กองทะเบียนประวัติอาชญากร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กองทะเบียนประวัติอาชญากร (Criminal Records Division) หรือ ทว. เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับการให้ความสนับสนุนข้อมูล เก็บบันทึกเรื่องราว รายละเอียดต่าง ๆ ของผู้กระทำความผิด รวมทั้งตรวจสอบบุคคลและสิ่งของที่เกี่ยวข้องในคดีอาญา เพื่อการสืบสวนสอบสวนและป้องกันปราบปรามอาชญากรรม

ประวัติ[แก้]

กองทะเบียนประวัติอาชญากร เป็นหน่วยงานหนึ่งของ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ขึ้นตรงต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2475 แต่เดิมกองทะเบียนประวัติอาชญากรเป็นหน่วยงานทางด้านงานวิทยการตำรวจ ร่วมกับกองพิสูจน์หลักฐานหรือสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจในปัจจุบัน มีสายการบังคับบัญชาขึ้นตรงกับกองบัญชาการตำรวจภูธร ทำให้มีปัญหาในหลาย ๆ ด้านของการปฏิบัติงาน เช่น การสรรหาบุคลากรเข้ามาปฏิบัติงาน การพัฒนาบุคลากร และการรักษาไว้ซึ่งจำนวนบุคลากรที่ขาดแคลน เนื่องจากการปฏิบัติงานทางด้านวิทยาการตำรวจ เป็นการปฏิบัติงานที่ขาดทั้งขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน รวมทั้งความเจริญก้าวหน้าในด้านหน้าที่การงานในชีวิตข้าราชการตำรวจ[1]

จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ พล.ต.ต.มนต์ชัย พันธ์คงชื่น อธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้น ได้มีคำสั่งให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างต่าง ๆ โดยการรวบรวมเอาหน่วยงานราชการตำรวจในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้าไว้ด้วยกัน และจัดตั้งเป็น "สำนักงานวิทยาการ" ขึ้นแทน โดยกองทะเบียนประวัติอาชญากร เป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้หน่วยงาน 7 แห่งของกองบังคับการ

การวิเคราะห์และพัฒนาระบบ[แก้]

กองทะเบียนประวัติอาชญากร เป็นหน่วยงานที่ถือกำเนิดขึ้นตามระเบียบของกรมตำรวจ ว่าด้วยกำหนดหน้าที่การงานในข้าราชการตำรวจ ฉบับที่ 17 โดยกำหนดให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรมีหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการวิเคราะห์และออกแบบระบบ รวมทั้งจัดทำโปรแกรมคำสั่งในการประมวลผล ตลอดจนพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อันเกิดจากการประมวลผลด้วยโปรแกรม บำรุงรักษาโปรแกรมรวมทั้งคำสั่งให้เป็นปัจจุบัน และสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปรับปรุงแก้ไขระบบงานให้มีความเหมาะสมกับสภาพของการปฏิบัติงาน และเพิ่มขีดความสามารถของโปรแกรมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นอกเหนือจากการพัฒนาโปรแกรมแล้ว กองทะเบียนประวัติอาชญากรยังมีหน้าที่ในการค้นคว้า วิจัยวิทยาการความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาบุคลากรในหน่วยงาน จัดทำเอกสารประกอบการใช้งานด้านคอมพิวเตอร์ในแต่ละโปรแกรม ฝึกอบรมให้ความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ ตลอดจนให้คำแนะนำปรึกษาและช่วยเหลือแก่หน่ยงานอื่นที่มีการประสานงานในการปฏิบัติงานร่วมกับกองทะเบียนประวัติอาชญากร[2]

ความหมายของทะเบียนประวัติอาชญากร[แก้]

ทะเบียนประวัติอาชญากร เป็นหน่วยงานที่มีประโยน์และมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการสืบสวนสอบสวนแก่พนักงานสอบสวน รวมทั้งการป้องกันและปราบปรามการเกิดอาชญากรรมภายในประเทศ รวมทั้งต้องประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ในการปฏิบัติงาน คำว่า "ทะเบียน" "ประวัติ" และ "อาชญากร" จึงถือกำเนิดขึ้นเป็นกองทะเบียนประวัติอาชญากร โดยมีหน้าที่ในการเก็บบันทึกเรื่องราวและรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรูปคดี โดยมีความหมายดังนี้

ทะเบียน[แก้]

ทะเบียน มีความหมายตามพจนานุกรมฯ ว่า หมายถึงบัญชีที่ใช้จดลักษณะของคน สัตว์ สิ่งของ เช่น ทะเบียนบ้านหรือสำมะโนครัว ทะเบียนสมรส ฯลฯ ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการตรวจสอบ ยืนยันและอ้างอิง หรือใช้ในการพิสูจน์ความจริงในรูปคดี

ประวัติ[แก้]

