กลยุทธ์รอซ้ำยามเปลี้ย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กลยุทธ์รอซ้ำยามเปลี้ย
ผู้วางกลศึกลกซุน
ผู้ต้องกลศึกพระเจ้าเล่าเสี้ยน
ผู้ร่วมกลศึกเฮ็กเจียว
ประเภทกลยุทธ์ชนะศึก
หลักการฉวยโอกาสศัตรูเพลี่ยงพล้ำบุกเข้าโจมตี
สาเหตุลกซุนแนะนำให้ซุนกวนแต่งหนังสือถึงพระเจ้าเล่าเสี้ยน ให้รีบนำกำลังทหารยกทัพไปตีลกเอี๋ยง
สถานที่ลกเอี๋ยง
ผลลัพธ์จูกัดเหลียงนำทัพไปตีลกเอี๋ยงแทนง่อก๊ก
กลศึกก่อนหน้ากลยุทธ์ยืมดาบฆ่าคน
กลศึกถัดไปกลยุทธ์ตีชิงตามไฟ

กลยุทธ์รอซ้ำยามเปลี้ย หรือ อี่อี้ไต้เหลา (อังกฤษ: Substitute leisure for labour; จีนตัวย่อ: 以逸待劳; จีนตัวเต็ม: 以逸待勞; พินอิน: Yǐ yì dài láo) เป็นหนึ่งในกลศึกสามก๊ก กลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่ศัตรูยังคงมีความเข้มแข็ง กำลังไพร่พลทหารยังคงแข็งแกร่งยากจะต่อสู้ ก็ไม่ควรจะเข้าปะทะโดยตรงด้วยแรงและพละกำลังที่มีอยู่ แต่ยามใดที่ศัตรูเกิดความอ่อนแอในกองทัพต้องรีบฉกฉวยโอกาสนำกำลังบุกเข้าโจมตีโดยเร็ว เพื่อเป็นการข่มขวัญและป้องกันไม่ให้ศัตรูหวนกลับมาแข็งแกร่งดั้งเดิม กลยุทธ์รอซ้ำยามเปลี้ยเป็นการใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว ให้ระยะเวลาเป็นการบั่นทอนกำลังและจิตใจของศัตรู ฉวยโอกาสพลิกสถานการณ์จากเดิมที่กลายเป็นรองหรือเสียเปรียบให้กลายเป็นฝ่ายได้เปรียบเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ

ในสามก๊กยามเกิดศึกสงคราม กองทัพทุกกองทัพต่างใช้กลยุทธ์รอซ้ำยามเปลี้ย เพื่อหาโอกาสเหมาะในการบุกเข้าโจมตีศัตรูยามเพลี่ยงพล้ำอยู่ตลอดเวลา ในการทำศึกสงคราม แก่นหลักสำคัญของคำว่า "สถานการณ์" หมายถึงการรู้จักใช้จังหวะหรือสถานการณ์ที่ได้เปรียบให้เป็นประโยชน์ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ศัตรูอาจพ่ายแพ้ในการศึก ต้องรีบฉกฉวยโอกาสนำกำลังเข้ากระหน่ำโจมตีกองทัพของศัตรูให้พินาศย่อบยับ สถานการณ์ที่เป็นฝ่ายพลิกผันได้เปรียบ ความสามารถในการจับจังหวะรู้สถานการณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญในการทำศึกสงคราม ตำราพิชัยสงครามกล่าวไว้ว่า "จงอาศัยสถานการณ์เข้าทำลายศัตรู"[1] ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์รอซ้ำยามเปลี้ยไปใช้ได้แก่ลกซุนที่แนะนำซุนกวนให้พระเจ้าเล่าเสี้ยนยกทัพไปตีลกเอี๋ยง[2]

ตัวอย่างกลยุทธ์[แก้]

เมื่อคราวที่โจฮิวพ่ายแพ้ศึกสงครามแก่ลกซุน ถูกตีทัพแตกกระจายต้องถอยร่นและหลบหนีเอาตัวรอด สูญเสียกำลังทหารและไพร่พลเป็นจำนวนมาก เสบียงอาหารและอาวุธขาดแคลน ทหารขาดขวัญและกำลังใจในการทำศึกสงคราม ลกซุนจึงแนะนำให้ซุนกวนแต่งหนังสือให้ม้าใช้นำไปให้แก่พระเจ้าเล่าเสี้ยน ให้รีบนำกำลังทหารยกทัพไปตีลกเอี๋ยงในขณะที่กำลังทหารของวุยก๊กกำลังอ่อนแรง ข่าวการยกทัพไปตีลกเอี๋ยงล่วงรู้ถึงจูกัดเหลียงซึ่งรอคอยจังหวะอยู่ ทันทีที่ทราบข่าวจากพระเจ้าเล่าเสี้ยนจึงรีบนำกำลังทหารยกทัพไปทางตันฉองทันที

แต่การจะเข้าถึงตันฉองจะต้องผ่านด่านที่เฮ็กเจียวเฝ้าอยู่ จูกัดเหลียงนำทัพทหารไปเป็นจำนวนมากเพื่อหวังตีหักด่านตันฉอง แต่เฮ็กเจียวมีฝีมือในเชิงยุทธ์และเชี่ยวชาญในการรบ จึงสามารถจัดทัพตั้งรับทัพของจูกัดเหลียงไว้ได้ด้วยกำลังทหารภายใต้การปกครองไม่ถึงพันนาย ซึ่งทัพทหารที่จูกัดเหลียงนำมานั้นมีจำนวนมากกว่านับร้อยเท่า เฮ็กเจียวสามารถรักษาด่านตันฉองไว้ได้นานถึงยี่สิบวันจนทัพหนุนจากเมืองหลวงมาช่วย จูกัดเหลียงที่พยายามตีหักด่านตันฉองเริ่มขาดแคลนเสบียงอาหาร ประกอบกับเฮ็กเจียวรักษาด่านได้อย่างแข็งแรง จึงไม่สามารถหักตีด่านได้สำเร็จและยอมถอยทัพกลับจ๊กก๊ก กลยุทธ์รอซ้ำยามเปลี้ยหรืออี่อี้ไต้เหลาของลกซุนที่ไม่ต้องใช้กำลังทหารและไพร่พลของตนเองในการทำศึก ก็ประสบความสำเร็จในการรักษากำลังทหารและไพร่พลของตนเองไว้ได้อย่างงดงาม

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. สถานการณ์, สงครามสามก๊ก กลยุทธ์พลิกสถานการณ์, ทองแถม นาถจำนง, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 21, ISBN 978-974-9761-34-2
  2. อี่อี้ไต้เหลา กลยุทธ์รอซ้ำยามเปลี้ย, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 215, ISBN 978-974-690-595-4

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]