กระชากปมปริศนาคดีอำพราง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กระชากปมปริศนาคดีอำพราง
โปสเตอร์ต้นฉบับของ กระชากปมปริศนาคดีอำพราง
กำกับคลินต์ อีสต์วูด
เขียนบทเจ. ไมเคิล สแตรคซีนสกี
อำนวยการสร้างคลินต์ อีสต์วูด
ไบรอัน เกรเซอร์
รอน ฮาวเวิร์ด
โรเบิร์ต ลอเรนซ์
นักแสดงนำแองเจลินา โจลี
เจฟฟรีย์ โดโนแวน
จอห์น มัลโควิช
เจสัน บัตเลอร์ ฮาร์เนอร์
คอล์ม ฟีออร์
เอมี ไรอัน
ตัดต่อโจเอล คอกซ์
แกรี ดี. โรช
ดนตรีประกอบคลินต์ อีสต์วูด
ผู้จัดจำหน่ายยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ
วันฉาย31 ตุลาคม ค.ศ. 2008
ความยาว141 นาที
ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง55,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ทำเงิน112,994,004 ดอลลาร์สหรัฐ

กระชากปมปริศนาคดีอำพราง (อังกฤษ: Changeling) เป็นภาพยนตร์แนวดรามา (ชีวิต) มีโครงเรื่องจากเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้นในเมือง ลอสแอนเจลิส ใน ค.ศ. 1928 เป็นเรื่องเกี่ยวกับแม่คนหนึ่งที่ตามหาบุตรชายที่หายตัวไป และเชื่อมโยงไปจนถึงคดีฆาตกรรมต่อเนื่องสะเทือนขวัญแห่งยุค ซึ่งเปิดโปงถึงการทุจริตคอร์รัปชันและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายกาจของกรมตำรวจลอสแอนเจลิส (LAPD:Los Angeles Police Department) ในยุคนั้น

เรื่องราวโดยย่อ[แก้]

เจ. ไมเคิล สแตรคซีนสกี ผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้กล่าวว่า เขาเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้โดยมีโครงเรื่อง 95% ที่สร้างจากเรื่องจริง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ คริสติน คอลลินส์ (อังกฤษ: Christine Collins) ที่ลูกชายชื่อ วอลเตอร์ คอลลินส์ (อังกฤษ: Walter Collins) วัย 9 ขวบ ซึ่งได้หายตัวไปจากบ้านในวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 1928 คริสตินได้โทรศัพท์แจ้งตำรวจลอสแอนเจลิส ซึ่งในช่วงแรก กรมตำรวจได้ช่วยกันตามหาลูกชายของเธอเป็นอย่างดี ในขณะที่คริสตินเองก็โทรศัพท์ไปยังกรมตำรวจทุกมลรัฐ สำนักงานนายอำเภอ สำนักงานนักสืบ และทำทุกอย่างที่เธอสามารถทำได้ เพื่อหาวอลเตอร์ จนกระทั่งเธอเป็นที่สนใจของสังคมและสื่อมวลชน จนกระทั่งหลายเดือนต่อมา กรมตำรวจก็ได้รับรายงานว่าพบเด็กชายที่ได้บอกว่า ตนเองคือวอลเตอร์ คอลลินส์แล้ว

กรมตำรวจลอสแอนเจลิสไม่ได้ตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน ส่งเด็กชายคนนั้นกลับไปหาคริสตินทันที ปรากฏว่าเด็กชายผู้นั้นไม่ใช่วอลเตอร์ คอลลินส์ ทำให้คริสตินได้ไปแจ้งกรมตำรวจว่าเด็กคนดังกล่าวไม่ใช่ลูกของเธอ แต่แทนที่กรมตำรวจจะยอมรับความผิดพลาด แล้วตามหาลูกชายของเธอต่อ กลับพยายามยัดเยียดให้คริสตินเชื่อว่าเด็กคนนั้นคือลูกชายของเธอ โดยอ้างว่า คริสตินไม่ได้อยู่กับลูกชายเธอมานานแล้ว เด็กจึงมีพัฒนาการทางร่างกาย แต่คริสตินก็ยืนกรานไม่เชื่อ กรมตำรวจก็ปล่อยข่าวเท็จเพื่อทำลายภาพพจน์ของเธอ ให้สังคมคิดว่าเธอวิตกจริต คริสตินจึงไปหาหลักฐานและพยานมาช่วยยืนยัน แต่ก่อนที่เธอจะได้เปิดเผยหลักฐานแก่สื่อมวลชน กรมตำรวจได้จับตัวเธอเข้าโรงพยาบาลบำบัดสุขภาพจิตของตำรวจโดยอ้างว่าเธอวิกลจริตไปแล้ว

