การกัดเซาะชายฝั่งทะเลของประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การกัดเซาะชายฝั่งทะเลของประเทศไทย เป็นปัญหาที่ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทรัพย์สินของประชาชนและของทางราชการ ทำให้เสียทัศนียภาพ ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยว อีกทั้งยังทำให้เกิดความเสียหายด้านทรัพยากรชายฝั่งอีกด้วย โดยอัตราการกัดเซาะชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยและด้านอันดามันเฉลี่ยมากกว่า 5.0 เมตรต่อปี แต่การกัดเซาะชายฝั่งทะเลด้านอันดามันเกิดขึ้นน้อยกว่าชายฝั่งด้านอ่าวไทย[ต้องการอ้างอิง]

ชายฝั่งทะเลของประเทศไทย[แก้]

ชายฝั่งทะเลของประเทศไทยมีความยาวประมาณ 2,600 กิโลเมตร และมีจำนวนประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 11 ล้านคน ทั้งนี้สามารถแบ่งได้เป็น

บริเวณชายฝั่งทะเลมีความสำคัญในด้านการเป็นที่อยู่อาศัย เป็นพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรมและในเชิงพาณิชย์ การท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นพื้นที่อนุรักษ์และเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์อีกด้วย

สถานการณ์ปัจจุบัน[แก้]

ในปัจจุบันชายฝั่งทะเลของประเทศไทยประสบกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในระดับรุนแรง ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทรัพย์สินของประชาชนและของทางราชการ ทำให้เสียทัศนียภาพ ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยว อีกทั้งยังทำให้เกิดความเสียหายด้านทรัพยากรชายฝั่งอีกด้วย

การกัดเซาะชายฝั่งทะเลในหลายพื้นที่มีแนวโน้มจะมีความถี่มากขึ้นและยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธี

การกัดเซาะชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย[แก้]

มีอัตราการกัดเซาะรุนแรง คือเฉลี่ยมากกว่า 5.0 เมตรต่อปี (ถือเป็นพื้นที่วิกฤติหรือพื้นที่เร่งด่วน) เกิดขึ้นในพื้นที่ชายฝั่งระยะทางรวม 180.9 กิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 10.9 ของแนวชายฝั่งอ่าวไทย ทั้งนี้ชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยตอนบนตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา จนถึงปากแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวและเกิดการกัดเซาะที่รุนแรงที่สุด โดยบางพื้นที่มีอัตราการกัดเซาะชายฝั่งมากกว่า 25 เมตรต่อปี

ภาพซุ้มเสมาโบสถ์วัดโคมนารามหลังเก่า ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

การกัดเซาะชายฝั่งทะเลด้านอันดามัน[แก้]

เกิดขึ้นน้อยกว่าชายฝั่งด้านอ่าวไทยโดยมีการกัดเซาะรุนแรงในอัตราเฉลี่ยมากกว่า 5.0 เมตรต่อปี (พื้นที่วิกฤติหรือพื้นที่เร่งด่วน) รวมระยะทาง 23.0 กิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 2.4 ของแนวชายฝั่งอันดามัน อีกทั้งพบว่าโดยทั่วไปการกัดเซาะชายฝั่งทะเลด้านอันดามันมักเกิดในพื้นที่หาดทรายมากกว่าบริเวณอื่นๆ

สาเหตุของการเกิดการกัดเซาะชายฝั่ง[แก้]

เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ โดยสามารถแบ่งเป็น 2 สาเหตุหลักคือ เกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติ และเกิดจากการกระทำของมนุษย์

เกิดจากกระบวนการตามธรรมชาติ[แก้]

  1. ลมมรสุมและพายุ จะทำให้เกิดคลื่นลมเคลื่อนเข้าปะทะชายฝั่ง ทำให้มีการพัดเอามวลทรายออกจากพื้นที่ชายฝั่งในช่วงเวลาหนึ่ง และจะพัดเอามวลทรายกลับมาในอีกช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจจะทำให้มวลทรายที่ถูกพัดพาออกไปจากชายฝั่ง และมวลทรายที่ถูกพัดพาเข้ามานั้นไม่สมดุลกัน
  2. น้ำขึ้น-น้ำลง ส่งผลต่อการเคลื่อนตัวของตะกอนดินเลน และมวลทรายบริเวณชายฝั่ง ซึ่งอาจจะเกิดความไม่สมดุลดังเช่นที่เกิดกับลมมรสุมและพายุ ก็จะมีส่วนทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งได้เช่นกัน

เกิดจากการกระทำของมนุษย์[แก้]

  1. การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง เพื่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้มีการก่อสร้างต่างๆ ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลเป็นจำนวนมาก เช่น การสร้างนิคมอุตสาหกรรม การสร้างเส้นทางคมนาคมขนส่ง การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพทางธรณีวิทยาของชายฝั่ง ทรัพยากร และระบบนิเวศในบริเวณนั้น ทำให้ขาดความสมดุล และนำไปสู่การเกิดการกัดเซาะชายฝั่งได้ง่าย
  2. การบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น กุ้งกุลาดำ ทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรที่มีความสำคัญในการป้องกันกระแสลม กระแสคลื่น อีกทั้งรากของไม้ชายเลนยังช่วยดักตะกอนโคลนที่ฟุ้งกระจายให้ตกตะกอน ตลอดจนช่วยให้ดินเลนยึดรวมตัวกันทำให้ยากต่อการพังทลายอีกด้วย ดังนั้นในบริเวณที่มีการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน จะสามารถเกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ง่าย
  3. การสร้างเขื่อน และอ่างเก็บน้ำบริเวณต้นน้ำ ทำให้การไหลของกระแสน้ำเกิดการชะลอตัว ดังนั้นตะกอนจำนวนหนึ่งตกตะกอนอยู่ในลำและบางส่วนถูกกักไว้ที่บริเวณเหนือเขื่อน ทำให้ตะกอนที่ไหลไปสะสมตัวบริเวณปากแม่น้ำมีน้อยลง ดังนั้นจึงขาดตะกอนที่จะถูกเติมเข้าไปแทนที่ตะกอนบริเวณชายฝั่งที่ถูกพัดพาออกไป เป็นผลให้ชายฝั่งบริเวณดังกล่าวเกิดการกัดเซาะชายฝั่งได้ง่าย
  4. การสูบน้ำบาดาล มีส่วนทำให้เกิดการทรุดตัวของดิน พร้อมกับมีส่วนทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งได้ด้วยเช่นกัน
  5. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เนื่องจากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ทำให้น้ำทะเลรุกเข้าไปแผ่นดินมากขึ้น ส่งผลให้ชายฝั่งทะเลเกิดการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงขึ้น

