กฎหมายลิขสิทธิ์ไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กฎหมายลิขสิทธิ์ เป็นกฎหมายที่ กำหนดงานที่ได้รับความคุ้มครอง อันได้แก่ งานสร้างสรรค์ประเภท วรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ ของผู้สร้างสรรค์ ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบอย่างใด

งานด้านวรรณกรรมที่กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครอง ได้แก่ งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ รวมถึง โปรแกรมคอมพิวเตอร์ การคุ้มครองงานสร้างสรรค์เหล่านี้จะเกิดขึ้นทันทีเมื่อสร้างขึ้นโดยไม่มีขั้นตอนทางกฎหมายใดๆและไม่จำต้องมีการเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณชนก่อน จึงหมายความว่า เมื่อท่านสร้างสรรค์งานหรือเขียนงานนิพนธ์ขึ้นชิ้นหนึ่ง กฎหมายให้ความคุ้มครองงานชิ้นนั้นทันที เจ้าของผลงานเท่านั้นมีสิทธิ์ในการเผยแพร่งานสู่สาธารณชน เว้นแต่ได้รับความยินยอมหรืออนุญาตจากเจ้าของ หาผู้ใดทำละเมิดนำงานไปเผยแพร่ คัดลอก ดัดแปลง ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด จักต้องรับโทษอาญาและชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งแก่ผู้สร้างสรรค์งานชิ้นนั้น ส่วนการจดแจ้งงานลิขสิทธิ์ที่กระทำกับกรมทรัพย์สินทางปัญญานั้น มิใช่การจดทะเบียนลิขสิทธิ์ แต่เป็นการเผยแพร่ชื่องานลิขสิทธิ์ของตนแก่บุคคลภายนอกเพื่อประโยชน์ในการค้นหา ติดต่อ กับเจ้าของชิ้นงาน อันเป็นความช่วยเหลือของทางการในการเป็นแหล่งข้อมูลแก่เอกชนที่สันใจใช้ประโยชน์จากงานลิขสิทธิ์

ลิขสิทธิ์เกิดขึ้นทันทีเมื่อมีการสร้างสรรค์งานขึ้น ใครผลิต สร้างขึ้นก่อน ย่อมถือเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์คนแรก ผู้ใดจะนำงานชิ้นนั้นไปพิมพ์ซ้ำ เผยแพร่ทุกรูปแบบไม่ได้ จนกว่าจะรับความยินยอมจากเจ้าของชิ้นงานก่อน ดังนั้น การสร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์และได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายนั้นไร้ขั้นตอนยุ่งยาก หากคนไทยชื่นชอบสร้างสรรค์งาน ย่อมส่งผลต่อความเจริญของชาติ แม้จะเป็นงานวรรณกรรม เพราะการเขียนอักษรบ่งบอกถึงการพัฒนาทางปัญญา แนวความคิด ของคนในชาติ จักสังเกตได้ว่าชาติตะวันตก ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ต่างมีงานวรรณกรรมหลากหลาย คนในชาติชอบเขียนหรือ/และอ่าน ประเทศจึงเจริญพัฒนาอย่างรวดเร็วและเป็นที่น่าเกรงขามในสายตาของชาติอื่นด้วย งานวรรณกรรมของหลายประเทศนำรายได้เข้าประเทศสูงมาก ถือเป็นงานส่งออกชิ้นเอก เช่น หนังสือแฮรี่ พอตเตอร์ การ์ตูนและนิยายรักหรือลึกลับของญี่ปุ่นกับเกาหลี นิยายรักหรือกำลังภายในของจีน ฮ่องกง หรือไต้หวัน เป็นต้น รายได้จากลิขสิทธิ์งานของตนอาจเปลี่ยนแปลงชีวิตไปอีกรูปแบบหนึ่งได้ ตัวอย่างเช่น บิลเกตที่ผลิตซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์ซึ่งคนใช้ทั้งโลก เจ้าของกูเกิ้ล เซิร์ชเอนจินระดับต้นของโลก เป็นต้น การผลิตงานอันมีลิขสิทธิ์ย่อมเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนไทยได้เช่นกัน ขอเพียงมีความมุ่งมั่นต่อการสร้างสรรค์งานทุกชนิด การลอกเลียน คัดลอก ดัดแปลง งานของผู้อื่น เป็นการทำลายเกียรติภูมิของตัวเอง ตัดโอกาสแสดงฝีมือแท้จริงให้ประจักษ์แก่สายตาของผู้อื่น จึงควรทุ่มเทพลังสร้างสรรค์แล้วผลิตงานอันเป็นฝีมือของตนเพื่อให้คนอื่นได้ชื่นชมชิ้นงานเหล่านั้น มันเป็นความภูมิใจของตัวเองและประเทศชาติ หากเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก ก็เปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้สร้างสรรค์ได้อันเป็นผลตอบแทนจากความอุตสาหะของตน