ในโรงพยาบาล เธอได้เห็น(และถูก)แพทย์และพยาบาลละเมิดสิทธิผู้ป่วยอย่างร้ายกาจ แต่ต่อมาจึงได้มีผู้เคลื่อนไหวช่วยเหลือเธอเป็นจำนวนมาก ทั้งนักบวช และมวลชนลอสแอนเจลิส ช่วยเธอ จนเธอได้รับการปล่อยตัวจากโรงพยาบาล และนักกฎหมายก็ได้เข้าช่วยเธอฟ้องกรมตำรวจลอสแอนเจลิส จนชนะคดี เธอเป็นที่สนใจของประชาชน หน้าที่การงานก้าวหน้า นอกจากนี้ ตำรวจในพื้นที่อื่นๆ สามารถจับกุมผู้ต้องหาฆาตกรต่อเนื่องได้รายหนึ่ง ชื่อ กอร์ดอน นอร์ทคอตต์ ซึ่งทำให้มีหลักฐานค่อนข้างชัดเจนว่าเขาได้ลักพาตัววอลเตอร์ไป แต่วอลเตอร์เสียชีวิตหรือยังนั้น ไม่เป็นที่ชัดเจน เพราะวอลเตอร์ได้หลบหนีการกักขังของกอร์ดอนไปในช่วงกลางคืน แต่กอร์ดอนได้ยิงปืนไปในทิศที่เขาหนีไป ในความมืด มองไม่เห็น แต่ในการจบเรื่อง เธอยังไม่สามารถตามหาลูกเธอได้พบ

นักแสดง[แก้]

นักแสดง รับบท
แองเจลินา โจลี คริสติน คอลลินส์
เจฟฟรีย์ โดโนแวน เจ. เจ. โจนส์ (ผู้กองสถานีตำรวจ LAPD)
จอห์น มัลโควิช สาธุคุณ กุสตาฟ บรีกเล็บ (นักบวชที่ช่วยคริสติน และโจมตี LAPD ผ่านสื่อวิทยุ)
เจสัน บัตเลอร์ ฮาร์เนอร์ กอร์ดอน นอร์ทคอตต์ (ฆาตกรโหด)
เอมี ไรอัน แครอล เด็กซ์เตอร์
ไมเคิล เคลลี นักสืบเลสเตอร์ บาร์รา
จีออฟ เพียร์สัน แซมมี ฮานน์
คอล์ม ฟีออร์ เจมส์ อี. เดวิส (หัวหน้ากรมตำรวจ LAPD)

ความจริงที่เกิดขึ้น[แก้]

ใน ค.ศ. 1926 แซนฟอร์ด เวสลีย์ คลาร์ค (อังกฤษ: Sanford Wesley Clark) (ค.ศ. 1913 - 1991) เด็กหนุ่มวัยรุ่นชาวรัสเซีย ได้ย้ายบ้านจากรัฐซัสแคตเชวัน ประเทศแคนาดา มาอยู่กับลุงของเขาชื่อ กอร์ดอน สจ๊วต นอร์ทคอตต์ (อังกฤษ: Gordon Stewart Northcott) (ค.ศ. 1906 - 1930) ที่ฟาร์มปศุสัตว์ในไวน์วิลล์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ปรากฏว่า แซนฟอร์ด พบว่า กอร์ดอน ซึ่งในภาพยนตร์นี้มีภาพลักษณ์เป็นฆาตกรโหด สังหารเด็กต่อเนื่อง 20 คน แต่ในความเป็นจริง กอร์ดอนเบี่ยงเบนทางเพศ และมีความกระสันสูง มักจะลักพาตัวเด็กชายจากพื้นที่ห่างไกลมากระทำชำเรา กักขังหน่วงเหนี่ยวอยู่จนพอใจ และจะขับรถพาเด็กกลับไปส่งคืนที่พื้นที่ในรัศมีใกล้บ้าน (ไม่ส่งที่บ้าน) แล้วตระเวนหาเด็กรายต่อไป โดยอาศัยความที่เด็กจะไม่สามารถจำสถานที่และไม่สามารถชี้ตัวได้ กอร์ดอนจึงรอดมาได้ตลอด และกอร์ดอนได้ข่มขู่กักขังแซนฟอร์ดไว้ไม่ให้บอกความจริงนี้แก่ใคร

ในวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 1928 กอร์ดอนได้ลักพาตัว วอลเตอร์ เจมส์ คอลลินส์ จูเนียร์ (อังกฤษ: Walter James Collins, Jr.) (ค.ศ. 1918 - 1928) ไปข่มขืนกระทำชำเราเหมือนเด็กชายรายอื่นๆ แต่หลังจากกักขังวอลเตอร์ได้ไม่กี่วัน มารดาของกอร์ดอน ชื่อ ซาราห์ หลุยส์ นอร์ทคอตต์ (อังกฤษ: Sarah Loise Northcott) ได้มาเยี่ยมกอร์ดอนที่ฟาร์มปศุสัตว์ ได้พบวอลเตอร์ เธอจำวอลเตอร์ได้ เพราะเห็นวอลเตอร์และคริสตินชอบไปเดินเล่นในห้างสรรพสินค้าที่กอร์ดอนเคยทำงานบ่อยๆ จนวอลเตอร์จำหน้าของกอร์ดอนได้แล้ว และได้ทราบว่ากอร์ดอนทำอะไรลงไปบ้าง ก็โกรธกอร์ดอนมาก แต่ด้วยวิสัยของแม่ จึงมีอารมณ์ชั่ววูบที่อยากช่วยให้ลูกไม่มีความผิด จึงด่ากอร์ดอนไปว่า กอร์ดอนใช้อะไรคิดถึงไปลักพาตัวเด็กทีจำหน้ากอร์ดอนได้มาข่มขืน? เมื่อคิดอยู่สักพัก กอร์ดอนจึงฆ่าวอลเตอร์ โดยใช้ขวานจามจนวอลเตอร์เสียชีวิต

หลังจากนั้น กอร์ดอนก็เปลี่ยนความกระสันของตน จากความกระสันทางเพศกับเด็กชาย เป็นความกระสันในการสังหารเด็กชาย ในระหว่างที่คริสตินได้รับลูกชายผิดคน และต่อสู้จนได้รับความทุกข์ทรมานจากการกลั่นแกล้งอย่างร้ายกาจของตำรวจหน่วย LAPD (ซึ่งภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นมาในส่วนของการกลั่นแกล้งจากตำรวจ LAPD นั้นไม่ต่างจากความจริงที่คริสตินได้รับ) กอร์ดอนก็ก่อคดีต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพราะที่ตำรวจกำลังพุ่งความสนใจไปที่การโจมตีคริสติน ทำให้วอลเตอร์ไม่ใช่เหยื่อรายสุดท้าย

ในช่วงระหว่างการต่อสู้ของคริสติน ตำรวจ LAPD ปิดหูปิดตาประชาชนจากความจริง ด้วยความที่ปล่อยข่าวทำลายภาพพจน์ของเธอ ทำให้ประชาชนจึงเชื่อตำรวจ มากกว่าเชื่อผู้หญิงตัวคนเดียว แต่ในความมืดแปดด้าน มีผู้ยื่นมือเข้าให้ความช่วยเหลือแก่เธอ หลักๆ คือ นายแพทย์ สาธุคุณ กุสตาฟ บรีกเล็บ (อังกฤษ: Doctor Reverend Gustav Briegleb) (ค.ศ. 1881 - 1943) ได้ช่วยจัดหาทนายเก่งๆ ช่วยคริสตินยื่นฟ้องหน่วย LAPD และได้จัดรายการวิทยุที่เปิดเผยความจริงของคริสตินให้ประชาชนรับรู้ (เปิดสงครามสื่อกับ LAPD)

