กถาวัตถุอรรถกถา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กถาวัตถุอรรถกถา เป็นคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในกถาวัตถุปกรณ์ ในพระอภิธรรมปิฎกของพระไตรปิฎกภาษาบาลี ซึ่งกถาวัตถุ มีลักษณะเป็นการถามตอบระหว่างนิกายเถรวาทและนิกายอื่น ๆ ที่แตกออกไปจากนิกายเถรวาท อันเป็นพุทธศาสนาดั้งเดิม ที่พระเถระชั้นผู้ใหญ่ได้รวบรวมไว้ตั้งแต่ปฐมสังคายนา รวมถึงการถามตอบระหว่างพุทธศาสนานิกายเถรวาท และลัทธิศาสนาอื่น ๆ โดยอรรถกถาระบุว่า พระผู้มีพระภาคทรงกล่าวถึงมาติกา หรือบทตั้ง หรือคำเริ่มต้นไว้เพียงเล็ก น้อยต่อจากนั้น พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ได้เรียบเรียงขึ้นจนจบในสังคายนาครั้งที่ 3 มีข้อความอันเป็นคำตอบคำถามตั้งแต่ ต้นจนจบ[1]

กถาวัตถุปกรณ์อรรถกถา เป็นส่วนหนึ่งในปรมัตถทีปนีหรือปัญจัปปกรณัฏฐกถา หรือ อรรถกถาปัญจปกรณ์ หรือบางทีก็เรียกว่า "ปรมัตถทีปนี ปัญจปกรณัฏฐกถา กถาวัตถุวัณณา" [2] เป็นผลงานของพระพุทธโฆสะ แต่งตามคำอาราธนาของพระจุลลพุทธโฆสะชาวลังกา เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 1000 - 1,100 ซึ่งปรมัตถทีปนี หรือปัญจัปปกรณัฏฐกถา นั้นเป็นการอธิบายเนื้อความในปกรณ์ทั้ง 5 ของพระพระอภิธรรมปิฎก 5 คัมภีร์ คือ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ ยมก และปัฏฐาน [3] โดยกถาวัตถุปกรณ์อรรถกถา เป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ปรมัตถทีปนี ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุม และใหญ่โตมโหมาร

เนื้อหา[แก้]

เนื้อหาเริ่มต้นของกถาวัตถุอรรถกถา กล่าวถึงต้นเหตุของการทื่พุทธศาสนาดั้งเดิม หรือฝ่ายเถรวาทแตกเป็นนิกายต่างๆ ไปจนถึงมูลเหตุที่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระแสดงกถาวัตถุ และการทำตติยสังคีติ หรือการสังคายนาครั้งที่ 3 เพื่อชำระพระศาสนาให้บริสุทธ์จากทิษฐิที่แปลกแยกต่างๆ โดยในอรรถกถาได้เล่าไว้ว่าพระเจ้าอโศกมหาราช หรือ "พระราชาผู้ทรงตั้งอยู่ในธรรมทรงพระนามว่า พระเจ้าอโศก" [4] ทรงจัดให้มีการแยกพระสงฆ์ที่นับถือทิษฐิแตกต่างจากฝ่ายเถรวาท หรือสาวกลัทธิอื่นที่แอบแฝงเข้ามาในพระศาสนา โดยทรงใช้กุสโลบายการคัดเลือกลัทธิที่เป็นธรรมวาที ด้วยการตั้งคำถามว่า "ภนฺเต กึวาที สมฺมาสมฺพุทฺโธ แปลว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีวาทะอย่างไร ?" เมื่อได้สดับคำตอบที่ผิดของคนนอกศาสนา จึงทราบว่า "เป็นอัญเดียรถีย์ ไม่ใช่พระภิกษุ"

