เหมา เจ๋อตง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เมาเซตุง)
เหมา เจ๋อตง
毛泽东
เหมา เจ๋อตง ใน พ.ศ. 2511
ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ดำรงตำแหน่ง
20 มีนาคม พ.ศ. 2486 – 9 กันยายน พ.ศ. 2519
(33 ปี 173 วัน)
รอง
ก่อนหน้าจาง เหวินเทียน (เลขาธิการพรรค)
ถัดไปฮฺว่า กั๋วเฟิง
ประธานสาธารณรัฐประชาชนจีน คนที่ 1
ดำรงตำแหน่ง
27 กันยายน พ.ศ. 2497 – 27 เมษายน พ.ศ. 2502
(4 ปี 212 วัน)
หัวหน้ารัฐบาลโจว เอินไหล
รองจู เต๋อ
ถัดไปหลิว เช่าฉี
ประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลาง
ดำรงตำแหน่ง
8 กันยายน พ.ศ. 2497 – 9 กันยายน พ.ศ. 2519
(22 ปี 1 วัน)
รอง
ถัดไปฮฺว่า กั๋วเฟิง
ประธานคณะรัฐบาลประชาชนกลาง
ดำรงตำแหน่ง
1 ตุลาคม พ.ศ. 2492 – 27 กันยายน พ.ศ. 2497
(4 ปี 361 วัน)
หัวหน้ารัฐบาลโจว เอินไหล
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด26 ธันวาคม พ.ศ. 2436
เฉาชาน มณฑลหูหนาน จักรวรรดิชิง
เสียชีวิต9 กันยายน พ.ศ. 2519 (82 ปี)
จีน ปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
ที่ไว้ศพอนุสรณ์สถานประธานเหมา, ปักกิ่ง
พรรคการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์จีน (2464–2519)
การเข้าร่วม
พรรคการเมืองอื่น
พรรคก๊กมินตั๋ง (2468–69)
คู่สมรส
บุตร
บุพการี
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยครูหูหนาน
ลายมือชื่อ
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวย่อ毛泽东
อักษรจีนตัวเต็ม毛澤東
ชื่อรอง
อักษรจีนตัวย่อ润之
อักษรจีนตัวเต็ม潤之
สมาชิกสถาบันกลาง
  • 2497–2502: สมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติ
  • 2507–2519: สมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติ
  • 2481–2519: สมาชิกคณะกรรมาธิการประจำกรมการเมือง ชุดที่ 6, 7, 8, 9, 10
  • 2481–2519: สมาชิกคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 6, 7, 8, 9, 10

ตำแหน่งทางการเมืองอื่น ๆ

เหมา เจ๋อตง หรือ เหมา เจ๋อตุง (จีน: 毛泽东; พินอิน: Máo Zédōng, เดิมทับศัพท์เป็น Mao Tse-tung; 26 ธันวาคม พ.ศ. 2436 – 9 กันยายน พ.ศ. 2519) รู้จักกันในชื่อ ประธานเหมา เป็นนักการเมือง นักทฤษฎีลัทธิมากซ์ นักยุทธศาสตร์การทหาร กวี และนักปฏิวัติชาวจีนที่กลายเป็นบิดาผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เขาเป็นผู้นำประเทศนับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2492 จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในปี 2519 โดยทฤษฎี ยุทธศาสตร์การทหาร และนโยบายทางการเมืองของเขาเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "ลัทธิเหมา"

เหมาเกิดในครอบครัวชาวนาฐานะร่ำรวยในมณฑลหูหนาน เขาสนับสนุนลัทธิชาตินิยมจีนและต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมตั้งแต่ยังเด็ก โดยได้รับอิทธิพลอย่างมากจากเหตุการณ์การปฏิวัติซินไฮ่ในปี 2454 และขบวนการ 4 พฤษภาคมในปี 2462 ในภายหลังเขาได้นำเอาระบบลัทธิมากซ์-เลนินมาใช้ในขณะที่ทำงานเป็นบรรณารักษ์ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และกลายเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยเป็นผู้นำการปฏิวัติเก็บเกี่ยวฤดูใบไม้ร่วงในปี 2470

ในช่วงสงครามกลางเมืองจีน เหมาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกองทัพแดงจีน เป็นผู้นำนโยบายปฏิรูปที่ดินสุดโต่งของโซเวียตเจียงซี และในที่สุดก็กลายเป็นหัวหน้าพรรคในระหว่างการเดินทัพทางไกล แม้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จะร่วมมือกับพรรคก๊กมินตั๋งชั่วคราวภายใต้แนวร่วมที่สองในช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง (2480–88) แต่สงครามกลางเมืองของจีนก็กลับมาดำเนินต่อหลังจากที่ญี่ปุ่นยอมจำนน และกองกำลังของเหมาก็สามารถเอาชนะรัฐบาลชาตินิยมจนล่าถอยไปยังไต้หวันในปี 2492

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2492 เหมาประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นรัฐพรรคการเมืองเดียวแบบลัทธิมากซ์-เลนินที่ควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในช่วงหลายปีต่อมา เขาได้กระชับอำนาจของเขาผ่านการรณรงค์ปฏิรูปที่ดิน ต่อต้านเจ้าของที่ดิน การรณรงค์ปราบปรามผู้ต่อต้านการปฏิวัติ การรณรงค์ต้านสามต้านห้า และผ่านการพักรบในสงครามเกาหลี ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตของชาวจีนหลายล้านคน

ระหว่างปี พ.ศ. 2496–2501 เหมามีบทบาทสำคัญในการบังคับใช้ระบบเศรษฐกิจแบบบังคับในจีน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ ริเริ่มโครงการอุตสาหกรรมและโครงการทางทหาร เช่น โครงการ "ระเบิดสองลูก หนึ่งดาวเทียม" และโครงการ 523 นโยบายต่างประเทศของเหมาในช่วงเวลานี้ถูกครอบงำโดยความแตกแยกระหว่างจีนกับโซเวียต ซึ่งส่งผลให้จีนและสหภาพโซเวียตมีความห่างเหินกัน

ในปี 2498 เหมาได้ริเริ่มขบวนการซูฝาน และขบวนการต่อต้านฝ่ายขวาในปี 2500 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญญาชนและผู้คัดค้านอย่างน้อย 550,000 คน ในปี 2501 เหมาได้ริเริ่มนโยบายก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนเศรษฐกิจของจีนจากการเกษตรมาเป็นอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว นำไปสู่การเกิดภาวะทุพภิกขภัยที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ และทำให้เกิดการเสียชีวิตของผู้คนระหว่าง 15–55 ล้านคนระหว่างปี 2501–05

ในปี 2506 เหมาเริ่มขบวนการนักศึกษาลัทธิสังคมนิยม และในปี 2509 เขาได้ริเริ่มการปฏิวัติทางวัฒนธรรมเป็นโครงการที่จะขจัด "การต่อต้านการปฏิวัติ" ในสังคมจีนซึ่งกินเวลานานถึง 10 ปี มีการต่อสู้ทางชนชั้นอย่างรุนแรง การทำลายศิลปวัตถุทางวัฒนธรรม และยกย่องบูชาเหมาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน มีประชาชนหลายสิบล้านคนที่ถูกข่มเหงรังแกในระหว่างการปฏิวัติ โดยมีการประมาณจำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงตั้งแต่หลายแสนไปจนถึงหลายล้านคน ซึ่งรวมไปถึงหลิว เช่าฉี ประธานประเทศคนที่สอง หลังจากเผชิญกับอาการป่วยเรื้อรังมาเป็นเวลานาน เหมาก็ได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจในปี พ.ศ. 2519 รวมอายุ 82 ปี