ต่อมา แซนฟอร์ดจะสบจังหวะตอนกอร์ดอนเผลอเข้าให้ข้อมูลกับองค์กรนักสืบ และกว่าที่องค์กรนักสืบที่ดำเนินการจนนำไปสู่การจับกุมกอร์ดอน ก็มีเหยื่อเด็กชายเสียชีวิตด้วยย้ำมือกอร์ดอนไปแล้ว 17 คน ซึ่งในจำนวนนี้ 14 คน สภาพศพเกินความสามารถของทีมสืบสวนที่จะสามารถพิสูจน์ศพได้ ซึ่งจำนวนดังกล่าวนี้จะสามารถน้อยลงได้หากตำรวจ LAPD พุ่งความสนใจไปที่การยอมรับความผิดพลาด แล้วประสานงานไปยังหน่วยต้นสังกัด (จะทำให้สืบทราบและจับกุมกอร์ดอนได้เร็วกว่านี้) ไม่ใช่พุ่งความสนใจไปที่การเล่นงานคริสติน

จากการจับกุมกอร์ดอน ความจริงดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชน เป็นรอยด่างพร้อยขนาดใหญ่ในประวัต์ศาตร์วงการตำรวจจนถึงปัจจุบัน และศาลได้ตัดสินว่า LAPD มีความผิดจริง และต้องจ่ายเงินค่าปรับให้แก่คริสตินเป็นจำนวน 10,800 ดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 136,889 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 4.4 ล้านบาทไทยในปัจจุบัน) แต่จนถึงปัจจุบันนี้ LAPD ก็ยังไม่ได้จ่าย

หลังจากการจับกุมกอร์ดอนและซาราห์ (มารดาของกอร์ดอน) ซาราห์ก็ได้ยอมรับผิดว่า มีส่วนร่วมในการสังหารวอลเตอร์ และได้ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ในปี ค.ศ. 1928 และในระหว่างการถูกจำคุก เธอได้บอกความจริงว่า เธอเป็นทั้ง แม่ และ ยาย ของกอร์ดอน เพราะกอร์ดอน เกิดมาจากการร่วมเพศกันระหว่างสามีของเธอ กับลูกสาวในไส้ และหลังจากเกิดมา กอร์ดอนถูกล่วงละเมิดทางเพศจากสมาชิกในครอบครัวนับครั้งไม่ถ้วน ทำให้กอร์ดอนเบี่ยงเบนทางเพศไป และนำไปสู่คดีฆาตกรรมสยองขวัญในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นที่ชัดเจนว่า วอลเตอร์เสียชีวิตไปแล้ว แต่ใน ค.ศ. 1935 มีเด็กผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งหายตัวไปตั้งแต่ปี 1928 ได้ปรากฏตัว และเข้าให้การกับตำรวจว่า เขาคือหนึ่งในเหยื่อของผู้รอดชีวิตจากกอร์ดอน เขาต้องหลบซ่อนตัวอยู่นานเพื่อให้มั่นใจว่าปลอดภัยที่จะเปิดเผยตัว เขาบอกว่า เขาหลบหนีออกมาจากฟาร์มกอร์ดอนพร้อมกับวอลเตอร์ แต่ได้พลัดหลงกันในความมืด ดังนั้น วอลเตอร์อาจยังมีชีวิตอยู่ แต่หลบซ่อนอยู่ด้วยความกลัวเหมือนเขาก็ได้ และผลการชันสูตรศพอาจผิดพลาด หลังจากนั้น คริสติน ก็ไม่เคยสิ้นหวัง เธอยังคิดอยู่เสมอว่าลูกชายของเธออาจยังมีชีวิต และตามหาลูกอย่างไม่ลดละ แต่ก็ไม่เคยได้พบลูกชายของเธออีกเลย จนกระทั่งเธอเสียชีวิตใน ค.ศ. 1964

รางวัลที่ได้รับ[แก้]

ภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้รับรางวัลดังต่อไปนี้

  • รางวัลแซทเทิร์น สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม
  • รางวัลคริสโตเฟอร์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
  • รางวัลแซทเทิลไลท์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม
  • รางวัลเสียงสะท้อนจากสังคมยอดเยี่ยม (Visual Effect Society Award)
  • รางวัลภาพยนตร์เพื่อสิทธิสตรียอดเยี่ยม (Women Film Critics' Circle Awards)
  • รางวัลภาพยนตร์เชื่อมสัมพันธ์แอฟริกัน-อเมริกัน (African American Film Critics Association Awards)

อ้างอิง[แก้]