ขอบเขตคุ้มครองงานสร้างสรรค์[แก้]

เมื่อสร้างสรรค์งานแล้วได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายลิขสิทธิ์ จึงต้องรับรู้สิทธิของผู้เป็นเจ้าของว่ามีขอบเขตคุ้มครองกว้างขวางมากเพียงใด โดยกฎหมายกำหนดสิทธิไว้ดังต่อไปนี้

  1. ทำซ้ำหรือดัดแปลง
  2. เผยแพร่ต่อสาธารณชน
  3. ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง
  4. ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น
  5. อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิดังกล่าวข้างต้น โดยจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ก็ได้ แต่เงื่อนไขดังกล่าวจะกำหนดในลักษณะที่เป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรมไม่ได้

เจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์แต่ผู้เดียวมีอำนาจกระทำทั้ง 5 ข้อนี้ ผู้ใดที่ทำละเมิดสิทธิของเจ้าของงานซึ่งกฎหมายคุ้มครองไว้ จักต้องรับโทษอาญาและจ่ายค่าเสียหายทางแพ่งแก่ กรมการคุ้มครองสิทธิในงานอันมีลิขสิทธิ์ช่วยส่งเสริมให้คนไทยมีกำลังใจในการสร้างสรรค์งานใหม่ มิใช่การคัดลอก ดัดแปลง งานของผู้อื่น กฎหมายจึงกำหนดบทลงโทษหนักและค่าปรับที่สูงมาก ซึ่งไม่คุ้มกับการเสียเวลาคัดลอกงานแล้วอ้างเป็นฝีมือของตน นอกจากนั้นยังเสียโอกาสในการแสดงฝีมือสร้างสรรค์งานของตัวเองไป การเป็นแค่เงาดำจักต้องอยู่ข้างหลังตัวตนแท้จริงเสมอ ถ้ามีฝีมือเก่งจริง ต้องก้าวออกจากเงามืดแล้วปรากฏกายแสดงพลังแท้จริงให้ประจักษ์แก่สายตาของผู้อื่นเพื่อชื่นชมผลงานของตน

สิทธิ์ของลูกจ้าง[แก้]

ตามหลักกฎหมายลิขสิทธิ์นั้นผู้สร้างสรรค์งานจะเป็นเจ้าของชิ้นงานทันทีที่สร้างมัน บางกรณีอาจมีข้อสงสัยว่า ถ้าเจ้านายสั่งให้พนักงานสร้างงานขึ้น เช่น บรรณาธิการให้ลูกน้องเขียนบทความใส่หนังสือของตนเอง ใครจะเป็นเจ้าของงานเขียนชิ้นนั้น เป็นต้น กฎหมายกำหนดไว้ว่า งานที่สร้างสรรค์ขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้ลิขสิทธิ์ในงานนั้นเป็นของผู้สร้างสรรค์ แต่นายจ้างมีสิทธิ์นำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ตามที่เป็นวัตถุประสงค์ของการจ้างแรงงาน ดังนั้น ถ้ามิได้ตกลงกันไว้แตกต่างจากกฎหมายและต้องทำเป็นหนังสือชัดเจน ลูกจ้างซึ่งเขียนบทความย่อมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่บรรณาธิการมีสิทธิ์นำงานเขียนนั้นไปใช้ในกิจการของตนซึ่งผู้เขียนเป็นลูกจ้างอยู่ได้ ด้วยหลักกฎหมายลิขสิทธิ์ด้านความเป็นเจ้าของชิ้นงานของลูกจ้าง จึงทำให้นายจ้างบางคนทำข้อตกลงระหว่างตนกับลูกจ้างไว้ว่า ถ้าผลิตชิ้นงานในขณะเป็นลูกจ้าง นายจ้างจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ มิใช่แค่มีสิทธิ์นำงานออกเผยแพร่เท่านั้น ผู้สร้างสรรค์งานจึงต้องพิจารณาชั่งน้ำหนักระหว่างสิทธิ์ตามกฎหมายกับข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้างว่า สิ่งใดมีประโยชน์สูงสุดต่อตนหรือต่อสังคม

งานไม่มีลิขสิทธิ์[แก้]

กฎหมายลิขสิทธิ์กำหนดงานที่ถือว่าไม่มีลิขสิทธิ์ไว้ด้วย หมายความว่า ทุกคนสามารถนำชิ้นงานทั้งหมดหรือบางส่วนไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือส่วนรวมได้โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือจ่ายค่าตอบแทนก่อน อันได้แก่