ในช่วงยุคของเหมา ประชากรจีนเพิ่มขึ้นอย่างมากจากประมาณ 550 ล้านคน เป็นมากกว่า 900 ล้านคน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลไม่ได้บังคับใช้กฎหมายการวางแผนครอบครัวอย่างเข้มงวด ในช่วงเวลานี้ จีนยังมีบทบาทสำคัญในความขัดแย้งของประเทศคอมมิวนิสต์อื่น ๆ ในเอเชีย เช่น สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม และสงครามกลางเมืองกัมพูชา

เหมา เจ๋อตง ถือได้ว่าเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษที่ 20 เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เปลี่ยนแปลงจีนให้กลายเป็นมหาอำนาจระดับโลก การปฏิรูปที่ดินและการยกเลิกระบบเจ้าขุนมูลนาย ทำให้ชาวนาจีนหลายร้อยล้านคนสามารถมีที่ดินทำกินของตนเองเป็นครั้งแรก การรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือ การส่งเสริมสิทธิสตรี การสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน การศึกษาภาคบังคับ และการยกระดับอายุขัยเฉลี่ย ล้วนเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เขาเป็นผู้นำ

เหมากลายเป็นหัวหอกทางอุดมการณ์เบื้องหลังแนวคิดของเขา และเป็นผู้มีอิทธิพลอย่างมากต่อขบวนการคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศ เขาได้รับการยกย่อง ชื่นชม และมีลัทธิบูชาบุคคลทั้งในช่วงชีวิตและหลังอสัญกรรม อย่างไรก็ตาม นโยบายของเหมาก็เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของชาวจีนจำนวนมหาศาล โดยมีการประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตราว 40–80 ล้านคนจากความอดอยาก การกดขี่ แรงงานในคุก และการประหารชีวิตจำนวนมาก รัฐบาลของเขาถูกมองว่าเป็นระบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ

ชีวิตช่วงต้น[แก้]

ชีวิตวัยเด็กเละการปฏิวัติซินไฮ่: พ.ศ. 2436–54[แก้]

เหมา เจ๋อตง ราวปี พ.ศ. 2453

เหมา เจ๋อตง เกิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2436 ในครอบครัวชาวนา อาศัยอยู่ในเขตชนบทอำเภอเฉาชาน มณฑลหูหนาน[1] พ่อของเขาคือ เหมา อี๋ชาง เดิมเป็นชาวนาที่ยากจน แต่ต่อมาได้กลายเป็นหนึ่งในชาวนาที่ร่ำรวยที่สุดในอำเภอ เหมา เจ๋อตง เคยเล่าว่าพ่อของเขาเป็นคนเคร่งครัดในระเบียบ มีนิสัยดุว่าเขาและพี่น้องอีกสามคน ได้แก่ เหมา เจ๋อหมิน เหมา เจ๋อถาน และเหมา เจ๋อเจี้ยน (น้องสาว/ลูกพี่ลูกน้องที่รับมาเลี้ยง)[2] แม่ของเหมาคือ เหวิน ชีเม่ย์ เป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด เธอพยายามลดทอนความเข้มงวดของสามี[3] เหมา เจ๋อตง เองก็เคยเป็นชาวพุทธเช่นกัน แต่เขาได้ละทิ้งศรัทธานี้ในช่วงวัยรุ่นตอนกลาง[3] เมื่ออายุได้ 8 ปี เหมาถูกส่งไปเรียนที่โรงเรียนประถมเฉาชาน เขาได้เรียนรู้ระบบคุณค่าของลัทธิขงจื๊อ แม้ภายหลังเขาจะยอมรับว่าไม่ชอบตำราจีนโบราณที่สั่งสอนศีลธรรมตามแนวขงจื๊อ แต่กลับชื่นชอบวรรณกรรมจีนคลาสสิกอย่าง สามก๊ก และซ้องกั๋งมากกว่า[4] เมื่ออายุ 13 ปี เขาเรียนจบประถมศึกษา พ่อของเขาได้จัดการแต่งงานแบบคลุมถุงชนให้เขากับหลัว อีซิ่ว หญิงสาววัย 17 ปี เพื่อรวมที่ดินของทั้งสองครอบครัวเข้าด้วยกัน แต่เหมากลับปฏิเสธที่จะยอมรับเธอเป็นภรรยา และวิจารณ์การแต่งงานแบบคลุมถุงชนอย่างรุนแรง เหมาจึงตัดสินใจย้ายหนีออกไปชั่วคราว เหตุการณ์นี้ส่งผลให้หลัวเสื่อมเสียชื่อเสียงในท้องถิ่น และเสียชีวิตในปี 2453 ขณะมีอายุเพียง 20 ปี[5]

บ้านเกิดของเหมา เจ๋อตง ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว

ขณะทำงานอยู่ที่นาของพ่อ เหมา เจ๋อตง หมั่นอ่านหนังสืออย่างมากมาย[6] และพัฒนา "สำนึกทางการเมือง" ขึ้นมาจากจุลสารของเจิ้ง กวานอิง ซึ่งกล่าวถึงการเสื่อมถอยของอำนาจจีน และสนับสนุนการนำระบบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนมาใช้[7] นอกจากนี้ เหมายังได้อ่านงานแปลของนักเขียนชาวตะวันตกหลายคน เช่น อดัม สมิธ, มงแต็สกีเยอ, ฌ็อง-ฌัก รูโซ, ชาลส์ ดาร์วิน และโทมัส ฮักซ์ลีย์[8]: 34  เหมา เจ๋อตง ซึ่งสนใจประวัติศาสตร์ ได้รับแรงบันดาลใจจากความสามารถทางทหารและความรักชาติอันแรงกล้าของจอร์จ วอชิงตัน และนโปเลียน โบนาปาร์ต[9] มุมมองทางการเมืองของเขาได้รับการหล่อหลอมจากการประท้วงที่นำโดยสมาคมเกอเหล่าฮุ่ย ซึ่งปะทุหลังจากการขาดแคลนอาหารในฉางชา เมืองหลวงของมณฑลหูหนาน เหมาสนับสนุนข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง แต่กองกำลังติดอาวุธได้ปราบปรามผู้เห็นต่างและประหารชีวิตผู้นำของพวกเขา[10] เมื่อความอดอยากแพร่กระจายไปยังเฉาชาน ชาวนาที่อดอยากได้ยึดเอาเมล็ดข้าวของพ่อ เหมาไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพวกเขา เพราะมองว่าเป็นเรื่องผิดศีลธรรม แต่เขาก็อ้างว่าเห็นใจในสถานการณ์ที่พวกเขาเผชิญอยู่[11] เมื่ออายุ 16 ปี เหมาได้ย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนประถมศึกษาตอนปลายในตงชานซึ่งอยู่ใกล้เคียง[12] ที่นั่นเขาถูกเพื่อนรังแก เนื่องจากภูมิหลังที่เป็นชาวนา[13]