"จึงทรงพระราชทานผ้าขาวแก่พวกเดียรถีย์เหล่านั้นให้สึกไปเสีย อัญญเดียรถีย์ทั้งหมดที่สึกออกไปมีถึง 60,000 คน.พระราชารับสั่งให้ภิกษุพวกอื่นเข้าเฝ้า แล้วรับสั่งถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีวาทะอย่างไร  ? ขอถวายพระพร พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นวิภัชชวาที เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลอย่างนี้แล้ว พระราชาจึงตรัสถามพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นวิภัชชวาทีหรือ ? พระเถระทูลว่าใช่แล้ว มหาบพิตร.ลำดับนั้น พระราชารับสั่งว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บัดนี้ พระ-ศาสนาบริสุทธิ์แล้ว ขอภิกษุสงฆ์จงทำอุโบสถเถิด ทรงพระราชทานอารักขาแล้วเสด็จเข้าสู่พระนคร. พระสงฆ์ได้พร้อมเพรียงประชุมกัน"[5] เพื่อเริ่มกระทำสังคายนาครั้งที่ 3 โดยพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธาน

จากนั้นเข้าเรื่องพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระแสดงกถาวัตถุ ด้วยการโต้วาทะทางธรรมกับทิษฐิต่างๆ ซึ่งพระอรรถกถาจารย์ผู้รจนากถาวัตถุอรรถกถา ได้ทำการขยายความการถามตอบแต่ละข้อ โดยอธิบายทั้งในนัยยะทางธรรมและนัยยะทางไวยากรณ์ มีการอธิบายคำศัพท์ที่สำคัญ และข้อธรรมที่ลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กถาวัตถุนี้เป็นการโต้วาทะทางธรรม เพื่อรักษาความบริสุทธ์ของพระศาสนา อีกทั้งยังเป็นคำถามที่ยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับปรมัตถธรรม หรือธรรมชั้นสูง คำอธิบายจึงจำเป็นจะต้องมีความชัดเจนและลึกซึ้ง นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเติมรายละเอียดของการถามตอบให้พิสดารยิ่งขึ้น

ตัวอย่างเนื้อหา[แก้]

ตัวอย่างเช่น การอธิบายความหมายของคำให้กระจ่างยิ่งขึ้นใน มหาวรรค ปุคคลกถา อนุโลมปัญจกะ หครือคำถามแรกในกถาวัตถุที่ว่า "ปุคฺคโล อุปลพฺภติ สจฺฉิกฏฐ ปรมฏฺเฐน สกวาที ถามว่าท่านหยั่งเห็นบุคคลได้โดยสัจฉิกัตถะ คือ อรรถอันเป็นจริง และปรมัตถะ คือ อรรถอย่างยิ่งหรือ ?" อันเป็นคำถามที่ว่าด้วยเรื่องลักษณะของความตัวเป็นตนของบุคคล ซึ่งพระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายคำศัพท์สำคัญของคำถามนี้ก็คือคำว่า สัจฉิถัตถะ หมายถึง อรรถอันเป็นจริง และปรมัตถะ คือ อรรถอย่างยิ่ง [6] นอกจากนี้ พระอรรถกถาจารย์ ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ถามคำถามนี้คือ "พวกภิกษุวัชชีปุตตกะ ภิกษุนิกายสมิตยะในพระพุทธศาสนา และอัญญเดียรถีย์เป็นอันมาก ภายนอกพระพุทธศาสนา" [7]

ทั้งนี้ คำถามดังกล่าวไม่ใช่เพียงแสดงถึงหลักธรรมขั้นสูงเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นมาติกา หรือแม่บทของคัมภีร์กถาวัตถุ ซึ่งพระอรรถกถาจารย์ระบุไว้ว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานไว้ ดังความว่า

"พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งมาติกา คือ หัวข้อธรรมไว้สำหรับเป็นแบบฉบับ เพื่อชำระล้างลัทธิอันเห็นผิดทั้งหลายมีประการต่าง ๆ. พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ท่านตั้งมาติกานี้ตามนัยที่พระศาสดาทรงประทานไว้ และแล้วก็จำแนกความตามแบบที่พระองค์ทรงแสดงไว้นั้น." [8]

