กัลปนา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กัลปนา (อ่านว่า กัน-ละ-ปะ-นา) แปลว่า เจาะจงให้ เป็นคำศัพท์ภาษาบาลี นำมาใช้ในภาษาไทย ในปริบททางพุทธศาสนา

กัลปนา ใช้ในความหมาย 2 อย่าง คือหมายถึงส่วนบุญที่ผู้ทำบุญอุทิศไปให้ผู้ตาย เรียกว่าอุทิศกัลปนาไปให้ ส่วนความหมายที่สองคือ การมอบทรัพย์สิน หรือที่ดิน หรือข้าวของเครื่องใช้อันจำเป็น หรือการมอบคน ให้ตกไปเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างหรือทะนุบำรุงวัดด้วยนัยยะของการทำบุญ

"ข้าพเจ้าขออุทิศกัลปนานี้ไปให้บิดา เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย" อย่างนี้เป็นความหมายแรก

"ปีนี้ที่กัลปนาของวัดเราได้ผลตอบแทนไม่มากเพราะฝนแล้ง" อย่างนี้เป็นความหมายหลัง

ประวัติศาสตร์[แก้]

โดยทั่วไปแล้วพฤติกรรมการกัลปนาปรากฏหลักฐานเริ่มแรกในดินแดนประเทศอินเดีย อย่างน้อยในพุทธศตวรรษที่ 3 ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พ.ศ. 236-273 ดังมีข้อความจารึกลงบนศิลา ตามส่วนประกอบต่างๆ บริเวณ สถูปสาญจีซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช จารึกเหล่านั้นเป็นชื่อของผู้มีจิตศรัทธาซึ่งบริจาค เงินหรือบริจาคศิลาเพื่อใช้ประกอบเป็นส่วนต่างๆ ของสถูป โดยจารึกชื่อตนเอง หรือชื่อสกุลเพื่อเป็นสักขี พยานการประกอบกุศล

สำหรับดินแดนที่ปัจจุบันเป็นประเทศไทยพบศิลาจารึกที่มีการกัลปนาตั้งแต่พุทธศตวรรษ ที่ 12 ในสมัยอาณาจักรเจินละ เช่น จารึกเขารัง พ.ศ. 1182 พบที่เขารัง อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว กล่าวถึงผู้มี ตำแหน่งสินาหฺวฺถวายสิ่งต่างๆ ให้แก่วิหารอันประกอบด้วยข้าทาสซึ่งมี ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงสวนหมาก สวนมะพร้าวสัตว์และข้าวของต่างๆ16 ต่อมาในสมัยพระนคร เช่น จารึกสด๊กก๊อกธม 2 สร้างขึ้นเมื่อมหาศักราช 974 (พ.ศ. 1595) ก็กล่าวถึงการอุทิศสิ่งต่างๆ แก่ศาสนสถาน ความว่า

"..พระองค์ทรงบริจาคเพชรพลอย ทอง เงิน (และ)... โคศักดิ์สิทธิ์ 100 ตัว ช้าง 200 เชือก ม้า 100 ตัว แพะและกระบือ 100 ตัว พระองค์ได้พระราชทานทาสชายหญิงและชาย 1000 คน พระราชทาน สรุก 3 แห่ง.."[1]

ตามที่มีการค้นพบจารึกการกัลปนา ส่วนใหญ่แล้วจะพบได้ตามจารึกของวัดต่างๆในเขตอาณาจักรที่สำคัญในประเทศไทย เช่นพื้นที่ในดินแดนอาณาจักรล้านนา อาณาจักรหริภุญไชย กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา

แนวคิดเบื้องหลัง[แก้]

ในดินแดนประเทศไทย การกัลปนาทรัพย์สิน ที่ดิน หรือการถวายตัวเป็นข้าวัดนั้นถือกันว่าเป็นการสืบทอดทำนุบำรุงพุทธศาสนา ดังจะพบได้ในถ้อยคำในจารึกตามวัดต่างๆว่า "เพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาถึงห้าพันปี" ซึ่งความหมายของเลขห้าพันปีนี้เป็นความเชื่อของชาวพุทธอันปรากฏตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยนี้คือความเชื่อที่ว่าศาสนาพุทธในยุคของพระสมณโคดมจะยั่งยืนไปถึงแค่ห้าพันปีแล้วจึงสิ้นดังเช่นที่จารึกนครชุมได้ระบุเอาไว้ความว่า

"..แตปอันสถาปนา พระมหาธาตุนี้เมือหนา ไดสามพันเกาสิบเกาปจึงจักสิ้นศาสนาพระเปนเจา..”[2]

ดังนั้นการให้การกัลปนาไม่ว่าจะด้วยการร่วมบุญสร้างวัด การถวายปัจจัย หรือถวายตัวเป็นข้าวัดจะเป็นการช่วยให้ศาสนาพุทธสืบทอดไปจนถึงห้าพันปีดังความเช่นจารึกหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้จารึกไว้ว่า

"..สัปปบุรุษผู้มีศรัทธาช่วยซ่อมแซมอย่าให้ ฝาผนังหลังคาแตกร้าวชำรุดรั่ว จะได้ถาวรไปห้าพันปี..."'[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. ศิริสาร เหมือนโพธิ์ทอง ,การกัลปนาในจารึกสมัยสุโขทัย อยุธยา และธนบุรี-รัตนโกสินทร์ (Monastic Endowments in the Sukhothai Ayutthaya and Thonburi-Rattanakosin Inscriptions).มหาวิทยาลัยศิลปากร.2010.
  2. กรมศิลปากร, จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2527)
  3. สำนักนายกรัฐมนตรี, ประชุมศิลาจารึกภาคที่ 6 ตอนที่ 1 (พระนคร : คณะกรรมการจัด พิมพเอกสารทางประวัติศาสตร สำนักนายกรัฐมนตรี, 2517)