ในปี พ.ศ. 2454 เหมาเข้าเรียนต่อในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นในฉางชา[14] ขณะนั้น กระแสความคิดปฏิวัติรุนแรงแพร่หลายไปทั่วเมือง เนื่องจากมีความรู้สึกต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจักรพรรดิผู่อี๋อย่างกว้างขวาง และมีประชาชนจำนวนมากที่สนับสนุนระบอบสาธารณรัฐ บุคคลสำคัญของฝ่ายสาธารณรัฐคือ ซุน ยัตเซ็น ชาวจีนที่ได้รับการศึกษาจากอเมริกา และเป็นผู้นำสมาคมถงเหมิงฮุ่ย[15] ที่ฉางชา เหมาได้รับอิทธิพลจากหนังสือพิมพ์ของซุนยัตเซ็น ชื่อ “หมินลี่เป้า” (อิสรภาพของประชาชน),[16] และเคยสนับสนุนให้ซุนเป็นประธานาธิบดีในเรียงความที่โรงเรียน[17] เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านราชวงศ์แมนจู เหมาและเพื่อนได้ทำการตัดเปียซึ่งเป็นทรงผมที่แสดงถึงความภักดีต่อจักรพรรดิออก[18]

ด้วยแรงบันดาลใจจากแนวคิดการปกครองแบบสาธารณรัฐของซุน ยัตเซ็น กองทัพได้ลุกฮือขึ้นทั่วภาคใต้ของจีน จุดประกายให้เกิดการปฏิวัติซินไฮ่ ผู้ว่าการเมืองฉางชาหนีออกนอกเมือง ทำให้เมืองตกอยู่ในการควบคุมของฝ่ายสาธารณรัฐ[19] เหมาสนับสนุนการปฏิวัติ และเข้าร่วมกองทัพกบฏเป็นทหารชั้นผู้น้อย แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการสู้รบหรือการต่อสู้ เพราะภาคเหนือของจีนยังคงภักดีต่อจักรพรรดิและหวังจะที่หลีกเลี่ยงสงครามกลางเมือง ซุน ยัตเซ็น ซึ่งผู้สนับสนุนขนานนามว่า "ประธานาธิบดีเฉพาะกาล" จึงยอมเจรจากับนายพลยฺเหวียน ชื่อไข่ แม่ทัพฝ่ายกษัตริย์ แม้ว่าสถาบันกษัตริย์จะถูกยกเลิก นำไปสู่การสถาปนาสาธารณรัฐจีน แต่สุดท้าย นายพลยฺเหวียนผู้สนับสนุนกษัตริย์ก็กลายเป็นประธานาธิบดีแทน เมื่อการปฏิวัติสิ้นสุดลง เหมาก็ลาออกจากกองทัพในปี 2455 หลังจากเป็นทหารได้ 6 เดือน[20] ในช่วงเวลานี้ เหมาได้ค้นพบแนวคิดสังคมนิยมจากบทความในหนังสือพิมพ์ ต่อมาเขาได้อ่านจุลสารของเจียง คั่งหู่ นักศึกษาผู้ก่อตั้งพรรคสังคมนิยมจีน ถึงแม้เหมาจะสนใจแนวคิดนี้ แต่ก็ยังไม่เชื่อมั่น[21]

โรงเรียนฝึกหัดครู: พ.ศ. 2455–62[แก้]

ในช่วงไม่กี่ปีต่อมา เหมาได้เข้าเรียนและลาออกจากสถาบันต่าง ๆ มากมาย ได้แก่ โรงเรียนตำรวจ โรงเรียนผลิตสบู่ โรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนเศรษฐศาสตร์ และ โรงเรียนมัธยมฉางชา ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาล[22] ด้วยความรักการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เขาใช้เวลามากมายในห้องสมุดที่ฉางชา อ่านผลงานสำคัญของลัทธิเสรีนิยมคลาสสิก เช่น "ความมั่งคั่งของประชาชาติ" ของอดัม สมิธ และ "จิตวิญญาณแห่งกฎหมาย" ของมงแต็สกีเยอ รวมถึงผลงานของนักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาชาวตะวันตก เช่น ดาร์วิน, มิลล์, รูโซ และสเปนเซอร์[23] เหมามองตัวเองว่าเป็นปัญญาชน และหลายปีต่อมาเขายอมรับว่าในเวลานั้นเขาคิดว่าตัวเองเหนือกว่าชนชั้นแรงงาน[24] เขายังได้รับแรงบันดาลใจจากฟรีดริช พอลเซน นักปรัชญาและนักการศึกษา ผู้เน้นย้ำถึงการบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นคุณค่าสูงสุด ซึ่งทำให้เหมาเชื่อว่าบุคคลที่เข้มแข็งไม่จำเป็นต้องผูกพันอยู่กับกฎคุณธรรม แต่ควรมุ่งมั่นเพื่อเป้าหมายอันยิ่งใหญ่[25] พ่อของเหมาเห็นว่าการใฝ่ศึกษาของลูกชายนั้นไร้ประโยชน์ จึงตัดเงินค่าใช้จ่ายและบังคับให้เหมาไปอยู่หอพักสำหรับคนยากไร้[26]

เหมาในปี พ.ศ. 2456

เหมามีความใฝ่ฝันที่จะเป็นครู เขาจึงเข้าเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูที่ 4 ของเมืองฉางชา ซึ่งต่อมาได้ยุบรวมกับโรงเรียนฝึกหัดครูที่ 1 ของมณฑลหูหนาน (ต่อมาคือวิทยาลัยครูหูหนาน) ซึ่งถือเป็นโรงเรียนที่ดีที่สุดในมณฑล[27] หยาง ฉางจี้ อาจารย์ของเหมา ได้แนะนำให้เขาอ่านหนังสือพิมพ์หัวรุนแรงชื่อ “ซินชิงเหนียน” ซึ่งเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของเฉิน ตู๋สิ้ว เพื่อนของเขาซึ่งเป็นคณบดีมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ถึงแม้เฉินจะสนับสนุนลัทธิชาตินิยมจีน แต่เขาก็แย้งว่าจีนจำเป็นต้องมองไปทางตะวันตก เพื่อชำระล้างความงมงายและระบอบเผด็จการ[28] ในช่วงปีแรกของการเข้าเรียน เหมาได้ผูกมิตรกับรุ่นพี่คนหนึ่งชื่อ เซียว จื่อเชิง พวกเขาออกเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วหูหนานด้วยกัน โดยการขอทานและเขียนกลอนคู่ (บทประพันธ์จีนโบราณ) เพื่อแลกกับอาหาร[29]