มาตรการป้องกันชายฝั่ง (Coastal Protection Measures)[แก้]

ที่นิยมใช้และได้ดำเนินการในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลที่ผ่านมา ประกอบด้วย 2 วิธี คือ มาตรการโครงสร้างแบบแข็ง (Hard Solution) และมาตรการโครงสร้างแบบอ่อน (Soft Solution)

มาตรการโครงสร้างแบบแข็ง[แก้]

  1. เขื่อนกันคลื่น (Breakwater) เป็นโครงสร้างที่ใช้หินขนาดต่างๆ โดยใช้หินขนาดตามที่ออกแบบกองขึ้นเป็นชั้นฐาน (Bedding Layer) และชั้นแกน (Core Layer) หรือแท่งคอนกรีตขนาดใหญ่เป็นชั้นเปลือกนอก (Armor Unit) ก่อกองขึ้นเพื่อยับยั้งความเร็วของคลื่นที่จะเคลื่อนที่เข้าปะทะฝั่ง
  2. เขื่อนกันคลื่นบนฝั่ง (Revetment) เป็นโครงสร้างที่ก่อสร้างชิดชายหาด อาจก่อสร้างจากคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือเรียงด้วยหิน หรือวัสดุอื่นๆ เช่นถุงทรายเป็นต้น (เชิดวงศ์ แสงศุภวานิช, 2564)
  3. รอดักทราย (Groin) เป็นโครงสร้างที่มีลักษณะยื่นตั้งฉากออกไปจากชายฝั่งเพื่อให้ตะกอนสะสมตัวอยู่ระหว่างโครงสร้างรอแต่ละแนว ซึ่งมีหลายรูปแบบทั้งแบบตัวไอ ตัววาย และตัวที
  4. ไส้กรอกทราย (Sand Sausage) เป็นโครงสร้างที่ใช้แผ่นใยสังเคราะห์ (Geotextile) บรรจุทรายเข้าไปเพื่อใช้ในการลดความรุนแรงของคลื่น


โครงสร้างแต่ละประเภทก็ยังมีข้อเด่นและข้อด้อยแตกต่างกัน พื้นที่ที่แตกต่างกันอาจเหมาะสมกับโครงสร้างที่แตกต่างกัน[1] (เชิดวงศ์ แสงศุภวานิช, 2564) ซึ่งสามารถศึกษาเพิ่มเติมจากคลิปวิดีโอเรื่อง ทางเลือกรูปแบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งตอนที่ 1 และตอนที่ 2

มาตรการโครงสร้างแบบอ่อน[แก้]

การกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
  1. การสร้างหาดทราย (Beach Nourishment) เป็นการดูดทรายหรือนำทรายมาถมในบริเวณที่ถูกกัดเซาะ ซึ่งวิธีการนี้จะสิ้นเปลื้องค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาที่สูงมาก แต่สภาพชายหาดจะสวยงาม
  2. การสร้างเนินทราย (Dune Nourishment) เป็นการนำทรายมาถมให้สูงเลียนแบบเนินทรายเดิมที่ถูกทำลายไป และนำพืชบางชนิดที่สามารถขึ้นในเนินทรายมาปลูกเสริมเข้าไป เพื่อดักทรายที่ถูกพัดพาเข้าฝั่ง
  3. การปลูกป่าชายเลน (Mangrove a forestation) ทำในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นที่ราบน้ำขึ้นถึงป่าชายเลน ซึ่งทางฝั่งอ่าวไทยได้มีการนำกล้าไม้ป่าชายเลนมาปลูกขึ้นใหม่ในบริเวณที่ถูกทำลายไป
  4. การกำหนดระยะร่นถอย (Setback) เป็นมาตรการเชิงแผนและนโยบายเพื่อเป็นการลดระดับความเสียหายของสิ่งก่อสร้างบริเวณชายหาด โดยไม่ให้มีสิ่งก่อสร้างบนชายหาดที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยต่อการกัดเซาะ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความเสียหายของทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้าง

ผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่ง[แก้]

  1. ผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่ง การกัดเซาะชายฝั่งมีส่วนทำให้ระบบนิเวศชายฝั่ง เช่น ทรัพยากรป่าชายเลน แนวปะการัง สัตว์น้ำต่างๆ เป็นต้น เกิดความเสียหาย จนอาจทำให้ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติลดน้อยลงหรือถูกทำลายลงในที่สุด
  2. ผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ บริเวณชายฝั่งทะเลที่เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง พื้นที่ชายฝั่งทะเลจะสูญเสียความอุดมสมบูรณ์และความสวยงามตามธรรมชาติ ทำให้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ
  3. ผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิต ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ทำให้สูญเสียทั้งที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทำกิน ซึ่งย่อมทำให้วิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงตามไป

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  1. "Cherdvong-coast". cherdvong-coast.com.