โดยหลักการสำคัญของคำถามนี้ก็คือ การชี้ว่า พระพุทธเจ้าทรงเทศนาสอน 2 อย่าง คือสอนตามสมติ คือตามที่โลกนัดหมายกันเรียกขาน กับสอนตามปรมัตถ์ คือสอนตามความจริงอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น เมื่อเอ่ยถึงเรื่องบุคคล ถ้ากล่าวตามความจริงโดยสมติก็มีอยู่ เวลาสอนเพื่อให้คนทั่วไปรู้และเข้าใจ ก็ต้องใช้สานวนสมมติในทางโลก เรียก ว่าสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา แต่เมื่อสอนให้รู้ซึ้งถึงสภาพความจริง เพื่อจะได้ไม่ติดไม่ยึดถือในเรื่องสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ก็สอนความจริงโดยปรมัตถ์ คือสอนให้เห็นว่าสัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นเพียงสิ่งสมมติตามโวหารโลก ประกอบขึ้นจากส่วนย่อย ต่าง ๆ ไม่ควรยึดถือเป็นจริงเป็นจัง [9]

จะเห็นได้ว่า กถาวัตถุอรรถกถามีความลึกซึ้ง กว้างขวาง เกี่ยวข้องกับหลักพระธรรมคำสอนอันเป็นปรมัตถ์ จำเป็นต้องศึกษาอย่างระมัดระวัง แม้เพียงคำถามแรกก็ยังต้องใช้อรรถธิบายอย่างละเอียดในทุกมิติ เพื่อให้อนุชนและผู้ศึกษาธรรมได้เข้าใจในพระธรรมวินัยที่แท้จริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างถ่องแท้

อ้างอิง[แก้]

  1. พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า 59
  2. ประวัติคัมภีร์บาลี หน้า 105
  3. วรรณคดีบาลี หน้า 78
  4. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปรมัตถทีปนี อรรถกถาปัญจปกรณ์ อรรถกถากถาวัตถุปกรณ์. พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ เล่ม 4 ภาค 1 หน้าที่ 15
  5. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปรมัตถทีปนี อรรถกถาปัญจปกรณ์ อรรถกถากถาวัตถุปกรณ์. พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ เล่ม 4 ภาค 1 หน้าที่ 19
  6. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปรมัตถทีปนี อรรถกถาปัญจปกรณ์ อรรถกถากถาวัตถุปกรณ์. พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ เล่ม 4 ภาค 1 หน้าที่ 22
  7. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปรมัตถทีปนี อรรถกถาปัญจปกรณ์ อรรถกถากถาวัตถุปกรณ์. พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ เล่ม 4 ภาค 1 หน้าที่ 28
  8. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปรมัตถทีปนี อรรถกถาปัญจปกรณ์ อรรถกถากถาวัตถุปกรณ์. พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ เล่ม 4 ภาค 1 หน้าที่ 27
  9. ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี. (2550). อภิธรรม ๗ คัมภีร์ หน้า 2 - 3

บรรณานุกรม[แก้]

  • Bimala Charan Law. (1923). The Life and Work of Buddhaghosa. Calcutta : Thacker, Spink & Co.
  • Bhikkhu Nyanatusita. (2008). Reference Table of Pali Literature. electronic publication by author
  • คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. กรุงเทพฯ. กองวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  • พระมหาอดิศร ถิรสีโล. (2543). ประวัติคัมภีร์บาลี. กรุงเทพมหานคร. มหามกุฏราชวิทยาลัย.
  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปรมัตถทีปนี อรรถกถาปัญจปกรณ์ อรรถกถากถาวัตถุปกรณ์.
  • สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. กรุงเทพฯ . กรมการศาสนา พระทรวงวัฒนธรรม.
  • ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี. (2550). อภิธรรม ๗ คัมภีร์ : ศึกษาคัมภีร์กถาวัตถุ สรุปคัมภีร์อรรถกถากถาวัตถุ. มูลนิธิเบญจนิกาย