ในปี พ.ศ. 2458 เหมากลายเป็นนักศึกษาที่ได้รับความนิยม ได้รับเลือกเป็นเลขานุการของสมาคมนักเรียน เขายังได้จัดตั้ง "สมาคมนักศึกษาปกครองตนเอง" และเป็นผู้นำในการประท้วงกฎระเบียบของโรงเรียน[30] ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2460 เหมาได้ตีพิมพ์บทความแรกของเขาในหนังสือพิมพ์ซินชิงเหนียน โดยเนื้อหาของบทความเรียกร้องให้ผู้อ่านเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายเพื่อเข้าร่วมการปฏิวัติ[31] เขายังเข้าร่วมสมาคมเพื่อการศึกษาของหวัง ฟูจือ ซึ่งเป็นกลุ่มปฏิวัติที่ก่อตั้งโดยนักปราชญ์เมืองฉางชา ผู้ต้องการยึดแนวทางปรัชญาของหวัง ฟูจือ[32] ในฤดูใบไม้ผลิ พ.ศ. 2460 เหมาเขาได้รับเลือกให้เป็นผู้นำกองกำลังอาสาสมัครนักศึกษา ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อปกป้องโรงเรียนจากทหารกองโจร[33] เขาสนใจในเทคนิคการสงครามมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเริ่มสนใจสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และเริ่มมีความรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชนชั้นแรงงาน[34] เหมา เจ๋อตง, เซียว จื่อเชืง และไช่ เหอเซิน รวมถึงนักปฏิวัติหนุ่มคนอื่น ๆ ได้ร่วมกันก่อตั้ง "สมาคมการศึกษาเพื่อการฟื้นฟูประชาชน" ขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 เพื่อศึกษาและอภิปรายแนวคิดของเฉิน ตู๋สิ้ว ด้วยความปรารถนาในการเปลี่ยนแปลงตัวเองและสังคม สมาคมแห่งนี้มีสมาชิกประมาณ 70–80 คน ซึ่งหลายคนต่อมาได้เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์[35] เหมาสำเร็จการศึกษาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2462 โดยได้อันดับที่ 3 ของรุ่น[36]

กิจกรรมการปฏิวัติช่วงแรก[แก้]

กรุงปักกิ่ง ลัทธิอนาธิปไตย และลัทธิมาคส์: พ.ศ. 2460–62[แก้]

เหมา เจ๋อตง ในปี พ.ศ. 2467

เหมาย้ายไปปักกิ่งเพื่อมาอยู่กับอาจารย์ของเขา หยาง ชางจี้ ที่ได้งานใหม่ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง[37] หยางมองว่าเหมาเป็นคน "ฉลาดและหน้าตาดี" มาก[38] จึงทำให้เขาได้งานเป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์ของมหาวิทยาลัย โดยมีหลี่ ต้าจาว ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์คนสำคัญคนหนึ่งของจีน เป็นหัวหน้าบรรณารักษ์[39] หลี่ได้เขียนบทความชุดหนึ่งลงในหนังสือพิมพ์ซินชิงเหนียน เกี่ยวกับการปฏิวัติรัสเซียในเดือนตุลาคม บทความเหล่านี้กล่าวถึงช่วงเวลาที่พรรคบอลเชวิค ภายใต้การนำของวลาดิมีร์ เลนิน ทำการยึดอำนาจรัฐ เลนินเป็นผู้สนับสนุนทฤษฎีสังคมการเมืองของลัทธิมากซ์ ซึ่งพัฒนาโดยคาร์ล มาคส์ นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน และฟรีดริช เอ็งเงิลส์ บทความของหลี่ได้นำลัทธิมากซ์เข้ามาเป็นอีกหนึ่งหลักการสำคัญในขบวนการปฏิวัติจีน[40]

เหมามีแนวคิด “รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ” โดยในเบื้องต้น เขาได้รับอิทธิพลจากแนวคิดอนาธิปไตยของปีเตอร์ โครพ็อตกิน ซึ่งเป็นหลักคำสอนแนวรุนแรงที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนั้น นักอนาธิปไตยชาวจีน เช่น ไช่ หยวนเผย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้สนับสนุนให้เกิดการปฏิวัติทางสังคมอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ทางสังคม โครงสร้างครอบครัว และความเท่าเทียมกันของสตรี มากกว่าการเปลี่ยนแปลงเพียงแค่รูปแบบของรัฐบาลตามที่นักปฏิวัติยุคก่อนเรียกร้อง ในช่วงฤดูหนาว พ.ศ. 2462 เขาได้เข้าร่วมกลุ่มศึกษากับหลี่ ต้าจาวและ “ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วสู่ลัทธิมากซ์”[41] แม้เงินเดือนจะน้อย เหมาก็ต้องอาศัยอยู่ในห้องแคบ ๆ กับนักศึกษาชาวหูหนานอีก 7 คน ถึงกระนั้น เขาก็ยังเชื่อว่าความสวยงามของกรุงปักกิ่งนั้นเป็น “การตอบแทนที่ชัดเจนและมีชีวิตชีวา”[42] เพื่อนหลายคนของเขามีโอกาสไปเรียนที่ฝรั่งเศสผ่านโครงการ “การศึกษาผ่านการทำงาน”(Mouvement Travail-Études) ซึ่งจัดโดยกลุ่มอนาธิปไตย แต่เหมากลับปฏิเสธโอกาสนี้ อาจเป็นเพราะความไม่ถนัดด้านภาษาต่างประเทศ[43] อย่างไรก็ตาม เหมาก็ได้ระดมทุนสนับสนุนโครงการนี้อยู่[8]: 35 

ที่มหาวิทยาลัย เหมาถูกเพื่อนร่วมชั้นดูถูก เนื่องจากสำเนียงหูหนานอันเป็นชนบทของเขาและฐานะที่ต่ำต้อย เขาเข้าร่วมชมรมปรัชญาและสมาคมสื่อสารมวลชนของมหาวิทยาลัย และเข้าฟังการบรรยายและสัมมนาจากบุคคลสำคัญอย่าง เฉิน ตู๋ซิ่ว, หู ชื่อ และ เฉียน เสฺวียนถง[44] ช่วงเวลาของเหมาในกรุงปักกิ่งสิ้นสุดลงในฤดูใบไม้ผลิ พ.ศ. 2462 เมื่อเขาเดินทางไปเซี่ยงไฮ้กับเพื่อน ๆ ที่กำลังเตรียมตัวเดินทางไปฝรั่งเศส[45] เขาไม่ได้กลับไปยังเฉาชาน ซึ่งแม่ของเขากำลังป่วยหนัก ต่อมาเธอเสียชีวิตในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2462 และสามีของเธอก็เสียชีวิตในเดือนมกราคม พ.ศ. 2463[46]

วัฒนธรรมใหม่และการประท้วงทางการเมือง: พ.ศ. 2462–63[แก้]

เหมา เจ๋อตง ในปี พ.ศ. 2462

วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2462 นักศึกษาในกรุงปักกิ่งได้รวมตัวกันที่เทียนอันเหมิน เพื่อประท้วงรัฐบาลจีนที่ต่อต้านการขยายอำนาจของญี่ปุ่นในจีนอย่างอ่อนแอ โดยเหล่าผู้รักชาติรู้สึกโกรธแค้นต่ออิทธิพลที่มอบให้กับญี่ปุ่นใน “ข้อเรียกร้องยี่สิบเอ็ดประการ” เมื่อปี พ.ศ. 2458 การสมรู้ร่วมคิดของรัฐบาลเป่ย์หยางภายใต้การนำของตฺวั้น ฉีรุ่ย และการทรยศของจีนในสนธิสัญญาแวร์ซาย ซึ่งยอมให้ญี่ปุ่นได้ดินแดนในมณฑลชานตงจากจักรวรรดิเยอรมันที่ยอมจำนน การประท้วงเหล่านี้เป็นชนวนให้เกิด “ขบวนการ 4 พฤษภาคม” ทั่วประเทศ และจุดชนวนให้เกิด “ขบวนการวัฒนธรรมใหม่” ที่กล่าวโทษความล้มเหลวทางการทูตของจีนว่าเกิดจากความล้าหลังทางสังคมและวัฒนธรรม[47]

