กระดูกซี่โครง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กระดูกซี่โครง
(Ribs)
กระดูกซี่โครงของมนุษย์
ตัวระบุ
MeSHD012272
TA98A02.3.01.001
A02.3.02.001
TA21105, 1118
FMA7574
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์

กระดูกซี่โครง (อังกฤษ: ribs) เป็นส่วนหนึ่งของโครงกระดูกมนุษย์ที่อยู่ในบริเวณส่วนอก ซึ่งจะเชื่อมต่อระหว่างกระดูกสันหลังส่วนอก (Thoracic vertebral column) ทางด้านหลัง กับกระดูกอก (Sternum) ทางด้านหน้า และประกอบขึ้นเป็นโครงร่างของผนังช่องอกและช่วยในการป้องกันอวัยวะภายในของช่องอกที่สำคัญ เช่นปอดและหัวใจ โดยทั่วไปแล้วในผู้ใหญ่จะมีกระดูกซี่โครงทั้งหมด 12 คู่ หรือ 24 ซี่ ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย อย่างไรก็ตามในบางคนอาจมีจำนวนของกระดูกซี่โครงที่มากกว่าหรือน้อยกว่าปกติได้เล็กน้อย

กายวิภาคและชนิดของกระดูกซี่โครง[แก้]

กระดูกซี่โครงทั้ง 12 คู่ จะมีรูปร่างคล้ายกัน คือเป็นกระดูกแบบแบน (flat bone) มีความโค้งออกไปทางด้านข้าง และแบ่งออกได้เป็นสามส่วน คือส่วนหัวกระดูก (head) ส่วนคอกระดูก (neck) และส่วนท่อนกระดูก (shaft) อย่างไรก็ตาม กระดูกซี่โครงบางชิ้นจะมีลักษณะพิเศษ ซึ่งทำให้แบ่งชนิดของกระดูกซี่โครงได้เป็นสองลักษณะ คือชนิดของกระดูกซี่โครงตามรูปร่าง และตามจุดเกาะทางด้านหน้ากับกระดูกอก

ชนิดของกระดูกซี่โครง แบ่งตามรูปร่าง[แก้]

กระดูกซี่โครงแบบธรรมดา แสดงพื้นผิว จุดเกาะกับกระดูกสันหลัง และร่องซี่โครง

เมื่อพิจารณารูปร่างของกระดูกซี่โครงของมนุษย์ จะแบ่งออกได้เป็นสองแบบ คือแบบธรรมดา และแบบพิเศษ

  • กระดูกซี่โครงธรรมดา (Typical ribs) ได้แก่กระดูกซี่โครงคู่ที่ 3 ถึง 9 ซึ่งมีโครงสร้างที่คล้ายกันมาก คือส่วนหัวกระดูกของแต่ละซี่จะมีจุดเชื่อมต่อกับกระดูกสันหลังส่วนอกสองจุด และพื้นผิวด้านในของส่วนท่อนกระดูกจะมีแนวยึดเกาะของกล้ามเนื้อยึดซี่โครง (intercostal muscles) และยังมีร่องซี่โครง (costal groove) ซึ่งมีเส้นประสาทและหลอดเลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อยึดซี่โครงวางอยู่
  • กระดูกซี่โครงชนิดพิเศษ (Atypical ribs) เป็นกระดูกซี่โครงที่มีลักษณะต่างออกไปจากกระดูกซี่โครงธรรมดา ซึ่งได้แก่กระดูกซี่โครงคู่ที่ 1,2,10,11 และ 12
    • กระดูกซี่โครงคู่ที่ 1 จะมีส่วนท่อนกระดูกที่วางตัวในแนวนอน (กระดูกซี่โครงคู่อื่นจะวางตัวในแนวตั้ง) และมีความหนาค่อนข้างมาก และมีแนวร่องซี่โครงสองร่อง สำหรับหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำใต้ไหปลาร้า (subclavian vessels) และมีปุ่มนูนเพื่อเป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อสคาลีนนัส (scalenus muscle) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อในบริเวณคอ
    • กระดูกซี่โครงคู่ที่ 2 จะบางและยาวกว่ากระดูกซี่โครงคู่ที่ 1
    • กระดูกซี่โครงคู่ที่ 10 จะมีจุดเกาะกับกระดูกสันหลังบนหัวกระดูกเพียงจุดเดียว ส่วนกระดูกซี่โครงคู่ที่ 11 และ 12 จะสั้นกว่าคู่อื่นๆ และจะไม่เกาะกับกระดูกอ่อนของกระดูกอก

ชนิดของกระดูกซี่โครง แบ่งตามจุดเกาะกับกระดูกอก[แก้]

หากจำแนกกระดูกซี่โครงตามจุดเกาะกับกระดูกอกทางด้านหน้าที่แตกต่างกัน จะสามารถจำแนกออกได้เป็นสามแบบ ได้แก่

  • กระดูกซี่โครงแท้ (True ribs) ซึ่งได้แก่กระดูกซี่โครงคู่ที่ 1 ถึง 7 ซึ่งปลายทางด้านหน้าของกระดูกซี่โครงชนิดนี้จะติดต่อกับกระดูกอกโดยตรง
  • กระดูกซี่โครงไม่แท้ (False ribs) ได้แก่กระดูกซี่โครงคู่ที่ 8, 9 และ 10 ซึ่งปลายทางด้านหน้าจะไม่ได้ติดต่อกับกระดูกอกโดยตรง แต่จะมีกระดูกอ่อนเป็นตัวเชื่อมระหว่างกระดูกซี่โครงกลุ่มนี้กับกระดูกอก
  • กระดูกซี่โครงลอย (Floating ribs) ได้แก่กระดูกซี่โครงคู่ที่ 11 และ 12 ซึ่งปลายทางด้านหน้าจะไม่เกาะกับกระดูกอกหรือกระดูกอ่อนใดๆเลย ทำให้กระดูกซี่โครงประเภทนี้หักได้ง่ายหากเกิดการบาดเจ็บที่ด้านหลังของช่องอกตอนล่างหรือช่องท้อง

นอกจากนี้ ในบางคนอาจพบว่ามีกระดูกซี่โครงส่วนคอ (Cervical rib) ซึ่งยื่อต่อออกมาจากกระดูกสันหลังส่วนคอชิ้นที่ 7 ซึ่งเป็นความผิดปกติที่ต้องได้รับการแก้ไข เนื่องจากกระดูกนี้อาจไปกดทับเส้นประสาทที่ไปยังบริเวณแขนได้

การบาดเจ็บที่กระดูกซี่โครง[แก้]

กระดูกซี่โครงเป็นอวัยวะที่ได้รับการกระทบกระเทือนได้ง่าย ซึ่งอาจทำให้เกิดการหักของกระดูกซี่โครง และทำให้เกิดความเจ็บปวดอย่างมากและมีความผิดปกติของการหายใจ เนื่องจากกระดูกซี่โครงเป็นที่เกาะของทั้งกล้ามเนื้อยึดซี่โครงและกะบังลม ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักในการช่วยการหายใจ นอกจากนี้บางส่วนของกระดูกที่หักอาจทำอันตรายต่ออวัยวะภายในช่องอกอีกด้วย และอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกในช่องอก (hemothorax)

รูปประกอบเพิ่มเติม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  • Clinically Oriented Anatomy, 4th ed. Keith L. Moore and Arthur F. Dalley.