  1. ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่างๆที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารอันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
  2. รัฐธรรมนูญ และ กฎหมาย
  3. ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือ หน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
  4. คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
  5. คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่างๆตาม ข้อ 1 ถึง 4 ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น

การละเมิดลิขสิทธิ์[แก้]

กฎหมายลิขสิทธิ์กำหนดพฤติกรรมใดว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์งานของผู้อื่นไว้ชัดเจน ได้แก่ การทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่งานต่อสาธารณชน ซึ่งงานลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยมิได้รับอนุญาต ส่วนงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นได้เพิ่มการกระทำละเมิดอีกอย่างหนึ่งไว้ คือ การให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางาน หากผู้ใดกระทำการดังกล่าว ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องรับโทษอาญาและจ่ายค่าเสียหายแก่เจ้าของงานด้วย หากผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำการต่อไปนี้แก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย ได้แก่

  1. ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือเสนอให้เช่าซื้อ
  2. เผยแพร่ต่อสาธารณชน
  3. แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์
  4. นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร

การละเมิดนำงานลิขสิทธิ์ไปหากำไรโดยรู้หรือมีเหตุควรรู้ได้ จะใช้ลงโทษ เจ้าของร้านค้า ผู้จัดการ ลูกจ้างที่รู้ชัดหรือมีเหตุควรรู้ว่า กำลังขาย เผยแพร่ นำเข้า งานอันมีลิขสิทธิ์ ดังนั้น ร้านค้าใดขายแผ่นซีดีเพลงหรือภาพยนตร์ หนังสือ ซึ่งละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้ที่ต้องรับโทษในคดีประเภทนี้ คือ เจ้าของร้าน ผู้จัดการ ลูกจ้างขายของ ซึ่งต้องรู้หรือควรรู้ว่ากำลังจำหน่ายงานละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย พวกเขาจึงรับโทษอาญาหรือจ่ายค่าเสียหายแก่เจ้าของงาน กรณีสำนักพิมพ์ผลิตหนังสือที่ละเมิดลิขสิทธิ์งานของผู้อื่น นอกจากนักเขียนที่ลอกหรือดัดแปลงงานนั้นต้องรับโทษอาญาแล้ว หากสำนักพิมพ์ทราบว่าผลิตงานโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าของงานก่อน แล้วยังออกจำหน่ายอีก จะต้องรับโทษร่วมกับนักลอกด้วยซึ่งการทำเพื่อเห็นแก่การค้าหากำไร ผู้กระทำจะรับโทษจำคุกสูงขึ้นและปรับมากขึ้นเป็นกรณีพิเศษ ดังนั้น การผลิตงานเผยแพร่จึงต้องระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อมีการแจ้งเตือนให้พิจารณาว่าละเมิดงานลิขสิทธิ์ ต้องรีบตรวจสอบทันทีและงดเผยแพร่งานเพื่อมิให้ต้องรับโทษอาญาร่วมกับนักคัดลอกด้วย แต่สำนักพิมพ์มิได้เสียสิทธิในการเรียกค่าเสียหายจากนักคัดลอกที่สร้างความเสียหายแก่องค์กรของตน หากมีการเรียกร้องค่าเสียหายจากนักคัดลอกเหล่านั้นจะเป็นการปรามนักคัดลอกรุ่นต่อไปมิให้ยึดเป็นเยี่ยงอย่างด้วยและลดความเสียหายของตนลงได้

โทษการละเมิดลิขสิทธิ์[แก้]

กฎหมายคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ แล้วกำหนดโทษหนักแก่ผู้ทำละเมิดไว้ชัดเจน การละเมิดต่องานของผู้สร้างสรรค์ทั้งทำซ้ำ ดัดแปลงงาน เผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับความยินยอมตามกฎหมาย ต้องมีโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หากพฤติกรรมทำละเมิดดังกล่าวเพื่อการค้า ผู้กระทำจะมีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตัวอย่างเช่น นักลอกนำนิยายของนักเขียนอื่นมาดัดแปลงแล้วอ้างเป็นงานของตนเพื่อจัดพิมพ์เป็นเล่มขายในท้องตลาด จักเห็นว่านักลอกจงใจทำละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์เพื่อเจตนาทางการค้า คือ พิมพ์งานเป็นเล่มออกขายในตลาด เป็นต้น หากสำนักพิมพ์นำงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ถูกละเมิดโดยนักลอกดังกล่าวไปจำหน่ายทั้งที่รู้ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น จักต้องรับโทษจำคุกสามเดือนถึงสองปี หรือโทษปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสี่แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับด้วย ผู้ทำละเมิดลิขสิทธิ์ต้องรับโทษอาญาแล้ว ผู้นำงานอันละเมิดดังกล่าวไปหาประโยชน์ทางการค้าจักรับโทษอาญาในส่วนความผิดของตนอีกด้วย ถ้าเคยโดนลงโทษฐานความผิดละเมิดลิขสิทธิ์มาแล้ว ยังกระทำความผิดเดียวกันนี้อีกภายในห้าปี เขาจะถูกลงโทษหนักเป็นสองเท่าของโทษที่พิจารณาคดีในเวลานั้นฐานไม่เข็ดหลาบอีกด้วย การละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเรื่องต้องห้ามและควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง เพราะต้องรับโทษอาญา รับความอับอายต่อสาธารณชนในการประจานตัวเอง ต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวนสูงซึ่งอาจมากกว่ารายได้ซึ่งเคยรับเงินไว้ก็ได้ นักลอกและสำนักพิมพ์ต้องเสียชื่อเสียงซึ่งมิอาจประเมินค่าเป็นเงิน โดยเฉพาะขาดความเชื่อถือต่ออนาคตของการทำงานหรือสถานะทางสังคมไป ดังนั้น การสร้างสรรค์งานใหม่ด้วยฝีมือของตัวเอง นอกจากเป็นความภูมิใจส่วนตัวแล้ว ยังสร้างรายได้ เกียรติภูมิ ให้ตนเองและครอบครัว มากกว่าการเป็นนักคัดลอกดัดแปลงแอบอ้างอย่างแน่นอน ้

เวลาคุ้มครองงาน[แก้]

ทางนี้กฎหมายคุ้มครองสิทธิและประโยชน์ของผู้สร้างสรรค์งานโดยมีบทลงโทษเข้มงวดแล้ว ยังกำหนดระยะเวลาไว้ด้วย โดยให้คุ้มครองตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และมีอยู่ต่อไปอีกห้าสิบปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย ซึ่งทายาทของผู้สร้างสรรค์จักหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์นี้ได้ในช่วงนั้น เมื่อพ้นห้าสิบปีแล้ว งานชิ้นนี้จะตกเป็นสมบัติของแผ่นดินซึ่งรัฐจะเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งดูแลมิให้เกิดการดัดแปลงงานดังกล่าวไปเกินขอบเขตอันควรหรือเป็นการทำลายงานชิ้นนั้น คนไทยสามารถนำไปตีพิมพ์ เผยแพร่งานต่อสาธารณชนได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์แก่ทายาทผู้สร้างสรรค์อีกต่อไปอันถือเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ตัวอย่างเช่น นายนพเขียนนิยายเรื่องหนึ่ง กฎหมายจะคุ้มครองนายนพในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์นิยายเรื่องดังกล่าวตลอดอายุของเขา ห้ามผู้ใดทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายนพก่อน หลังจากนายนพตายแล้ว ทายาทของเขาเป็นผู้รับมรดกนิยายเรื่องนี้ต่อไปอีกห้าสิบปีในการหาประโยชน์หรือดูแลมิให้เกิดการละเมิดงานชิ้นนี้ หากพ้นห้าสิบปีไปแล้วงานชิ้นนี้จะไปอยู่ในความดูแลของรัฐในฐานะสมบัติของแผ่นดินซึ่งคนไทยสามารถนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ซ้ำได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์หรือจ่ายด้วยอัตราน้อยซึ่งแล้วแต่กติกาของรัฐ ณ เวลานั้น เป็นต้น

บริษัทที่เรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง[แก้]

คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ประกาศ ณ วันที่ 14 มีนาคม 2556 ว่ามีบริษัทที่สามารถจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงได้ดังนี้

  1. บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค พับลิชชิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
  2. บริษัท จัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัด
  3. บริษัท อาร์เอ็มเอส พับลิชชิ่ง จำกัด
  4. บริษัทเอ็มพีซี มิวสิค จำกัด
  5. บริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์ เอส พี ซี จำกัด
  6. บริษัท พาร์ทเนอร์ สมาย จำกัด
  7. บริษัท ซี เอ็ม ซี เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด
  8. บริษัท วีพีพี เซ็นเตอร์ มิวสิค จำกัด
  9. บริษัท บริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา จำกัด
  10. ห้างหุ้นส่วนจำกัด จัดเก็บลิขสิทธิ์สุรพล

ถ้าบริษัทอื่นนอกจากนี้ไปเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ให้รีบแจ้ง กรมการค้าภายใน(คน.) และกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย โดยโทษของผู้แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ไปเรียกเก็บลิขสิทธิ์ คือการแจ้งความเท็จ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากมีการควบคุมตัว จะมีโทษฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากมีการเรียกเก็บเงิน จะมีโทษกรรโชกทรัพย์ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