ในฉางชา เหมาเริ่มต้นอาชีพครูด้วยการสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนประถมศึกษาซิ่วเย่[48] และจัดการประท้วงต่อต้านจาง จิ้งเหยา ผู้ว่าการมณฑลหูหนานที่สนับสนุนตฺวั้น ซึ่งประชาชนนิยมเรียกกันว่า "จางผู้ร้ายกาจ" เนื่องจากการปกครองที่ฉ้อฉลและรุนแรงของเขา[49] ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม เหมากับเหอ ชูเหิง และเติ้ง จงเซี่ย ได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมนักศึกษาหูหนาน และจัดการประท้วงหยุดเรียนของนักศึกษาในเดือนมิถุนายน ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2462 เหมาก็ได้เริ่มตีพิมพ์นิตยสารเชิงรุนแรงรายสัปดาห์ชื่อว่า “เซียงเจียง” (Xiangjiang Review) โดยสนับสนุนแนวคิด “สหภาพอันยิ่งใหญ่ของมหาชน” และ “เสริมสร้างสหภาพแรงงานให้สามารถปฏิวัติโดยปราศจากความรุนแรง” ด้วยการใช้ภาษาพื้นบ้านที่ประชาชนจีนส่วนใหญ่เข้าใจได้ แนวคิดของเหมาไม่ได้อิงจากลัทธิมากซ์ แต่ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากแนวคิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของโครพ็อตกิน[50]

นักศึกษาในกรุงปักกิ่งชุมนุมระหว่างขบวนการ 4 พฤษภาคม

จางได้สั่งยุบสมาคมนักศึกษา แต่เหมาก็ยังคงตีพิมพ์ผลงานต่อไปหลังจากรับตำแหน่งบรรณาธิการนิตยสารเชิงเสรีนิยม “ซินหูหนาน” และเขียนบทความในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นยอดนิยม “ต้ากงเป้า” บทความหลายชิ้นของเขาสนับสนุนแนวคิดสตรีนิยม เรียกร้องการปลดปล่อยสตรีในสังคมจีน ซึ่งแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งของเหมามาจากการที่เขาถูกบังคับให้แต่งงาน[51] ในฤดูใบไม้ร่วง พ.ศ. 2462 เหมาได้จัดการสัมมนาขึ้นในฉางชา เพื่อศึกษาประเด็นทางเศรษฐกิจและการเมือง ตลอดจนวิธีการรวมประชาชนให้เป็นหนึ่ง ความเป็นไปได้ของลัทธิสังคมนิยม และประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับลัทธิขงจื๊อ[52] ในช่วงเวลานี้ เหมายังได้มีส่วนร่วมในงานด้านการเมืองกับแรงงาน โดยการจัดตั้งโรงเรียนภาคค่ำและสหภาพแรงงาน[52] ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2462 เหมามีส่วนช่วยในการจัดการประท้วงหยุดงานทั่วหูหนาน แม้จะประสบความสำเร็จในการเจรจาบางประการ แต่เหมาและแกนนำนักศึกษาคนอื่น ๆ รู้สึกว่าถูกคุกคามจากจาง จึงทำให้เหมาตัดสินใจเดินทางกลับไปยังปักกิ่งเพื่อไปเยี่ยมหยาง ชางจี้ที่กำลังป่วยหนัก[53] เหมาพบว่าบทความของเขาได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มนักปฏิวัติ เขาจึงเริ่มแสวงหาผู้สนับสนุนเพื่อโค่นล้มอำนาจของจาง[54] เหมามีโอกาสได้อ่านงานแปลวรรณกรรมมาร์กซิสต์ใหม่ ๆ ของโทมัส เคิร์กอัป, คาร์ล ค็อตสกี, คาร์ล มาคส์ และฟรีดริช เอ็งเงิลส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์” ซึ่งส่งผลต่อความคิดของเขาให้มีความโน้มเอียงไปทางลัทธิมากซ์มากขึ้น แต่เขายังคงมีมุมมองที่หลากหลาย ไม่ยึดติดกับแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง[55]

เหมาเคยเดินทางไปเยือนเทียนจิน จี่หนาน และชฺวีฟู่[56] ก่อนที่จะย้ายไปอยู่เซี่ยงไฮ้ ระหว่างที่ทำงานเป็นคนซักผ้าอยู่นั้น เขาก็ได้พบกับเฉิน ตู๋ซิ่ว เหมาประทับใจแนวคิดลัทธิมากซ์ของเฉินอย่างมาก ซึ่งเหมาเองก็ได้กล่าวว่า “มันสร้างความประทับใจให้กับผมอย่างลึกซึ้งในช่วงเวลาที่สำคัญของชีวิตผม” ขณะอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ เหมาได้พบกับอี้ เผย์จี อดีตอาจารย์ของเขา ซึ่งเป็นนักปฏิวัติและสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋งที่กำลังได้รับการสนับสนุนและมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้น อี้ได้แนะนำเหมาให้รู้จักกับนายพลถาน เหยียนไข่ แม่ทัพใหญ่และสมาชิกอาวุโสของพรรค ผู้มีกองทหารประจำการอยู่ตามแนวชายแดนหูหนานกับกวางตุ้งนายพลถานกำลังวางแผนโค่นล้มจาง และเหมาก็ให้ความช่วยเหลือเขาโดยการจัดระเบียบนักศึกษาในฉางซา ในมิถุนายน พ.ศ. 2463 นายพลถานได้นำกองทหารเข้ายึดครองฉางชา ส่งผลให้จางหนีต้องออกนอกเมืองไป หลังจากการปฏิรูปการบริหารมณฑล เหมาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายประถมของโรงเรียนฝึกหัดครูที่ 1 ด้วยรายได้ที่มั่นคงขึ้น ในช่วงฤดูหนาวปีเดียวกัน เขาก็ได้แต่งงานกับหยาง ไคฮุ่ย ลูกสาวของหยาง ชางจี้[57][58]

สถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีน: พ.ศ. 2463–64[แก้]

ร่วมมือกับก๊กมินตั๋ง: พ.ศ. 2465–70[แก้]

เหมา เจ๋อตง กับ เจียง ไคเชก[แก้]

เหมา เจ๋อตง กับ เจียง ไคเชก นั้นแต่เดิมเคยเป็นเพื่อนกันมาก่อน แต่เนื่องจาก เจียง เป็นมือขวาคนสำคัญของ ซุน ยัตเซน และมีความใกล้ชิดกันมาก เจียง จึงมีแนวคิดคล้ายกับ ซุน ยัตเซน นั่นคือต้องการให้ประเทศจีนปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ส่วนเหมา มีแนวคิดเป็นคอมมิวนิสต์ จึงต้องการให้ประเทศจีนปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ เพราะเหตุนี้จึงทำให้ทั้งคู่กลายมาเป็นเป็นศัตรูกันจนถึงวันเสียชีวิตของทั้งคู่

การปฏิวัติ[แก้]

