กบฏยังเติร์ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กบฏเมษาฮาวาย)
กบฏยังเติร์ก
วันที่1-3 เมษายน พ.ศ. 2524 (42 ปีที่แล้ว)
สถานที่
ผล

ชัยชนะของรัฐบาล

  • พระมหากษัตริย์ไม่รับรองรัฐประหาร[1]
  • ผู้ก่อการหลบหนีออกนอกประเทศ
คู่สงคราม
รัฐบาลพลเอกเปรม
ไทย กองทัพบกไทย
ไทย กองทัพเรือไทย
Flag of the กองทัพอากาศไทย กองทัพอากาศไทย
ไทย กองทัพภาคที่ 1
กลุ่มทหารบางส่วนจากรุ่น จปร.7 (ยังเติร์ก)
คณะกรรมการสภาปฏิวัติ
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
ไทย พลตรี อาทิตย์ กำลังเอก
ไทย พลเอก สัณห์ จิตรปฏิมา
ไทย พันเอก มนูญ รูปขจร
พันเอก ประจักษ์ สว่างจิตร
พันโท พัลลภ ปิ่นมณี
พันเอก ชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล
พันเอก แสงศักดิ์ มงคละสิริ
พันเอก บวร งามเกษม
พันเอก สาคร กิจวิริยะ
หน่วยที่เกี่ยวข้อง
ไทย กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
ทหารเสียชีวิต 1 บาดเจ็บ 1
พลเรือนเสียชีวิต 1 บาดเจ็บ 1[2]

กบฏยังเติร์ก หรือ กบฏเมษาฮาวาย เป็นความพยายามรัฐประหารระหว่างวันที่ 1–3 เมษายน พ.ศ. 2524 เพื่อยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลนายกรัฐมนตรี พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ โดยกลุ่มผู้ก่อการส่วนใหญ่เป็นนายทหารที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 7 หรือรุ่นยังเติร์ก ซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชากองกำลังต่าง ๆ อยู่ในกองทัพบก

การกบฏครั้งนี้ มีจำนวนกำลังทหารเข้าร่วมมากถึง 42 กองพัน ถือได้ว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ผลลัพธ์ของการกบฎครั้งนี้คือผู้ก่อการกบฎล้มเหลว ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ

กบฏเมษาฮาวาย[แก้]

“กบฏเมษาฮาวาย” หรือที่เรียกอีกกันในอีกชื่อว่า “กบฏยังเติร์ก” เป็นความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 - 3 เมษายน พ.ศ. 2524 เพื่อยึดอำนาจการปกครองของพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ผู้ก่อการประกอบด้วยนายทหารซึ่งจบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 7 หรือรุ่นยังเติร์ก ได้แก่

  1. พ.อ. มนูญ รูปขจร (กองพันทหารม้าที่ 4 กองพลที่ 1 รักษาพระองค์)
  2. พ.อ. ชูพงศ์ มัทวพันธุ์ (กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์)
  3. พ.อ. ประจักษ์ สว่างจิตร (กรมทหารราบที่ 2)
  4. พ.อ. ชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล (กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์)
  5. พ.อ. แสงศักดิ์ มงคละสิริ (กรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์)
  6. พ.อ. บวร งามเกษม (กรมทหารปืนใหญ่ที่ 11)
  7. พ.อ. สาคร กิจวิริยะ (กองพันสารวัตรทหาร มณฑลทหารบกที่ 11)
  8. พ.ท. พัลลภ ปิ่นมณี (กรมทหารราบที่ 19 กองพลที่ 9)

โดยมี พล.อ. สัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ คณะผู้ก่อการได้เริ่มก่อการเมื่อเวลา 02.00 น. ของวันที่ 2 เมษายน โดยจับกุม

  1. พล.อ. เสริม ณ นคร, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
  2. พล.ท. หาญ ลีนานนท์
  3. พล.ต. ชวลิต ยงใจยุทธ
  4. พล.ต. วิชาติ ลายถมยา

ไปไว้ที่หอประชุมกองทัพบก และออกแถลงการณ์คณะปฏิวัติ มีใจความว่า

" เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศทุกด้านกำลังระส่ำระส่ายและทรุดลงอย่างหนัก เพราะความอ่อนแอของผู้บริหารประเทศ พรรคการเมืองแตกแยก ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอน จึงเป็นจุดอ่อนให้มีคณะบุคคลที่ไม่หวังดีต่อประเทศเคลื่อนไหว จะใช้กำลังเข้ายึดการปกครองเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบเผด็จการถาวร ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและอยู่รอดของประเทศ คณะปฏิวัติซึ่งประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน จึงได้ชิงเข้ายึดอำนาจการปกครองของประเทศเสียก่อน "

พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่ กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ตั้งกองบัญชาการตอบโต้ และใช้อำนาจปลดผู้ก่อการออกจากตำแหน่งทางทหาร โดยได้กำลังสนับสนุนจาก พล.ต. อาทิตย์ กำลังเอก รองแม่ทัพภาคที่ 2

การกบฏสิ้นสุดลงโดยไม่ได้มีการต่อสู้กัน โดยเกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็วเสมือนฝันหรือเป็นการแสดง ประจวบกับเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนเมษายนตรงกับวันเอพริลฟูลส์ ซึ่งตามธรรมเนียมชาวตะวันตกถือเป็นวันที่ผู้คนโกหกใส่กันได้ จึงได้อีกชื่อนึงในเชิงเหยียดหยันจากสื่อมวลชนว่า “กบฏเมษาฮาวาย” ผู้ก่อการเดินทางออกนอกประเทศ พันเอกมนูญ รูปขจร ลี้ภัยที่ประเทศเยอรมนี ก่อนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ได้รับนิรโทษกรรมทางการเมือง และได้รับการคืนยศทางทหาร ในเวลาต่อมา ภายหลังเหตุการณ์ พล.ต. อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งเป็นกำลังสำคัญคุมกำลังทหารต่อต้าน ได้รับความไว้ใจจาก พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นอันมาก ได้เลื่อนเป็นพลโท แม่ทัพภาคที่ 1 คุมกองกำลังรักษาพระนคร และเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ใน 6 เดือนต่อมา

ผู้ก่อการ[แก้]

ผู้ก่อการประกอบด้วยนายทหารซึ่งจบจาก จปร.7 ได้แก่ พ.อ. มนูญกฤต รูปขจร

(กองพันทหารม้าที่ 4 กองพลที่ 1 รักษาพระองค์; ในขณะนั้นใช้ชื่อว่า มนูญ รูปขจร),

  1. พ.อ. ชูพงศ์ มัทวพันธุ์ (กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์)
  2. พ.อ. ประจักษ์ สว่างจิตร (กรมทหารราบที่ 2)
  3. พ.อ. ชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล (กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์)
  4. พ.อ. แสงศักดิ์ มงคละสิริ (กรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์)
  5. พ.อ. บวร งามเกษม (กรมทหารปืนใหญ่ที่ 11)
  6. พ.อ. สาคร กิจวิริยะ (กองพันสารวัตรทหาร มณฑลทหารบกที่ 11)
  7. พ.ท. พัลลภ ปิ่นมณี (กรมทหารราบที่ 19 กองพลที่ 9)

โดยมี พล.อ. สัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ

โดยสาเหตุของการก่อกบฏครั้งนี้มีสาเหตุมาจากความไม่พอใจของ พล.อ. สัณห์ ที่มีต่อ พล.อ. เปรม เนื่องจากทางกองทัพบกได้มีการต่ออายุราชการให้กับ พล.อ. เปรมในฐานะผู้บัญชาการทหารบกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2523 ออกไปอีก 1 ปีทำให้ พล.อ.สัณห์ ในฐานะรองผู้บัญชาการทหารบกหมดสิทธิ์ที่จะขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกจึงได้รวบรวมนายทหารสาย จปร.7 ก่อการในครั้งนี้

ลำดับเหตุการณ์[แก้]

คณะผู้ก่อการที่เรียกตัวเองว่า "คณะกรรมการสภาปฏิวัติ" เริ่มก่อการเมื่อเวลา 02.00 น. ของวันที่ 1 เมษายน โดยจับตัวพล.อ. เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พล.ท. หาญ ลีนานนท์, พล.ต. ชวลิต ยงใจยุทธ และ พล.ต. วิชาติ ลายถมยา ไปไว้ที่หอประชุมกองทัพบก และออกแถลงการณ์คณะปฏิวัติ ใจความว่า

เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศทุกด้านกำลังระส่ำระส่ายและทรุดลงอย่างหนัก เพราะความอ่อนแอของผู้บริหารประเทศ พรรคการเมืองแตกแยก ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอน จึงเป็นจุดอ่อนให้มีคณะบุคคลที่ไม่หวังดีต่อประเทศเคลื่อนไหว จะใช้กำลังเข้ายึดการปกครองเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบเผด็จการถาวร ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและอยู่รอดของประเทศ คณะปฏิวัติซึ่งประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน จึงได้ชิงเข้ายึดอำนาจการปกครองของประเทศเสียก่อน[3]

พร้อมกับได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ, ยุบสภา ถอดถอนคณะรัฐมนตรี ประกาศแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง พร้อมกับเปิดเพลงปลุกใจออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยตลอดเวลา ขณะที่ตามสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครมีการตั้งบังเกอร์ กระสอบทราย และมีกำลังทหารพร้อมอาวุธรักษาการณ์อย่างเข้มงวด พร้อมทั้งมีการอัญเชิญธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสาเป็นสัญลักษณ์ด้วย[4]

