหญ่ฝ่ายเกษตรกรก็จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต่อขุนนางผู้ปกครองและมีอำนาจมากกว่า ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดการสร้างทัศนคติในยุโรปที่เหยียดหยาม“เกษตรกร”ว่าเป็นชนชั้นที่แยกจากชนชั้นอื่นและเป็นชนชั้นที่ไม่ดีในสายตาของผู้มีฐานะทางสังคมและความมั่งคั่ง ซึ่งเป็นการแบ่งชนชั้นในสังคมที่แตกต่างจากการแบ่งก่อนหน้านั้นที่แบ่งกลุ่มชนเป็นสามกลุ่ม: กลุ่มผู้ใช้แรงงาน, กลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับศาสนา และ กลุ่มผู้ต่อสู้ ซึ่งในความหมายเดิมเกษตรกรก็แทบจะใกล้กับพระเจ้า แต่ในทัศนคติใหม่เกษตรกรดูราวจะไม่ใช่มนุษย์

สาเหตุ[แก้]

มิเชเล ดิ ลันโด หน้าตึกศาลยุติธรรม (Gonfaloniere of Justice) ที่ฟลอเรนซ์ในการปฏิวัติของสมาคมช่างแห่งฟลอเรนซ์

สาเหตุสำคัญห้าสาเหตุที่ทำให้เกิดการก่อความไม่สงบก็ได้แก่ 1) ช่องว่างที่เพิ่มขึ้นระหว่างคนจนและคนรวย, 2) รายได้ที่ลดลงของผู้มีฐานะดี, 3) ภาวะเงินเฟ้อและภาษีที่เพิ่มขึ้น, 4) วิกฤติกาลภายนอกที่รวมทั้งความอดอยาก, โรคระบาด และสงคราม และ 5) ความกดดันจากสถาบันศาสนา

คนจนและคนรวย[แก้]

สาเหตุแรกก็เกิดจากช่องว่างระหว่างฐานะทางเศรษฐกิจของคนจนและคนรวยที่กว้างขึ้นทุกที ที่มีรากฐานมาจากคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในการที่ชนชั้นเจ้านายหรือขุนนางสร้างสิ่งแวดล้อมที่บ่งถึงความเป็นชนชั้นที่แตกต่างและเหนือกว่าผู้อื่นในการแต่งตัว, การปฏิบัติตัว, กิริยา, ความเป็นอยู่ และการศึกษา เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ชนชั้นเจ้านายหรือขุนนางก็กลายเป็นชนชั้นที่แตกต่างจากชนชั้นที่ถือว่าเป็น “ชนชั้นต่ำ” โดยสิ้นเชิง

ในบรรดาผู้อยู่อาศัยในเมืองการค้าขายอย่างเสรีก็กว้างไกลขึ้นจนทำให้เกิดชาวเมืองที่เป็น“ชนชั้นต่ำ”ที่มักจะก่อความไม่สงบในเวลาที่ข้าวยากหมากแพง ชนชั้นผู้ฝึกงานที่ไม่มีเงินพอที่จะซื้อการเป็นช่างเต็มตัวจากสมาคมช่างที่มีการควบคุมอย่างเหนียวแน่นก็เกิดความไม่พอใจและถ้าเป็นเมืองมหาวิทยาลัยบางครั้งก็จะชักชวนให้นักศึกษาเข้าร่วมในการก่อความไม่สงบด้วย

ภาวะเงินเฟ้อ[แก้]

สาเหตุที่สองมาจากการที่ชนชั้นขุนนางที่มีรายได้ลดลง ภายในปี ค.ศ. 1285 ภาวะเงินเฟ้อก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการขยายตัวของประชากรและขุนนางคิดค่าเช่าที่คงตัวตามระบบที่ทำกันมา เมื่อราคาสินค้าสูงตัวขึ้นเพราะภาวะเงินเฟ้อรายได้ของขุนนางจึงไม่ได้เพิ่มตามขึ้นไปด้วยหรืออาจจะลดลงด้วยซ้ำเมื่อคำนวณกับค่าเงินเฟ้อ สิ่งที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงคือความเคยชินกับการใช้ชีวิตที่ฟุ่มเฟือยที่ทำให้ต้องใช้เงินเพิ่มขึ้น ซึ่งขุนนางก็ทำโดยการขึ้นค่าเช่าโดยไม่ถูกต้อง, ฉ้อโกง, ขโมย หรือบางครั้งก็ใช้กำลังในการนำมาซึ่งสิ่งที่ต้องการ

ภาษี[แก้]

สาเหตุประการที่สามคือพระมหากษัตริย์ต้องการเงินไปในการต่อสู้ในสงครามซึ่งทำโดยการลดค่าเงินโดยการตีเหรียญกษาปณ์เงินและทองด้วยโลหะที่มีค่าน้อยกว่า ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อซึ่งต้องทำให้เก็บภาษีสูงขึ้น

สถานการณ์ภายนอก[แก้]

วิกฤติกาลในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ต่าง ๆ ที่รวมทั้งความอดอยาก (Great Famine), โรคระบาด และสงคราม เป็นปัจจัยอีกประการหนึ่งที่เพิ่มความกดดันให้แก่สถานการณ์ยิ่งขึ้นแก่ผู้มีฐานะลำบากอยู่แล้ว โรคระบาดครั้งใหญ่ลดจำนวนประชากรของยุโรปที่เป็นผู้ใช้แรงงานในการสร้างความมั่งคั่งลงไปเป็นจำนวนมาก

ศาสนา[แก้]

สาเหตุประการสุดท้ายคือคำสอนของลัทธิฟรานซิสคันที่กล่าวว่าอสังหาริมทรัพย์, ความมั่งคั่ง และความไม่เท่าเทียมกันเป็นสิ่งที่ขัดต่อคำสอนของพระเจ้า ปรัชญาที่ว่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในคำเทศนาของจอห์น บอลล์ (John Ball) ระหว่างการปฏิวัติชาวนาในอังกฤษที่กล่าวว่า “When Adam delved and Eve span, who was then the gentleman?” หรือที่ว่า “ทุกคนเท่าเทียมกันในสายตาของพระเจ้า” ซึ่งเป็นการเรียกร้องความเท่าเทียมกันในสังคมที่ไม่มีใครที่อยู่เหนือกว่าผู้ใด

การปฏิวัติของชุมชนที่สำคัญ[แก้]

การปฏิวัติของ György Dózsa ในปี ค.ศ. 1514 ขยายราวกับไฟไหม้ป่าใน ราชอาณาจักรฮังการี ที่ปราสาทและคฤหาสน์ถูกเผาไปเป็นจำนวนมาก และชนชั้นปกครองหรือผู้มีฐานะถูกสังหารไปเป็นจำนวนมากโดยวิธีแร่เนื้อ, ตรึงกางเขน หรือวิธีการที่ทารุณอื่น ๆ Dózsa ในภาพถูกลงโทษด้วยเก้าอี้เหล็กและมงกุฏที่ร้อนเป็นไฟ

การปฏิวัติในเมืองที่สำคัญ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Peter Blickle, Unruhen in der ständischen Gesellschaft 1300-1800, 1988

ดูเพิ่ม[แก้]