เหมามีประชาชนสนับสนุนเขามาก โดยเฉพาะชาวไร่ ชาวนา กรรมกร และคนจน จึงได้จัดเป็นกองกำลังขึ้น โดยมีสหภาพโซเวียต คอยสนับสนุนอยู่ เพื่อปฏิวัติประเทศจีนให้เป็นคอมมิวนิสต์ แต่ เจียง ไคเช็กซึ่งกองทัพอยู่ในมือ จึงสามารถเล่นงานเหมาได้ง่าย แต่ปัญหาหลักคือ กองทัพญี่ปุ่นที่กำลังรุกคืบมายึดจีน โดยเฉพาะในยุทธการนานกิงมีประชาชนชาวจีนล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่เจียง ไคเช็ก เห็นว่าคอมมิวนิสต์อันตรายกว่า จึงส่งกองทัพหวังโจมตีกองทัพของเหมา ต่อมาในปี พ.ศ. 2480-พ.ศ. 2488 กองทัพเหมาสามารถ ต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นได้ด้วยยุทธวิธี “สงครามยืดเยื้อ” จนได้รับชัยชนะ

ในปี พ.ศ. 2486 เหมาได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์

ปี พ.ศ. 2489 เจียง ไคเช็ก ส่งกองทัพเข้ามาโจมตี กองทัพของเหมา แต่ก็สามารถเอาชนะทหารของเจียง ไคเช็กได้ ถึง 3 ครั้งใหญ่ๆ และนำทัพประชาชนเข้า คุมอำนาจรัฐบาล เจียง ไคเช็ก จึงจำเป็นต้องลี้ภัยพร้อมกับคนในรัฐบาลหลายๆ คนไป เกาะทางตอนใต้ของประเทศจีน ที่เรียกว่า "ไต้หวัน" ทำให้การปกครองระหว่างคอมมิวนิสต์กับประชาธิปไตย แบ่งเป็น 2 ฝั่ง นั่นคือ จีนแผ่นดินใหญ่ กับ ไต้หวัน

ผู้นำสูงสุดของจีน[แก้]

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2492 เหมา ได้ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ จตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง ในปีแรกของการบริหารประเทศ เหมาเน้นการเพิ่มความชำนาญและประสิทธิภาพในการปฏิรูปทางสังคมและเศรษฐกิจ และได้ให้ประชาชนทุกชนชั้นเข้ามามีส่วนร่วมในภารกิจนี้ ผลตอบรับจึงเป็นที่ประทับใจและได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง

ปี พ.ศ. 2493 นานาชาติเริ่มให้การยอมรับต่อรัฐบาลคอมมิวนิสต์มากขึ้นตามลำดับ แต่สิ่งที่ทำให้การยอมรับจากนานาชาติต้องสะดุดคือเหตุการณ์ สงครามเกาหลี เนื่องจากในปี พ.ศ. 2493 กองกำลังสหประชาชาติได้ถูกส่งเข้าไปในเกาหลีเหนือ จีนเกรงว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อดินแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นหัวใจทางด้านอุตสาหกรรม จีนจึงส่งกองทัพปลดปล่อยประชาชน แต่เรียกตนเองว่าอาสาสมัครประชาชนจีนเข้าไปในเกาหลีเหนือ ในสงครามครั้งนั้น มีประเทศที่เป็น คอมมิวนิสต์ใหญ่ๆ 2 ประเทศคือ จีนแผ่นดินใหญ่ กับ สหภาพโซเวียต เข้าช่วยเหลือเกาหลีเหนือ

จอมพล ดักลาส แมคอาเธอร์ แห่งกองทัพเรือสหรัฐ มีความคิดที่จะร่วมมือกับ เจียง ไคเช็ก ว่าจะส่งกองทหารจีนคณะชาติเข้าช่วยทำสงครามในเกาหลีเพื่อปราบปรามกองทัพจีน แต่อังกฤษขอให้อเมริกางดความเห็นนี้เพราะเกรงจะเกิดสงครามใหญ่ หลังจากนั้นเขาก็ออกสื่อ ให้ทุกๆ อย่างจบลง ด้วยการโจมตีประเทศจีน จึงทำให้เขาต้องออกจากตำแหน่งตามคำสั่งของ แฮร์รี ทรูแมน

การเยือนต่างประเทศ[แก้]

ประเทศ วันที่ เจ้าภาพ
 สหภาพโซเวียต 16 ธันวาคม พ.ศ. 2492 โจเซฟ สตาลิน
 สหภาพโซเวียต 2–19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 นีกีตา ครุชชอฟ

ในช่วงเวลาที่เป็นผู้นำประเทศ เหมาเดินทางออกนอกประเทศจีนเพียงแค่สองครั้งเท่านั้น ทั้งสองครั้งเป็นการเดินทางไปเยือนสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกที่เหมาเดินทางไปต่างประเทศคือ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2492 เพื่อไปร่วมฉลองวันเกิดครบ 70 ปีของผู้นำสหภาพโซเวียต โจเซฟ สตาลิน ที่กรุงมอสโก ในงานเลี้ยงครั้งนั้นมีรองประธานสภารัฐมนตรีเยอรมนีตะวันออก วัลเทอร์ อุลบริชท์ และเลขาธิการพรรคประชาชนมองโกเลีย ยัมจากิน เซเดนบัล เข้าร่วมด้วย[59] การเดินทางไปมอสโกครั้งที่สองในเดือนพฤศจิกายนปี 1957 เป็นการเยือนอย่างเป็นทางการนาน 2 สัปดาห์ จุดเด่นของการเยือนครั้งนี้ ได้แก่ การเข้าร่วมงานเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปีของการปฏิวัติเดือนตุลาคม โดยเหมาได้เข้าร่วมพิธีสวนสนามประจำปีของกองทหารมอสโกที่ จัตุรัสแดง รวมถึงงานเลี้ยงที่เครมลินด้วย การประชุมพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งเหมาได้พบปะกับผู้นำคอมมิวนิสต์คนอื่น ๆ เช่น คิม อิล-ซ็อง แห่งเกาหลีเหนือ[60] และแอลแวร์ ฮอจา แห่งแอลเบเนีย

เมื่อเหมาลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2502 หน้าที่การเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ และการเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะสหภาพโซเวียต หรือประเทศอื่น ๆ จึงถูกมอบหมายให้ประธานาธิบดีหลิว เช่าฉี นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล หรือรองนายกรัฐมนตรีเติ้ง เสี่ยวผิง เป็นผู้ดำเนินการแทนตัวเหมาเอง[ต้องการอ้างอิง]

อสัญกรรมและผลพวง[แก้]

วิดีโอหลายคลิปจากแหล่งข้อมูลภายนอก
video icon Official Chinese documentary on Mao's funeral
เหมา เจ๋อตง กับรองประธานาธิบดีอียิปต์ ฮุสนี มุบาร็อก ในระหว่างการเยือนปักกิ่งเมื่อปี พ.ศ. 2519