ประวัติ หมายถึงเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ ข่าวคราวและความเป็นไปได้ของสถานที่หรือเหตุการณ์ เช่น ประวัติของสถานที่สำคัญต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นการกล่าวถึงเรื่องราวและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้น หรือความเป็นไปได้ของสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งตัวบุคคล ซึ่งประวัติในการเก็บบันทึกข้อมูลนั้น จะเป็นการเก็บบันทึกข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อที่จะได้ทราบเรื่องราว ข่าวคราวและความเป็นไปได้ของบุคลหรือสถานที่เกิดเหตุต่าง ๆ

อาชญากร[แก้]

อาชญากร หรือ อาชญากรรม โดยคำว่าอาชญากร หมายความถึงตัวบุคคลผู้กระทำความผิด ส่วนอาชญากรรมหมายถึงการกระทำความผิด โดยความหมายของคำว่าอาชญากรรม แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ อาชญากรรมทางด้านกฎหมายและอาชญากรรมทางด้านสังคม โดยอาชญากรรมทางด้านกฎหมาย หมายถึงการกระทำความผิดใ ๆ ก็ตามซึ่งกำหนดที่ใช้อยู่ขณะนั้น บัญญัติไว้ว่าเป็นการกระทำความผิดและมีการกำหนดบทลงโทษ เช่น การลักทรัพย์เป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 เป็นต้น

ดังนั้นจะเห็นว่า อาชญากรรมทางด้านกฎหมาย คือการกระทำความผิดทางอาญา และผู้กระทำความผิดทางอาญาจึงถือว่าเป็นอาชญากร ยกเว้นการกระทำความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งถือเป็นความผิดทางลหุโทษ หรือเด็กที่กระทำความผิด ก็จะถือว่าไม่เป็นอาชญากร

อาชญากรรมทางด้านสังคม มีความหมายตามชื่อคือสังคม โดยถือเอาความประพฤติเป็นใหญ่ ซึ่งหมายถึงการประพฤติปฏิบัติหรือพฤติกรรมที่ชั่วร้าย สร้างความเดือนร้อนให้แก่ผู้อื่นให้ได้รับความทุกข์ทรมาน หรือได้รับความเจ็บปวด ทั้งร่างกายหรือจิตใจ ไม่เคารพต่อประโยชน์หรือสิทธิของบุคคลอื่น หรือเบียดแย่งชิงดีชิงเด่นซึ่งกันและกันซึ่งเป็นภัยต่อสังคม ก็คือว่าเป็นอาชญากรทางด้านสังคมเช่นกัน

ดังนั้น กองทะเบียนประวัติอาชญากร จึงเป็นหน่วยงานเดียวภายในสังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในด้านของบุคคล ซึ่งได้แก่ผู้ที่กระทำความผิดทางด้านคดีอาญา เช่น ผู้ต้องหา จำเลย นักโทษ คนพ้นโทษ รวมทั้งบุคคลที่ซึ่งเป็นภัยต่อสังคม ผู้ร้ายที่ก่อคดีแล้วหลบหนีความผิด คนหายหรือคนพลัดหลงทาง และรวมถึงคนตายที่ไม่ทราบชื่อและประวัติส่วนบุคคล หน้าที่หลักของกองทะเบียนประวัติอาชญากรคือเก็บบันทึกรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคล เช่น แผ่นลายพิมพ์นิ้วมือ รูปถ่าย แผนประทุษกรรม ประวัติย่อ ตำหนิรูปพรรณสัณฐานของบุคคล หมายจับ

นอกจากบุคลากรแล้ว กองทะเบียนประวัติอาชญากร ยังเก็บบันทึกประวัติของสิ่งของ เช่น ทรัพย์ที่สูญหายหรือถูกประทุษร้าย ได้แก่ยานพาหนะ อาวุธปืนและทรัพย์สินอื่น ๆ โดยเก็บลักษณะในส่วนของรายละเอียดต่าง ๆ เช่น ตำหนิรูปพรรณ ชนิดวัตถุและหมายเลขทะเบียน เป็นต้น[3]

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. เอกสารคำสอน วิชาการทะเบียนประวัติอาชญากร, พ.ต.อ.ดนัย ตังธนกานนท์ รศ.(สบ.4) ภาควิชาวิทยาการตำรวจ ส่วนวิชาการสืบสวนและสอบสวน บก.วก.รร.นรต., หน้า 3, พ.ศ. 2543
  2. การวิเคราะห์และพัฒนาระบบในกองทะเบียนประวัติอาชญากร, พ.ต.อ.ดนัย ตังธนกานนท์ รศ.(สบ.4) ภาควิชาวิทยาการตำรวจ ส่วนวิชาการสืบสวนและสอบสวน บก.วก.รร.นรต., หน้า 131, พ.ศ. 2543
  3. ความหมายของทะเบียน ประวัติ อาชญากร, พ.ต.อ.ดนัย ตังธนกานนท์ รศ.(สบ.4) ภาควิชาวิทยาการตำรวจ ส่วนวิชาการสืบสวนและสอบสวน บก.วก.รร.นรต., หน้า 8-9, พ.ศ. 2543