ทางฝ่ายรัฐบาล โดยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ตั้งกองบัญชาการตอบโต้ และใช้อำนาจปลดผู้ก่อการออกจากตำแหน่งทางทหาร โดยได้กำลังสนับสนุนจาก พล.ต. อาทิตย์ กำลังเอก รองแม่ทัพภาคที่ 2

การตอบโต้กลับของทางรัฐบาล เริ่มต้นด้วยการโดยส่งเครื่องบินเอฟ-5อี[4] บินเข้ากรุงเทพมหานครเพื่อสังเกตการณ์ พร้อมกับเคลื่อนกำลังพล ทหารทั้ง 2 ฝ่ายปะทะกันเล็กน้อย มีทหารฝ่ายก่อการเสียชีวิต 1 นาย และบาดเจ็บ 1 นาย มีพลเรือนถูกลูกหลงเสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างละ 1 คน การกบฏยุติลงอย่างรวดเร็วในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 3 เมษายน เมื่อฝ่ายก่อการเข้ามอบตัวกับทางรัฐบาลรวม 155 คน นับเป็นเวลา 55 ชั่วโมงตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนจบ

ขณะที่แกนนำฝ่ายผู้ก่อการหลบหนีออกนอกประเทศ พันเอก มนูญ รูปขจร ลี้ภัยที่ประเทศเยอรมนี, พลเอก สัณห์ จิตรปฏิมา หัวหน้าคณะ หลบหนีไปประเทศพม่า ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษ 52 คน ซึ่งเป็นระดับแกนนำ เนื่องในวโรกาสวันฉัตรมงคล ได้รับนิรโทษกรรม และได้รับการคืนยศทางทหารในเวลาต่อมา ซึ่งต่อมาคณะนายทหารเหล่านี้นำธูปเทียนไปขอขมาพลเอกเปรม ถึงบ้านสี่เสาเทเวศน์ บ้านพัก ในวันที่ 22 มิถุนายน ขณะที่พลเอกสัณห์ เมื่อเดินทางกลับสู่ประเทศไทยแล้ว หาได้กระทำเช่นนั้นไม่ และได้ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใด ๆ[5]

ผลสืบเนื่องและความสำคัญ[แก้]

ภายหลังเหตุการณ์ พล.ต. อาทิตย์ กำลังเอก รองแม่ทัพภาคที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกำลังสำคัญคุมกำลังทหารต่อต้าน ได้รับความไว้ใจจาก พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์มาก ได้เลื่อนยศเป็น"พลโท" ตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 คุมกองกำลังรักษาพระนคร และเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ใน 6 เดือนต่อมา[3]

อนึ่ง การกบฏครั้งนี้ มีจำนวนกำลังทหารเข้าร่วมมากถึง 42 กองพัน ถือได้ว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ และมีบางข้อมูลระบุว่า ในเย็นก่อนเกิดเหตุการณ์เพียงวันเดียว ทางหนึ่งในฝ่ายผู้ก่อการ คือ พันเอกประจักษ์ ได้เข้าพบพลเอกเปรมถึงบ้านสี่เสาเทเวศร์เพื่อเกลี่ยกล่อมให้เข้าร่วม โดยให้เป็นหัวหน้าคณะและจะให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ เพื่อขจัดอิทธิพลของนักการเมือง แต่พลเอกเปรมไม่ตอบรับ พร้อมกลับเข้าบ้านพักและหลบหนีออกไปได้[6]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "15 ปีรัฐประหาร 49 (6) ธงชัย วินิจจะกูล: รัฐประหาร 2549 จุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์?". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 22 May 2022.
  2. แฉ..เป็ดเหลิมเคยเป็นกบฎ เมษาฮาวาย..สู่ ฮ่าๆๆๆๆๆ แสน[ลิงก์เสีย] ,ผู้จัดการ .วันที่ 6 เม.ย. 2557
  3. 3.0 3.1 หนังสือ 289 ข่าวดัง 3 ทศวรรษหนังสือพิมพ์มติชน โดย กองบรรณาธิการมติชน ISBN 974-323-889-1
  4. 4.0 4.1 "บันทึกเมืองไทย 08/13". ยูทิวบ์. 11 February 2010. สืบค้นเมื่อ 20 January 2015.
  5. เปรมโล่ง "กบฏเมษาฮาวาย" ยุติ ยังเติร์กยึดอำนาจในเมืองหลวง, หน้า 175. กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485-2554 โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ISBN 978-974-228-070-3
  6. การจากไปของโอลด์เติร์ก..คนหนึ่ง เก็บถาวร 2012-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย สำราญ รอดเพชร จากผู้จัดการออนไลน์

บรรณานุกรม

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]