สุขภาพของเหมาทรุดโทรมลงในช่วงปีสุดท้ายของชีวิต ซึ่งอาจเลวร้ายลงจากการสูบบุหรี่จัดเป็นนิสัย[61] ในช่วงบั้นปลายชีวิตของเหมา อาการป่วยหลายอย่างเกี่ยวกับปอดและหัวใจของเขากลายเป็นความลับของชาติ[62] มีรายงานที่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเหมาอาจเป็นโรคพาร์คินสัน[63][64] ร่วมกับโรค ALS (amyotrophic lateral sclerosis) ซึ่งเรียกอีกอย่างว่าโรคลู เกห์ริก[65] ครั้งสุดท้ายที่เหมา ปรากฏตัวต่อสาธารณะและภาพถ่ายสุดท้ายที่เขายังมีชีวิตอยู่คือวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2519 เมื่อเขาได้พบกับซัลฟิการ์ อาลี บุตโต นายกรัฐมนตรีปากีสถานที่มาเยือน[66] เหมาประสบอาการหัวใจวายรุนแรงสองครั้ง ครั้งแรกในเดือนมีนาคม อีกครั้งในเดือนกรกฎาคม ต่อมาในวันที่ 5 กันยายน อาการหัวใจวายครั้งที่สามทำให้เขาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และถึงแก่อสัญกรรมในอีก 4 วันต่อมาเมื่อเวลา 00:10 น. ของวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2519 ด้วยวัย 82 ปี พรรคคอมมิวนิสต์ได้ชะลอการประกาศข่าวการถึงแก่อสัญกรรมจนถึงเวลา 16:00 น. โดยมีการออกอากาศทางวิทยุแห่งชาติเพื่อแจ้งข่าวและเรียกร้องความสามัคคีในพรรค[64]

ร่างของเหมาที่ผ่านการดองถูกคลุมด้วยธงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และตั้งไว้ที่มหาศาลาประชาชนเป็นเวลา 1 สัปดาห์[67] ชาวจีนกว่าหนึ่งล้านคนเข้าแถวเพื่อเคารพศพ บ่อยครั้งที่พวกเขาร้องไห้กันอย่างเปิดเผยหรือแสดงความโศกเศร้า ในขณะที่ชาวต่างชาติเฝ้าดูผ่านทางโทรทัศน์.[68][69] รูปภาพอย่างเป็นทางการของเหมาแขวนอยู่บนผนังพร้อมป้ายที่มีข้อความว่า “สืบสานเจตนารมณ์ของท่านประธานเหมา และเดินหน้าการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพต่อไปจนถึงที่สุด”[67] วันที่ 17 กันยายน ร่างของเขาถูกเคลื่อนย้ายโดยรถมินิบัสไปยังโรงพยาบาล 305 เพื่อเก็บรักษาอวัยวะภายในด้วยฟอร์มาลิน[67]

ในวันที่ 18 กันยายน เสียงปืน ไซเรน นกหวีด และแตรทั่วทั้งประเทศจีนดังขึ้นพร้อมกัน ขณะเดียวกันก็มีการไว้อาลัยด้วยความเงียบเป็นเวลา 3 นาที[70] จัตุรัสเทียนอันเหมินมีประชาชนหลายล้านคนมาชุมนุม และวงดนตรีทหารบรรเลงเพลง “แองเตอร์นาซิอองนาลฮฺว่า กั๋วเฟิง กล่าวสดุดีรำลึกหน้าประตูเทียนอันเหมินเป็นเวลา 20 นาที[71] แม้ว่าเหมาจะสั่งเสียให้เผาร่างของเขา แต่ร่างของเขาก็ถูกเก็บรักษาไว้โดยการจัดแสดงอย่างถาวรที่อนุสรณ์สถานประธานเหมา ในกรุงปักกิ่ง เพื่อให้ประชาชนชาวจีนได้มาเคารพศพ[72]

ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2524 คณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เห็นชอบ มติเกี่ยวกับบางประเด็นทางประวัติศาสตร์ของพรรคตั้งแต่การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นการประเมินมรดกของยุคเหมา และทิศทางต่อไปของพรรค[73]: 166  มตินี้กล่าวถึงความล้มเหลวในช่วงปี พ.ศ. 2500–07 (แม้ว่าโดยทั่วไปจะยืนยันช่วงเวลาดังกล่าว) และความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 โดยระบุว่าความผิดพลาดของเหมาเป็นผลจากแนวโน้มที่เห็นแก่ตัวซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเขาละทิ้งมุมมองร่วมกันของผู้นำ[73]: 167  ในแง่ของมรดกของเหมานั้น มติพรรคระบุว่า บทบาทของเหมาในช่วงการปฏิวัติจีนนั้น ยิ่งใหญ่กว่าความผิดพลาดของเขามาก[74]: 445 

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

ชีวิตครอบครัวของเขามีภรรยา 4 คน

  • นางหลัว อีซิ่ว เป็นการแต่งแบบคลุมถุงชน ซึ่งเหมาไม่ได้ยินดีนักจึงได้เลิกรากันไป
  • นางหยาง ไคฮุย เสียชีวิตในการทำสงครามเพื่อชาติ พ.ศ. 2464
  • นางเฮ่อ จื่อเจิน นายพลหญิงแห่งกองทัพแดง (เลิกรากันไป) และ
  • นางเจียง ชิง ผู้นำการปฏิวัติกองทัพแดง หรือเรด การ์ดอันนองเลือดลือลั่นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีนใหม่ นางฆ่าตัวตายปี 2534

ภาพรวม ของ เหมา เจ๋อตง[แก้]

อนุสาวรีย์เหมาที่ ลี่เจียง

พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ทำการประเมินผลงานและความผิดพลาดของเหมาอย่างรอบด้าน ได้ข้อสรุปว่า แม้ในบั้นปลายชีวิต เหมาจะได้ทำความผิดพลาดที่ร้ายแรง ในเหตุการณ์เคลื่อนไหวปฏิวัติวัฒนธรรมที่มีประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อเทียบกับผลงานอันใหญ่หลวง และยาวนานที่ท่านสร้างให้แก่แผ่นดินและประชาชนจีน คุณความดีของท่านมีมากกว่าความผิดพลาด ประธานเหมาเจ๋อตงยังคงเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่และเป็นที่เคารพรักของประชาชนจีน

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Schram 1966, p. 19; Hollingworth 1985, p. 15; Pantsov & Levine 2012, p. 11.
  2. Schram 1966, pp. 19–20; Terrill 1980, pp. 4–5, 15; Feigon 2002, pp. 13–14; Pantsov & Levine 2012, pp. 13–.
  3. 3.0 3.1 Schram 1966, p. 20; Terrill 1980, p. 11; Pantsov & Levine 2012, pp. 14, 17.
  4. Schram 1966, pp. 20–21; Terrill 1980, p. 8; Pantsov & Levine 2012, pp. 15, 20
  5. Terrill 1980, p. 12; Feigon 2002, p. 23, Pantsov & Levine 2012, pp. 25–28
  6. Feigon 2002, p. 15 Terrill 1980, pp. 10–11
  7. Schram 1966, p. 23; Terrill 1980, pp. 12–13; Pantsov & Levine 2012, p. 21
  8. 8.0 8.1 Marquis, Christopher; Qiao, Kunyuan (2022). Mao and Markets: The Communist Roots of Chinese Enterprise. New Haven: Yale University Press. ISBN 978-0-300-26883-6. OCLC 1348572572.
  9. Schram 1966, p. 25; Terrill 1980, pp. 20–21; Pantsov & Levine 2012, p. 29
  10. Schram 1966, p. 22; Terrill 1980, p. 13; Pantsov & Levine 2012, pp. 17–18
  11. Terrill 1980, p. 14; Pantsov & Levine 2012, p. 18
  12. Schram 1966, p. 22; Feigon 2002, p. 15; Terrill 1980, p. 18; Pantsov & Levine 2012, p. 28
  13. Schram 1966, p. 26; Terrill 1980, p. 19; Pantsov & Levine 2012, pp. 28–30
  14. Schram 1966, p. 26; Terrill 1980, pp. 22–23; Pantsov & Levine 2012, p. 30
  15. Pantsov & Levine 2012, pp. 32–34
  16. Schram 1966, p. 27;Terrill 1980, p. 22; Pantsov & Levine 2012, p. 33
  17. Schram 1966, pp. 26–27; Terrill 1980, pp. 22–24; Pantsov & Levine 2012, p. 33
  18. Schram 1966, p. 26; Terrill 1980, p. 23; Pantsov & Levine 2012, p. 33
  19. Schram 1966, pp. 30–32; Pantsov & Levine 2012, pp. 32–35
  20. Schram 1966, p. 34; Pantsov & Levine 2012, pp. 34–35
  21. Schram 1966, pp. 34–35; Terrill 1980, pp. 23–24
  22. Schram 1966, pp. 35–36; Terrill 1980, pp. 22, 25; Pantsov & Levine 2012, p. 35.
  23. Schram 1966, p. 36; Terrill 1980, p. 26; Pantsov & Levine 2012, pp. 35–36.
  24. Pantsov & Levine 2012, pp. 36–37.
  25. Pantsov & Levine 2012, pp. 40–41.
  26. Pantsov & Levine 2012, p. 36.
  27. Schram 1966, pp. 36–37; Terrill 1980, p. 27; Pantsov & Levine 2012, p. 37.
  28. Schram 1966, pp. 38–39.
  29. Pantsov & Levine 2012, p. 43; see also Yu, Hsiao (1959). Mao Tse-Tung and I Were Beggars. Syracuse, N.Y.: Syracuse University Press.
  30. Schram 1966, pp. 42–43; Terrill 1980, p. 32; Pantsov & Levine 2012, p. 48.
  31. Schram 1966, p. 41; Terrill 1980, p. 32; Pantsov & Levine 2012, p. 42.
  32. Schram 1966, pp. 40–41; Terrill 1980, pp. 30–31.
  33. Schram 1966, p. 43; Terrill 1980, p. 32; Pantsov & Levine 2012, pp. 49–50.
  34. Pantsov & Levine 2012, pp. 49–50.
  35. Schram 1966, p. 44; Terrill 1980, p. 33; Pantsov & Levine 2012, pp. 50–52.
  36. Schram 1966, p. 45; Terrill 1980, p. 34; Pantsov & Levine 2012, p. 52.
  37. Schram 1966, p. 48; Pantsov & Levine 2012, pp. 47, 56–57.
  38. Feigon 2002, p. 18; Pantsov & Levine 2012, p. 39.
  39. Schram 1966, p. 48; Pantsov & Levine 2012, p. 59.
  40. Schram 1966, p. 47; Pantsov & Levine 2012, pp. 59–62.
  41. Schram 1966, pp. 48–49; Pantsov & Levine 2012, pp. 62–64.
  42. Schram 1966, p. 48; Pantsov & Levine 2012, pp. 57–58.
  43. Schram 1966, p. 51; Pantsov & Levine 2012, pp. 53–55, 65.
  44. Schram 1966, p. 48; Pantsov & Levine 2012, pp. 62, 66.
  45. Schram 1966, pp. 50–52; Pantsov & Levine 2012, p. 66.
  46. Pantsov & Levine 2012, pp. 66–67.
  47. Schram 1966, pp. 51–52; Feigon 2002, pp. 21–22; Pantsov & Levine 2012, pp. 69–70.
  48. Pantsov & Levine 2012, p. 68.
  49. Pantsov & Levine 2012, p. 76.
  50. Schram 1966, pp. 53–54; Pantsov & Levine 2012, pp. 71–76.
  51. Schram 1966, p. 55; Pantsov & Levine 2012, pp. 76–77.
  52. 52.0 52.1 Huang, Yibing (2020). An ideological history of the Communist Party of China. Vol. 1. Qian Zheng, Guoyou Wu, Xuemei Ding, Li Sun, Shelly Bryant. Montreal, Quebec: Royal Collins Publishing Group. p. 16. ISBN 978-1-4878-0425-1. OCLC 1165409653.
  53. Schram 1966, pp. 55–56; Pantsov & Levine 2012, p. 79.
  54. Pantsov & Levine 2012, p. 80.
  55. Pantsov & Levine 2012, pp. 81–83.
  56. Pantsov & Levine 2012, p. 84.
  57. Schram 1966, pp. 56–57.
  58. Mair, Victor H.; Sanping, Sanping; Wood, Frances (2013). Chinese Lives: The people who made a civilization. London: Thames & Hudson. p. 211. ISBN 978-0500251928.
  59. Лев Котюков. Забытый поэт. เก็บถาวร 28 กันยายน 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  60. Park, Kyung-Ae; Snyder, Scott (2012). North Korea in Transition: Politics, Economy, and Society. Rowman & Littlefield Publishers. p. 214. ISBN 978-1442218130.
  61. Heavy smoker:
  62. "The Kissenger Transcripts: Notes and Excerpts". nsarchive.gwu.edu. สืบค้นเมื่อ 28 July 2015.
  63. Parkinson's disease:
  64. 64.0 64.1 "Mao Tse-Tung Dies In Peking At 82; Leader Of Red China Revolution; Choice Of Successor Is Uncertain". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 25 October 2014.
  65. Amyotrophic lateral sclerosis:
  66. Chang & Halliday 2005.
  67. 67.0 67.1 67.2 Quigley, Christine (1998). Modern Mummies: The Preservation of the Human Body in the Twentieth Century (illustrated, reprint ed.). McFarland. pp. 40–42. ISBN 978-0786428519. สืบค้นเมื่อ 28 July 2015 – โดยทาง Google Books.
  68. "Chinese bid Mao sad farewell". UPI (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 29 March 2020.
  69. James, S. L. "China: Communist History Through Film". Internet Archive. สืบค้นเมื่อ 28 July 2015.
  70. "1976: Chairman Mao Zedong dies". BBC News. 9 September 1976. สืบค้นเมื่อ 28 July 2015.
  71. "Chinese Bid Farewell to Nation's Leader". Florence Times + Tri-Cities Daily. United Press International. 18 September 1976. สืบค้นเมื่อ 8 October 2015.
  72. Lu, Xing (2017). The Rhetoric of Mao Zedong: Transforming China and Its People (ภาษาอังกฤษ). University of South Carolina Press. p. 50. ISBN 978-1611177534 – โดยทาง Google Books. In 1956 Mao signed a proposal for cremation along with 151 other high-ranking officials. According to hearsay, Mao wrote in his will that he wanted to be cremated after his death. Ironically his successors decided to keep his dead body on display for the nation to pay its respects.
  73. 73.0 73.1 Karl, Rebecca E. (2010). Mao Zedong and China in the Twentieth-Century World: a Concise History. Asia-Pacific series. Durham, NC: Duke University Press. doi:10.2307/j.ctv11hpp6w. ISBN 978-0-8223-4780-4. JSTOR j.ctv11hpp6w.
  74. Meisner, Maurice J. (1999). Mao's China and After: a History of the People's Republic (3rd ed.). New York, NY: Free Press. ISBN 978-0-684-85635-3.

บรรณานุกรม[แก้]

อ่านเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ก่อนหน้า เหมา เจ๋อตง ถัดไป
สถาปนาตำแหน่ง ประธานาธิบดีจีน
(27 กันยายน พ.ศ. 2497 – 27 เมษายน พ.ศ. 2502)
หลิว เช่าฉี